พันธุละกับพระราชา

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2567

พันธุละกับพระราชา

670822_b167.jpg
                 วันหนึ่งเวลาเช้าอันเป็นฤดูใบไม้ผลิ ใบเก่าของพฤกษชาติถูกสลัดร่วงลง และเหี่ยวแห้งอยู่บริเวณโคนต้น ที่เน่าเปื่อยไปแล้วก็มีเป็นจำนวนมาก ใบอ่อนซึ่งผลออกใหม่ดูสวยงามสร้างเสลา มองดูเรียงรายเป็นทิวแถวน่าชื่นชม เมื่อฤดูนี้มาถึง แทบทุกคนรู้สึกว่าเหมือนได้อาศัยอยู่ในโลกใหม่ น้ำค้างบนยอดหญ้าและใบไม้ยังไม่ทันเหือดแห้งเพราะยังเช้าอยู่ พระอาทิตย์เพิ่งจะขอแสงสาดพื้นพิภพมาไม่นานนัก ลมอ่อนในยามเช้าพัดเฉื่อยฉิวหอบเอากลิ่นดอกไม้นานาพันธุ์ติดมาด้วย นกเล็ก ๆ กระโดดโลดเต้นด้วยความสำราญจากกิ่งนี้สู่กิ่งโน้น และจากกิ่งโน้นสู่กิ่งนั้น พลางก็ร้องเหมือนเสียงทักทายกันด้วยความสุขสดชื่นรับอรุณรุ่ง พระอานนท์พุทธอนุชา เดินจงกรมพิจารณาธรรมอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันสดชื่นนี้พลางท่านก็คิดถึงสุภาษิตเก่า ๆ บทหนึ่งว่า “กาก็ดำ นกดุเหว่าก็ดำ อะไรเล่าเป็นเครื่องแตกต่างระหว่างกาและนกดุเหว่านั้น”
 

                 แต่เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงเข้า กาก็คงเป็นกา นกดุเหว่าก็คงเป็นนกดุเหว่า สาธุชนและทุรชนก็มีรูปลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่เมื่อเปล่งวาจาปราศรัย จึงทราบว่าใครเป็นสาธุชน และใครเป็นทุรชน ท่านใคร่ครวญต่อไปถึงพระพุทธภาษิตที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธองค์เคยตรัสว่า ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั่นไม่ชื่อว่าสภา ผู้พูดไม่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ ขณะนั้นเอง สุภาพสตรีผู้หนึ่งถือดอกไม้ธูปเทียนและข้าวยาคู เดินเข้ามาในบริเวณอาราม เมื่อนางเห็นพระอานนท์ จึงวางของลงแล้วนั่งลงไหว้
 

“อุบาสิกา! วันนี้มาแต่เช้าเทียวหรือ” พระอานนท์ทุกอย่างสนิทสนม
 

“ข้าพเจ้ามีกิจพิเศษด้วย คือจะมาทูลลาพระศาสดากลับไปอยู่บ้านเดิม กุสินารา พระคุณเจ้า” นางตอบด้วยเสียงสั่นเครือ “และตั้งใจว่าจะลาพระคุณเจ้าด้วย ก็พอดีพบพระคุณเจ้าที่นี่”
 

“ทำไมหรือ อุบาสิกา?” พระอานนท์ถามด้วยความสงสัย


“ท่านเสนาบดีให้กลับพระคุณเจ้า”


                  เมื่อพระอานนท์ไม่ซักถามอะไรอีก นางก็นมัสการลาแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ใจนางไม่สบายเลย ไหนจะเป็นห่วงท่านเสนาบดีที่จะต้องอยู่โดยปราศจากนาง และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ นางปรารถนาจะอยู่สาวัตถี เพราะเป็นราชธานีที่พระพุทธองค์ประทับอยู่บ่อยที่สุดและนานที่สุด การได้อยู่เมืองที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้นเป็นกำไรชีวิตอย่างมากสำหรับความรู้สึกของนาง เมื่อนางถวายบังคมแล้ว พระศาสดาจึงทักว่า
 

“มัลลิกา! วันนี้มาแต่เช้า มีธุระอะไรพิเศษหรือ?”
 

“หม่อนฉันมาทูลลาพระองค์ เพื่อไปกุสินาราพระเจ้าข้าฯ” นางทูลตอบ
 

“ทําไมหรือ?”


“ท่านเสนาบดีให้กลับไปอยู่กุสินารา พระเจ้าข้าฯ”


“มีเรื่องอะไรรุนแรงถึงต้องให้กลับเทียวหรือ?”


“เรื่องก็มีเพียงว่าหม่อมฉันไม่มีบุตร ท่านพันธุละเสนาบดีจึงให้กลับไปอยู่บ้านเดิม เขาบอกว่าหม่อมฉันเป็นหมัน เขาต้องการลูก เมื่อไม่สามารถมีลูกให้เขาได้ จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ต่อไป”

“เท่านี้เองหรือ มัลลิกา!”


