หลักการอ่านเบื้องต้น

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2567

หลักการอ่านเบื้องต้น

670821_b164.jpg


                  การอ่านหรือการออกเสียงภาษาไทยนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากและสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะภาษาไทยนั้นมีแหล่งที่มาหลายทาง คือเป็นคำไทยแท้บ้าง นำมาจากภาษาต่างประเทศโดยตรงบ้าง นำมาดัดแปลงบ้างภาษาต่างประเทศที่นำมาใช้มากคือภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาชวา ภาษาจีน ภาษาทางยุโรป การอ่านการออกเสียงจึงมีมากรูปมากแบบและทำให้เกิดปัญหามากตามมาด้วย ลำพังภาษาไทยแท้ๆนั้นไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้นัก ดังนั้น การวางหลักวางเกณฑ์ในการอ่านจึงค่อนข้างยุ่งยาก มีข้อยกเว้น มีวิธีการอ่านหลายแบบด้วยกันแต่โดยทั่วไปท่านแสดงหลักการอ่านกว้างๆ ไว้ ๒ ประการคือ
 

                   (๑) อ่านตามหลักภาษา คืออ่านตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นหลักว่า คำเช่นนี้อ่านหรือออกเสียงอย่างนี้ คำเช่นนี้อ่านอย่างนี้ก็ได้อย่างนั้นก็ได้ การอ่านแบบนี้เป็นไปตามที่ท่านผู้รู้กำหนดเป็นทางการไว้และให้ ถือเป็นแนวในการอ่าน หลักการอ่านที่ถือว่าเป็นทางการนั้นได้แก่หลักที่กำหนดไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในหนังสือนั้นได้กำหนดหลักการอ่านและคำอ่านไว้ชัดเจน สามารถนำมาอ้างอิงและถือเป็นแบบอย่างได้ เพราะเป็นหนังสือที่ทางราชการรับรองและกำหนดให้ใช้เป็นบรรทัดฐานทั่วประเทศ 

                  การอ่านตามหลักภาษานั้นมีรายละเอียดและข้อปลีกย่อยมากเพราะภาษาไทยมีแหล่งที่มาจากหลายที่ มีวิธีการสร้างคำหลายรูปแบบมีคำที่ใช้หลายลักษณะ จึงมีหลักเกณฑ์ในการอ่านคำตามความหลากหลาย เช่น การอ่านตามอักขรวิธีของไทย การอ่านอักษรน่า การอ่านค้าควบกล้ำ การอ่านคำพ้อง การอ่านคำแผลง การอ่านคำสมาสในบาลีสันสกฤต การอ่านคำประพันธ์ ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นล้วนมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาต้องกำหนดจดจำโดยเฉพาะ

แต่แม้จะเป็นเรื่องยากและซับซ้อนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนไทย และโดยเฉพาะจำเป็นสำหรับผู้มีหน้าที่ในการพูดในการสื่อความไปยังผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยการเทศน์หรือวิธีอื่นใดก็ตามและการอ่านตามหลักภาษานั้นอาจไม่ตรงกับที่เคยอ่านเคยออกเสียงหรือเคยได้ยินกันมาแต่ก่อน เพราะแต่ละถิ่นแต่ละยุคย่อมออกเสียงไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องยึดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักเช่นคำเหล่านี้คือ

 

เจตนา ตามรูปศัพท์อ่านกันว่า เจตะนา แต่กำหนดให้อ่านว่า เจดตะนา
 

โฆษณา ตามรูปศัพท์อ่านกันว่า โคสะนา แต่กำหนดให้อ่านว่า โคดสะนา
 

ชินบุตร ตามรูปศัพท์อ่านกันว่า ชินะบุด แต่กำหนดให้อ่านว่า ชินนะบุด
 

ทารุณกรรม ตามรูปศัพท์อ่านกันว่า ทารุนกำ แต่กำหนดให้อ่านว่า ทารุนนะกำ
 

มีศัพท์พิเศษอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกกำหนดให้อ่านได้ ๒ อย่าง คืออ่านตามหลักภาษาก็ได้ ตามความนิยมก็ได้ ถือว่าอ่านถูกด้วยกัน ซึ่งก็สร้างความสับสนแก่ผู้อ่านที่เคยชินกับการอ่านอย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อนเหมือนกัน เช่น

 

