๗. การใช้สัปปุริสธรรม เป็นแม่บทในการตัดสิน

วันที่ 09 สค. พ.ศ.2567

2567%2008%2009%20b.jpg

 

๗. การใช้สัปปุริสธรรม เป็นแม่บทในการตัดสิน

 

           สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ได้แก่

           ๑) รู้จักเหตุ (ธัมมัญญู ความเป็นผู้รู้จักธรรม)
           ๒) รู้จักผล (อัตถัญญู ความเป็นผู้รู้จักอรรถ)
           ๓) รู้จักตน (อัตตัญญู ความเป็นผู้รู้จักตน)
           ๔) รู้จักประมาณ (มัตตัญญู ความเป็นผู้รู้จักประมาณ)
           ๕) รู้จักกาล (กาลัญญู ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา)
           ๖) รู้จักชุมชน (ปริสัญญู ความเป็นผู้รู้จักบริษัท คือประชุมชน)
           ๗) รู้จักบุคคล (ปุคคสัญญู ความเป็นผู้รู้จักบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบ)


           ๑. รู้จักเหตุ


           คือเมื่อเห็นเหตุเกิดขึ้น ก็สามารถบอกได้ว่าจะมีผลอย่างไรตามมา


           ๒. รู้จักผล


           เห็นผลที่เกิดขึ้น ก็สามารถบอกได้ว่ามีเหตุที่มาอย่างไร


         โบราณมีนิทานเล่าสู่กันฟังสนุก ๆ   เรื่องหนึ่ง   แต่ได้แง่คิดดีทีเดียว   เป็นเรื่องของการรู้จักเหตุ-ผล เรื่องมีอยู่ว่า


         มีทิดสึกใหม่  ๓  คน  เคยเป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ  เมื่อบวชก็บวชอยู่วัดเดียวกัน เมื่อสึกก็สึกออกมาพร้อมกัน พอสึกแล้วก็พากันเดินทางกลับไปยังหมู่บ้านของตน ระหว่างทางผ่านชายป่า


ทิดคนที่ ๑  พูดว่า “เอ๊ะ มีช้างเดินล่วงหน้าพวกเรามานะนี่ ดูซิต้นไม้ถูกมันเหยียบชะราบเลย”


คนที่ ๒    “อ้าว!  เพิ่งรู้หรือ  นึกว่ารู้นานแล้วเลยไม่บอก  แล้วรู้หรือเปล่าว่าช้างตัวนี้มันตาบอดข้างหนึ่ง บอดข้างซ้ายด้วย”


คนที่ ๑      “รู้ได้ยังไงว่าตามันบอด แถมยังบอดข้างซ้ายเสียอีก”


คนที่ ๒    “รู้ซิ  ก็ดูซีว่าผลไม้ ยอดไม้อ่อนๆ ด้านขวานะ ช้างตัวนี้มันหักกินหมด ก็เห็นๆ อยู่ แต่ทางด้านซ้ายน่ะ  ต้นไม้กิ่งไม้สักต้นไม่มีถูกเหยียบถูกย่ำเลย แสดงว่าช้างตัวนี้ต้องตาบอดข้างซ้ายแน่ๆ”


คนที่ ๓     “แล้วเพื่อนรู้หรือเปล่าว่า ช้างตัวนี้เป็นช้างตัวเมีย!” อีกคนถาม


คนที่ ๒     “อ๊ะ รู้อะไรกันขนาดนั้น รู้ได้ยังไง!”


คนที่ ๓    “อ้าว...ก็เพื่อนไม่สังเกตรอยที่ช้างมันฉี่หรือว่า   มันฉี่เป็นที่ๆ   แสดงว่ามันต้องหยุดฉี่  อย่างนี้ต้องเป็นช้างตัวเมียแน่ๆ ถ้าเป็นช้างตัวผู้ มันก็ต้องยืนฉี่เรี่ยราดน่ะซี”


         นี่ก็เป็นเรื่องขำๆ  ที่ได้ฟังกันมานานแล้ว  ตั้งแต่หลวงพ่อยังเด็กๆ  เขาเอาความรู้จักเหตุ-รู้จักผล มาผูกเป็นเรื่องให้จำกัน ให้คิดกัน ใครจะเอาไปเล่าต่อก็ไม่ว่านะ