“เท่านี้เองพระเจ้าข้าฯ”


“ถ้าเพียงเท่านี้ก็อย่าไปเลย อยู่ที่สาวัตถีนี่แหละ ขอให้บอกท่านเสนาบดีตามคำของตถาคต”

 

                  นางมัลลิกาได้ฟังพุทธดำรัสแล้ว ดีใจและโปร่งใจเหมือนนักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตและพระราชารับสั่งให้ปล่อยฉะนั้น นางถวายบังคมลาพระศาสดา เดินอย่างร่าเริงกลับออกมาทางเดิม พบพระอานนท์ยังเดินจงกรมอยู่ จึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระอานนท์ทราบ ท่านกล่าวว่า
 

“อุบาสิกา! ท่านเป็นผู้มีโชคดี ต่อไปนี้ท่านปรารถนาสิ่งใดคงได้สิ่งนั้นสมประสงค์ พระศาสดาไม่เคยตรัสอะไรที่ปราศจากเหตุ การห้ามของพระองค์น่าจะมีเหตุผล ที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่าน จงเบาใจเถิด"
 

                   นางมัลลิกาภรรยาแห่งท่านพันธุละเสนาบดีนี้เป็นสตรีมีบุญผู้หนึ่งในสมัยพุทธกาล มีเครื่องประดับที่มีค่าและทรงเกียรติ ซึ่งเรียกว่า มหาลดาปสาธน์ ในสมัยเดียวกัน มีสตรีอยู่สามคนเท่านั้นที่สามารถมีเครื่องประดับนี้ คือนางวิสาขามหาอุบาสิกาคนหนึ่ง นางมัลลิกาภรรยาพันธุละเสนาบดีคนหนึ่ง และธิดาแห่งเศรษฐีกรุงพาราณสีอีกคนหนึ่ง 

                    นางกลับไปหาท่านพันธุละด้วยอาการลิงโลดใจ แจ้งเรื่องที่พระศาสดาทรงทัดทานมิให้กลับไปกุสินารา พันธุละคิดว่า พระศาสดาคงทรงเห็นเหตุสำคัญเป็นแน่จึงทรงห้ามไว้ เขาเชื่อในพระสัพพัญญุตญาณแห่งพระพุทธองค์จึงพลอยดีใจกับชายาด้วย เข้าประคองมัลลิกาด้วยความถนอมรักใคร่พลางกล่าวว่า
 

                      “ที่รัก! การที่พี่บอกให้น้องกลับกุสินารานั้นจะเป็นเพราะไม่รักน้องก็หามิได้ น้องก็คงทราบว่าวงศ์ตระกูลเป็นสิ่งสำคัญ ตระกูลที่ไม่มีบุตรสืบต่อย่อมขาดสูญ พี่ไม่ปรารถนาเช่นนั้น พี่เพียงทำตามประเพณีของพวกเราเท่านั้น หญิงที่เป็นหมันย่อมให้สิทธิแก่สามีตนเพื่อมีหญิงอื่นเป็นภรรยาสำหรับมีบุตรสืบสกุลวงศ์ เพราะพี่รักน้องจึงไม่อยากให้น้องอยู่อย่างหน้าชื่นอกตรม พี่ทราบกฎธรรมดาดีว่า ไม่มีสตรีคนใดอยากเห็นสามีของตนมีภรรยาอื่นอย่างตำหูตำตา น้องเป็นสุดที่รักของพี่ แต่ความจำเป็นควรจะอยู่เหนือความรักมิใช่หรือ?”

               

                     มัลลิกาซบอยู่กับอกของพันธุละ น้ำตาไหลพรากลงอาบแก้มนางจะสะกดกลั้นอย่างไรก็สุดที่จะห้ามมิให้มันพรั่งพรูออกมา ความรู้สึกของนางสับสนวุ่นวายทั้งดีใจและเสียใจ ดีใจที่มีโอกาสได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดสามีอันเป็นที่รัก เสียใจที่นางไม่สามารถให้บุตรสืบสกุลแก่เขาได้ ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งสอดแทรกเข้ามา คือ รู้สึกสงสารและเห็นใจสามี นางพูดทั้งน้ำตาว่า
 

