บนกองกระดูกแห่งตัณหานุสัย

วันที่ 31 สค. พ.ศ.2567

บนกองกระดูกแห่งตัณหานุสัย

670831_b180.jpg


                      “ดูก่อนภราดา!” พระอานนท์เล่าต่อไป พระดำรัสตอนสุดท้ายของพระผู้มีพระภาค เป็นเสมือนสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงบนใบหน้าของบุตรีพราหมณ์ นางรู้สึกร้อนผ่าวไปหมดทั้งร่าง สำหรับสตรีสาว อะไรจะเป็นเรื่องเจ็บปวดยิ่งไปกว่าการเสนอตัวให้ชายแล้วถูกเขาเขี่ยทิ้งอย่างไม่ไยดี ดังนั้น นัยน์ตาซึ่งเคยหวานเยิ้มของนาง จึงถูกเคี่ยวให้เหือดแห้งไปด้วยไฟโทสะ ใบหน้าซึ่งเคยถูกชมว่างามเหมือนจันทร์เพ็ญนั้น บัดนี้ได้ถูกเมฆ คือความโกรธเคลื่อนเข้ามาบดบังเสียแล้ว นางผูกใจเจ็บในพระศาสดาสุดประมาณ พระตถาคตเจ้า สังเกตเห็นกิริยาอาการของนางโดยตลอด แต่หาสนพระทัยอันใดไม่ทรงแสดงอนุปุพพิกถาพรรณนาถึงเรื่องทาน ศีล ผลแห่งทานศีล โทษของกามและอานิสงส์แห่งการหลีกเร้นออกจากกาม ที่เรียกว่า เนกขัมมะ ฟอกอัธยาศัยแห่งพราหมณ์และพราหมณีจนทรงเห็นว่ามีจิตอ่อน ควรแก่พระธรรมเทศนาชั้นสูง แล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงประกาศสามุกกังสิกาธรรมเทศนา คือ อริยสัจ ๔ ประหนึ่งช่างย้อมผู้ฉลาด ฟอกผ้าให้สะอาด แล้วนำมาย้อมสีที่ตนต้องการ พระธรรมเทศนา จบลงด้วยการสำเร็จมรรคผลของพราหมณ์และพราหมณี พระพุทธองค์เสด็จลุกจากอาสนะ ทิ้งมาคันทิยคามไว้เบื้องหลัง มุ่งสู่ชนบทอื่นเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ต่อไป
 

                      ความงามแห่งสตรี มักจะเป็นเหมือนดาบสองคม คือให้ทั้งคุณและโทษแก่เธอ และมีสตรีน้อยคนนักที่จะจับแต่เพียงคมเดียว เพราะฉะนั้น เธอจึงมักประสบทั้งความสุขและความเศร้าเพราะความงามเป็นมูลเหตุ กฎข้อนี้พิสูจน์ได้ด้วยชีวิตของนางมาคันทิยา ซึ่งข้าพเจ้าจะเล่าให้ท่านฟังต่อไป ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะแก้แค้นพระบรมศาสดา เครื่องมือในการใช้ความพยายามของนางมีอย่างเดียวคือความงาม เมื่อมีความพยายาม ความสำเร็จย่อมตามมาเสมอ และในความพยายามนั้น ถ้าจังหวะดีก็จะทำให้สำเร็จเร็วขึ้น ดังนั้น ต่อมาไม่ช้านัก นางได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งโกสัมพี่โดยวิธีใดไม่แจ้ง นับว่าได้เป็นใหญ่เป็นโตพอที่จะหาทางแก้แค้นพระบรมศาสดาได้โดยสะดวก ดังนั้น เมื่อนางทราบว่าพระตถาคตเจ้าเสด็จมาโกสัมพี นางจึงยินดียิ่งนัก คราวนี้แหละพระสมณโคดมผู้จองหองจะได้เห็นฤทธิ์ของมาคันทิยา นางปรารภเรื่องนี้ด้วยความกระหยิ่มใจ แล้วจ้างบริวารของนางบ้าง ทาสและกรรมกรบ้าง ให้เที่ยวติดตามด่าพระบรมศาสดาทุกมุมเมือง ทุกหนทุกแห่งที่พระองค์ทรงเหยียบย่างไป

 

