ณ ป่าประดู่ลาย
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าผู้อนาวรณญาณทรงสละละทิ้งสังขาร อันประกอบขึ้นเหมือนสัมภาระที่ใช้สอยเช่นเกวียนเป็นต้น เข้าสู่มหาปรินิพพานอันบรมสุขเกษมศานติ์จากความทรมานทั้งปวงแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชา ซึ่งบัดนี้ เป็นเสมือนองค์แทนแห่งพระตถาคตเจ้าก็จาริกไปในที่ต่าง ๆ โดยโดดเดี่ยวเดียวดาย จากแคว้นสู่แคว้น จากราชธานีสู่ราชธานี และบทจรสู่คามนิคมชนบทต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความวิเวกบ้าง เพื่อโปรดให้ประชานิกรดำรงในคุณธรรมสัมมาปฏิบัติบ้าง เป็นเวลา ๔๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน
สมัยหนึ่ง พระพุทธอนุชาออกจากสาวัตถีราชธานีแห่งแคว้นโกศล มุ่งหน้าลงสู่ทิศใต้ถึงลำน้ำยมุนา เดินเลียบลำน้ำนี้ลงตอนใต้ อันเป็นที่ตั้งแห่งโกสัมพีราชธานีแห่งแคว้นวังสะอันว่านครโกสัมพีนี้ รุ่งเรืองด้วยศิลปวิชาการมากหลาย นอกจากนี้ยังเป็นย่านกลางแห่งการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างโกศล มคธ และเมืองผ่านต่าง ๆ ทางใต้และทางตะวันออกอีกด้วยลำน้ำยมุนาอันสวยงามตระการยิ่งนักนั้น ก็ไหลมาจากแดนอันขจรนามแต่กาลไกลสมัยมหาภารตยุทธ นั่นคือหัสดินปุระนคร ซึ่งปรักหักพังแล้ว และท่วมท้นทุ่งกุรุ ซึ่งปาณฑพและเคารพได้ทำสงครามเพื่อชิงชัยความเป็นใหญ่กัน
ความงามของนครโกสัมพี่ย่อมติดตาเตือนใจของอาคันตุกะผู้มาเยือนไปตลอดชีวิต จากฝั่งยมุนาจะเห็นกำแพงปราการบ้านเรือนสลับสร้างเป็นเชิงชั้นลดหลั่นกัน ยอดจากปราสาทแห่งอุเทนราชนั้น เมื่อต้องแสงสุริยายามจะอัสดงก็ส่องแสงเหมือนมีอาทิตย์อยู่หลายดวง การสัญจรทางเรือคับคั่ง มีเรือน้อยใหญ่ประดับธงทิวสีต่าง ๆ ดูงดงามเมื่อพระอานนท์มาถึงใกล้นครโกสัมพีนั้นเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ทุ่งสาลีเกษตรยามต้องแสงอาทิตย์ในสายัณหกาลมองดูประหนึ่งปูลาดด้วยแผ่นทอง พระพายรำเพยเพียงแผ่วเบาต้องกายพระมหาเถระ ก่อให้เกิดความชุ่มเย็นเฉกมารดาลูบคลำบุตรสุดที่รักด้วยใจถนอม ณ เบื้องบนก้อนเมฆสลับซับซ้อนเป็นทิวแถว ลอยละลิ่วตามแรงลม มองดูเป็นสีม่วงสลับฟ้าตระการตายิ่งนักพระผู้เป็นพหูสูต หาได้มุ่งเข้าสู่เขตนครโกสัมพี่ไม่ ท่านต้องการแสวงหาที่สงัด และ ณ ที่นั้น แห่งใดเล่าจะสงัดเท่าป่าไม้ประดู่ลาย เพราะฉะนั้น พระมหาเถระจึงเยื้องย่างด้วยลักษณะอันน่าทัศนาเข้าสู่ป่านั้นด้วยหทัยที่แช่มชื่นเบิกบาน
