ปุพพูปการของพระพุทธอนุชา
ลำดับนั้น พระมหากรุณาซึ่งตั้งอยู่ในพระกมลอันบริสุทธิ์มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อขนเวไนยสัตว์ให้ข้ามห้วงมหรรณพ คือความเกิด แก่ เจ็บ และตาย ได้เตือนพระทัยให้หวนรำลึกถึงพระปฏิญญา ซึ่งพระองค์ทรงให้ไว้แก่โลก พระทัยกรุณาได้ทูลพระองค์ว่า
“ธรรมอันไม่บริสุทธิ์ที่คนมีมลทินคิดกัน ปรากฏอยู่ในแคว้นมคธนานมาแล้วขอพระองค์จงเปิดประตูเพื่อให้บุคคลเดินเข้าไปสู่แดนอมตะเถิด คนทั้งหลายต้องการฟังธรรม ซึ่งพระองค์ผู้ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้ว ขอพระองค์ผู้ไม่โศก มีปัญญาดี จงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทซึ่งสำเร็จด้วยธรรม แล้วมองดูหมู่สัตว์ผู้ยังก้าวล่วงความโศกไม่ได้ ถูกชาติชราครอบงำคร่ำครวญอยู่ พระองค์เป็นประดุจผู้ยืนอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นหมู่ชนได้
โดยรอบ โปรดลุกขึ้นเถิดพระมหาวีระผู้ชนะสงครามภายในแล้ว พระองค์ผู้ประดุจนายกกองเกวียนผู้สามารถนำสัตว์ให้ข้ามพ้นห้วงอันตราย พระองค์เป็นผู้ไม่มีหนี้ ขอจงเสด็จเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงธรรมเถิด ผู้รู้ตามจักมีเป็นแน่แท้”
พระผู้มีพระภาค ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพจักษุ ได้มองเห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในจักษุคือกิเลสน้อยก็มี มากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี อินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีบ้าง อาการชั่วบ้างให้รู้ได้โดยง่ายบ้าง ให้รู้ได้โดยยากบ้าง เหมือนดอกบัว ๓ เหล่าในสระน้ำพระองค์จึงทรงปรารภกับพระองค์เอง ด้วยความกรุณาในหมู่สัตว์ว่า
“เราได้เปิดประตูอมตธรรมแล้ว ผู้อยากฟังจงเงี่ยโสตลงเถิด ทีแรกเราคิดว่าจะลำบากเปล่า จึงไม่คิดจะกล่าวธรรมที่ประณีตโดยง่าย”
พญานาคนั้นเปรียบด้วยมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งโดยปกติหลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และปลุกให้ตื่น ก็ตื่นขึ้นชั่วระยะหนึ่ง แลแล้วก็หลับต่อไป
สมัยหนึ่งพระอานนท์เข้าสู่ที่หลีกเร้น เพื่อหาความสงบโดยลำพังและตรึกตรองธรรม ท่านคิดว่ากลิ่นหอมแห่งไม้ที่เกิดจากแก่นก็ดี เกิดจากรากก็ดี เกิดจากดอกก็ดี ล้วนแต่ไปได้ตามลมเท่านั้น หาหอมหวนทวนลมไม่ กลิ่นอะไรหนอที่สามารถหอมฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม เมื่อท่านไม่สามารถตัดสินตกลงใจได้ด้วยตนเอง จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถึงข้อสงสัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
“อานนท์! กลิ่นดอกไม้กลิ่นจันทน์ไม่สามารถหอมหวนทวนลมได้ แต่กลิ่นแห่งเกียรติคุณความดีงามของสัตบุรุษนั้นแล สามารถจะหอมไปได้ทั้งตามลมและทวนลม คนดีย่อมมีเกียรติคุณฟุ้งขจรไปได้ทั่วทุกทิศ กลิ่นจันทน์แดง กลิ่นอุบล กลิ่นดอกมะลิ จัดว่าเป็นดอกไม้กลิ่นหอม แต่ยังสู้กลิ่นศีลไม่ได้ กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งมวล อานนท์! ศีลนี้มีความไม่ต้องเดือดร้อนใจ เป็นผลเป็นอานิสงส์ อานนท์ เราเคยกล่าวกับภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าภิกษุหวังจะให้เป็นที่รักที่เคารพนับถือเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารี แล้วก็พึงเป็นผู้ทำตนให้สมบูรณ์ด้วยศีลเถิด” ดังนี้
