.....๓. สามี/ภรรยาขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
ถ้ามีสามีหรือภรรยาขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๓ คือ สามีหรือภรรยาทั้งหลายจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ เพราะไปเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุข ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณ์นิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) คลายเครียดด้วยอบายมุข สามีภรรยาที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ย่อมจะมีปัญหาขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอ ทำให้ต่างฝ่ายต่างเครียด และเบื่อหน่ายซึ่งกันและกัน จึงหาทางคลายเครียดตามความนิยมของผู้คนส่วนใหญ่ คืออบายมุขต่างๆ เช่น ฝ่ายสามีอาจไปดื่มสุรายาเมากับเพื่อนฝูง ครั้นแล้วก็ไปเที่ยวต่อตามบาร์หรือไนท์คลับ หรือสถานที่เที่ยวกลางคืนซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป สามีบางคนอาจไปเที่ยวอาบอบนวด แล้วไปจบลงที่โรงแรมม่านรูด สามีบางคนอาจนิยมเข้าไปคลายเครียดอยู่ในบ่อนการพนัน เป็นต้น
ส่วนภรรยาบางคนอาจไปหาเพื่อนฝูง ชวนกันไปดูหนังฟังเพลง ไปซื้อของตามศูนย์การค้า ไปรับประทานอาหารตามภัตตาคารชื่อดัง เมื่อรวมกลุ่มกันได้หลายคน ก็อาจจะตั้งวงเล่นไพ่กัน หรือมิฉะนั้นก็อาจจะชักชวนกันไปเล่นการพนันตามบ่อนเถื่อนซึ่งหาได้ไม่ยากนัก
ไม่ว่าฝ่ายภรรยาหรือสามี เมื่อเข้าไปพัวพันกับอบายมุขบ่อยเข้าก็จะติดเป็นนิสัยจนเลิกไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะมีปัญหาขาดแคลนเงินทอง ต้องหันไปพึ่งโรงรับจำนำบ้าง หรือกู้หนี้ยืมสินมาใช้บ้าง บางคนใช้วิธีซื้อของเงินผ่อนราคาแพงมาขายราคาถูก การกระทำดังกล่าวล้วนก่อให้เกิดภาระหนี้สินขึ้นมาอีกปัญหาหนึ่ง
๒) แนะนำชักชวนกันทำอาชีพทุจริต ภรรยาและสามีที่เข้าไปพัวพันกับอบายมุข จนเกิดปัญหาหนี้สิน ย่อมจำเป็นต้องคิดหาทางเพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นจากรายได้ประจำ เพื่อให้สามารถชำระหนี้สินได้ และเพื่อไว้เป็นทุนสำหรับกิจกรรมอบายมุขของตน ดังนั้นภรรยาและสามีจึงอาจร่วมกันชักชวนเพื่อนฝูง ให้เห็นดีเห็นงามกับการร่วมมือ หรือร่วมลงทุนกันประกอบอาชีพทุจริตต่างๆ เช่น การทำสินค้าปลอม การเป็นเอเย่นต์หาเด็กสาวไปทำงานต่างประเทศ (ซึ่งมีหลังฉากเพื่อธุรกิจทางเพศ) การโจรกรรมรถยนต์ไปขายตามชายแดน การเป็นเจ้ามือหวย การค้ายาเสพติด เป็นต้น
๓) ประกอบอาชีพทุจริต เมื่อสามารถชักชวนเพื่อนมาร่วมทำงาน หรือร่วมลงทุนกันได้แล้ว ก็จะลงมือประกอบอาชีพทุจริตตามที่ได้ตกลงกันไว้
นอกจากนี้ สามีหรือภรรยาที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดจ้าง ก็อาจจะมอบหาช่องทางและวางแผนทำการคอรัปชั่นอีกทางหนึ่ง
ครอบครัวใดที่ภรรยาหรือสามี หรือทั้ง ๒ ฝ่าย มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ครอบครัวนั้นนอกจากจะไม่สามารถปลูกฝังสัมมาทิฏฐิและเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกได้แล้ว ยังจะปลูกฝังมิจฉาทิฏฐิให้แก่ลูกๆ โดยปริยาย ซึ่งจะมีส่วนเป็นเหตุแห่งมหาวิบัติของสังคมที่สืบทอดไปเรื่อยๆ ดังคำโบราณว่า “ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นนั่นเอง”
๔. สามี/ภรรยา ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
ถ้าสามีภรรยาขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๔ คือ สามี/ภรรยา ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ และต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
ก. สามี/ภรรยา ขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อทิศ ๖ คือ ขาดปฏิสัมพันธ์อันดีกับทิศ ๖ ของตนและของคู่สมรส ซึ่งจะมีลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็น อย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑) ไม่เห็นความสำคัญของทิศ ๖ แม้ทิศ ๖ จะมีอิทธิพลถึงขนาดลิขิตชีวิตของคนเราก็ตาม แต่ก็หาได้มีอิทธิพลต่อชีวิตเราพร้อมๆ กันทั้ง ๖ ทิศไม่ ทว่าแต่ละทิศจะมีอิทธิพลไปตามวัยของตัวเรา เช่นขณะที่เราอยู่ในวัยเด็ก โดยทั่วไปแล้ว ทิศเบื้องหน้าจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากที่สุด รองลงไปก็คือทิศเบื้องขวา อย่างไรก็ตามอาจจะมีเด็กบางคนและเป็นส่วนน้อย ที่ทิศเบื้องล่างมีอิทธิพลต่อชีวิตเขามากที่สุด สำหรับทิศเบื้องซ้ายและเบื้องขนจะมีอิทธิพลรองลงไปจากทุกทิศ แต่ทิศเบื้องหลังจะยังไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อเด็กเลย