“น้องเข้าใจพี่ดี และพร้อมที่จะทำตามคำบัญชาของพี่ น้องได้มอบทั้งร่างกายและจิตใจให้พี่แล้ว สิ่งที่น้องให้พี่ไม่ได้นั้นเป็นสิ่งสุดวิสัยจริง ๆ เท่านั้น ในโลกนี้มีสิ่งอยู่เป็นจำนวนมากที่เราปรารถนาเหลือเกินเพื่อจะได้ แต่ก็ไม่ได้สมตั้งใจ ตรงกันข้าม มีสิ่งอยู่เป็นจำนวนมากที่เราอยากหลีกเลี่ยงและไม่พึงปรารถนา แต่ก็ประสบเข้าจนได้ ที่รัก ในโลกนี้มีใครเล่าที่จะสมปรารถนาไปเสียทุกอย่าง ทุกชีวิตล้วนคลุกเคล้าไปด้วยยาพิษและน้ำตาล ชีวิตมีทั้งความหวานชื่นและขื่นขม เรามิได้เป็นเจ้าของชีวิต แต่ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นทาสของชีวิต...เป็นไปจนกว่าชีวิตนี้จะสิ้น”

 

“ทำไมน้องพูดรุนแรงถึงปานนั้น”


                 พันธุละทักท้วงเชยคางนางอันเป็นที่รักให้เงยหน้าขึ้น มองซึ้งลงไปในดวงตาอันเศร้าซึมของมัลลิกาซึ่งยังมีน้ำตาคลออยู่ ก้มลงจุมพิตเบา ๆ เพื่อปลอบใจให้นางสร่างโศก มือหนึ่งลูบไล้ไปตามเรือนเกศาอันอ่อนนุ่มสลวยเป็นเงางามเรื่อยลงมาถึงแผ่นหลังซึ่งอวบเต็ม “ชีวิตนี้ไม่มีอะไรรุนแรงนักดอก ความผิดหวังและความขมขื่นซึ่งมีเป็นครั้งคราวนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของความสมหวังและความหวานชื่น ที่รัก ถ้าไม่มีรสขมอยู่ในโลกนี้มนุษย์จะรู้จักคุณค่าแห่งรสหวานได้อย่างไร ถ้าไม่มีบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าว คนจะรู้จักคุณค่าแห่งร่มพฤกษ์อันรื่นรมย์ได้อย่างไร ถ้าไม่มีสิ่งที่ชั่ว มนุษย์จะรู้คุณค่าของสิ่งที่ดีละหรือ น้องจงมองชีวิตในฐานะเป็นสิ่งรื่นรมย์ และสร้างความหวังอันสดชื่นไว้เสมอเพื่อชีวิตนี้จะได้สดชื่นขึ้น”
 

“จะไม่เป็นการหลอกลวงตัวเองไปหรือ?” มัลลิกาเงยหน้าสบตาสามี “ในเมื่อชีวิตมิได้รื่นรมย์ จะมีเป็นการระบายสีให้แก่ชีวิตจนมองชีวิตที่แท้จริงไม่เห็นไปหรือ?”
 

                 “น้องรัก! ถ้าการหลอกตัวเองนั้นเป็นไปในทางที่ดีในทางสร้างสรรค์ให้ชีวิตนี้ชื่นสุขเราก็ควรจะหลอกลวง มนุษย์เราชอบหลอกลวงตัวเองไปในทางร้าย และเหตุร้ายก็อาจจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจะไม่ลองหลอกตัวเองไปในทางดีเพื่อผลดีจะเกิดขึ้นจริง ๆ บ้าง พระบรมศาสดาก็ตรัสไว้มิใช่หรือว่า สำคัญที่ใจ ถ้า ใจดี คิดดี ทำดี และพูดดี ผลดีก็ย่อมติดตามมาเหมือนเงาตามตัว บางทีพี่มีความเห็นรุนแรงถึงกับว่า ในโลกนี้ ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลว แต่ความคิดหรือความรู้สึกของเราต่างหากที่ไปรู้สึกเช่นนั้นเข้าเองด้วยกฎอันนี้น้องจะเห็นว่า ในคน ๆ เดียวกันหรือในสิ่ง ๆ เดียวกัน บางคนอาจจะชอบ แต่บางคนอาจจะชัง บางคนว่าดี บางคนว่าไม่ดี พี่เป็นอยู่อย่างนี้รูปร่างหน้าตาอย่างนี้ เป็นที่รักของน้อง แต่น้องก็คงทราบว่า ยังมีคนเป็นอันมากที่ไม่รักพี่ไม่ชอบพี่ไม่เพียงแต่ไม่รักไม่ชอบเท่านั้นดอก ถึงกับเกลียดเอามาก ๆ ก็มีอยู่มิใช่น้อย ถ้าพี่เป็นอย่างอื่นอาจจะเป็นที่รักที่พอใจของพวกหนึ่ง แต่อาจจะเป็นที่เกลียดชังของน้องก็ได้ แต่พี่ยอมนะน้อง ยอมให้ใคร ๆ เกลียดได้โดยไม่สะทกสะท้านแต่ขอให้เป็นที่รักของมัลลิกาเท่านั้น”

 

มัลลิกายิ้มทั้งน้ำตา

 

