๓. การใช้ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เป็นแม่บทในการตัดสิน

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2567

 

2567%20%2008%20%2007%20b.jpg

 

๓. การใช้ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน

เป็นแม่บทในการตัดสิน

 

         แม่บทในการตัดสินใจอีกอย่างหนึ่ง   ใช้ผลลัพธ์เหมือนกัน  แต่มองตรงประโยชน์ที่จะพึงได้ คือ ให้พิจารณาว่า หากทำอะไรแล้วได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน รีบมาเถอะ แต่ถ้าได้ประโยชน์ตนเสียประโยชน์ท่านหรือส่วนรวมจะต้องคิดให้มาก หรือได้ประโยชน์ส่วนรวมแต่ประโยชน์ส่วนตนเสีย ก็ต้องคิดให้มากเหมือนกัน ปรับปรุงให้ดี มองแล้วมองอีกทีเดียว ถ้าประโยชน์ตนก็เสียประโยชน์ส่วนรวมก็เสีย พูดได้เต็มปากเลยว่า “ชั่ว” อย่าทำ


        ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องระมัดระวังให้มาก   จะยกตัวอย่างง่ายๆ   ถ้าถามหลวงพี่ว่า  ระหว่างการเป็นพระอาจารย์สอนปริยัติ กับให้ไปนั่งหลับตาทำภาวนา ถ้าให้เลือกจะเลือกเอาอย่างไหน ท่านก็คงเลือกไปนั่งหลับตาดีกว่าเพราะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการอบรมสั่งสอนคน แต่เมื่อคำนึงว่าเราจะช่วยกันพาคนข้ามห้วงสังสารวัฏ ถ้าจะต้องเสียเวลามานั่งเทศน์นั่งสอนก็ต้องทำ ส่วนที่ว่าจะต้องไปแหวกหาเวลาทําภาวนาเพื่อส่วนตัวเอาเองก็ต้องยอม หลวงพ่อเองก็เหมือนกัน ถ้าถามว่าอยากนั่งเทศน์ไหม ก็บอกว่าไม่อยาก พูดได้เลยว่าอยากไปนั่งหลับตา แต่ว่าเรามากันเป็นหมู่เป็นคณะ ประโยชน์ส่วนตนก็ต้องให้ได้ประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องให้ได้ ตรงนี้ก็ต้องขอให้ช่วยดูกัน


         เริ่มละเอียดแล้วนะ   ขอให้ระวังด้วย   เราจะเห็นว่า   แม้บางคนนั่งสมาธิได้ดีแต่ถึงเวลาทำงานส่วนรวมแล้ว แทนที่จะมาช่วยกันกลับไม่ค่อยมาช่วย มักจะหลบ ๆ ไป เจอคนแบบนี้ก็อย่าแปลกใจ ว่าทำไมนั่งสมาธิดีแต่ไม่มีคนรัก ตอบได้เลยว่า เพราะเขาได้แต่ประโยชน์ส่วนตน ส่วนประโยชน์ท่านน่ะไม่ได้ บางท่านนั่งสมาธิก็ดี ถึงเวลาส่วนรวมมีงานก็กุลีกุจอเข้ามาช่วยเต็มที่ งานเสร็จก็ไปนั่งต่ออย่างนี้จะไม่มีใครว่าสักคำ กลับรักด้วย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องระมัดระวังกันให้มาก