           ๓. รู้จักตน


         การรู้จักตน  ถ้ามองอย่างผิวเผิน  ก็เช่นรู้ว่าเราเป็นใคร  ชื่ออะไร  มีความรู้ความสามารถแค่ไหน  เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ แล้วเราเด่นเราด้อยอย่างไร


           แต่นั่นยังไม่ใช่การรู้จักตนที่แท้จริง


           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักตน โดยมีวิธีสำรวจตัวเราเอง ดังนี้


           ๑) ศรัทธา รู้ว่าเรามีศรัทธามั่นคงในการทำความดีขนาดไหน


           ๒) ศีล มีศีลมั่นคงขนาดไหน อย่างน้อย ศีล ๕ ของเรามั่นคงครบถ้วนทุกวันหรือไม่


        ๓) การศึกษา  (สุตตะ)   มีความรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิต   อยู่ในระดับใกล้เคียงกับคนในสังคม ในยุคของเราแค่ไหน


          ๔) ความเสียสละ (จาคะ) เรามีความเสียสละขนาดไหน ทั้งการเสียสละเพื่อครอบครัว, สังคม, ศาสนา รวมทั้งการสละอารมณ์ที่ไม่พึงพอใจออกไป


         ๕) ปัญญา เรามีความรอบรู้ทั้งในด้านการดำรงชีวิต และรู้บาปบุญคุณโทษขนาดไหน


         ๖) ปฏิภาณ เรามีความสามารถในการโต้ตอบขนาดไหน


        หลวงพ่อจะยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องการฝึกปฏิภาณสักเรื่องหนึ่งให้ฟังเพื่อว่าจะนำไปเป็นแง่คิดอะไรได้บ้าง เพราะปฏิภาณนั้น คนแต่ละคนจะมีมากน้อยไม่เท่ากัน คนสติปัญญาดี เรียนหนังสือเก่ง จบปริญญาหลาย ๆ ปริญญา แต่ปฏิภาณในการโต้ตอบบางครั้งก็สู้คนที่ศึกษาน้อยกว่าไม่ได้ เพราะปฏิภาณต้องเกิดจากทั้งสติปัญญาและการฝึกฝนควบคู่กันไป


         หลวงพ่ออยู่ที่วัดพระธรรมกายตั้งแต่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ  ทำงานทางโลกมาได้ไม่มาก  ก็มาอยู่วัด  ช่วยคุณยาย  (อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) สร้างวัด คุณยายไม่รู้หนังสือ แต่คุณยายก็ฝึกปฏิภาณให้หลวงพ่อ ท่านทำอย่างไร


          คุณยาย   “ฝึกให้รับแขก”   ยิ่งแขกที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่มากๆ   มีความรู้มากๆ   ซ้ำเป็นคนช่างซักช่างถามละก็   เป็นบทฝึกชั้นเยี่ยมเลย จะฝึกปฏิภาณต้องไปหัดต้อนรับแขกประเภทนี้ดูแล้วจะมีปฏิภาณ อีกทั้งจะได้กิริยามรรยาทกับความอดทนเป็นของแถมด้วย


          หลวงพ่อนั้น ในพรรษาต้นๆ ได้คุณยายอาจารย์เป็นผู้ฝึกเรื่องนี้ให้ บวชพรรษาแรก หลวงพ่อธัมมชโย (พระราชภาวนาวิสุทธิ์) ท่านอยู่บ้างไม่อยู่บ้างคุณยายก็นิมนต์หลวงพ่อมารับแขก ท่านนั่งอยู่ด้วยนะ แต่พอแขกมาซักนั่นซักนี่ท่านบอกว่า ไปถามองค์นั้นเถอะ ท่านเป็นพระ ท่านจบมหาวิทยาลัยมา ท่านไปเมืองนอก เมืองนามา ยายน่ะไม่รู้หนังสือหรอก แล้วท่านก็เฉยเสีย หลวงพ่อก็ตอบไปสิ เรื่องไหนรู้จริงก็ตอบไปชัดแจ๋ว บางทีรู้แต่ว่านึกหาคำเหมาะๆ ไม่ทันพูดไปแล้วจึงนึกได้ จะไปถอนคำพูดก็กระไรอยู่ ก็ดำน้ำไปจนได้นั่นแหละ คุณยายก็ไม่พูดอะไร ทำเฉยเหมือนไม่รู้ จะช่วยสักหน่อยก็ไม่ช่วย พอญาติโยมกลับไปหมดแล้ว คุณยายถึงได้พูด