                   คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวง พอพระอาทิตย์อัสดงครู่หนึ่งดวงรัชนีก็โผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ทางทิศตะวันออก ลมต้นปฐมยามให้ความชุ่มชื่นมิใช่น้อย กลิ่นดอกไม้จากอุทยานปลิวมาตามสายลมกระทบฆานประสาทอันไวต่อความรู้สึกของปุถุชนผู้ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสบนปราสาทชั้นที่สาม จะมองเห็นมนุษย์คู่หนึ่งยืนเคียงกันมองผ่านหน้าต่างออกไปทางตะวันออก คู่หนึ่งบุรุษผู้มีร่างกายกำยำสมเป็นนักรบ ค่อย ๆ ยื่นแขนโอบประคองร่างสตรีผู้ยืนอยู่เคียงข้าง“มัลลิกาที่รัก ท่ามกลางสายลม แสงจันทร์ และกลิ่นดอกไม้จากอุทยาน ซ้ำยังมีมัลลิกาอยู่เคียงใกล้เช่นนี้ พี่มีความสุขเหลือเกิน ดูเหมือนวันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่พี่มีความรู้สึกเหมือนวันแรก ที่พี่และน้องอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ที่รัก พี่ขอพูดซ้ำอีกครั้งเถิดว่า พี่รักน้องเหลือเกิน”เขาดึงภรรยายอดรักเข้าสวมกอดด้วยความทะนุถนอม

 

                  ต่อมามัลลิกาตั้งครรภ์ และคลอดบุตรครั้งละสอง ๆ ถึง ๑๖ ครั้ง รวม ๓๒ คน เป็นที่ชื่นชมสมใจของพันธุละและมัลลิกาเองยิ่งนัก บุตรเหล่านี้ล้วนแข็งแรงมีพลานามัยสมบูรณ์ และสำเร็จวิทยาการอันสูงยิ่ง สมเป็นบุตรแห่งเสนาบดีแคว้นมคธอันเกรียงไกรปลายรัชกาลแห่งพระเจ้าปเสนทิโกศลนั่นเอง ข่าวใหญ่ก็เกิดขึ้นในราชธานีสาวัตถี เป็นข่าวที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว จากแคว้นหนึ่งสู่แคว้นหนึ่ง จากเมืองน้อยสู่ตำบลและหมู่บ้านทุกแห่ง ประชาชนต่างโจษจันกันถึงข่าวนี้.... พันธุละเสนาบดี และบุตร ๓๒ คนถูกฆ่าตายภิกษุกลุ่มหนึ่งในอารามเชตวัน นั่งสนทนากันอยู่วิพากษ์วิจารณ์ถึงมรณกรรมของท่านพันธุละ ขณะนั้นเองพระอานนท์พุทธอนุชาเดินผ่านมา ภิกษุเหล่านั้นลุกขึ้นยืนรับ แล้วปูลาดอาสนะเป็นทำนองเชื้อเชิญพุทธอนุชา พระอานนท์เมื่อนั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวว่า
 

“อาวุโส! ท่านทั้งหลายกำลังสนทนาเรื่องอะไรค้างอยู่?”


“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายกำลังสนทนากันถึงเรื่องมรณกรรมของท่านพันธุละเสนาบดี”

 

พระอานนท์มีอาการตรองเหมือนจะปลงธรรมสังเวชอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า


                  “อาวุโส! มรณกรรมของท่านพันธุละเสนาบดี ซึ่งความจริงท่านผู้นี้คือเจ้าชายแห่งนครกุสินารานั้น ก่อความสะเทือนใจแก่ข้าพเจ้ามาก ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้วว่า ครอบครัวแห่งท่านเสนาบดี รวมทั้งท่านเสนาบดีเอง มีความสนิทสนมต่อข้าพเจ้าเพียงไร อนึ่งข้าพเจ้านั้นแม้จะเป็นพระอริยบุคคลก็จริง แต่ก็เป็นเพียงอริยะขั้นต้นเท่านั้น ยังหาตัดความโศกและความสะเทือนใจได้ไม่ แต่ที่ยับยั้งอยู่ได้ก็ด้วยมีสติคอยเหนี่ยวรั้งอยู่” ภิกษุกลุ่มนั้นมีอาการสงสัย เมื่อพระอานนท์พูดว่า พันธุละเสนาบดี เป็นเจ้าชายแห่งนครกุสินารา ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีลักษณะอาวุโสกว่ารูปอื่น ๆ ถามขึ้นอย่างนอบน้อมว่า
 