       บางคนเอาประโยชน์ส่วนรวม  ทุ่มเททำงานส่วนรวมเต็มที่เลย   แต่ว่าไม่ได้แบ่งเวลาส่วนตัวเอาไว้นั่งสมาธิบ้าง  ผลสุดท้ายเลยตามเรื่องละเอียดๆ ของหมู่คณะไม่ทัน หมู่คณะก้าวไปไกลแล้วแต่ตัวเองยังงุ่มง่ามอยู่ ได้ประโยชน์ส่วนรวมแต่เสียประโยชน์ส่วนตน กลายเป็นตัวถ่วง สิ่งเหล่านี้ต้องเอามาพิจารณาให้ดีเอาส่วนรวมจนส่วนตัวเสียก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องให้ได้ทั้งส่วนรวมและส่วนตัว นี้เราพูดกันในฐานะที่เราจะไปกันเป็นหมู่คณะ เราถึงต้องมองตรงประโยชน์ให้ดี ถ้าเสียประโยชน์ทั้งตนเองและเสียประโยชน์ทั้งหมู่คณะ ให้ตัดสินลงไปได้เลยว่าไม่ดี ไม่ควรทำ หรือบางคนเรื่องสังคมทำได้ดีทีเดียว ประสบความสำเร็จ แต่ปล่อยปละละเลยทางครอบครัว ลูกไปทาง เมียไปทาง อย่างนี้ก็ไม่ดี หรือที่เอาแต่ครอบครัว เพื่อนฝูง สังคมไม่เอาเลย ถึงคราวเดือดร้อนก็หันหน้าปรึกษาใครไม่ได้ นี่ก็ไม่ดี


         เพราะฉะนั้น  ต่อไปในภายภาคหน้า  เวลาจะทำอะไรต้องนึกถึงประโยชน์ทั้งส่วนตนทั้งส่วนรวมให้ถี่ถ้วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ชัดเจน ในกรณีตัวอย่างของพระอัตตทัตถะ องค์ที่มาบวชก่อนพระพุทธองค์จะปรินิพพานประมาณ ๔-๕ เดือน ท่านบวชแล้วไม่ยุ่งกับใครเลย ตั้งหน้าตั้งตาทำภาวนาอย่างเดียว ไม่เข้าหมู่ ไม่เข้าคณะ ในขณะที่ใคร ๆ เขาวุ่นวายปรับทุกข์กันเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงบอกว่าจะปรินิพพานในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พวกพระภิกษุด้วยกันตำหนิท่านมากเลยในเรื่องนี้ แล้วยังพาไปเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลให้ทรงทราบถึงความประพฤติที่ไม่ชอบมาพากลนี้ด้วยพระพุทธองค์ก็เลยทรงถาม


            “อัตตทัตถะ เธอทําอย่างนั้นหรือ”
            “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทำอย่างนั้นจริง"
            “ทําไมทําอย่างนั้นล่ะ”


         ท่านก็ตอบว่า  “เพราะข้าพระองค์คิดว่าปฏิบัติบูชาดีที่สุดแล้ว   ในวาระที่พระองค์จะต้องจากไปภายในอีกไม่นาน เรื่องอย่างอื่นก็มีคนทำกันอยู่มากแล้วจึงจะขอเร่งปฏิบัติธรรมเอาประโยชน์ส่วนตนให้ได้เสียก่อน เมื่อได้ประโยชน์ส่วนตนตรงนี้แล้ว ก็จะสามารถทำงานรับใช้หมู่คณะต่อได้เต็มที่”


          พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงตำหนิสักคำกลับทรงสรรเสริญว่า “ดีแล้วอัตตทัตถะ” แล้วตรัสกับภิกษุที่พากันมาเฝ้าว่า


          “ภิกษุทั้งหลาย    ผู้ใดมีความเสน่หาในตัวเรา   ผู้นั้นควรทำอย่างอัตตทัตถะเพราะว่า ผู้บูชาเราด้วยของหอมมีดอกไม้เป็นต้น ไม่ชื่อว่าบูชาเรา ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ตน ชื่อว่าบูชาเราด้วยการบูชาอย่างยิ่ง” ทรงให้ข้อคิดต่อไปว่า