                      ดูก่อนภราดา! ข้าพเจ้าตามเสด็จไปทุกหนทุกแห่งเหมือนกัน เมื่อถูกด่าแรงๆ จิตใจของข้าพเจ้าก็กระวนกระวาย แต่พระตถาคตเจ้าทรงมีอาการแช่มชื่นอยู่เสมอ สีพระพักตร์ยังคงสงบนิ่ง เช่นเดียวกับเวลาได้รับคำสรรเสริญ จิตใจที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมคือ นินทาและสรรเสริญนั้นเป็นจิตที่ประเสริฐยิ่ง พระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ และพระองค์ก็ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง อาวุโส! ตราบใดที่บุคคลยังพอใจด้วยคำสรรเสริญ เขาย่อมยังต้องหวั่นไหวเพราะถูกนินทา นี่เป็นกฎที่แน่นอนพระตถาคตเจ้าทรงทำพระมนัสให้เป็นเช่นแผ่นดิน หนักแน่น และไม่ยินดียินร้ายว่าใครจะโปรยปรายของหอมหรือดอกไม้ลงไป หรือใครจะทิ้งเศษขยะปฏิกูลอย่างไรลงไป ข้าพเจ้าเองสุดที่จะทนได้จึงกราบทูลพระองค์ว่า
 

“พระองค์ผู้เจริญ! อย่าอยู่เลยที่นี่ คนเขาด่ามากเหลือเกิน”


“จะไปไหน อานนท์” พระศาสดาตรัส มีแววแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตร และสีพระพักตร์


“ไปเมืองอื่นเถิดพระเจ้าข้า สาวัตถี ราชคฤห์ สาเกต หรือเมืองไหน ๆ ก็ได้ ที่ไม่ใช่โกสัมพี”


“ถ้าเขาด่าเราที่นั่นอีก!”


“ก็ไปเมืองอื่นอีก พระเจ้าข้า”


“ถ้าที่เมืองนั้นเขาด่าเราอีก?”


“ไปต่อไป พระเจ้าข้า”


“อย่าเลย อานนท์! เธออย่าพอใจให้ตถาคตทำอย่างนั้น ถ้าจะต้องทำอย่างเธอว่า เราจะไม่มีแผ่นดินอยู่ มนุษย์เราอยู่ที่ไหนจะไม่ให้มีคนรักคนชังนั้นเห็นจะไม่ได้ เรื่องเกิดขึ้นที่ใดควรให้ระงับลง ณ ที่นั้นเสียก่อนแล้วจึงค่อยไป อานนท์! เรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตถาคตนั้นจะไม่ยืดยาวเกิน ๗ วัน คือจะต้องระงับลงภายใน ๗ วันเท่านั้น”


แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสต่อไปว่า


                  “อานนท์! เราจะอดทนต่อคำวิงวอนของผู้อื่น เหมือนช้างศึกก้าวลงสู่สงคราม ต้องทนต่อลูกศรซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ เพราะคนในโลกนี้ส่วนมากเป็นคนชั่ว คอยแต่หาแต่โทษของคนอื่น เธอจงดูเถิด พระราชาทั้งหลายย่อมทรงราชพาหนะตัวที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ชุมนุมชน เป็นสัตว์ที่ออกชุมนุมชนได้ อานนท์เอย! ในหมู่มนุษย์นี้ ผู้ใดฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ม้าอัสดร ม้าสินธพ พญาช้างตระกูลมหานาคที่ได้รับการฝึกแล้ว จัดเป็นสัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่คนที่ฝึกตนดีแล้วยังประเสริฐกว่าสัตว์เหล่านั้น”
 

                  “ดูก่อนอานนท์! ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัวอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกัน เพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้ เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถขุดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิเป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น”


                   ในที่สุด ทาสและกรรมกรที่พระนางมาคันทิยาว่าจ้างมาด่าพระมหาสมณะก็เลิกราไปเอง เพราะเขาทั้งหลายรู้สึกว่า เขากำลังด่าเสาศิลาแท่งทึบซึ่งไม่หวั่นไหวเลย ความพยายามของพระนางมาคันทิยาเป็นอันล้มเหลว อาวุโส! พระศาสดาเคยตรัสไว้ว่า ภูเขาศิลาล้วนย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลมจากทิศทั้ง ๔ ฉันใด บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหวเพราะคำนินทาและคำสรรเสริญ ฉันนั้น ในพระดำรัสของพระศาสดาตอนต้น ท่านคงจำได้ว่า พระองค์ตรัสถึงม้าอัสดร ม้าสินธพและสัตว์อาชาไนย รวมทั้งพญาช้างตระกูลมหานาค ข้าพเจ้าขอไขความเรื่องนี้สักเล็กน้อยม้าอัสตรนั้น คือสัตว์ผสมระหว่างม้าและลา คือแม่ม้า พ่อลา ลูกออกมาจึงได้ลักษณะที่ดีเยี่ยม คือได้ลักษณะเร็วจากแม่และได้ลักษณะทนทานจากพ่อ ม้าเป็นสัตว์ที่มีฝีเท้าเร็วมากจนได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า มโนมัย หมายความว่า สำเร็จดังใจ ส่วนลานั้นทนทานมากในการนำภาระหนัก ปืนที่โกรกชันก็เก่ง เมื่อลักษณะทั้ง ๒ ประการมารวมกัน คือทั้งเร็วและทน ก็เป็นคุณลักษณะที่ดีเยี่ยม
 