                    “ข้าแต่ท่านผู้ทรงธรรม ข้าพเจ้าสงสัยในคำกล่าวของท่านที่ว่า ท่านพันธุละเสนาบดี เป็นเจ้าชายแห่งนครกุสินารา เท่าที่ข้าพเจ้าทราบและเห็น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านพันธุละ เป็นเชื้อไขแห่งราชธานีสาวัตถีนี่เอง เพราะเป็นเสนาบดีแห่งนครนี้ และเป็นที่รักของทวยนครแคว้นโกศลเหลือเกิน ข้าพเจ้าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพันธุละเสนาบดีเป็นชาวกุสินาราโดยกำเนิด”“ดูก่อนศากยบุตร” พระอานนท์กล่าวอย่างช้า ๆ “ท่านทั้งหลายยังมีอายุน้อย และเป็นชาวแคว้นอื่น เพิ่งเดินทางมาสู่ราชธานีแห่งแคว้นโกศลไม่นานนัก จึงยังหาทราบความเดิมแห่งท่านเสนาบดีไม่ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ข้าพเจ้าก็จะเล่าให้ท่านฟังแต่เพียงสังเขป”

 

เมื่อภิกษุเหล่านั้นแสดงอาการยอมตาม และวิงวอนเพื่อให้ท่านเล่าความเป็นมาแห่งพันธุละเสนาบดีแล้ว พระอานนท์จึงกล่าวว่า

 

                 ภราดร! นับถอยหลังไปจากนี้ประมาณ ๓๐ ปีเศษ เมื่อท่านพันธุละเสนาบดียังอยู่ในวัยหนุ่ม และสำเร็จการศึกษาจากสำนักตักกสิลา แล้วกลับสู่กุสินารานครนั้น ได้รับการต้อนรับจากพระชนกชนนีและพระประยูรญาติอย่างมโหฬารสมพระเกียรติแห่งพระราชกุมาร พันธุละเป็นเจ้าชายรูปงาม เสียสละ อดทน และรักเกียรติ เป็นราชประเพณีที่ราชกุมารผู้สำเร็จการศึกษามา จะต้องแสดงศิลปศาสตร์ให้ปรากฏแก่พระประยูรญาติและทวยนาคร วิชาที่พันธุละชำนาญมากก็คือวิชาฟันดาบและยิงธนู

 

                  เมื่อมีการทดลองฟันดาบ พระญาติได้นำไม้ไผ่มามัดรวมเข้าด้วยกันมัดละหลายลำและยกให้สูงขึ้น แล้วให้พันธุละกุมารกระโดดขึ้นไปฟัน พันธุละฟันมัดไม้ไผ่เหล่านั้นขาดสะบั้นเหมือนฟันต้นกล้วย แต่บังเอิญได้ยินเสียงดังกริกในไม้ไผ่มัดสุดท้าย เมื่อพันธุละกระโดดลงมาแล้ว ถามทราบความว่าเสียง “กริก” นั้นเป็นเสียงของเหล็กที่พระญาติแกล้งใส่ไว้ในมัดไม้ไผ่ทุก ๆ ลำ พันธุละเสียใจว่าพระญาติของพระองค์ไม่มีใครหวังดีกับพระองค์เลย จึงไม่บอกล่วงหน้าว่าได้สอดเหล็กไว้ในลำไม้ไผ่ด้วย ถ้าพระองค์ทรงทราบล่วงหน้า จะฟันไม่ให้มีเสียงดังเลย จึงกราบทูลพระชนกชนนีว่า จะฆ่ามัลลกษัตริย์แห่งกุสินาราให้หมดแล้วจะเป็นกษัตริย์เอง เมื่อถูกพระมารดาทัดทานไว้และตรัสว่า เป็นสิทธิของพระประยูรญาติที่จะทำอย่างนั้นได้ พันธุละจึงไม่ปรารถนาจะอาศัยในกุสินาราต่อไป เพราะรู้สึกอับอายที่ฟันไม้ไผ่ให้มีเสียงดัง

 

                อาวุโส! ธรรมดาของชายใจสิงห์นั้น ย่อมรักเกียรติและศักดิ์ศรียิ่งนัก จะไม่ยอมอยู่ในที่ไร้เกียรติ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้สึกตัวว่าไม่มีเกียรติพอในกุสินารา ท่านพันธุละจึงตั้งใจจะไปอยู่เมืองอื่นแต่จะไปไหน ทรงระลึกถึงพระสหายร่วมสำนักศึกษารุ่นเดียวกันอยู่หลายคน ในที่สุดทรงมองเห็นปเสนทิกุมารแห่งสาวัตถีว่าพอจะอาศัยอยู่ได้ เพราะเป็นพระสหายที่รักใคร่กันมาก และปเสนทิกุมารก็ทรงมีอัธยาศัยดี จึงส่งสาส์นไปทูลความทั้งหมดให้ปเสนทิราชาทรงทราบ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัยยิ่งนักที่จะได้พระสหายร่วมสำนักศึกษา และปรากฏเป็นผู้มีฝีมือเป็นเลิศมาทำราชการในราชสำนักแห่งพระองค์ อย่างน้อย ๆ พันธุละคงจะเป็นที่ปรึกษาของพระองค์อย่างเลิศพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้จัดการต้อนรับพระสหายอย่างมโหฬาร และทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเสนาบดีเป็นที่ปรึกษาราชการทั้งปวงพันธุละทำราชการด้วยความรู้ความสามารถอย่างดีเยี่ยม