         “ท่าน  ตอบอย่างนั้นพระนะ  ถ้าเป็นคนธรรมดาตอบได้  เป็นพระตอบยังงี้ไม่ได้  ปัญหาชาวบ้านๆ  ถึงรู้ก็อย่าไปตอบ  มันเสียพระ  เรื่องผัวเรื่องเมียเขาปัญหาพวกนี้ท่านอย่าไปตอบนะตอบแล้วไม่คุ้มหรอกตอบแล้วเขาระแวงท่านด้วย”


         นี่คือการฝึกปฏิภาณที่หลวงพ่อได้มาจากคุณยายอาจารย์ หลวงพ่อฝึกมาอย่างหนัก ๒ ปี เพราะฉะนั้น ใครอยากจะมีปฏิภาณดีเชิญเลย เวลาหลวงพ่อรับแขกมานั่งอยู่ข้างๆ ไม่ต้องมาตอบคำถามแทนหลวงพ่อหรอก แค่นั่งจำก็เหลือเฟือแล้ว แขกที่ซักเก่งๆ มีเยอะ มาเถอะมาเลย จะได้ฟังเรื่องแปลกๆ เป็นตัวอย่าง


           อีกวิธีหนึ่งนอกจากการรับแขกคือ  “ขึ้นเทศน์บ่อย ๆ”  เทศน์เสร็จก็เปิดโอกาสให้คนฟังซัก ปัญหามีเท่าไหร่ถามมาไม่ต้องเกรงใจ บอกไปด้วยว่าถ้าตอบไม่ได้จะไปถามพระอาจารย์มาให้ หรือบางทีตอบไม่ได้จริงๆ แหม....เวลาไม่พอเรื่องนี้เป็นเรื่องยาว อาทิตย์หน้าจะมาตอบให้ อย่างนี้ก็ยังรอดตัว ถ้ามันเป็นปัญหาแรกแล้วบังเอิญตอบไม่ได้ จะไม่ตอบเสียเลยก็กระไรอยู่ จะให้ถามปัญหาต่อไปก็กลัวจะตอบไม่ได้อีก จะใช้วิธีให้ผู้ฟัง เขียนปัญหาส่งขึ้นมา แล้วเลือกตอบเฉพาะปัญหาที่ตอบได้ มันคงมีบ้างหรอกน่ะ แบบนี้มันก็ยังมีทางไป


         การฝึกปฏิภาณของพระนี่  โบราณใช้การถามปัญหาพิเศษคือเทศน์  ๒  ธรรมาสน์ ๓ ธรรมาสน์ ที่เรียกว่า เทศน์แบบ “ปุจฉา-วิสัชชนา” คือ ถาม-ตอบ ให้พระขึ้นเทศน์ถามกันเอง องค์หนึ่งขึ้นธรรมาสน์เป็นฝ่ายตอบ ให้พระอีก ๒ ธรรมาสน์เป็นฝ่ายถาม แบบนี้ถ้าไม่แน่จริงจะกลัวจนหลังเย็นเลยก็แล้วกัน


      หลวงพ่อมีโอกาสฝึกปฏิภาณมาตลอด  ทำให้กลายเป็นคนที่มั่นใจตนเองและ “ช่างจดช่างจำ” ไปโดยปริยาย เพราะจำเป็นจะต้องใช้พูดโต้ตอบเมื่อถูกซักถาม


        การถูกซักถามโดยคนเพียงไม่กี่คนนั้น  ไม่ยากเท่ากับถูกซักถามต่อหน้าคนมากๆ   และหากถูกซักถามสดๆ ถ่ายทอดออกโทรทัศน์ให้คนทั้งประเทศชมก็นับว่าน่าวิตกทีเดียว ถ้าความรู้และปฏิภาณเราไม่ดีพอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไปในนามของสถาบันที่เราอยู่แล้วไม่สามารถตอบข้อซักถามได้ดี ก็เท่ากับ“ขายหน้า” สถาบันของเราด้วย