                   หันมามองดูมนุษย์เรา ผู้ใดมีลักษณะ ๒ อย่างคือ ทั้งเร็วและทนทาน ผู้นั้นก็จัดได้ว่าประเสริฐ คนบางคนมีสติปัญญาดี รู้อะไรได้เร็ว แต่ไม่ทนทาน อ่อนแอ เบื่อหน่ายงานง่าย จับจดในที่สุดก็เอาดีไม่ค่อยได้ ส่วนบางคนทนทาน บึกบึน แต่ขาดสติปัญญา รู้อะไรได้ช้า จึงทำให้เสียเวลามากเกินไปในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และคนในโลกส่วนมากก็มักจะได้ลักษณะเดียว แต่ดูเหมือนพระศาสดาจะทรงสรรเสริญความเพียรพยายามมากอยู่ เมื่อได้พยายามแล้วไม่สำเร็จสมประสงค์ ใครเล่าจะลงโทษผู้นั้นได้ ม้าสินธพนั้นเป็นพันธุ์ม้าซึ่งเกิด ณ ลุ่มแม่น้ำสินธุ เป็นม้าพันธุ์ดีมาก แคว้นกัมโพชะถิ่นกำเนิดของท่าน ก็เป็นแคว้นที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องมีม้าพันธุ์ดีตามที่ท่านกล่าวแล้วแต่หนหลังส่วนช้างตระกูลมหานาคก็เป็นช้างตระกูลดี กล่าวถึงสัตว์อาชาไนย หมายถึงสัตว์ที่ได้รับการฝึกฝนแล้วให้ควรแก่การงานประเภทนั้น ๆ โดยนัยนี้ สัตว์ทุกประเภทสามารถเป็นอาชาไนยถ้าได้รับการฝึกให้เหมาะแก่การใช้งาน แต่บรรดาอาชาไนยด้วยกัน บุรุษอาชาไนยหรือคนอาชาไนยประเสริฐที่สุด เพราะเหตุนี้ พระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า บรรดามนุษย์ด้วยกัน คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐที่สุด


                     คำว่าฝึกตนนั้น หมายถึงการฝึกจิตของตนให้ดีงาม รับได้ ทนได้ แม้ในภาวะที่คนทั่ว ๆไปรู้สึกว่าไม่น่าจะทนได้ การฝึกจิตก็เหมือนการฝึกยกน้ำหนัก ต้องค่อยทำค่อยไป เมื่อได้ที่แล้วก็เป็นจิตที่ทนทาน และมีอภินิหารเป็นอัศจรรย์ นางมาคันทิยาเป็นพระมเหสีรองของพระเจ้าอุเทน พระมเหสีใหญ่คือพระนางสามาวดีซึ่งเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้ามาก เมื่อพระนางมาคันทิยากลั่นแกล้งพระศาสดาไม่สมประสงค์ก็หันมาริษยาหาโทษให้พระนางสามาวดี พระนางถูกกล่าวหาหลายเรื่องจนพระเจ้าอุเทนทรงเชื่อและจะประหารชีวิตพระนางสามาวดี แต่พระองค์ทรงทราบข้อเท็จจริงภายหลัง จึงสั่งประหารชีวิตพระนางมาคันทิยาพร้อมทั้งบริวารและญาติ ด้วยวิธีที่เรียกได้ว่าทารุณอย่างยิ่งคือพระองค์ให้ขุดหลุมฝังพระนางมาคันทิยาและบริวารเพียงแค่คอ แล้วให้ไถจนอวัยวะขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พระนางมาคันทิยาจบชีวิตลงด้วยเรื่องที่พระนางก่อขึ้นเอง