 

                  วันหนึ่ง ขณะที่พันธุละกลับจากธุรกิจบางอย่างและผ่านมาทางโรงวินิจฉัย เมื่อประชาชนเห็นท่านพันธุละจึงขอร้องให้หยุดและให้ช่วยวินิจฉัยความ เพราะคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาไม่เป็นที่พอใจของคู่ความ ด้วยว่าผู้พิพากษากินสินบน คู่ความข้างใดสามารถให้เงินทองแก่ผู้พิพากษาคู่ความข้างนั้นก็จะชนะ ส่วนฝ่ายที่ยากจนไม่มีเงินทอง แม้จะถูกก็กลับกลายเป็นฝ่ายผิด ประชาชนเดือดร้อนและขมขื่นมาเป็นเวลานานสุดที่จะทนได้ อาวุโส! ธรรมดาว่าความอดทนของปุถุชนนั้นย่อมมีขอบเขต เมื่อเลยขอบเขตที่จะทนได้ต่อไปก็จะระเบิดออกมา

 

                   และจะกลายเป็นผลร้ายอย่างยิ่งแก่ผู้ถูกกดขี่ทารุณ จะมีความชอกช้ำและขมขื่นใดเล่าเสมอด้วยการไม่ได้รับความยุติธรรม อยุติธรรมนั้น จะถูกจดจำฝังใจของผู้ได้รับไปตลอดชีวิต นึกขึ้นทีไรมันเหมือนปลายหอกขวางอยู่ที่อก แต่ผู้เป็นใหญ่ที่จะทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมนั้น ก็คือผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม รู้จักละอายใจในการแสวงหาความสุขสำราญบนความเดือดร้อนของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้พระศาสดาจึงตรัสว่า ความละอายใจในการทำชั่วและความกลัวต่อผลอันเผ็ดร้อนของความชั่ว ๒ ประการนี้เป็นธรรมคุ้มครองโลกให้สงบสุขโอกาสสำหรับการทำชั่วนั้น ย่อมมีอยู่เสมอสำหรับผู้ขาดธรรม ปราศจากธรรม พระศาสดาตรัสว่า
 

                      “เมื่อฝูงโคกำลังว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคนายฝูงนำดี โคทั้งหลายก็จะปลอดภัยขึ้นสู่ท่าที่ถูกต้อง ไม่ถูกน้ำพัดไป แต่ถ้าโคนายฝูงนำไม่ดี โคทั้งหลายย่อมเดือดร้อนได้รับอันตราย ฉันใดในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะ ถ้าเขาตั้งอยู่ในธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ประชาชนผู้เดินตาม ก็น่าจะตั้งอยู่ในธรรม และซื่อสัตย์สุจริตด้วย รัฐจะมีความสุข ถ้าผู้เป็นใหญ่ประพฤติธรรม”ท่านพันธุละเสนาบดี แม้จะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการวินิจฉัยความ แต่เมื่อประชาชนขอร้องท่านก็ต้องทำ และเมื่อวินิจฉัยไปแล้ว

 

                       ปรากฏว่าเป็นที่พอใจของมหาชนอย่างยิ่งทำเจ้าของทรัพย์ให้เป็นเจ้าของ ทำผู้ทุจริตให้พ่ายแพ้ ประชาชนชื่นชมยินดีโห่ร้องขึ้นอึงคะนึงจนได้ยินถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์ตรัสถามเรื่องราว ทรงทราบความแล้วทรงโสมนัสยิ่งนักจึงทรงตั้งท่านพันธุละไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษาอีกตำแหน่งหนึ่งด้วยจะคอยเรื่องร้ายในโรงวินิจฉัยสงบเรียบร้อยตลอดมา แต่ท่านทั้งหลายก็ต้องไม่ลืมว่า คนดีมีศัตรูเหมือนกัน และคนที่เป็นศัตรูของคนดีนั้นคือคนร้าย เมื่อคณะผู้พิพากษาผู้กินสินบนชุดเก่าถูกถอดออก ก็โกรธเคืองและเกลียดชังท่านพันธุละ ยิ่งมหาชนเคารพยกย่องท่านพันธุละมากเท่าใด

 

                        คนพวกนั้นก็ยิ่งเกลียดชังท่านพันธุละมากขึ้นเท่านั้น ความเกลียดชังที่เกิดจากความไม่ดีของผู้อื่นเป็นความเกลียดชังที่พอจะระงับได้บ้าง แต่ความเกลียดชังที่มีแรงริษยาผสมอยู่ด้วยนั้นเร่งเร้าให้บุคคลหาช่องทางทำลายผู้ที่ตนเกลียดชังอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ คณะผู้พิพากษาชุดนั้น จึงพยายามยุแหย่ให้พระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เกลียดชังท่านพันธุละ โดยคาดหมายว่า อย่างไรเสีย เรื่องจะต้องถึงพระกรรณพระเจ้าปเสนทิโกศล และก็เป็นจริงสมคะเน เรื่องที่ยุแหย่ให้เกลียดชังก็คือเรื่องรัชสมบัติ พันธุละต้องการจะแย่งรัชสมบัติ