ครั้นเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้ายังเป็นโสด โดยทั่วไปทิศเบื้องซ้ายจะมีอิทธิพลมากที่สุด ครั้นเมื่อแต่งงานแล้ว ส่วนมากจะถูกอิทธิพลทิศเบื้องหลังครอบงำมากที่สุด อย่างไรก็ตามทั้งทิศเบื้องหลังและทิศเบื้องซ้าย จะมีอิทธิพลต่อผู้ที่มีสถานภาพเป็นสามีหรือภรรยามากกว่าทิศอื่นๆ
การที่สามี/ภรรยา มองไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของทิศ ๖ ก็ย่อมจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อบุคคลทั้งในทิศ ๖ ของตนเองและของคู่ครอง ทิศ ๖ ของตนเองที่สำคัญก็คือทิศเบื้องหลัง ซึ่งได้แก่สามีหรือภรรยาของตนเองนั่นแหละ ส่วนทิศ ๖ ของคู่ครองที่สำคัญมากก็คือมารดาบิดาของคู่ครองนั่นเอง
พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นของสามีหรือภรรยาหรือของทั้งสองฝ่ายก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่ก่อปัญหาและศัตรูขึ้นมาเป็นอุปสรรคขวากหนามต่อความเจริญก้าวหน้าทั้งในชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัวตลอดถึงการทำงานอาชีพของสามีภรรยาคู่นั้นเอง สิ่งที่ผลักดันให้สามี/ภรรยาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกมาก็คือ มิจฉาทิฐิที่ครอบงำจิตใจของหรือเธอเป็นสำคัญ
๒) นินทาว่าร้าย ภรรยาหรือสามีที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมชอบวิพากษ์วิจารณ์ หรือนินทาว่าร้ายผู้คนรอบข้าง ทั้งที่เป็นทิศ ๖ ของตนเองและของฝ่ายคู่ครอง พฤติกรรมเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความบาดหมางกันระหว่างคู่สมรสเองอย่างไม่มีทางเลี่ยง ซ้ำร้ายกว่านั้นยังจะขยายวงออกไปถึงผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และนินทาว่าร้าย กลายเป็นคู่กรณีขึ้นอีกหลายคู่ ปัญหาโลกแตกที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย จนมีสำนวนที่ผู้คนรู้จักกันดีก็คือ ปัญหาลูกสะใภ้กับแม่ผัว ปัญหาลูกเขยกับพ่อตา ปัญหาลูกเลี้ยงกับแม่เลี้ยงหรือพ่อเลี้ยง เป็นต้น
ปัญหาลูกสะใภ้กับแม่ผัว เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น แต่จะบานปลายไปเป็นปัญหาขุ่นข้องหมองใจกันระหว่างคู่สมรสเอง ตลอดถึงระหว่างผู้คนใกล้ชิดหรือผู้สนับสนุนคู่กรณีด้วย ปัญหาระหว่างคู่กรณีอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน
ปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์และการนินทาว่าร้ายกัน แม้จะยังไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกัน ขับไสไล่ส่งกัน ก็จะมีลักษณะเป็นไฟสุมขอนที่ทำให้คู่สมรสมีอารมณ์ร้อนรุ่นคุกกรุ่นอยู่ในใจ จนหาความสงบไม่ได้ ในที่สุดคู่สมรสที่มีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจต่ำอยู่แล้ว ก็จะถูกอำนาจกิเลสผลักไสเข้าไปหาอบายมุขได้โดยง่าย
๓) ทำลายตนเองและครอบครัว สามีหรือภรรยาที่แพ้ภัยตัวเอง ยอมตกเป็นทาสของอบายมุข ย่อมมีพฤติกรรมแตกต่างกันไปตามความพอใจของตน ที่เห็นมีการประพฤติปฏิบัติกันโดยทั่วไปก็คือ การประพฤตินอกใจคู่สมรส การออกไปเที่ยวกลางคืน เนื่องจากการไปเที่ยวตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ในยามค่ำคืน ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายจึงจำเป็นต้องชักชวนเพื่อนถูกใจไปกันเป็นกลุ่มเป็นพวก เมื่อเข้าพวกกันก็ชวนกันเสพสุราบ้าง เสพยาเสพติดบ้าง ไปเล่นการพนันบ้าง ในที่สุดก็หนีไม่พ้นปัญหาเงินขาดมือ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างหนี้สินขึ้นมากลายเป็นปัญหาเพิ่มขึ้น หรือบางรายอาจพลาดพลั้ง ถึงกับก่อปัญหาสาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่านี้
ครั้นเมื่อกลับบ้าน ก็จะมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับคู่สมรส หรือกับญาติผู้ใหญ่ที่ผู้ร่วมชายคา บ้างทุบตีบุตรธิดาที่ก่อปัญหาเดือนร้อนให้บ้าง เข้าทำนองเครื่องยนต์ที่เกิดปัญหาขัดข้อง ณ จุดหนึ่ง แล้วปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานเรื่อยไปโดยไม่มีการแก้ไข ในที่สุดเครื่องยนต์นั้นก็จะรวนเรเซซวน เสียหายทั้งระบบ และใช้การไม่ได้ ข้อนี้ฉันใดปัญหาในครอบครัวก็ฉันนั้น