“ดูก่อนภราดา! การคิดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ย่อมเป็นเหมือนการถ่มน้ำลายรดฟ้า หรือการปาธุลีทวนลม ผู้กระทำย่อมได้รับโทษเอง”


                     “ดูก่อนท่านผู้แสวงมรรคาแห่งอมตะ!” พระอานนท์กล่าวต่อไป “พระผู้มีพระภาคเจ้าสำราญพระอิริยาบถ ณ โกสัมพี่ตามพระอัธยาศัย พอสมควรแล้วก็เสด็จจาริกไปสู่คามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ผู้พอแนะนำได้ให้ดำรงอยู่ในกุศลบถ จนกระทั่งหวนกลับไปประทับ ณ กรุงสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล อันเป็นดินแดนแถบเชิงเขาหิมาลัย ความจริงพระพุทธองค์ประทับ ณ กรุงสาวัตถีเป็นเวลาหลายปีที่สุด คือถึง ๒๕ พรรษา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าประทับอยู่รวดเดียว ๒๕ พรรษา พระองค์เสด็จไป ๆ มา ๆ แต่เมื่อคิดรวมแล้วได้ ๒๕ ปีพอดี คือประทับอยู่ ณ ปุพพารามของนางวิสาขา ๖ ปี และประทับ ณ เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ ๑๙ ปี

 

                        อันว่าพระนครสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศลนี้ ตั้งอยู่ทางเหนือแห่งแคว้นกาสี มีอาณาเขตไปจนถึงหิมาลัยบรรพต มีแคว้นศากยะอยู่ทางทิศเหนือ โกลิยะอยู่ทางทิศตะวันออก แคว้นโกศลซึ่งมีสาวัตถีเป็นราชธานีนี้ เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่คู่แข่งกับแคว้นมคธโกศลมีเมืองสำคัญสามเมือง คือสาวัตถี อโยธยา ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสรายุ เป็นเมืองสำคัญมาก่อนสมัยพระพุทธองค์ ต่อมาถูกรวมเข้ากับโกศล ส่วนอีกเมืองหนึ่งคือสาเกต อยู่ใกล้กับอโยธยา เจริญขึ้นเวลาเดียวกับอโยธยาเสื่อมลง จึงคล้ายเป็นเมืองแทนอโยธยา สาเกตมีความสำคัญสำหรับโกศลมาก เป็นเมืองบิดาแห่งนางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งข้าพเจ้าจะขอเล่าให้ท่านฟังในภายหลัง ระหว่างสาวัตถีถึงสาเกต มีรถด่วนเดินทางวันเดียวถึง รถด่วนนั้นคือรถเทียมม้า ตั้งสถานีไว้ ๗ แห่ง พอถึงสถานีหนึ่งก็เปลี่ยนมาครั้งหนึ่ง ม้าชุดหนึ่งวิ่งเป็นระยะทางกว่ากึ่งโยชน์เล็กน้อยแปลว่าต้องเปลี่ยนมาถึง ๗ ครั้ง เรื่องนี้เองที่พระปุณณะมันตานีบุตร อาจารย์ของข้าพเจ้า เมื่อสนทนากับพระสารีบุตรถึงเรื่องวิสุทธิ ๗ อันจะนำบุคคลไปสู่พระนิพพาน จึงเปรียบวิสุทธิ ๗ เหมือนรถ ๗ ผลัดจากสาวัตถีถึงสาเกต ครั้งแรกที่พระตถาคตเจ้าเหยียบพระมงคลบาทลงสู่สาวัตถีนั้น เป็นเพราะการอาราธนาของท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี ซึ่งเวลานั้นยังมิได้มีเนมิตตกนามอันไพเราะอย่างนี้เลย  เรื่องเป็นดังนี้

 

สมัยหนึ่ง เมื่อตรัสรู้แล้วไม่นาน พระตถาคตเจ้าประทับอยู่ ณ สีตวันใกล้กรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น อนาถปิณฑิกเศรษฐียังมิได้รู้จักพระพุทธเจ้า ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์เพื่อเยี่ยมเยียนสหายและเพื่อกิจการค้าด้วย เมื่อไปถึง เศรษฐีผู้สหายต้อนรับพอสมควรแล้ว ก็ขอตัวไปสั่งงานคนทั้งหลายให้ทำนั่นทำนี่จนไม่มีโอกาสได้สนทนากับอาคันตุกะ อนาถปิณฑิกะประหลาดใจจึงถามว่า