2567-08-07b.jpg

           อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก  คือ  เมื่อตอนที่พระเวสสันดรให้ทานกัณหาชาลีไปกับชูชก ให้พระนางมัทรีไปกับพระอินทร์แปลงพระองค์ถูกตำหนิว่า ใจร้าย ไม่รับผิดชอบต่อลูกต่อเมีย ปัญหานี้พวกที่ไม่มั่นคงไม่ลึกซึ้งในหลักธรรม ก็จะตำหนิพระเวสสันดร แต่พวกที่มั่นคงอยู่ในธรรมเขาสรรเสริญ แล้วจริงๆ มันถูกผิดยังไง เอาอะไรเป็นเครื่องตัดสิน


        ก่อนที่จะตอบว่าผิดว่าถูกในตรงนี้  ก็ต้องมามองเหตุการณ์ในปัจจุบัน  ในกรณีที่ข้าศึกยกกองทัพมารุกรานแผ่นดินไทย  การที่ทหารไทยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งกองทัพ ตัดใจทิ้งทั้งลูกทั้งเมีย แถมทิ้งพ่อแม่ที่แก่ชราด้วยซ้ำ เพื่อออกรบป้องกันประเทศ การไปรบครั้งนี้จะตายหรือจะอยู่ ตอบไม่ได้ ถามว่าทหารเหล่านี้สมควรจะถูกตำหนิไหม แล้วถ้าเราเป็นทหารคนนั้น เราจะตัดสินอย่างไร เขมรก็ประชิด พม่าก็ประชิด ลาวก็ประชิด มาเลเซียก็ประชิด ประชิดรอบด้านเลย เอายังไงดี แม่ก็ป่วย เมียก็ท้องแก่ ลูกคนเล็กก็ยังนอนเปลอยู่จะไปรบดีหรืออยู่บ้านดีกว่า หนีทัพเสียดีไหม!


            เรื่องนี้ก็ต้องเอาส่วนรวมเป็นใหญ่  ยังไง ๆ ก็ต้องไปรบ  ถ้าแพ้หรือตายลูกเมียจะเป็นอย่างไรก็ต้องเป็น  ถ้าชนะ  แม้ตัวเองตายแต่ว่ากองทัพของเราชนะลูกเมียพ่อแม่ย่อมรอดแน่นอน


        เพราะฉะนั้น  เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกไปรบ  แม้ทหารจะทิ้งพ่อแม่ลูกเมียหมด  ก็ไม่มีใครตำหนิ กลับสรรเสริญเสียอีกว่า ที่เขาออกไปรบนั้น เขาไปทำทั้งประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ส่วนตนก็คือ ตัวของเขาครอบครัวของเขาจะได้รอดจากการตกเป็นเชลย ประโยชน์ส่วนรวมคือประเทศชาติก็จะได้รอดจากการตกเป็นเมืองขึ้น แต่ถ้าไม่ออกรบ ไม่แน่นะ ส่วนรวมอาจจะเสีย ประเทศชาติล่มจม ตัวเขาเองก็มีโอกาสตายมากกว่ารอด ข้าศึกมันไม่มีวันเลี้ยงทหารหนีทัพเอาไว้หรอก ครอบครัวก็พินาศ การที่เขาออกไปรบนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าเขาตาย ส่วนตนอาจจะเสีย แต่ส่วนรวมยังรอด ถ้าไม่ออกรบส่วนตนก็ไม่รอดส่วนรวมก็ไม่รอด


        ย้อนกลับไปดูเรื่องของพระเวสสันดร  หากพระเวสสันดรเป็นคนธรรมดาเป็นเพียงชาวบ้านคนหนึ่ง  ขี้เกียจเลี้ยงลูกก็เลยยกลูกให้ไปเป็นคนรับใช้เขา ถ้าอย่างนี้ผิด อย่างนี้ไม่ใช่การให้ทาน ทำไมเรามองว่าพระเวสสันดรให้ลูกเป็นทานเป็นอย่างไร