เมื่อพระอาทิตย์อัสดงไม่นาน ดวงจันทร์แจ่มจรัสก็โผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ด้านตะวันออก ป่าประดู่ลายเงียบสงัดวังเวง เหมาะสำหรับผู้แสวงหาวิเวกอย่างแท้จริง เนื่องจากมีภิกษุแวะเวียนมาพักอยู่เสมอ ป่านี้จึงมีเสนาสนะน้อย ๆ อยู่หลายหลังสำหรับพักอาศัย หลังหนึ่งอยู่ได้เพียงผู้เดียวพระเถระเลือกได้กระท่อมหลังหนึ่ง เมื่อปูลาดนิสีทนะลงแล้วก็นั่งขัดสมาธิ หลับตาอยู่ตลอดปฐมยามแห่งราตรี และพักผ่อนเมื่อถึงมัชฌิยามล่วงไปแล้วปัจจุสกาล แสงสีขาวทางทิศตะวันออกเริ่มทาบขอบฟ้าจากทิศเหนือตลอดไปทางทิศใต้ลมรุ่งอรุณพัดเฉื่อยฉิว เสียงกาซึ่งเพิ่งออกจากรวงรังเพื่อแสวงภักษาหาร บินผ่านป่าประดู่ลายพร้อมด้วยเสียงร้องกา ๆ บริเวณป่าประดู่ลายยังคงเงียบสงัด ได้ยินแต่เพียงเสียงใบไม้ไหวกระทบกันเป็นครั้งคราว พระพุทธอนุชาผู้ประเสริฐเดินวนเวียนมาอยู่หน้ากระท่อมน้อย โดยอาการที่เรียกกันว่าเดินจงกรม เพื่อพิจารณาหัวข้อธรรมท้องฟ้าสางแล้ว แสงสว่างสาดไปทั่วบริเวณไพร โน้มน้อมมนัสแห่งพระอานนท์ให้แจ่มใสชื่นบาน
ท่านเตรียมนุ่งอันตรวาสก และครองอุตราสงค์เป็นปริมณฑลเรียบร้อย ถือบาตรเข้าสู่นครโกสัมพี่เพื่อบิณฑบาตมีผู้คอยดักถวายอาหารแก่มุนีอยู่เป็นแห่ง ๆ สมณศากยบุตรเป็นที่คุ้นตาของประชาชนชาวโกสัมพี่แล้ว ตั้งแต่ครั้งที่พระตถาคตเจ้าเสด็จเข้าสู่นครโกสัมพี่เป็นครั้งแรก เมื่อพระอานนท์ได้อาหารพอสมควรแล้ว ท่านก็เดินดื่มมุ่งเข้าสู่ป่าประดู่ลายตามเดิม ฉันอาหารตามที่ประชาชนศรัทธาถวายด้วยอาการแห่งสามีบริโภค อันเป็นแบบอย่างแห่งพระอรหันต์ทั้งหลาย เสร็จแล้วท่านก็ยับยั้งอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยวิหารธรรมอันประเสริฐจนกระทั่งวัฒนฉายากาล พระอาทิตย์โคจรผ่านกึ่งกลางฟ้าไปแล้ว เงาไม้ประดู่ลายที่อยู่โดดเดี่ยวทอดยาวไปทางทิศตะวันออก บรรยากาศรื่นรมย์สงบ เหมาะแก่อนาคาริกมุนีภิกษุรูปหนึ่ง ร่างกายสูงใหญ่มีสง่า เดินเข้ามาสู่ป่าอันเงียบสงบนี้ เมื่อท่านผ่านมาทางพระอานนท์นั่งอยู่ เห็นเป็นสมณะแบบเดียวกัน จึงเข้าไปหาด้วยอาการแห่งมิตร แต่ท่านหาได้รู้จักพระอานนท์ไม่
“ท่านผู้ทรงพรต” ภิกษุรูปนั้นกล่าวขึ้น “ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะพบท่านผู้ใดในป่าอันวิเวกแห่งนี้ ท่านคงมุ่งแสวงสันติวรบทเช่นเดียวกับข้าพเจ้า จึงมานั่งอยู่ ณ ที่นี้แต่ผู้เดียว”
“ท่านผู้บำเพ็ญตบะ!” พระอานนท์ตอบ “ข้าพเจ้าทราบจากเครื่องนุ่งห่มและบริขารอื่น ๆ ที่ติดตัวท่านมา ว่าท่านเป็นสมณะแบบเดียวกับข้าพเจ้า สมณะแบบเรานี้มีพระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาด้วยกัน ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสไว้มิใช่หรือว่า ความวิเวกเป็นสหายอันประเสริฐ”
“ท่านผู้ทรงพรต” ภิกษุรูปนั้นกล่าว “พระดำรัสนี้ช่างเป็นพระพุทธภาษิตที่กระตุ้นเตือนเร่งเร้าให้พุทธสาวกพอใจในวิเวกเสียนี่กระไร! ขอประทานโทษเถิด จากลักษณะอาการและคำกล่าวของท่าน ข้าพเจ้าพออนุมานได้ว่า ท่านคงจะมาสู่ธรรมวินัยนี้นานแล้ว ส่วนข้าพเจ้าเอง แม้จะมีอายุเหยียบย่างเข้าสู่วัยชรามาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ข้าพเจ้าเพิ่งจะอุปสมบทอุทิศพระผู้มีพระภาคเมื่อไม่นานมานี้เอง คือเมื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้าเพิ่งจะบวชได้ ๕ พรรษาเท่านั้น”