“สหาย! ครั้งก่อน ๆ เมื่อข้าพเจ้ามา ท่านกระวีกระวาดต้อนรับอย่างดียิ่ง สนทนาปราศรัยเป็นที่บันเทิงจิตตามฐานะมิตรอันเป็นที่รัก ท่านละงานอื่น ๆ ไว้สิ้น มาต้อนรับข้าพเจ้า แต่คราวนี้ท่านละข้าพเจ้าแล้วสั่งงานยุ่งอยู่ ท่านมีงานอาวาหวิวาหมงคล หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งแคว้นมคธจะเสด็จมาเสวยที่บ้านของท่านในวันพรุ่งนี้หรืออย่างไร?”
 

“สหาย” เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ “อภัยข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจะไม่สนใจไยดีในการมาของท่านก็หามิได้ ท่านคงทราบอยู่แก่ใจแล้วว่า ข้าพเจ้ามีความรักในท่านอย่างไร แต่พรุ่งนี้ข้าพเจ้าอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนร้อย เพื่อเสวยและฉันอาหารที่นี่เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมัวสั่งงานยุ่งอยู่”
 

“สหาย! ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ! พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกหรือนี่!”

                
                     “ใช่ พระพุทธเจ้า พระโคตมะพุทธะออกบวชจากศากยตระกูล มีข่าวแพร่สะพัดไปทุกหนทุกแห่งว่าพระองค์เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คือมีความรู้ดีและความประพฤติดี เสด็จไปที่ไหนก็อำนวยโชคให้ที่นั่น เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้รู้จักโลก เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นจากกิเลสนิทรารู้อริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง และมีพระทัยเบิกบานด้วยพระมหากรุณาต่อมวลสัตว์ เป็นผู้หักราคะโทสะและโมหะพร้อมทั้งบาปธรรมทั้งมวลแล้ว เสด็จเที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์ แสดงธรรมอันไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เต็มบริสุทธิ์ทั้งหัวข้อและความหมาย สหาย! ท่านไม่ทราบการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าดอกหรือ?”


ดูก่อนภราดา! คำว่า พุทโธ นั้น เป็นคำที่ก่อความตื่นเต้นให้แก่อนาถปิณฑิกเศรษฐียิ่งนัก อุปมาเหมือนคนเป็นโรคซึ่งทรมานมานานปี เมื่อทราบว่ามีหมอสามารถจะบำบัดโรคนั้นได้จะดีใจสักเพียงใด ดังนั้น อนาถปิณฑิกะจึงกล่าวว่า


“สหาย! ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สำหรับพรุ่งนี้เป็นจำนวนเท่าใด ข้าพเจ้าขอออกให้ทั้งหมด”

 
                       “อย่าเลย สหาย!” เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ “อย่าว่าแต่ท่านจะจ่ายค่าอาหารเลย แม้ท่านจะมอบสมบัติในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็หายอมให้ท่านเป็นเจ้าภาพสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าไม่ กว่าข้าพเจ้าจะจองได้ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน ข้าพเจ้าคอยโอกาสนี้มานานนักหนาแล้ว สมบัติบรมจักรข้าพเจ้ายังปรารถนาน้อยกว่าการได้เลี้ยงถวายพระพุทธเจ้า ๗ วันนี้เป็นวันของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ใครเป็นอันขาด” เมื่ออนาถปิณฑิกะวิงวอนว่า ขอออกค่าใช้จ่ายสักครึ่งหนึ่ง เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็หายอมไม่

 

                       ดูก่อนภราดา! พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนั้น ทรงมีปุพเพกตปุญญตาอย่างล้นเหลือ กุศลธรรมทั้งมวลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญกระทำมาตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ มารวมกันให้ผลในปัจฉิมภพของพระองค์นี้ ประดุจสายธารซึ่งยังเอ่ออยู่ในทำนบและบังเอิญทำนบพังทลายลง อุธกธาราก็ไหลหลากท่วมท้น ดังนั้น ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ใด พระราชเสนาบดี พ่อค้า ประชาชน จึงต้องการถวายปัจจัยแก่พระองค์จนถึงกับต้องแย่งต้องจองกันล่วงหน้าเป็นเวลานาน ๆ อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้อันกุศลธรรมแต่ปางบรรพ์ตักเตือนแล้ว เมื่อได้ยินคำ พุทโธ เท่านั้น ปีติก็ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์ ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลานั้น แต่บังเอิญเป็นเวลาค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จิตใจของเขาจึงกังวลถึงแต่เรื่องที่จะเฝ้าพระบรมศาสดา ไม่อาจหลับลงได้อย่างปกติ