“ดูก่อนท่านผู้สืบอริยวงศ์” พระอานนท์กล่าวต่อไป


“เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับ สตรียิ่งไปกว่าทราบว่าสามีอันเป็นที่รักของตนแบ่งใจให้หญิงอื่น เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับ บุรุษยิ่งไปกว่าถูกหยามเกียรติว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถ เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับคชสาร ยิ่งไปกว่าถูกเห็นว่าร่วมสังวาสกับนางพังเรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับแม่งูยิ่งไปกว่าถูกช่วงชิงไข่ เรื่องใดเล่าจะร้ายแรงสำหรับพระราชายิ่งไปกว่าถูกแย่งรัชสมบัติ”


“อาวุโส! ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อทรงเชื่อว่าท่านพันธุละคิดกบฏ ก็ทรงวางแผนสังหารท่านพันธุละทันที พระองค์ประสงค์จะยืมมือทหารของพระองค์ให้ฆ่าท่านพันธุละจึงกุข่าวขึ้นว่า ปัจจันตชนบทแห่งแคว้นโกศลมีโจรกลุ่มหนึ่งกำเริบใจ เที่ยวปล้นและฆ่าชาวบ้านอย่างทารุณ ทำบ้านมิให้เป็นบ้าน ทำนิคมมิให้เป็นนิคม พระองค์ทรงมองไม่เห็นใครอื่นที่จะปราบได้นอกจากพันธุละเสนาบดี”


เมื่อท่านพันธุละพร้อมด้วยบุตร ๓๒ คน เตรียมเดินทางไปปัจจันตชนบทนั่นเอง นางมัลลิการู้สึกสังหรณ์ใจอย่างบอกไม่ถูก
 

“พี่ คนอื่นในเมืองสาวัตถีนี้ ไม่มีอีกแล้วหรือ นอกจากท่านพันธุละ” นางถามอย่างกังวล
 

“เมื่อเป็นพระบรมราชโองการ เราก็ต้องไป” ท่านพันธุละพูดอย่างเครียด
 

“ทำไม เรื่องโจรปล้นชาวบ้านเท่านี้เองจะต้องสั่งเสนาบดีไปปราบ เพียงแต่ตำรวจหรือทหารธรรมดาก็น่าจะเพียงพอแล้ว” นางมัลลิกาท้วง


“น้องรัก” ท่านพันธุละยังคงพูดอย่างเคร่งขรึม “ที่ว่าพระองค์ส่งพี่ไปปราบโจร แม้พระองค์ทรงเห็นว่าพี่สมควรจะปราบควายเปลี่ยวแล้วสั่งพี่ไป พี่ก็จะต้องไป ยิ่งกว่านั้น ถ้าพระองค์จะส่งพี่ไปต่อสู้กับความตาย พี่ก็ต้องไป พระราชาเป็นเจ้าชีวิต น้องรัก ชีวิตของเราเป็นของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงต้องการเมื่อไร เราก็ต้องถวายทันที”


“แต่น้องรู้สึกสังหรณ์ใจอย่างไรพิกล พี่เคยจากน้องไปราชการอยู่เสมอมิใช่ไม่เคยไปน้องไม่เคยสังหรณ์และวิตกกังวลเหมือนครั้งนี้ พี่ไม่ไปไม่ได้หรือ?” นางพร่ำพลางกอดเอวของเสนาบดีไว้

 

“พี่บอกน้องแล้วว่า เมื่อเป็นพระบรมราชโองการ พี่ก็ต้องทำตาม คงไม่เป็นไรดอกน้องอย่ากังวลเลย” พันธุละปลอบ


“แล้วทำไมต้องเอาลูก ๆ ไปทั้งหมดด้วย ลูกไม่ต้องไปไม่ได้หรือ?”


“นี่ก็เป็นพระบรมราชโองการอีกเหมือนกัน” เมื่อนึกถึงลูก ท่านเสนาบดีก็มีสีหน้าหม่นหมองลง แต่ก็กลับแช่มชื่นขึ้นอย่างเดิม ในชั่วเวลาเล็กน้อย
 

“ไม่เอาทีฆการายนะ หลานชายไปด้วยหรือ?"