         ตัวอย่างกรณีวัดพระธรรมกายของเรา เมื่อต้องก้าวเข้าไปสู่สังคมโลกซึ่งมีความคิดเห็นในเรื่องโลกและชีวิตหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น เขานิมนต์มาจะให้ไปเทศน์ ควรจะไปหรือไม่ควรไป เอาหลักเกณฑ์อะไรมาตัดสิน เทศน์นี่เป็นเรื่องดีไหม ดี แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังต้องคิดต่อว่า คนที่มานิมนต์เป็นใครสังคมที่เราจะเข้าไปนั้นเป็นอย่างไร หรือถ้ามีนักหนังสือพิมพ์ มาขอสัมภาษณ์ประเภทนี้ต้องคิดหนักนะ บางทีเราพูดอย่างเขาเอาไปลงอีกอย่าง หรือพาดหัวข่าวให้น่าตื่นเต้น ให้คนซื้อหนังสือพิมพ์ของเขาไปอ่านมากๆ มีได้มีเสียแล้วงวดนี้ หลวงพ่อเจอมาแล้ว ทั้งๆ ที่เราก็พูดกับเขาดีๆ อ้างเหตุอ้างผล แต่เขามีอคติกับวัดพระธรรมกายมาก่อน หลวงพ่อก็ให้สัมภาษณ์เขาไปตามความเป็นจริงแล้วเขาก็เอาไปลงพิมพ์ตามที่หลวงพ่อพูดทุกอย่าง แต่พออ่านแล้วเราฟังลูกเดียว ทำไมพัง เขาเอาคำของเราไปวางให้มันผิดวรรคผิดตอน เข้าทำนอง “ยานี้กินแล้วแข็ง แรงไม่มี โรคภัยเบียดเบียน” ทั้งที่ความจริงก็คือ “ยานี้กินแล้วแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” มันแค่ ๒ วรรค แต่เขาเอาไปแบ่งเป็น ๓ วรรคมันก็พังลูกเดียว กินไปทำไมยาพรรค์นี้นี่หลวงพ่อเจอกับตัวเอง


      หรือแม้กับคนดีๆ   มีความปรารถนาดีกับเรา   ก็ต้องคิดให้มากเหมือนกันเช่นวันหนึ่งมีโทรศัพท์เข้ามา “หลวงพ่อทัตตชีโว ใช่ไหมคะ” “ใช่” “อยากจะอาราธนาท่านไปออกทีวีในรายการ “เช้าวันนี้” ของ ดร.สมเกียรติจะได้ไหมคะ”“จะให้ไปพูดเรื่องอะไรล่ะคุณโยม” หลวงพ่อก็ต้องซักไซ้เขาดูก่อน “เรื่องวันอาสาฬหบูชากับวันเข้าพรรษา


         ก็บอกเขาไปว่า  หลวงพ่อเป็นพระนะไม่มีโอกาสได้ดูทีวีมานานแล้ว  คุณโยมลองเล่าให้ฟังสักนิดเถอะว่า ลักษณะรายการเป็นอย่างไร


         เขาก็อธิบายให้ฟังว่า รายการโดยทั่วไปก็คือ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในบ้านเมือง ก็เอาเรื่องนั้นขึ้นมาพูดกัน แล้วก็เลือกเชิญบุคคลที่คิดว่ามีความรู้ดีในเรื่องนั้นให้มาพูด แล้วก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาซักถามเพราะฉะนั้นจึงต้องการผู้ที่สามารถจะตอบคำถามได้ทันที


         หลวงพ่อเองก็รู้อยู่ว่า    การตอบปัญหาทางทีวีซึ่งมีเวลาคิดนิดเดียวนี่เรื่องใหญ่นะ     แต่หลวงพ่อก็ตัดสินใจรับอาราธนาเขาไป    เพราะเชื่อถือตัวบุคคลและรู้จักตัวเองว่าพอไปได้ เมื่อไปแล้วก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร แต่ถึงขนาดนั้นวันรุ่งขึ้นหลังจากวันเข้าพรรษาแล้ว หลวงพ่อไปกราบเจ้าประคุณสมเด็จวัดราชบพิตร ได้พบกับเลขาของสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน ท่านก็ปรารภด้วยความเป็นห่วง


