อะไรคือจุดยืนในการตัดสินใจ
หลวงพ่อได้ถามท่านว่า เท่าที่พบในวัดของเรา ท่านได้คำตอบมาอย่างไรบ้าง ในการตัดสินใจที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร
ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่ของเราคนหนึ่งพอถูกถามก็ตอบว่า หลักในการตัดสินใจของเขาก็คือ “แล้วแต่พี่ ๆ จะสั่งมา ถ้าพี่ๆ ว่าอย่างไรก็ทำอย่างนั้นแหละ” ไหนๆ เราก็ยกให้เขาเป็นพี่แล้ว ก็เลยต้องมีหน้าที่ตัดสินใจให้น้องๆนี่พวกหนึ่ง
บางพวกก็ตอบว่า “ถ้าเห็นว่าอะไรน่าทำก็จะทำ เห็นว่าอะไรไม่น่าทำก็จะไม่ทํา”
พอถามต่อไปว่า แล้วความน่าทำหรือไม่น่าทำนั้นตัดสินด้วยอะไร เขาก็ตอบว่า ตัดสินด้วยเหตุการณ์ในอดีต คือที่ผ่านมาถ้าอะไรเคยทำกันมาแล้วก็จะทํากันต่อไป ถ้าอะไรไม่เคยทํามาเลยก็ไม่ทำ
อ้าว....! แล้วถ้าเหตุเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลยจะทำอย่างไรเขาก็ตอบดีทีเดียวว่า “เรียกประชุมกันซิครับว่า ส่วนมากจะเอาอย่างไร” ท่านก็ถามต่ออีก เมื่อเข้าประชุมแล้วคุณมีวิธีเสนอแนะหรือคัดค้านอย่างไร “ก็ดูตามสถานการณ์ครับ....”
อีกท่านหนึ่งอยู่วัดมานาน เป็นกรรมการบริหารคนหนึ่งพอถูกถาม เขาก็ตอบเข้าท่าดีเหมือนกัน
“ถือหลวงพ่อเป็นหลักครับ หลวงพ่อท่านว่าอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้นเพราะโดยธรรมดาแล้วหลวงพ่อท่านตัดสินใจอะไรไม่ผิด"
ท่านก็เลยถามย้ำว่า “หลวงพ่อองค์ไหน”
“ก็ทั้งหลวงพ่อเจ้าอาวาสและหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสนั่นแหละครับ”
ฟังดูก็เข้าท่าดีละนะ ท่านถามต่อไปอีก
“แล้วมีบ้างไหมที่หลวงพ่อสององค์นี้มีความเห็นไม่ตรงกัน”
“มีครับ”
“แล้วทำยังไงล่ะ”
“ผมก็เอาหลวงพ่อเจ้าอาวาสเป็นเกณฑ์ครับ”
แล้วถ้าเป็นกรณีที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสกับคุณยายอาจารย์ มีความเห็นไม่ตรงกันจะทําอย่างไร
เขาก็อึกๆ อักๆ “ผมก็คงต้องหลบละครับงวดนี้
ก็ได้คำตอบมาอย่างนี้ แต่เป็นคำตอบที่ไม่มีจุดยืน!
“คนเราถ้าไม่มีจุดยืนแน่นอนแล้ว อย่าว่าแต่งานพระพุทธศาสนาเลย แม้แต่งานส่วนตัวก็ไปไม่รอด” ท่านก็เป็นห่วง
คืนนั้นหลวงพ่อได้ให้หลักเกณฑ์การตัดสินใจเป็นขั้นเป็นตอนอย่างละเอียด และตั้งใจว่าจะเล่าให้พวกเราฟังในวันนี้