“ไม่มีพระบรมราชโองการให้พาไป”


“น้องขอไปด้วย”


“อย่าไปเลย ที่รัก เป็นเรื่องของพี่และลูก ๆ เท่านั้น”


                   “อาวุโส” พระอานนท์เล่าต่อ “ท่านพันธุละพูดเหมือนรู้ล่วงหน้าอยู่ตลอดเวลา นางมัลลิกาสังหรณ์ใจเป็นความสังหรณ์ที่มีเหตุผลอย่างมาก ภราดร! ความสังหรณ์ใจของสตรีนั้นมักจะมีมูลเหตุเสมอ สภาพดวงจิตของสตรีหวั่นไหวง่าย ดังนี้ จึงสามารถรับอารมณ์อันเร้นลับได้ง่ายเหมือนน้ำตื้นย่อมกระเพื่อมได้เร็ว ประสาทที่ ๖ ของคนไวต่ออารมณ์อันเร้นลับเสมอ”
 

                  “อาวุโส! เมื่อมีข่าวท่านพันธุละออกปราบโจรด้วยตนเอง โจรที่ก่อความวุ่นวายก็หลบหนีไป ความจริงโจรพวกนี้ก็คือราชบุรุษที่พระเจ้าปเสนทิทรงแต่งไปนั่นเอง และก็หาได้ปล้นหรือทำร้ายชาวบ้านอย่างข่าวลือไม่ เมื่อท่านพันธุละเดินทางกลับมานครสาวัตถีนั่นเอง ทหารที่พระเจ้าปเสนทิ แต่งตั้งไว้ให้ไปในขบวนของท่านพันธุละได้ลอบฆ่าท่านเสนาบดีและลูก ๆ ทั้งหมด” “ท่านผู้เจริญ” ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวขึ้น “ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่ท่านพันธุละจะไม่ทราบแผนการของพระเจ้าปเสนทิ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าท่านพันธุละเป็นเสนาบดีใจสิงห์พลัดพรากบ้านเมืองมา และหวังจะพึ่งร่มเงาของเพื่อน เมื่อเพื่อนคิดฆ่าก็ไม่ทราบจะอยู่ไปทำไม ตายเสียดีกว่า”
 

                  “อนึ่ง ตามเค้าเรื่อง ถ้าท่านพันธุละปรารถนารัชสมบัติในกรุงสาวัตถี ท่านก็สามารถซึ่งเอาได้โดยง่าย แต่ความจงรักภักดีและซื่อสัตย์กตัญญู ทำให้ท่านยอมตายดีกว่าที่จะทำการอสัตย์อกตัญญู พระเจ้าปเสนทินั้นเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าเป็นกษัตริย์ที่โง่เขลาและพระกรรณเบาด้วยข้าพเจ้าไม่ปลงใจเชื่อเลยว่า ท่านพันธุละจะไม่ทราบถึงแผนการของพระเจ้าปเสนทิ” ภิกษุรูปนั้นพูดเสียงเครียดเหมือนจะเจ็บร้อนแทนท่านพันธุละเสนาบดีพระอานนท์นิ่งอึ้งอย่างตรึกตรอง ท่านมองเหม่อไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย ทุกคนเงียบทุกคนคิดนิ่งและนาน
 

                    “อาวุโส!” พระพุทธอนุชากล่าวขึ้น “ในที่สุดพระเจ้าปเสนทิก็ทราบความจริงภายหลังว่า พันธุละมิได้คิดแย่งรัชสมบัติเลย” ทรงเสียพระทัยอย่างใหญ่หลวงจนหาความสุขในรัชสมบัติมิได้แต่กว่าจะทรงรู้พระองค์ก็เมื่อได้เสียคนดีไปอย่างจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้อีกแล้ว และสมัยที่พระองค์ทรงระลึกถึงพันธุละมากที่สุด ก็คือสมัยที่มีราชกิจสำคัญ ๆ ซึ่งพระองค์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยพระสติปัญญาของพระองค์เอง“อาวุโส! คนสอพลอนั้นนอกจากหาความสุขให้แก่ตนมิได้แล้ว ยังก่อความยุ่งยากแก่ คนบริสุทธิ์มากมาย แต่โลกก็ไม่เคยขาดแคลนคนประเภทนี้ เขาแสดงอาการพินอบพิเทาต่อหน้าเจ้านายเสียจนออกหน้าออกตา และเหมือนแสร้งทำ เมื่อใดมีโอกาสอยู่ตามลำพังกับเจ้านาย เขาก็เริ่มลงมือทับถมความดีของเพื่อนและคุ้ยเขี่ยความร้ายต่าง ๆ ของเพื่อนขึ้นมาเสนอนาย คนประเภทนี้อยู่ที่ใดก็เดือดร้อนที่นั้น แต่ก็ดูเหมือนจะซอกแซกอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าไม่มีคนประเภทดังกล่าวนี้ ไฉนเลยท่านพันธุละจะต้องตายอย่างหน้าเศร้าและสังเวชใจ” พระอานนท์พูดจบแล้วบอกลาภิกษุเหล่านั้น แถลงว่าถึงเวลาที่จะต้องเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023618066310883 Mins