ความสำคัญของภาษาในการเทศน์

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2567

670801_b119.jpg

 

ความสำคัญของภาษาในการเทศน์


                แม้ว่าการเทศน์โดยปกติจะใช้ภาษาไทยกันเป็นพื้นเพราะเป็นภาษาประจำชาติและฟังหรืออ่านกันรู้เรื่องโดยทั่วไปอยู่แล้วก็ตาม ถึงกระนั้นการเรียนรู้ภาษาไทยให้ดีและการใช้ภาษาไทยให้ถูกก็ยังมีความจำเป็นต่อการเทศน์ เพราะภาษาเทศน์เป็นภาษาพิเศษ คือต้องใช้ภาษาไทยเป็นพิเศษกว่าการสื่อสารหรือการถ่ายทอดธรรมดา สำนวนภาษาก็ออกจะแปลกพิเศษกว่าธรรมดา ทั้งนี้เพราะภาษาเทศน์มิใช่เพียงสื่อสารให้รู้และเข้าใจเท่านั้น หากต้องไพเราะ สละสลวย มีศิลปะ ดึงดูดหูให้น่าฟัง ดึงดูดตาให้น่าอ่าน และดึงดูดใจให้น่าเชื่อถือปรารถนาน้อมนำไปปฏิบัติตามด้วย

                 ภาษาเทศน์กับภาษาไทยจึงแยกกันไม่ออกการรู้ภาษาไทยนั้นมิใช่เพียงรู้แค่พออ่านออก เขียนได้ และพูดได้เท่านั้น หากต้องอยู่ในระดับอ่านถูก เขียนถูก และพูดถูกด้วย จึงจะชอบด้วยประการทั้งปวงทำนองเดียวกัน การรู้ภาษาไทยในระดับที่จะเรียกได้ว่าเชี่ยวชาญนั้น มิใช่เพียงแค่รู้หลักไวยากรณ์ อ่านได้คล่อง เขียนได้ถูก และสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้เท่านั้น แต่ควรรู้สึกถึงวัฒนธรรมของภาษา ธรรมเนียมการใช้ภาษาให้เหมาะแก่บุคคลและกาลเทศะ ตลอดถึงเหมาะแก่งานด้วยเพราะเรามีภาษาที่สนองความต้องการเช่นนั้นอยู่แล้ว เช่นภาษาที่ใช้กับพระเจ้าแผ่นดิน (ราชาศัพท์) ใช้กับพระสงฆ์(สมณโวหาร) ใช้กับงานพิธีต่างๆ เป็นต้น

              ซึ่งถือว่าเป็นความงดงามของภาษาไทยอันหาได้ยากในภาษาอื่น หากใช้ได้ถูกต้องตามเกณฑ์และธรรมเนียมนิยม นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาแล้ว ยังควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อนุรักษ์ภาษาด้วยในการเทศน์นั้น การใช้ภาษาไทยได้ดีและถูกต้องย่อมเป็นการที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใช้ภาษาได้ดีและถูกต้องก็สามารถถ่ายทอดข้อธรรมและสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ตรงตามที่ประสงค์มีนักเทศน์จำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ทางธรรมอยู่ในชั้นดี มีวุฒิทางธรรมสูง ทั้งเข้าใจข้อธรรมลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือสื่อความรู้ความเข้าใจของตนออกมาให้คนอื่นรู้และเข้าใจเหมือนอย่างตนได้ ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือการเขียน หรือแม้จะพยายามถ่ายทอดด้วยความตั้งใจแต่ก็กระท่อนกระแท่น ติดขัด ตะกุกตะกัก วกวนจนจับประเด็นความไม่ได้ หรือแม้จะเป็นงานเขียน ก็อ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ใช้คำใช้ประโยคไม่ค่อยถูก อ่านแล้วปะติดปะต่อจับความได้ยาก ทั้งที่มีความรู้ทางธรรมที่ที่เป็นดังนี้เพราะขาดความรู้ในการใช้ภาษา คือภาษาไม่ดีเท่าความรู้ ผลที่ออกมาจึงเป็นเช่นนั้นตรงกันข้าม

                บางท่านมีความรู้ทางธรรมไม่มาก วุฒิทางธรรมไม่สูงไม่เข้าใจข้อธรรมลึกซึ้งนัก แต่มีความรู้ทางภาษาดี ฉลาดในการเลือกใช้คำที่เหมาะและตรงประเด็นกับเรื่อง ที่คนฟังทั่วไปเข้าใจความหมายได้ทันที ทั้งเข้าใจร้อยเรียงคำพูดขยายความไปตามลำดับ ไม่วกวนแยกแยะประเด็นข้อย่อยออกมาอธิบายขยายความแจ่มแจ้ง ใช้ลีลาและความไพเราะของภาษาเข้ามาช่วย สำนวนภาษาจึงดีและชัดเจน เป็นที่นิยมยกย่องของคนฟังทั่วไป จะเขียนหนังสือน่าอ่าน ได้รับความสำเร็จในการเทศน์ในการเขียนเป็นอย่างดี เช่นนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเพราะฉะนั้น จึงไม่ควรมองข้ามความสำคัญของภาษาที่ใช้ในการเทศน์ ขวนขวายศึกษา ทำความเข้าใจ ฝึกฝนใช้ให้ชำนาญ และหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ไม่ช้านักก็จักสามารถใช้ภาษาไทยในการแสดงธรรมได้ดีไม่แพ้นักเทศน์ชั้นครูทั้งหลาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020000131924947 Mins