ชาติสุดท้ายของมหาทุคตะ
เมื่อท่านเทพบุตรท่องเที่ยวบนสวรรค์ตลอด ๑ พุทธันดรเรียบร้อยแล้ว ได้จุติลงมายังโลกมนุษย์ ด้วยอานุภาพบุญของท่าน เวลามาเกิดในครรภ์มารดา มารดาเกิดความคิดในใจเลยว่า จะไม่ขัดใจลูกคนนี้เด็ดขาด จะตามใจทุกสิ่งตามอัธยาศัยเลย
ต่อมา มารดาเกิดแพ้ท้อง มีความคิดอยากจะนิมนต์พระมา ๕๐๐ รูป แล้วเอาข้าวคลุกปลาตะเพียนถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน เลี้ยงพระทั้งหมด ๕๐๐ รูป ส่วนตนเองห่มผ้าย้อมฝาดไปด้วย ห่มเหมือนพระอย่างนั้น แล้วไปยืนอยู่ข้างท้าย คอยรับข้าวคลุกปลาตะเพียนที่เหลืออยู่จากพระภิกษุเพื่อเอามารับประทาน เมื่อทำอย่างนี้อาการแพ้ท้องก็ระงับไป เมื่อคลอดบุตรออกมา ทารกมีผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่งสว่างไสว แม่ก็ตั้งใจไว้ว่า จะไม่ขัดใจลูกเลย
เมื่อเด็กคลอดออกมา ตามประเพณีจะมีการพาเด็กไปรับสิกขะ คือ รับศีล บิดามารดาพาเด็กน้อยไปหาพระสารีบุตร เพื่อให้รับสิกขาบทและในวันตั้งชื่อก็พาไปรับสิกขาบทเช่นกัน พระเถระถามว่า เด็กคนนี้ชื่ออะไร ผู้เป็นแม่จึงเล่าว่า เด็กน้อยนี้เมื่อยังอยู่ในครรภ์ ผู้คนในเรือนไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นคนไม่ฉลาดก็กลับกลายเป็นคนฉลาด ด้วยเหตุนี้เด็กน้อยจึงได้ชื่อว่า “บัณฑิต”
สำหรับงานมงคลทั้ง ๗ ครั้งของกุมารน้อยนี้ คือ ๑. ตอนอยู่ในครรภ์ ๒. วันเกิด ๓. ตอนตั้งชื่อ ๔. ตอนเริ่มกินอาหารเองได้ ๕. ตอนเจาะหู ๖. ตอนนุ่งผ้าใหม่ ๓. ตอนโกนจุก ครอบครัวได้ถวายทานเป็นภัตตาหารด้วยข้าวคลุกปลาตะเพียนแด่คณะพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ที่มีพระสารีบุตรเป็นประธานทุกครั้ง
กุมารน้อยบัณฑิตดำเนินชีวิตอยู่ทางโลกจนกระทั่งอายุ ๗ ขวบ บิดา มารดา หรือแม้ใครต่อใครไม่เคยขัดใจกุมารน้อยเลย อยากจะทำอะไรก็ตามใจทุกอย่าง เนื่องจากท่านเป็นผู้มีบุญมาก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านคิด พูด หรือกระทำอะไรนั้นล้วนเป็นทางมาแห่งบุญทั้งสิ้น ผิดแผกแตกต่างจากเด็กทั่วๆ ไป
พออายุ ๗ ขวบ ก็ออกบวชในสำนักของพระสารีบุตร โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ ตอนพาไปบวช กุมารน้อยก็ได้สร้างมหาทาน พอบวชเป็นสามเณรแล้ว ได้ถวายมหาทานติดต่อกันอีก ๗ วัน บิดามารดาก็ไปอยู่ที่วัดกันทั้ง ๗ วัน และได้ถวายมหาทานด้วยข้าวคลุกปลาตะเพียนทั้ง ๗ วัน เนื่องจากข้าวคลุกปลาตะเพียนนี้เป็นอาหารที่ติดใจข้ามภพข้ามชาติมาถึง ๑ พุทธันดรนอกจากจะฉันด้วยตัวเองแล้ว ก็อยากจะให้พระทั้งหลายได้ขบฉันด้วย เพราะว่าข้าวคลุกปลาตะเพียนในชาติที่เป็นมหาทุคตะนั้น เป็นมื้อที่พิเศษสุด ที่พระอินทร์จำแลงทรงปรุงเอาไว้เพื่อถวายแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