“อาวุโส!” พระอานนท์เปลี่ยนคำแทนชื่อของภิกษุรูปนั้น “ข้าพเจ้าอุปสมบทในสมัยที่พระตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ และได้เห็นได้เฝ้าพระองค์เสมอ ๆ ข้าพเจ้าถือเป็นลาภอันประเสริฐที่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค มิใช่แต่ข้าพเจ้าเท่านั้น ใคร ๆ ก็ปรารถนาที่จะได้เข้าเฝ้าและสนทนาด้วยพระองค์เป็นผู้สูงสุดอย่างแท้จริง”ภิกษุรูปนั้นแสดงอาการสนใจอย่างเห็นได้ชัด และมีนัยน์ตาวาวด้วยปีติพร้อมด้วยกล่าวว่า “ท่านผู้ทรงพรต! ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่ง ปรารถนาเหลือเกินที่จะทราบพระพุทธจริยาโดยละเอียดจากผู้ซึ่งเคยเข้าเฝ้า เคยฟังธรรมของพระศาสดา ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะได้บรรลุผลสำเร็จแห่งความปรารถนานั้น แต่ก่อนอื่น ข้าพเจ้าปรารถนาใคร่ทราบนามของท่านผู้โชคดี พอเป็นเครื่องประดับความรู้ไว้ก่อน ส่วนข้าพเจ้าเองมีนามว่า กัมโพชะ ชื่อเดียวกับแคว้นที่ข้าพเจ้าเกิดซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไป ท่านเองก็คงทราบว่าแคว้นกัมโพชะมีชื่อเสียงที่สุดเรื่องพันธุ์ม้าดี”
พระอานนท์นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง หาได้ตอบคำถามของพระกัมโพชะทันทีไม่ ท่านกำลังตรึกตรองว่า ควรจะบอกนามของท่านแก่ภิกษุรูปนี้หรือไม่หนอ ภิกษุรูปนี้มีความเลื่อมใสในพระศาสดาเป็นกระหายใคร่ฟังพระพุทธจริยาและเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับพระองค์ ภิกษุรูปนี้คงจะต้องเคยได้ยินเกียรติคุณของท่านในฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับพระศาสดา ถ้าเธอทราบนามของท่านแล้วและได้ฟังพุทธจริยาบางตอนจากท่านเอง คงจะเพิ่มพูนปีติปราโมชแก่เธอหาน้อยไม่ อาจจะเป็นทางให้เธอได้ธรรมจักษุในไม่ช้า เมื่อคิดถึงประโยชน์ดังกล่าวนี้เป็นที่ตั้งแล้ว พระพุทธอนุชาสุกโกทนบุตรจึงกล่าวว่า
“ภราดา! ข้าพเจ้ายินดีจะเล่าพุทธจริยา และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระองค์บางประการบางตอนให้ท่านฟังเท่าที่ข้าพเจ้ารู้เห็นมาด้วยตนเองบ้าง ที่พระศาสดาโปรดประทานเล่าให้ข้าพเจ้าฟังบ้าง อนึ่ง ข้อที่ท่านอยากทราบนามของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าบอกท่านได้แต่เพียงว่า เมื่อข้าพเจ้ายังครองฆราวาสอยู่ พระญาติวงศ์เรียกข้าพเจ้าว่า เจ้าชายอานันทะ และเมื่อข้าพเจ้าอุปสมบทแล้วเพื่อนพรหมจารีเรียกข้าพเจ้า พระอานันทะ พระศาสดาเรียก อานนท์ อานนท์ อยู่เสมอ ๆ”
