๖. การใช้มรรคมีองค์ ๘ เป็นแม่บทในการตัดสิน

วันที่ 08 สค. พ.ศ.2567

2567-08-08%20b.jpg

 

๖. การใช้มรรคมีองค์ ๘ เป็นแม่บทในการตัดสิน

 

         มรรค  แปลว่า  หนทาง ในที่นี้ มรรคมีองค์ ๘ หมายถึง “ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” ประกอบด้วย


         ๑) สัมมาทิฏฐิ - เห็นชอบ
         ๒) สัมมาสังกัปปะ - ดำริชอบ
         ๓) สัมมาวาจา - เจรจาชอบ
         ๔) สัมมากัมมันตะ - การกระทําชอบ
         ๕) สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีวิตชอบ
         ๖) สัมมาวายามะ - ความเพียรชอบ
         ๗) สัมมาสติ - ระลึกชอบ
         ๘) สัมมาสมาธิ - สมาธิชอบ


      ในการตัดสินเรื่องเกี่ยวกับธรรมะเบื้องสูง  ตัดสินเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติธรรม  เรื่องลึกซึ้ง เรื่องการฝึกสมาธิ ทั้งที่เป็นสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ จะใช้“มรรคมีองค์ ๘” เป็นแม่บทในการตัดสิน


          ตัวอย่าง “การเข้าทรง” เป็นเรื่องที่ถูกที่ควรไหม


         ถาม  “หลวงพ่อ  เข้าทรงนี่ผิดไหมครับ คนเขาว่าผิด  แต่ผมไม่เห็นว่าจะผิดตรงไหน  เข้าทรงแล้วเขาก็สอนให้เราทำดี ให้เราทำบุญ มันจะผิดตรงไหนครับหลวงพ่อ ผมมองไม่ออก”


      หลวงพ่อก็ถามเขาว่า  “เข้าทรงนี้เป็นสัมมาทิฏฐิไหม  มีความเห็นถูกไหมเชื่อเรื่องบุญเรื่องบาปไหม เชื่อเรื่องกรรมไหม”


          ตอบ “เชื่อครับ เพราะเขาสอนให้ผมไปทำบุญ เชื่อเรื่องบุญบาป เชื่อเรื่องเวรกรรม”


        สัมมาทิฏฐิในระดับลึก ๆ ในเรื่องนิพพาน คนเข้าทรงไปไม่ถึง คนที่มาถามเรา เขาก็ไปไม่ถึง ตรงนี้เราก็เลยต้องปล่อยผ่านไปก่อน


          ถาม “เข้าทรงนี้เป็นสัมมาสังกัปปะไหม มีความคิดชอบไหม คิดดีไหม”


          ตอบ “เขาก็สอนให้ผมไปตักบาตรอุทิศส่วนกุศล เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องคิดดี”


          ถาม “เป็นสัมมาวาจาไหม เขาพูดดีไหม”


          ตอบ “พูดดีครับ”


          ถาม “เป็นสัมมากัมมันตาไหม  เป็นการกระทำที่ชอบไหม ก่อความเดือดร้อนให้ใครบ้างหรือเปล่า”


         ตอบ  “เขาก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร  แม้แต่เงินก็ไม่เคยเรียกร้องเอากับผมสักบาทสักสลึง"


          ถาม “เป็นสัมมาอาชีวะไหม เป็นการเลี้ยงชีพชอบไหม”


       ตอบ “อาชีพหลักของเขา  ก็มีอยู่แล้ว เขาเข้าทรงเป็นบางเวลา นอกเวลาทำงานที่มาเข้าทรงให้นี่ต้องถือว่าเขาปรารถนาดีต่อสัตว์โลก เขามาเข้าทรงเพื่อจะชี้โชคชะตาให้


       ถาม  “เป็นสัมมาวายามะไหม  มีความเพียรชอบไหม”  ก็ยังไม่ค่อยชัดชี้กันไม่ค่อยออกว่าเป็นหรือไม่เป็น  ถ้าอย่างนั้นปล่อยไปอีกข้อ


         ถาม “เป็นสัมมาสติไหม เขามีสติไหม


         ตอบ “ผมว่าเขามีสตินะ”


         ถาม “มียังไง! ถ้ามีก็แสดงว่าไม่ได้เข้าทรงซิ คนมีสติย่อมเข้าทรงไม่ได้จริงหรือไม่จริง!"


         ตอบ “จริงครับ”


         ถาม “ถ้าเข้าทรงจริงมันก็ขาดสติ คนขาดสตินาน ๆ เขาเรียกว่าอะไร”


         ตอบ “บ้าครับ”


        เห็นไหมล่ะ  ไปคบกับคนบ้าเข้าจนได้  ทีนี้เลยยอม  นี่ยกตัวอย่าง  ต้องไล่กับมรรคมีองค์ ๘ ให้ครบทั้ง ๘ ข้อ ให้สิ้นสงสัย ให้ชนะขาดลอยไปเลย!


         ถามต่อไปว่า “คนเราเมื่อขาดสติแล้วสมาธิจะมีได้ไหม”


         ตอบ “เขาก็นิ่งเหมือนกันนะครับ”


      นิ่งแบบเป็นมิจฉาสมาธิ  เพราะมันเป็นการนิ่งของคนไม่มีสติ เป็นมิจฉาสติไม่ใช่สติของคนดี เขาก็เลยต้องยอม มาตัดสินกันได้ที่ ๒ ประการสุดท้ายนี่เองหลวงพ่อจึงขอฝากเอาไว้ ถ้าจะตัดสินเรื่องธรรมะลึกๆ ต้องเอา มรรคมีองค์ ๘ มาจับถึงจะดิ้นไม่หลุด

2567-08-08b.jpg

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034005653858185 Mins