         “แหม   ท่านทัตตะฯ  วันนั้นออกทีวีผมละใจหายใจคว่ำ   เพราะปัญหาแต่ละข้อที่เขาโทรศัพท์มาถาม มีแต่ทีมมีแต่คำวัดพระธรรมกายทั้งนั้นเลย กลัวว่าจะตอบพลาด"


            ๔. รู้จักประมาณ


           รู้จักประมาณ  คือรู้ว่าทำอย่างไรแล้วจึงจะ “พอดี” ให้มีทั้งความ “พอ” และความ “ดี” อยู่ในตัวเสร็จ ซึ่งนับว่ายากทีเดียว คนเราถ้ามีความพอดีแล้วย่อมจะงามไปหมด ดูมีคุณค่า ถ้าไม่พอดีก็จะขาดความงาม ด้อยค่าไป


             พระพุทธองค์ทรงสอนพระภิกษุให้มีความพอดีด้วยวิธี : -


             รู้ประมาณในการรับปัจจัย  ๔  คือ จีวรเครื่องนุ่งห่ม, บิณฑบาต, เสนาสนะและคิลานเภสัช


             ถ้าเป็นชาวโลก เป็นผู้ครองเรือนก็คือ


          เสื้อผ้า  อย่าให้มากไปจนเป็นทาสของเสื้อผ้า  แต่ไม่น้อยไปจนดูซอมซ่อ มีชุดจำเป็นสำหรับงานตามสังคมโลกแต่พอควร เรื่องราคา เนื้อผ้า แบบ สีสันเลือกดูให้พอดี ทั้งนี้รวมไปจนถึงเครื่องนุ่งห่มอื่นๆ เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง เป็นต้น


         อาหาร ต้องรับประทานอาหารที่มีคุณค่า  จะได้มีเรี่ยวแรงทำงาน  ไม่รับประทานมากไป หรือน้อยไป จนเป็นโรคอ้วน หรือโรคขาดสารอาหาร ต้องรู้จักเลือกซื้อของดีมีประโยชน์ในราคาไม่แพงมาปรุงอาหาร


        ที่อยู่ มีที่อยู่อาศัยขนาดพอดีกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของตน  ด้านโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม เช่น วัสดุที่ใช้ การระบายอากาศ การรับแดด, ลมการป้องกันฝน ดูว่าเหมาะกับภูมิอากาศหรือไม่ อยู่ไกลหรือใกล้จากที่ทำงานแค่ไหน


           ยารักษาโรค รู้จักใช้ยาเป็น รู้จักรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง


          นอกจากรู้ประมาณในปัจจัย ๔ แล้ว สิ่งประกอบอื่นๆ อันเนื่องด้วยปัจจัย ๔ ก็ต้องประมาณให้มีความพอดีด้วย เป็นต้นว่า จะรินน้ำใส่แก้วให้แขก ต้องรู้ว่าควรรินมากน้อยแค่ไหน จึงจะดูน่าดื่ม และแสดงว่าเราเต็มใจต้อนรับเขาด้วย


           ๕. รู้จักกาล


           คือ มีการบริหารเวลาอย่างถูกต้อง


           เวลานั้นผ่านไปทุกขณะจิต   เวลาเอาความชรามาให้   เอาโอกาสของเราไปและไม่ย้อนกลับมาอีก


            เราต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า ถ้าใช้เวลาไม่เป็น ก็เหมือนกับเราไม่ได้วางแผนให้ชีวิต


            ในชีวิตของเรา เราต้องแบ่งเวลาสำหรับการศึกษาเล่าเรียน ทำมาหากินและปฏิบัติธรรม


            วัยเด็ก-เป็นวัยเรียน


            วัยกลางคน-สร้างฐานะ


            วัยปลาย-ปฏิบัติธรรม


         อย่างไรก็ตาม   ในวัยเด็กและวัยกลางคน   ก็ควรศึกษาธรรมะเป็นทุนไว้ก่อนเพราะหากจะมาเริ่มวัยปลายแล้วย่อมลำบาก   เนื่องจากสังขารเสื่อม โทรมลงความทรงจำไม่ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว


        นี้เป็นการแบ่งเวลาในชีวิต   ถ้าหากแบ่งละเอียดไปก็อาจแบ่งซอยออกได้อีกเป็นการใช้เวลาในชีวิตประจำวัน ว่านี้เป็นเวลาตื่นนอน นี้เป็นเวลาศึกษาเล่าเรียนนี้เป็นเวลาทำงาน ฯลฯ


             ๖. รู้จักชุมชน


        เมื่อจะเข้าไปในสังคมไหนก็ตาม  เราต้องรู้จักลักษณะของบุคคลในสังคมนั้น  ว่าเขามีประเพณีการปฏิบัติอย่างไร เราจะได้ปฏิบัติให้เหมาะสม เช่น


            สังคมของกษัตริย์ ถ้าเรามีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ต้องรู้ว่าควรจะแต่งกายอย่างไรจะพูดอย่างไร ฯลฯ


             สังคมของเศรษฐี คฤหบดี จะต้องพูดคุยกับเขาอย่างไร ฯลฯ


             สังคมของพระ จะวางตัวอย่างไร ฯลฯ


           ถ้าเรารู้มารยาทสามารถวางตัวได้เหมาะสมกับสังคมที่เราเข้าไปติดต่อเกี่ยวข้อง   ก็จะดูงาม น่านับถือ หรือเข้ากับเขาได้


            ขอให้จำไว้ว่า  คนเรานั้น  อะไรจะมากระทบจิตใจให้เจ็บช้ำเกินคนด้วยกันกระทบกันนั้นไม่มี


             คนเราจะได้ดีได้ชั่วก็เพราะคนด้วยกัน ที่จะสนับสนุนหรือซ้ำเติมกัน


             ๗. รู้จักบุคคล


            ตรงนี้ยากที่สุด ตลอดชีวิตของพระและนักสร้างบารมี ถ้าขาดความรู้ตรงนี้แล้วไม่มีสิทธิ์ที่จะเทศน์จะสอน ไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้คน คือเทศน์ก็จะดูคนไม่ออกใช้คนก็ใช้ไม่เป็น หรือแม้ที่สุดถ้าไปใกล้ชิดกับคนไม่ดีเข้า ตัวเองก็จะเสียไปด้วย


          ที่พระพุทธองค์ตรัสว่ารู้จักบุคคลโดยส่วน  ๒ หรือบุคคล ๒ จำพวก เป็นอย่างไรนั้น เรื่องนี้หลวงพ่อให้ความสนใจมาตลอดเลย ท่านอธิบายว่า


        ในบรรดาคนทั้งหมดในโลก  มีแบ่งเป็น ๒  พวก พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พูดง่ายๆ บางคนอยากจะพบพระ บางคนไม่อยากพบ บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ ส่วนบุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะพึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆคือพวกที่อยากเห็นพระก็พวกหนึ่ง ไม่อยากเห็นพระก็พวกหนึ่ง พวกที่อยากเห็นพระนี่น่าสรรเสริญยังไง พวกไม่อยากเห็นพระนี่น่าติเตียนยังไง ก็ว่ากันไป


        ในบรรดาบุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะ  ก็ยังแบ่งเป็น  ๒ พวก พวกหนึ่งต้องการฟังธรรม อีกพวกหนึ่งไม่ต้องการฟังธรรม อยากเห็นและอยากฟังธรรมก็มี อยากเห็นแต่ไม่อยากฟังธรรมก็มี บุคคลผู้ไม่ต้องการฟังธรรมจึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลผู้ต้องการฟังพึงได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ


           ในบรรดาบุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมยังแบ่งออกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งทรงจำคือ ฟังแล้วจําไว้เลย ทรงจําธรรมได้ อีกพวกหนึ่งไม่ทรงจําธรรม ฟังแต่จําไม่ได้มันทื่อๆ เท่อ ๆ


       ในบรรดาบุคคลที่ฟังธรรมแล้วทรงจำธรรมไว้ยังแบ่งออกเป็นอีก   ๒   พวกพวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความ อีกพวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความ จำธรรมได้แล้วนะ พวกหนึ่งพอทรงจำธรรมได้ก็เอามาพิจารณา เอามาไตร่ตรอง แต่พวกหนึ่งทรงจําธรรมได้เหมือนกัน แต่ไม่เอามาพิจารณา ยังไม่พออีก


        ในบรรดาบุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว   ยังแบ่งออกเป็นอีก  ๒ จำพวก พวกหนึ่งเมื่อพิจารณาจนรู้แล้วก็นำเอามาปฏิบัติตามสมควรแก่ตน แต่อีกพวกหนึ่งรู้แล้วก็เอาไว้แค่รู้ ไม่นำมาปฏิบัติ


       ในบรรดาพวกที่รู้ธรรมแล้วนำเอามาปฏิบัตินี้    ยังแบ่งออกเป็นอีก   ๒   พวกพวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเพียงลำพัง อีกพวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วย คือพวกหนึ่งรู้แล้วปฏิบัติเฉพาะตัว อีกพวกหนึ่งรู้แล้วปฏิบัติด้วยสอนชาวบ้านด้วย


            ดูให้ดีนะนี้เป็นการแยกประเภทคนของพระพุทธองค์อย่างฉกาจฉกรรจ์เลย


          คนในโลกนี้พวกหนึ่งอยากเห็นพระอริยะ  กับพวกหนึ่งไม่อยากเห็น  พูดง่ายๆ พวกอยากเห็นพระกับพวกไม่อยากเห็น พวกที่อยากเห็นพระนั่นน่ะยังแบ่งออกเป็น อยากเห็นพระเพราะอยากฟังธรรม ถามว่าอยากเห็นพระหรือ ใช่ฉันอยากฟังธรรม พวกหนึ่งอยากเห็นพระทำไมล่ะ ไม่เห็นฟังเทศน์ฟังธรรมของท่านเลย เอ้า! ฉันก็อยากขอหวยซิ มันแยกกันออกไป หรือบางคน ฉันไม่อยากขอหวยหรอก อยากรู้โชคชะตา อยากให้พระผูกดวงให้ ธรรมะไม่อยากฟังหรอก


          พวกฟังธรรมก็ยังแบ่งอีก ตั้งใจฟังกับไม่ตั้งใจฟัง พวกหนึ่งตั้งใจฟังเหลือเกิน นั่งฟังตัวตั้งเลย แต่อีกพวกหนึ่งฟังเพลินๆ ไปอย่างนั้นแหละ แหม! หลวงพ่อท่านเทศน์เพราะดี เสียงท่านดี๊ดี ก็ว่ากันไป ตั้งใจกับไม่ตั้งใจ พวกตั้งใจฟังนี่ยังแบ่งออกเป็น ๒ พวก จำได้พวกหนึ่งกับจำไม่ได้พวกหนึ่ง พวกหนึ่งจำได้แล้วเอามาพิจารณา อีกพวกหนึ่งไม่พิจารณา จำเอาไว้คุยเล่น พวกที่พิจารณาแล้วเอามาปฏิบัติก็อีกพวกหนึ่ง ไม่ปฏิบัติ เอาไว้แค่คุยอวดชาวบ้าน เอาไว้วิพากษ์วิจารณ์อวดคารมก็ยังมี


           จากการจำแนกประเภทคนออกเป็น  ๒  จำพวกอย่างนี้   ทำให้เราพิจารณาคนได้ลึกซึ้ง   คนที่มาคบกับเรา   หรือคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เราลองเอาหลักการข้อนี้ไปพิจารณาดูเถอะจะรู้ว่าที่เขาคบกับเรานั้นเขาต้องการคบลึกซึ้งแค่ไหนจะร่วมเป็นร่วมตายด้วย จะตายแทนเราได้ หรือแค่ร่วมสุข แต่ร่วมทุกข์ขอเผ่นก่อนละนะ หรือคบเราเพื่อจุดหมายอะไร ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราคบกับใครถามตัวเองดูด้วยว่า เรามีความจริงใจแค่ไหน หรือว่าเราเป็นประเภทที่ไม่ชอบคิดอะไร รู้จักใครก็คบไปเรื่อยๆ งั้นก็เป็นพวกเรื่อยๆ เปื่อยๆ เข้าข่ายข้อไหนล่ะ


           หากใช้หลักสัปปุริสธรรม   เป็นแม่บทในการตัดสินใจแล้ว   ก็เรียกได้ว่า   เราสามารถครองชีวิต  อยู่ในครรลองของความเป็นคนฉลาดและคนดีได้ทีเดียว

2567%2008%2009b.jpg

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036624832948049 Mins