พอพระมหาเถระกล่าวจบลง พระกัมโพชะมีอาการตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้วอาการแห่งปีติซาบซ่านก็เข้ามาแทนที่ ท่านลุกขึ้นนั่งกระโหย่งประนมมือกราบลงแทบบาทมูลของพระอานนท์ซบศีรษะอยู่นิ่งและนาน เมื่อท่านเงยหน้าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธอนุชาสังเกตเห็นน้ำตาเอ่อเบ้าตา
ของภิกษุผู้อยู่ในวัยชรารูปนั้น นั่นเป็นสัญลักษณ์แห่งปีติปราโมชอันหลั่งไหลจากความรู้สึกที่ลึกซึ้งและปรากฏออกมาทางกรัชกาย และแล้ว พระกัมโพชะก็กล่าวว่า
“ข้าแต่ท่านผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร! เป็นลาภอันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าที่ได้มาพบท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐ เหมือนองค์แทนแห่งพระตถาคตเจ้า ข้าพเจ้าเดินทางมาหลายเมืองด้วยจุดประสงค์ที่จะได้พบและสนทนากับท่าน ข้าพเจ้าทราบว่าท่านเดินทางมาโกสัมพี, ข้าพเจ้าก็ติดตามมา แต่ก็หาได้รู้จักท่านไม่ แม้จะสนทนาอยู่กับท่านที่กระหายใคร่พบอยู่ตลอดเวลาก็ตาม โอ! ช่างเป็นลาภของข้าพเจ้าเสียนี่กระไร! อุปมาเหมือนลูกโคซึ่งเที่ยวติดตามหาแม่ในป่ากว้างและได้พบแม่สมประสงค์ ความรู้สึกของลูกโคนั้นเป็นฉันใด ความรู้สึกของข้าพเจ้าก็เป็นฉันนั้น” แล้วพระกัมโพชะก็กราบลงแทบบาทมูลของพระอานนท์อีกครั้งหนึ่ง
“ช่างเถิดผู้มีอายุ” พระอานนท์กล่าว “เรื่องของข้าพเจ้าไม่มีความสำคัญเท่าเรื่องของพระศาสดา อนึ่ง ท่านบวชอุทิศพระพุทธเจ้าแม้จะนิพพานไปแล้วก็ตาม แต่เรื่องของพระองค์ยังเป็นเครื่องเพิ่มพูนปีติปราโมชแก่ผู้สดับอยู่เสมอ ท่านได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเล่าถึงพุทธจริยาบางตอนเพื่อเป็นเครื่องประดับความรู้ และประคับประคองศรัทธาปสาทะ ข้าพเจ้าจะขอเล่าให้ท่านฟังเป็นปฏิการแก่ความปรารถนาดีของท่าน” แล้วพระอานนท์ก็กล่าวสืบไปว่า
“ดูก่อนภราดา! ณ ป่าไม้ประดู่ลายนี่เอง สมัยหนึ่งพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ด้วยหมู่ภิกษุนับจำนวนร้อย พระองค์หยิบใบไม้มากำพระหัตถ์หนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์ กับใบไม้ในป่านี้ทั้งหมด ไหนจะมากกว่ากัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าใบไม้ในป่ามีมากกว่าเหลือหลาย ใบไม้ในกำพระหัตถ์มีน้อยนิดเดียว พระพุทธองค์จึงตรัสว่าฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมที่เราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายนั้นเพียงเล็กน้อย เหมือนใบไม้ในกำมือของเรา ส่วนธรรมที่เรายังมิได้แสดงมีมากหลายเหมือนใบไม้ในป่า ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเราจึงไม่แสดงสิ่งที่เรารู้เราเข้าใจอีกมากหลายเล่า ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตแสดงแต่ธรรมที่จำเป็นเพื่อระงับดับทุกข์เท่านั้น สิ่งนอกจากนี้รู้ไปก็ทำให้เสียเวลาเปล่าภิกษุทั้งหลาย!
สมัยหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาหาเรา และถามปัญหา ๑๐ ข้อ ขอให้เราแก้ปัญหาข้อข้องใจนั้น ถ้าเราไม่แก้ปัญหาให้คลายสงสัย เขาจะละเพศพรหมจรรย์ ปัญหา ๑๐ ข้อนั้นล้วนเป็นปัญหาที่ไร้สาระ ไม่เป็นไปเพื่อระงับดับทุกข์ รู้แล้วก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น เช่นปัญหาว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ตายแล้วเกิดหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น เราไม่ยอมแก้ปัญหานั้น ภิกษุทั้งหลายเรา กล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า อย่าว่าแต่เธอจะละเพศพรหมจรรย์เลย แม้เธอจะตายไปต่อหน้าต่อตาเรา เราก็หายอมแก้ปัญหาเหล่านั้นของเธอไม่ ภิกษุทั้งหลาย! ปัญหาที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าของทุก ๆ คน คือปัญหาเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายถูกความทุกข์เสียบอยู่ทั้งทางกายและทางใจอุปมาเหมือนผู้ถูกยิงด้วยลูกศรซึ่งกำซาบด้วยยาพิษแล้ว ญาติมิตรเห็นเข้าเกิดความกรุณาจึงพยายามจะช่วยกันถอนลูกศรนั้น แต่บุรุษผู้โง่เขลาบอกว่าต้องไปสืบให้ได้เสียก่อนว่าใครเป็นคนยิง และยิ่งมาจากทิศไหน ลูกศรทำด้วยไม้อะไร แล้วจึงจะค่อยมาถอนลูกศรออก ภิกษุทั้งหลาย! บุรุษผู้นั้นจะต้องตายเสียก่อนเป็นแน่แท้
ความจริงเมื่อถูกยิงแล้ว หน้าที่ของเขาก็คือ ควรพยายามถอนลูกศรออกเสียทันที ชำระแผลให้สะอาดแล้วใส่ยาและรักษาแผลให้หายสนิท หรืออีกอุปมาหนึ่ง เหมือนบุคคลที่ไฟไหม้อยู่บนศีรษะ ควรรีบดับเสียโดยพลัน ไม่ควรเที่ยววิ่งหาผู้คนเอาไฟมาเผาศีรษะตน ทั้ง ๆ ที่ไฟลุกไหม้อยู่ภิกษุทั้งหลาย! สังสารวัฏนี้โพลงอยู่ด้วยเพลิงทุกข์นานาประการโหมให้ร้อนอยู่ทั่วสัตว์ทั้งหลายดิ้นทุรนทุรายอยู่ในกองทุกข์แห่งสังสารวัฏนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้ดับ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันดับทุกข์แห่งตน อุปมาเหมือนบุรุษสตรีผู้รวมกันอยู่ในบริเวณกว้างแห่งหนึ่ง และต่างคนต่างถือหุ้นไฟใหญ่อันไฟลุกโพลงอยู่ทั่วแล้ว ต่างคนต่างก็วิ่งวนกันอยู่ในบริเวณนั้น และร้องกันว่า ร้อน ร้อนภิกษุทั้งหลาย! คราวนั้นมีบุรุษผู้หนึ่งเป็นผู้ฉลาดร้องบอกให้ทุก ๆ คนทิ้งดุ้นไฟในมือของตนเสียผู้ที่ยอมเชื่อทิ้งดุ้นไฟก็ได้ประสบความเย็น ส่วนผู้ไม่เชื่อ ก็ยังคงวิ่งถือหุ้นไฟพร้อมด้วยร้องตะโกนว่า ร้อน ร้อน อยู่นั่นเอง
ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตได้ทิ้งดุ้นไฟแล้ว และร้องบอกให้เธอทั้งหลายทิ้งเสียด้วย หุ้นไฟที่กล่าวถึงนี้คือกิเลสทั้งมวล อันเป็นสิ่งที่เผาลนสัตว์ให้เร่าร้อนกระวนกระวาย ภิกษุทั้งหลาย!อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ อายตนะภายนอก 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตไม่พิจารณาเห็นรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใด ๆ ที่จะครอบงำรึงรัดใจของบุรุษได้มากเท่ารูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะแห่งสตรี ภิกษุทั้งหลาย! เราไม่พิจารณาเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใด ๆ ที่สามารถครอบงำรัดรึงใจของสตรีได้มากเท่ารูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะแห่งบุรุษภิกษุทั้งหลาย! กามคุณนี้เรากล่าวว่าเป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นกำลังพลแห่งมาร ภิกษุผู้ปรารถนาจะประหารมาร จึงสลัดเหยื่อแห่งมาร ขยี้พวงดอกไม้แห่งมารและทำลายกำลังพลแห่งมารเสีย