จนกระทั่งวันที่ ๘ พระสารีบุตรได้นำสามเณรบัณฑิตออกไปบิณฑบาตครั้งแรก สามเณรมีหน้าที่ถือบาตรของพระอุปัชฌาย์ คือ พระสารีบุตรซึ่งเป็นภาพที่น่าเอ็นดู พระสารีบุตรเดินนำหน้า มีสามเณรน้อยผิวพรรณผ่องใสแก้มใสเป็นสีชมพู หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูเดินตามหลัง เวลาสามเณรบิณฑบาตใครๆ เห็นก็อยากใส่บาตรท่าน ญาติโยมพากันมาใส่บาตรเป็นแถว
สามเณรบัณฑิตเดินถือบาตรไป ชมทิวทัศน์ท้องไร่ท้องนาไปเรื่อยๆแล้วก็ช่างซักช่างถาม เมื่อเดินไปเจอเหมือง ซึ่งก็คือที่ดอนสูงๆ ที่เขาขุดเป็นลำราง แล้วมีช่องทางเปิดให้น้ำไหลเข้านา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่า น้ำจึงไหลเข้านาได้เหมืองนี้คนทั่วไปเดินผ่านไปผ่านมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ได้ข้อคิดสะกิดใจอะไร เขาเห็นว่าเหมืองก็คือเหมือง น้ำก็คือน้ำ ไม่ได้คิดอะไร แต่สามเณรบัณฑิตไม่เป็นอย่างนั้น ท่านเป็นคนรู้จักคิดพิจารณา นี่คืออัจฉริยภาพของผู้มีบุญซึ่งจะมีความคิดที่ประกอบไปด้วยปัญญาจากใจที่สว่างผ่องใส สามเณรถามพระสารีบุตรว่า “สิ่งนี้คืออะไรครับ” พระสารีบุตรตอบว่า “นี่คือเหมือง” “แล้วเขาเอาไว้ทำอะไร” ท่านก็ตอบว่า “เขาเอาไว้ปล่อยน้ำเข้ามาในเหมือง แล้วก็เปิดทางนํ้าเข้านา”
“น้ามีจิตใจไหมครับ” สามเณรเข้าใจซักถาม หากเป็นคนทั่วไปเขาคงไม่ถามเรื่องนี้กัน พระสารีบุตรตอบว่า “ไม่มี” สามเณรก็นิ่ง เดินครุ่นคิดไปตลอดทางว่า “น้ำไม่มีจิตใจ แต่คนสามารถสร้างเหมืองบังคับน้ำให้ไปทางนั้นทางนี้ได้ จิตใจของเราก็คงเช่นเดียวกัน น่าจะฝึกได้ดัดได้ ฝึกให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้” ซึ่งเป็นความคิดที่น่าอัศจรรย์มากๆ ทีเดียว
การบิณฑบาตในสมัยก่อนต้องเดินกันเป็นระยะทางไกลทีเดียว เพราะแต่ละบ้านอยู่ห่างกันเป็นกิโลเลย พอเดินไปได้สักระยะหนึ่ง ผ่านไปเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศรอยู่ โดยนายช่างเอาลูกศรลนไฟแล้วค่อยๆ ดัดให้ตรงเวลายิงสัตว์จะได้เข้าเป้าโดยง่าย ไม่เฉ ไม่เบี่ยงเบนไป สามเณรถามว่า “นั่นอะไรครับ” พระสารีบุตรตอบว่า “นั่นคือลูกศร” สามเณรจึงถามต่อว่า “แล้วเขากำลังทำอะไร” “ช่างศรเขากำลังดัดลูกศรให้มันตรง เวลายิงจะได้เข้าเป้าแม่นยำ” ได้ฟังเพียงแค่นี้ท่านก็คิดแล้วถามต่อว่า “แล้วลูกศรมีจิตใจไหมครับ” “ไม่มีหรอกมันเป็นของธรรมดาอย่างนั้นแหละ” พระเถระตอบ