 

                        เขาลุกขึ้นถึง ๓ ครั้งด้วยสำคัญว่าสว่างแล้ว แต่พอเดินออกไปภายนอกเรือน ความมืดยังปรากฏปกคลุมอยู่ทั่วไป ครานั้น ความสะดุ้งหวาดเสียวและความกลัวก็เกิดขึ้นแก่เขา เขากลับมานอนรำพึงถึงพระศาสดาอยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ ในที่สุดเวลาก็มาถึง ท้องฟ้าเริ่มสาง เสียงไก่ขันรับอรุณแว่วมาตามสายลม เศรษฐีเดินออกจากตัวเรือนมุ่งสู่ประตูเมือง ประตูยังไม่เปิด อนาถปิณฑิกะต้องขอร้องวิงวอนคนเฝ้าประตูเสียนานเขาจึงยอมเปิดให้ เมื่อออกจากประตูเมืองแล้ว ทางที่จะไปสู่ป่าสีตวันก็เป็นทางเปลี่ยว การสัญจรยังไม่มี การเดินออกจากเมืองเข้าไปในป่านั้นเป็นการยากมากสำหรับคนขลาด เศรษฐีเกือบจะหมดความพยายาม มีหลายครั้งที่เขาจะถอยกลับเข้าสู่เมือง แต่พอเขาหยุดยืนนั่นเอง เสียงก็ปรากฏขึ้นเหมือนแว่วมาจากอากาศว่า เศรษฐี! ม้าตั้งร้อย ช้างตั้งร้อย โค แพะ แกะ เป็ด ไก่ อย่างละร้อย ๆ ถ้าท่านได้เพราะถอยกลับเพียงก้าวเดียว ก็จะไม่ประเสริฐเหมือนก้าวไปข้างหน้าเพียงก้าวเดียว จงก้าวต่อไปเถิด เศรษฐี! การก้าวไปข้างหน้าของท่าน จะเป็นประโยชน์แก่ท่านและแก่โลกมาก


                  เศรษฐีมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าสีตวัน อันเป็นที่ประทับแห่งพระศาสดา เวลานั้นพระพุทธองค์ตื่นบรรทมแล้ว ทรงแผ่ข่ายพระญาณ พิจารณาดูสัตว์โลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่าเป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรม คือดำเนินกลับไปกลับมาอยู่ ณ บริเวณที่ประทับ เมื่อเศรษฐีเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า


“เข้ามาเถิด สุทัตตะ! ตถาคตอยู่นี่”


                  ดูก่อนภราดา! พระดำรัสตรัสเรียกเศรษฐีโดยชื่อว่า สุทัตตะ โดยถูกต้องนั้น นำความปราโมชมาให้เศรษฐีอย่างเหลือล้น เขาไม่เคยรู้จักพระศาสดา และพระศาสดาก็ไม่เคยทรงรู้จักเขาแต่พระองค์สามารถเรียกชื่อเขาได้ เศรษฐีหรือจะไม่ปลื้มใจ เขาซบหน้าลงแทบบาทมูลแห่งพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระศากยมุนี! เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้วที่ได้มาเฝ้าพระองค์สมปรารถนา ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองเพื่อเสวยภัตตาหารไม่ไหว จึงออกมาเฝ้าแต่เช้ามืด พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อคืนนี้ ราตรีช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกิน ที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า

 

                   “พุทโธ พุทโธ”  ดูก่อนสุทัตตะ! ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้ว รู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือ การเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้นดูก่อนสุทัตตะ! สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อย ๆ และการเกิดบ่อย ๆ นั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวดทรมานและความตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว
 

ดูก่อนสุทัตตะ! เมื่อรากยังมั่นคงแม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว มันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกันเมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นเสียจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ
 

                     “สุทัตตะเอย! น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีดเล่า ถ้านำมากองรวม ๆ กันมิให้กระจัดกระจาย คงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลยแม้แต่สักนิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูก นั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น ดูก่อนสุทัตตะ! ไม่ว่าภพไหน ๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งสิ้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิงคือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ฉะนั้น”

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015428535143534 Mins