ภาษาเทศน์ ภาษาไทย

วันที่ 31 กค. พ.ศ.2567

ภาคที่1
เรื่องของภาษา

670731_b116.jpg

ความนำ


                คำว่า “เทศน์” หรือ “เทสนา” แปลว่า การแสดง การบอกการชี้แจง การเปิดเผย การทำให้แจ่มแจ้ง ในที่นี้ถือเอาความโดยรวมว่าหมายถึงการแสดงธรรมสั่งสอน ในทางศาสนาเมื่อถือตามคำแปลและความหมายของคำนี้ ย่อมได้ใจความในทางปฏิบัติที่กว้างขวาง กล่าวคือเทศน์นั้นมิได้จำกัดอยู่แค่การขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมตามปกติที่นิยมปฏิบัติกันทั่วไป ซึ่งเรียกวิธีการอย่างนั้นว่า“การเทศน์” แต่ย่อมหมายรวมไปถึงวิธีการแสดงธรรม

 

                การชี้แจงธรรมการเปิดเผยทำให้แจ่มแจ้งซึ่งธรรมในรูปแบบอื่นที่นิยมปฏิบัติกันในปัจจุบันเข้าด้วย เช่น การปาฐกถา การบรรยาย การอภิปราย เป็นต้น และย่อมรวมไปถึงการแต่งหนังสืออธิบายข้อธรรมเข้าด้วย เพราะวิธีการทั้งหมดนั้นอยู่ในกรอบของการแสดงธรรมทั้งสิ้น “เทศน์” เป็นการสื่อหรือถ่ายทอดธรรมคำสั่งสอนในศาสนาไปสู่ผู้รับซึ่งมีทั้งผู้ฟังและผู้อ่าน เพื่อเผยแผ่คำสอนให้เป็นที่รู้เป็นที่เข้าใจกว้างขวางออกไป ด้วยการนำเสนอข้อธรรมที่เขายังไม่เคยฟังไม่เคยรู้มาก่อนบ้าง ด้วยการอธิบายขยายความจนเขาเกิดความชัดเจนและหายสงสัยในข้อธรรมบางอย่างบ้าง ด้วยการปลูกศรัทธาปสาทะและโน้มน้าวจิตใจเขาให้ยินดีปฏิบัติตามข้อธรรมนั้นๆ

 

                บ้างว่ากันว่าการเทศน์เป็นวิธีการเดียวที่สามารถทำให้ศาสนาดำรงมั่นคงและสืบขยายต่อไปได้ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงถือปฏิบัติเรื่องการเทศน์เป็นแนววิธีในการเผยแผ่ธรรมด้วยพระองค์เองนับแต่ตรัสรู้จวบจนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานถึง ๔๕ ปี จึงถือกันต่อมาว่าการเทศน์เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระพุทธองค์ทรงปฏิบัตินำเป็นตัวอย่างเมื่อการเทศน์เป็นการสื่อสารถ่ายทอดคำสั่งสอนไปสู่ฟังผู้อ่านย่อมจำต้องมีสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสาร เพื่อให้การสื่อสารบรรลุเป้าหมาย

 

                กล่าวคือผู้สื่อผู้ถ่ายทอดกับผู้รับคือผู้ฟังผู้อ่านรู้และเข้าใจตรงกัน สิ่งที่เป็นเครื่องมือสื่อสารนั้นก็คือ “ภาษา” ซึ่งเป็นสื่อกลางที่สำคัญที่สุดในกระบวนการถ่ายทอดข้อธรรมหรือเรื่องราวต่างๆจากผู้ถ่ายทอดไปสู่ผู้รับ การเทศน์จะสำเร็จประโยชน์หรือล้มเหลวคือสื่อสารให้ผู้ฟังผู้อ่านรู้และเข้าใจข้อธรรมตามที่ต้องการได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่การใช้ภาษาที่เป็นสื่อกลาง เมื่อผู้ฟังผู้อ่านเป็นคนไทย ภาษาที่ต้องใช้เป็นสื่อย่อมต้องเป็น “ภาษาไทย” แน่นอน ภาษาไทยจึงจำต้องเข้ามามีบทบาทเป็นตัวช่วยให้การเทศน์สำเร็จประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ผู้ชี้แจงแสดงธรรมผู้ถ่ายทอดธรรมซึ่งเรียกในที่นี้ว่า “ผู้เทศน์” หรือ“นักเทศน์” ที่ฉลาดรู้ภาษาไทยดีและสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี ย่อมสามารถถ่ายทอดธรรมคำสั่งสอนไปสู้ผู้รับได้ดี

 

                ได้รับความสำเร็จในการชี้แจงแสดงธรรมอยู่ในชั้นแนวหน้า ไม่ว่าจะถ่ายทอดโดยการแสดงธรรมโดยการพูด หรือโดยการเขียน สามารถทำให้ผู้ฟังผู้อ่านเกิดความรู้สึกชื่นชอบ นิยมยกย่อง และติดตามผลงานได้เรื่อยไป นับได้ว่าประสบความสำเร็จในเรื่องเทศน์แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะมีเครื่องมือดีคือภาษาไทยและสามารถใช้เครื่องมือนั้นได้อย่างชาญฉลาดนั่นเองจับประเด็นได้ว่า การแสดงธรรม การปาฐกถาธรรม การบรรยายธรรม และการเขียนหนังสือธรรมที่รวมเรียกว่า “เทศน์” นั้น ล้วนต้องอาศัยภาษาเป็นสื่อกลาง และในเมืองไทยย่อมหนีไม่พ้นต้องเป็นภาษาไทยเพราะเป็นภาษาประจำชาติและใช้พูดใช้เขียนสื่อความกันเป็นหลัก ดังนั้น จำต้องเรียนรู้เรื่องการใช้ภาษาไทยสำหรับเป็นภาษาเทศน์กันในเมื่อต้องการสื่อความกับผู้ฟังผู้อ่าน มิเช่นนั้นการเทศน์ก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ตามเป้าประสงค์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028163214524587 Mins