ภิกษุทั้งหลาย! เราเคยเยาะเย้ยกามคุณ ณ โพธิมณฑลในวันที่เราตรัสรู้นั้นเองว่า ดูก่อนกาม! เราได้เห็นต้นเค้าของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจากความดำริคำนึงถึงนั้นเอง เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีกด้วยประการฉะนี้ กามเอย! เจ้าจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้”
“ดูก่อนภราดา!” พระอานนท์กล่าวต่อไป “ครั้งนั้น ณ ป่าไม้ประดู่ลายนี้ ภิกษุจำนวนมากได้ดวงตาเห็นธรรมและอริยคุณสูง ๆ ขึ้นไปด้วยพระพุทธภาษิตอันลึกซึ้งจับใจนี้ พระองค์ทรงใช้อุปมาอุปไมยอันคมคายแยบยล และขมวดพระธรรมเทศนาให้เห็นจุดเด่นที่ทรงประสงค์ เหมือนนายช่างผู้ฉลาดเมื่อจะสร้างปราสาทหรือกูฏาคาร ย่อมจะลงรากปราสาทนั้นให้แน่นหนา และวางเสาอันมั่นคง และสร้างเรือนยอดตะล่อมขึ้นให้ยอดเด่นเห็นสง่างามรุ่งเรือง ด้วยพระธรรมเทศนาโกศลแห่งพระทศพลวิมลอนาวรณญาณ อันหาใครเปรียบปานมิได้ในสามภพ”
“ดูก่อนอาคันตุกะ” พระอานนท์กล่าวต่อไป “ณ กรุงโกสัมพีนี่เอง พระตถาคตเจ้าเคยประทับรอยพระบาท คือพระพุทธจริยาอันประเสริฐไว้สำหรับให้คนภายหลังถือเป็นเยี่ยงอย่างคําเนินตาม”คือสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงโกสัมพี่และสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ โฆสิตารามตอนเช้าพระพุทธองค์จะเสด็จออกบิณฑบาต มีประชาชนผู้เลื่อมใสคอยดักถวายเป็นทิวแถว แต่ก็มีกลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่งคอยตามด่าว่ากระทบกระแทกเสียดสีอยู่ตลอดเวลา เมื่อพระองค์เสด็จกลับโฆสิตาราม ก็ตามไปด่าถึงพระคันธกุฎีด้วย อักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ เช่น เป็นโค เป็นลา เป็นอูฐเป็นสัตว์นรก เป็นต้น เรื่องนี้มีเบื้องหลังคือสมัยหนึ่ง ก่อนหน้าที่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่นานนัก
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสู่แคว้นกุรุณ ที่นั้น มีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่แห่งหนึ่ง พราหมณ์นายบ้านมีธิดาสาวทรงสิริโสภาคยิ่งนัก นามว่า มาคันทิยา ความงามแห่งนางระบือไปทั่ว ชายหนุ่มผู้มั่งคั่งต่างเดินทางโดยเกวียนบ้าง โดยรถม้าบ้าง มาสู่มาคันทิยคามนี้ เพื่อทัศนามาคันทิยานารี บางคนก็แต่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ แต่พราหมณ์ผู้บิดายังมองไม่เห็นใครเหมาะสมแก่ธิดาของตน จึงยังไม่ยอมยกให้ใคร มาคันทิยาเป็นที่กล่าวขวัญถึงแห่งปวงชนชาวกุรุอย่างแพร่หลาย จนเมื่อธิดาของสกุลใดเกิดใหม่ ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะให้พรว่า ขอให้สวยเหมือนมาคันทิยาดูก่อนอาคันตุกะ แต่ท่านต้องระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า ความงามกับอันตรายนั้นมักจะมาด้วยกันเสมอ ที่ใดมีความงาม