           พระเวสสันดรไม่ใช่คนธรรมดา    ท่านมองตัวเองแล้วรู้    รู้ว่าอย่างไร   รู้ว่ามองไปตลอดธาตุตลอดธรรมตลอดภพสามนี้แล้ว    เว้นจากพระองค์แล้วยังมองไม่เห็นใครเลยที่จะบุกเบิกไปถึงพระนิพพานได้สำเร็จ มีแต่พระองค์นี่แหละที่บากบั่นสร้างบารมีมาแล้วเป็นอสงไขย ๆ กัป หากคราวนี้ยังไม่ยอมให้ลูกให้เมียเป็นทาน อย่าเพิ่งไปพูดเลยว่าการให้ลูกให้เมียเป็นทานได้บุญขนาดนั้นขนาดนี้แต่บอกว่าถ้ายังไม่ยอมให้ไป ความผูกพันห่วงใยที่ยังมีอยู่กับลูกกับเมียนี้ จะทำให้การฝึกสมาธิเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานช้าไป ถ้าพระองค์ช้าไปชาติหนึ่งสัตว์โลกจะต้องเดือดร้อนกันทั้งโลกอีกแค่ไหน ถ้าช้าไปหลายชาติล่ะ ช้าไป ๕ ชาติ ๑๐ ชาติ สัตว์โลกจะต้องทนทุกขเวทนามหันต์ขนาดไหน แต่ว่าถ้าหากยอมตัดใจให้ลูกให้เมียเป็นทานไปในวันนี้ ชาตินี้บารมีก็เต็มเปี่ยม ชาติต่อไปได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่ แล้วก็จะได้รื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นทุกข์เสียให้หมด


          เมื่อนำประโยชน์ตนประโยชน์ท่านขึ้นตาชั่งแล้ว   ประโยชน์ส่วนตนพระองค์ก็ได้   ทางโอรสธิดาทางมเหสีก็ได้ สัตว์โลกได้ทั่วกันหมดเลย แต่ว่าตอนจะยกลูกยกเมียให้คนอื่นนั้นน่ะ มันปวดร้าวทุกข์ทรมานใจขนาดไหน เหมือนเชือดหัวใจทิ้งไปเชียวแหละ เหมือนควักลูกนัยน์ตาขว้างกระเด็นไป แต่ก็ต้องยอม! เพราะมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่


        การเอาประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมขึ้นชั่งนี่  ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนและซับซ้อน ในกรณีอย่างนี้ก็ขอให้พวกเราศึกษากันด้วย ความละเอียดรอบคอบ


        ในประวัติศาสตร์ชาติไทย   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ก็เคยทรงปฏิบัติมาแล้ว ไทยเราจำต้องยอมยกดินแดนบางส่วนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับอธิปไตยของชาติ หรือหากมองเข้าหาตัวให้แคบลงมาอีก เช่นคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน เมื่อโรคลุกลามมาก หมอก็จำเป็นต้องตัดอวัยวะบางส่วนของคนไข้ทิ้ง เช่น ตัดขาทิ้ง เพื่อรักษาหรือยึดชีวิตคนไข้ไว้ บางโรค จำเป็นต้องควักลูกตาทิ้งเพื่อรักษาชีวิตไว้ก็มี


         เรื่องการเสียสละ   อย่างไรเสียก็เป็นความเจ็บปวด...แต่ก็ต้องชั่งกันดู   วัดกันดู   ถ้าประโยชน์ส่วนใหญ่   คือประโยชน์ส่วนรวมมีมากกว่า เราก็ต้องยอมสละส่วนน้อย หรือประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม


          คำพูดที่ว่า   ทำประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้สมบูรณ์   ฟังเผิน ๆ  อาจจะง่าย  แต่เอาเข้าจริงมันก็สลับซับซ้อนอย่างนี้ ถ้าไม่มีกรณีตัวอย่างมากพอก็จะตัดสินใจไม่ลง ดังนั้นในบางเรื่อง จะเอาเรื่องแค่ประโยชน์มาตัดสินใจไม่ได้เสียแล้ว จึงต้องมีแม่บทต่อไป

2567-08-07-b.jpg

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039143665631612 Mins