สามเณรผู้มีปัญญาจึงคิดต่อไปอีกว่า “ลูกศรไม่มีจิตใจ ยังดัดได้ จิตใจของเราก็ต้องดัดได้เหมือนกัน ให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน มันต้องดัดได้” แล้วสามเณรน้อยก็ครุ่นคิดต่อไปเรื่อยๆ
กระทั่งสามเณรเดินไปถึงช่างไม้ ซึ่งกำลังถากไม้ให้เป็นดุมเป็นล้อเกวียนอยู่ ก็ถามขึ้นว่า “นั่นอะไรครับ” พระสารีบุตรตอบว่า “ช่างไม้เขากําลังถากไม้ให้เป็นล้อเกวียน” “ไม้มีจิตใจไหมครับ” สามเณรถามต่อ ท่านบอกว่า “ไม่มี” สามเณรก็คิดไปอีกว่า “ไม้ไม่มีจิตใจยังถากให้เป็นไปตามความปรารถนาได้ จิตใจของเราก็เช่นเดียวกันคงจะต้องดัดได้ ขูดได้ ถากได้ ให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน ให้ใช้ประโยชน์ได้”
พอคิดอย่างนี้ได้ ๓ ครั้งเท่านั้น สามเณรพลันบอกกับพระอุปัชฌาย์ว่า “กระผมขอกลับไปทำกรรมฐานก่อน” แล้วจึงส่งบาตรคืนให้แก่พระสารีบุตร และยังขอให้พระสารีบุตรบิณฑบาตข้าวคลุกปลาตะเพียนมาฝากด้วย
เราจะเห็นว่า สามเณรท่านไม่ลืมความเลิศรสของข้าวคลุกปลาตะเพียนในภพชาติที่เป็นมหาทุคตะ นี่ขนาดจะไปทำกรรมฐา ยังฝากเอาไว้อย่างนี้พระสารีบุตรบอกว่า “เอ...ข้าวคลุกปลาตะเพียนไม่รู้จะมีหรือเปล่านะ” สามเณรจึงเรียนตอบไปว่า “ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็จะได้ด้วยบุญของกระผมขอรับ”
พระสารีบุตรจึงบอกสามเณรว่า “อย่าลืมเอาลูกดาล (ลูกกุญแจ) ไปด้วยนะ แล้วนั่งในกุฏินั่นแหละ เพราะวัดเราอยู่ในป่า มันอันตราย เดี๋ยวสัตว์ร้ายจะมาทําร้ายเอาได้ หรือโจรป่าจะจับตัวไป” พระเถระยืนส่งสามเณรด้วยความเป็นห่วง แต่เด็ก ๗ ขวบนี้ไม่ห่วงอะไรแล้ว เดินมุ่งหน้าจะไปปฏิบัติกรรมฐานด้วยใจที่แน่วแน่ ครุ่นคิดถึงเรื่องที่ว่า จิตของเราต้องฝึกได้เหมือนไม้ เหมือนลูกศรและเหมือนน้ำ ที่แม้ไม่มีจิตยังฝึกได้ ยังดัดได้
ขณะเดินกลับวัด สามเณรรู้สึกปลื้มปีติ เบิกบานใจ และมั่นใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดาของคนที่จะบรรลุธรรม จะมีจิตใจที่เบิกบานเป็นพิเศษ คล้ายกับว่า วันนี้จะเป็นวันสมความปรารถนาของชีวิตที่เดินทางในสังสารวัฏมานับภพนับชาติไม่ถ้วนสั่งสมบุญบารมีกันมามากมาย บางชาติก็ทำได้มาก บางชาติก็ทำได้น้อย บางชาติพลาดพลั้งตกไปในอบายก็มี แต่ว่าบุญเล็ก บุญน้อย บุญใหญ่ บุญทุกชนิดที่ทำไว้ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน รอเวลารวมกันมาส่งผลให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ในที่สุด
ฉะนั้น ตอนที่บารมีเต็มเปี่ยม จะเกิดความรู้สึกอย่างนี้และคิดอย่างนี้ ดวงปัญญาจะแตกฉาน จะแจ่มแจ้งเข้าใจชีวิต เกิดความรู้สึกอิ่มพอแล้วกับชีวิตของการเป็นปุถุชน จะต้องก้าวต่อไปในชีวิตที่ประณีตขึ้น สูงขึ้น ซึ่งตอนนี้บุญจะได้ช่องเต็มที่