ที่นั้นย่อมมีอันตรายแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วย จะมากหรือน้อยแล้วแต่ขนาดแห่งความงามนั้น และมีอยู่บ่อยครั้งที่เป็นอันตรายไม่เพียงแต่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่แก่เจ้าของความงามนั่นเองอีกด้วยพระศาสดาเสด็จไปถึงบ้านมาคันทิยพราหมณ์ในเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขาบูชาไฟอยู่ที่ประตูบ้าน เมื่อได้ทัศนาเห็นพระศาสดาแล้ว พราหมณ์ก็ตะลึงในความงามแห่งพระองค์ ถึงแก่อุทานออกมาว่า ชายผู้นี้งามจริงหนอ เขาเข้าไปหาพระตถาคตเจ้าแล้วกล่าวว่า
สมณะ ข้าพเจ้ามองหาชายอันจะคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้ามาเป็นเวลานานแล้ว แต่จะหาใครงามคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้าเสมอท่านได้ไม่ ขอท่านโปรดยืนอยู่ตรงนี้สักครู่หนึ่ง แล้วข้าพเจ้าจะนำบุตรีมามอบให้ท่านพระศาสดาแสดงอาการดุษณีภาพ ทรงเหยียบรอยพระบาทให้ปรากฏไว้ด้วยแรงอธิษฐานอันสำเร็จมาจากพระบารมีแต่ปางบรรพ์ แล้วเสด็จหลีกไปประทับ ณ ใต้ต้นไม้เงาครึ้มต้นหนึ่งพราหมณ์แจ้งข่าวแก่พราหมณี และให้ตกแต่งลูกสาวให้สวยงาม เพื่อนำไปมอบให้ชายผู้หนึ่งอันตนเห็นว่าคู่ควรกัน แล้วพากันออกจากเรือน เมื่อไม่เห็นพระตถาคต ณ ที่เดิม พราหมณ์ก็ประหลาดใจ บังเอิญพราหมณีได้เหลือบเห็นรอยเท้าที่พระพุทธองค์ทรงเหยียบไว้จึงกล่าวกับพราหมณ์ผู้สามีว่า อย่าติดตามมหาบุรุษผู้นี้เลย ผู้มีรอยเท้าอย่างนี้เป็นผู้สละแล้วซึ่งโลกิยารมณ์ทั้งปวง พราหมณ์เอย! อันบุคคลผู้เจ้าราคะนั้น มีเท้าเว้ากลางมาก คนเจ้าโทสะหนักสั้น ส่วนคนเจ้าโมหะนั้นปลายเท้าจิกลง ส่วนรอยเท้าของบุรุษผู้นี้เป็นผู้เพิกกิเลสได้แล้วอย่างแท้จริง พราหมณ์ต่อว่าภรรยาว่าอวดรู้อวดดี ทำตนเหมือนจระเข้นอนในตุ่ม จึงพาบุตรีและภรรยาเที่ยวตามหาพระศาสดา มาพบเข้าใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง พราหมณ์ดีใจนักหนา แต่ได้ต่อว่าเป็นเชิงพ้อว่า
“สมณะ ข้าพเจ้าบอกให้ท่านยืนรอที่โน้นแต่หายืนคอยไม่ เหมือนไม่ยินดีจะรับบุตรีของข้าพเจ้า สมณะ! บุตรีของข้าพเจ้านี้งามเลิศกว่านารีใด ๆ ทั้งปวงในถิ่นนี้ เป็นที่ปองหมายแห่งเศรษฐีคหบดีและแม้แห่งพระราชา แต่ข้าพเจ้าหาพอใจใครเสมอด้วยท่านไม่ บัดนี้ข้าพเจ้าได้นำนางผู้งามพร้อมมามอบ ณ เบื้องบาทของท่านแล้ว ขอได้โปรดรับไว้ และครองกันฉันสามีภรรยาเถิด”พราหมณ์กล่าวจบแล้วสั่งให้บุตรีถวายบังคมพระศาสดา ณผู้นี้มีความหวังดีต่อเราพระโลกนาถศากยบุตร ยังคงประทับดุษณีอยู่ครู่หนึ่ง พระองค์ทรงรำพึงว่า พราหมณ์ต้องการสงเคราะห์เราด้วยสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงแหนที่สุดแห่งตน แต่สิ่งนี้มีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นธรรมดา เราจักปฏิการพราหมณ์ผู้นี้ด้วยอมตธรรม อนึ่งพราหมณ์และพราหมณีทั้งสองนี้มีอุปนิสัยแก่กล้าพอที่จะบรรลุธรรมของเราได้ เป็นการมอบสภาพอันไม่แก่และไม่ตายแก่เขา ดำริดังนี้แล้ว พระตถาคตเจ้าจึงเอื้อนพระโอษฐ์ว่า
“พราหมณ์! ถ้าเราจะเล่าเรื่องบางเรื่องให้ท่านฟัง ท่านจะพอใจฟังหรือไม่”
“เล่าเถิดสมณะ ข้าพเจ้าพร้อมอยู่แล้ว ท่านมีบุตรภรรยาอยู่แล้วหรือ?”