                  คําว่า                                            อ่านว่า

                กาลกิริยา                              กาละกิริยา, กานกิริยา
                คุณสมบัติ                              คุนนะสมบัติ, คุนสมบัด
                ประวัติการณ์                         ประหวัดกาน, ประหวัดติกาน
                มนุษยโลก                             มะนุดสะยะโลก, มะนุดสะโลก
                สมดุล                                   สม-ดุน, สะมะดุน
                วัยวุฒิ                                   ไวยะวุดทิ, ไวยะวุด
                ศีลธรรม                                สีนทํา, สีนละทำ
                สังคมวิทยา                           สังคมมะวิดทะยา, สังคมวิดทะยา
                สัปดาห์                                 สับดา, สับปะดา

 

(๒) อ่านตามความนิยม คืออ่านหรือออกเสียงตามที่เคยอ่านเคยออกเสียงกันมาแต่โบราณ ส่วนใหญ่จะออกเสียงตามถนัดปากคือเป็น
ภาษาพูดหรือภาษาปาก ทั้งนี้เพราะถือเอาความสะดวกลิ้นในการเปล่งเสียงและความไพเราะหูเป็นหลัก การอ่านแบบนี้จะไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์การอ่านตามหลักภาษาเหมือนข้อต้น ถือเป็นข้อยกเว้นในการอ่านและไม่ถือว่าผิด คำเช่นนี้มีอยู่มากในภาษาไทย เช่นคำเหล่านี้คือ


คุณค่า แทนที่จะอ่านว่า คุนค่า แต่นิยมอ่านว่า คุนนะค่า ซึ่งก็ถูกทั้งสองอย่าง
 

จักจี้ แทนที่จะอ่านว่า จักจี้ แต่นิยมอ่านกันว่า จักกะจี้


ฉกษัตริย์ แทนที่จะอ่านว่า ฉะกะสัด แต่นิยมอ่านกันว่า ฉ้อกะสัด หรือ ฉอกะสัด
 

ฉกามาพจร แทนที่จะอ่านว่า ฉ้อกามาพะจอน เหมือนอ่านคำว่า ฉกษัตริย์ แต่อ่านไปตามหลักภาษาว่า ฉะกามาพะจอน
 

ฉทานศาลา แทนที่จะอ่านว่า ฉะทานนะสาลา เหมือนคำว่า ฉกามาพจร แต่อ่านไปตามหลักภาษาว่า ฉ้อทานนะสาลา

เพชรบูรณ์ แทนที่จะอ่านว่า เพ็ดบูน แต่นิยมอ่านกันว่า เพ็ดชะบูน


เพชรบุรี แทนที่จะอ่านว่า เพ็ดชะบุรี แต่นิยมอ่านกันว่า เพ็ดบุรี


สุพรรณบุรี แทนที่จะอ่านตามหลักภาษาว่า สุพันนะบุรีแต่นิยมอ่านกันว่า สุพันบุรี
 

สุวรรณภูมิ แทนที่จะอ่านว่า สุวันพูม เหมือนอ่านคำว่า สุพรรณบุรี แต่อ่านไปตามหลักภาษาว่า สุวันพูม
 

ชัยภูมิ แทนที่จะอ่านว่า ไชพูม แต่นิยมอ่านกันว่า ไชยะพูม
 

ชัยนาท แทนที่จะอ่านว่า ไชยะนาด เหมือนอ่านคำาว่า ชัยภูมิ แต่นิยมอ่านกันว่า ไชนาด
 

                   ยังมีคำแบบสองประเภทนี้อีกเป็นจำนวนมาก สามารถค้นหาได้จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผู้เป็นนักเทศน์ นักพูดนักเขียน จำต้องมีหนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือประจำโต๊ะทำงานที่เดียว ทั้งนี้เพื่อสามารถสืบค้นได้ทุกเวลาเมื่อเกิดความสงสัยหรือต้องการจะใช้คำนั้นๆให้ถูกหลัก จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดบกพร่องทั้งในการเทศน์ ในการพูดและในการเขียนหลักการอ่านนั้นมีรายละเอียดมาก จึงมีผู้รู้เขียนไว้เป็นตำราเป็นรูปเล่มมากมาย โดยเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมจากพจนานุกรมฯ ซึ่งก็ สามารถใช้เป็นคู่มือสำหรับศึกษาเรื่องการอ่านได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0081070860226949 Mins