นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

วันที่ 04 กย. พ.ศ.2567

2567%2009%2004%20b.jpg

 

นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

2567%2009%2004b.jpg

         ทุกชีวิตในโลกนี้  ในที่สุดแล้วจะต้องเดินทางไปสู่อายตนนิพพานเป้าหมายของชีวิต  คือ  การหลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ระหว่างเดินทางในสังสารวัฏนั้น ไม่ว่าจะมีความปรารถนาไปสู่อายตนนิพพานหรือไม่ก็ตาม (ตอนอินทรีย์อ่อนๆ อยู่ก็ไม่ปรารถนา นั่นคือการถูกอกุศลจิตบังคับ อกุศลจิตทำให้ความคิดเบี่ยงเบนไป)

        แต่สุดท้ายเมื่อบุญบารมีแก่กล้าเต็มเปี่ยมแล้ว  จะรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตของการเป็นปุถุชน  คล้าย ๆ  กับว่า อิ่มแล้ว เต็มแล้ว เพียงพอแล้วสำหรับชีวิตที่ผ่านมาทุกระดับ เราเคยเป็นมาทุกอย่าง ตั้งแต่ชนชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นล่าง พระเจ้าจักรพรรดิ พระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี มหาเศรษฐี ยาจก วณิพก เป็นมาหมดแล้ว เป็นวนๆ ซ้ำๆ กันมาอย่างนี้ พูดง่ายๆ ว่าไม่มีอะไรใหม่ วนไปวนมา เวียนไปเวียนมากันอยู่อย่างนี้


         ฉะนั้น  เมื่อบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว  จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย จึงมองโลก มองภพ เหมือนกับมีกองเพลิงสุมอยู่ เร่าร้อนหาความสุขที่ไหนไม่ได้เลย เมื่อเป็นดังนี้จึงคลายกำหนัด จิตก็บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสจนเข้าถึงนิพพาน มันจะเรียงกันไปอย่างนี้ ตามขั้นตอนของอารมณ์

      คล้ายๆ  กับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตอนก่อนบวช ท่านก็สนุกสนานตามประสาวัยหนุ่ม คึกคะนองกันไป มีการละเล่นที่ไหนมักจะพบทั้งสองท่านที่นั่น แต่มีอยู่วันหนึ่ง ท่านทั้งสองต่างนั่งเฉยๆ เขาโศกกันท่านก็เฉย เขาสุขกัน ท่านก็เฉย เขาตลกกัน ท่านก็เฉยๆ เฉยอย่างเดียวไม่พอยังเบื่ออีกด้วย ในที่สุดก็หันหน้าเข้าหากันโดยไม่ได้นัดหมาย

       แล้วคำถามเดียวกันออกมาจากปากพร้อมๆ  กันว่า “เอ๊ะ วันนี้ท่านแปลก ทำไมดูการละเล่นแล้วไม่เห็นท่านมีความสุขเลย บทที่เขาทุกข์ บทที่เขาสุข บทที่เขาตลกขบขัน ท่านก็เฉยๆ เหมือนไม่มีอารมณ์” แล้วทั้งคู่ก็บอกความในใจต่อกันว่า “มันเบื่อ ทำไมเบื่อก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่เคยสนุก เคยชอบ ทำไมวันนี้ไม่ชอบ มันเบื่อ” นั่นคือบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ในที่สุดก็ออกบวชทั้งคู่

      บางท่านไม่เข้าใจมองว่า   นิพพานเป็นสุขแห้งแล้ง  การคิดอย่างนี้คือยังห่างไกลมากเลย   เพราะนิพพานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง  เป็นเอกันตบรมสุขที่ชุ่มชื่น ตื่นตัวภายใน กว้างขวาง เป็นอิสระ ไม่มีขอบเขต เป็นตัวของตัวเอง มีความอิ่ม ความเต็ม เป็นความพอดีอยู่ในตัว เมื่อได้อารมณ์อย่างนี้แล้วอย่างอื่นก็ไม่ต้องการ อารมณ์ของพระนิพพานมันต้องเข้าถึง เมื่อถึงแล้วเราจะไม่ต้องการอะไรในชีวิตอีกเลย และจะเห็นว่าที่ผ่านมาแล้วนั้น ชีวิตมีแต่ความซ้ำซาก เวียนวนไปมา แต่สุขในนิพพานเป็นสุขมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงใช้คำว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” นิพพานเป็นบรมสุข เป็นอภิอัครมหาบรมสุข คือ สุขจริงๆ เลย

        ส่วนสุขในโลกนั้น   แค่สุขเล็กน้อย   แป๊บเดียวเท่านั้นก็หายไป   ยกตัวอย่างที่เรารับประทานอาหารอร่อยๆ พอเลยลำคอ รสชาติก็หายไปแล้ว ดูหนัง ดูละคร ดูทีวี ดูทิวทัศน์ ดูเพชรดูพลอย ปลื้มไม่กี่ทีก็ลืมเลือนไป เราไม่สามารถดึงเอาความชุ่มชื่นใจนั้นติดตัวมาได้ หรือแม้แต่เสียงเพลง เสียงนก เสียงธรรมชาติ เสียงคนยกย่องสรรเสริญ ฟังแล้วเพลินๆ แต่เดี๋ยวเดียวเราก็ลืมแล้ว หรือได้กลิ่นหอมๆ ชื่นอกชื่นใจ พอกลิ่นจางหายไปก็ลืมอีก ต้องมาเติมอีกแล้วเติมความหอมใหม่ให้มันเต็ม

         แม้แต่สุขสัมผัส ที่เป็นความสุขทางเนื้อทางหนัง ทางระบบประสาทของมนุษย์ ก็สุขเพียงประเดี๋ยวเดียว เปรียบเหมือนแค่ไก่กระพือปีกพี่บๆพออารมณ์นั้นดับ ก็มีความล้าเกิดขึ้น แล้วความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้น กายถูกต้องสัมผัสอะไรก็แล้วแต่ สุขสัมผัสที่เกิดขึ้น แวบเดียวหายแล้ว เหมือนกับพยับแดดเห็นเปลวยิบๆ นึกว่ามีตัวตน พอเข้าใกล้ก็หายไป ไม่มีอะไรที่จะเป็นความสุขที่สามารถติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่งได้เลย

      สำหรับความสุขบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ภาษาธรรมะเขาเรียกว่าถึงวิสัญญี คือ มันวูบไปอยู่ในอารมณ์นั้น เวลาเทพบุตรเทพธิดาเขาแสดงความรักกัน มันแป๊บเดียวบนสวรรค์
สุขสัมผัสอะไรต่างๆ นี่แวบเดียวก็จางหายไปแต่สุขที่เกิดจากการเข้าถึงธรรมไม่ใช่อย่างนั้น เป็นสุขที่มั่นคงและยั่งยืนอยู่ยาวนาน และเป็นอิสระ เบิกบานไม่มีที่สิ้นสุดเลย เพราะฉะนั้นใครจะว่านิพพานเป็นสุขแห้งแล้ง แต่ความจริงตรงกันข้าม เป็นสุขที่ชุ่มชื่นเบิกบานตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดปี แล้วก็ตลอดไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงกล่าวถึงพระนิพพาน ด้วยการใช้คำว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” ซึ่งเป็นคำยืนยันจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” นั่นเอง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022160164515177 Mins