มาคันทิยา บุตรีแห่งพราหมณ์นั่งเพ่งพิศพระตถาคตเจ้าเหมือนเด็กมองดูตุ๊กตาซึ่งตนไม่เคยเห็น พร้อม ๆ กันนั้น มารยาแห่งสตรีซึ่งปรากฏอยู่ในเรือนร่างและนิสัยแห่งอิตถีเพศ ก็เริ่มฉายแวววาวออกมาทางสายตา และริมฝีปากอันบางงามเต็มอิ่มนั้นพระตถาคตเจ้า ชายพระเนตรดูนางมาคันทิยาหน่อยหนึ่ง ทรงรู้ถึงจิตใจอันปั่นป่วนของ
นางแล้วตรัสว่า
“พราหมณ์! เมื่อเราอยู่ในวัยหนุ่ม เกศายังดำสนิท ถูกแวดล้อมด้วยสตรีล้วนแต่สะคราญตา เป็นที่ปรารถนาของบุรุษเพศผู้ยังตัดอาลัยในบ่วงกามมิได้ แต่เราเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย จึงสละสมบัติบรมจักรและนางผู้จำเริญตา ออกแสวงหาโมกขธรรมแต่เดียวดาย เที่ยวไปอย่างไม่มีอาลัยปลอดโปร่งเหมือนบุคคลที่เป็นหนี้แล้วพ้นจากหนี้ เคยถูกคุมขังแล้วพ้นจากที่คุมขัง เคยเป็นโรคแล้วหายจากโรค หลังจากท่องเที่ยวอยู่เดียวดายและทำความเพียรอย่างเข้มงวดไม่มีใครจะทำได้ยิ่งกว่าอยู่เป็นเวลา 5 ปี เราก็ได้ประสบชัยชนะอย่างใหญ่หลวงในชีวิต ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สงบเยือกเย็นถึงที่สุด ล่วงพ้นบ่วงแห่งมารทั้งปวงทั้งที่เป็นทิพย์และเป็นของมนุษย์มารและธิดามารคือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี ได้พยายามยั่วยวนเราด้วยวิธีแปลก ๆ เพื่อให้เราตกอยู่ในอำนาจ แต่เราก็หาสนใจใยดีไม่ ในที่สุดพวกนางก็ถอยหนีไปเอง เราชนะมารอย่างเด็ดขาด จนมีนามก้องโลกว่า ผู้พิชิตมารพระตถาคตหยุดอยู่ครู่หนึ่ง ทรงกวาดสายพระเนตรดูทุกใบหน้า ในที่สุดพระองค์ตรัสวา“พราหมณ์ เมื่อได้เห็นนางตัณหา นางราคา และนางอรดี ซึ่งทรงความงามเหนือสามโลก เราก็หาพอใจแต่น้อยไม่ ก็ทำไมเล่าเราจะพอใจในสรีระแห่งธิดาของท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยสูตรและกรีส พราหมณ์เอย! อย่าว่าแต่จะให้แตะต้องด้วยมือเลย เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า”