จริงทีเดียว ที่พึ่งอันประเสริฐของกุลบุตรในศาสนานี้ก็คือ ศีล ซึ่งใคร ๆ ไม่อาจกล่าวพรรณนาอานิสงส์ให้หมดสิ้นได้ แม่น้ำใหญ่และน้ำใด ๆ ก็ตามไม่อาจชำระมลทินของสัตว์ในโลกนี้ได้ แต่บุคคลสามารถชำระมลทินของตนได้ด้วยน้ำคือศีล อะไรเล่าจะสามารถระงับความเร่าร้อนภายในของสัตว์ในโลกนี้ ลมหรือ? ฝนหรือ? จันทน์แดงหรือ? แสงจันทร์อันยองใยหรือ? เปล่าเลย!สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถทำให้ความเร่าร้อนภายในสงบลงได้ ศีลต่างหากเล่าสามารถช่วยให้บุคคลสงบเยือกเย็น กลิ่นอะไรเล่าจะหอมเสมอด้วยกลิ่นแห่งศีล ซึ่งสามารถฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม บันไดที่จะก้าวไปสู่ประตูสวรรค์และเข้าไปสู่นคร คือ นิพพาน เสมอด้วยบันไดคือศีลเป็นไม่มีพระราชาผู้ประดับด้วยมุกดามณี ยังไม่สง่างามเหมือนนักพรตผู้ประดับด้วยอาภรณ์คือศีล ศีลนี้คอยกำจัดภัยคือการติเตียนตนเองออกเสีย แล้วก่อให้เกิดความเอิบอิ่มร่าเริง ประหารโทษต่าง ๆ เป็นต้นเค้าแห่งคุณความดีต่างชนิด
ภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ หมดมลทิน จะทรงบาตรจีวรก็ดูน่าเลื่อมใส การบรรพชาของภิกษุเช่นนั้นเป็นสิ่งมีผล ผู้มีศีลบริสุทธิ์ย่อมมีใจผ่องแผ้วเพราะมองไม่เห็นโทษแห่งการทุศีล เหมือนพระอาทิตย์กำจัดความมืดฉะนั้น ภิกษุผู้สง่างามอยู่ในป่าคือตบะเพราะสมบูรณ์ด้วยศีล เหมือนพระจันทร์สว่างอยู่กลางฟ้ามีรัศมีโชติช่วง เพียงแต่กลิ่นกายของภิกษุผู้มีศีล ยังทำความปราโมชแก่ทวยเทพทั้งหลาย จะกล่าวใยถึงกลิ่นแห่งศีลเล่า สักการะแม้น้อยแต่ทายกทำแล้วในท่านผู้มีศีลย่อมอำนวยผลไพศาล เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นเหมือนภาชนะสำหรับรองรับสักการะของทายกจิตของผู้มีศีลย่อมแล่นไปสู่พระนิพพานอันเยือกเย็นเต็มที่
มนุษย์ผู้หลงใหลอยู่ในโลกียารมณ์ ผงมต่อความบันเทิง สุขอันสืบเนื่องมาจากความมึนเมาในทรัพย์สมบัติชาติตระกูล ความหรูหรา ฟุ่มเฟือย ยศศักดิ์และเกียรติอันจอมปลอมในสังคมที่อยู่อาศัยอันสวยงาม อาหารและเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ต้องใจ อำนาจและความทะนงตนทั้งหมดนี้ทำให้บุคคลมีนัยน์ตาฝ้าฟาง มองไม่เห็นความงามแห่งพระสัทธรรม ความเมาในอำนาจเป็นแรงผลักดันที่มีพลังมากพอให้คนทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีอำนาจยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น พร้อม ๆ กันนั้นมันทำให้เขาลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่แยแสต่อเสียงเรียกร้องของศีลธรรมหรือมโนธรรมใด ๆ มันค่อย ๆ ระบายจิตใจของเขาให้ดำมืดไปทีละน้อย ๆ จนเป็นสีหมึก ไม่อาจมองเห็นอะไร ๆ ได้อีกเลย
หัวใจที่เร่าร้อนอยู่แล้วของเขา ถูกเร่งเร้าให้เร่าร้อนมากขึ้น ด้วยความทะยานอยากอันไม่มีขอบเขต ไม่ทราบว่าจะไปสิ้นสุดลงที่ไหน วัตถุอันวิจิตรตระการตานั้นช่วยเป็นเชื้อให้ความทะยานอยากโหมแรง กลายเป็นว่ายิ่งมีมากยิ่งอยากใหญ่ แม้จะมีเสียงเตือนและเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาว่าศีลธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนสังคมและคุ้มครองโลก แต่บุคคลผู้รับรู้และพยายามประคับประคองศีลธรรมมีน้อยเกินไป สังคมมนุษย์จึงวุ่นวายและกรอบเกรียมอย่างน่าวิตก
ด้วยเหตุนี้มีความพยายามต่าง ๆ ของมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติสุข จึงไม่อาจบรรลุจุดประสงค์นั้นได้ มีแต่ความวุ่นวายมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ผลที่ได้รับไม่คุ้มเหนื่อย ถ้าเปรียบความพยายามเพื่อบรรลุสันติสุขนั้นเหมือนการค้า ก็เป็นการค้าที่ขาดทุนอย่างมาก ทั้งนี้เพราะมนุษย์ได้เพิกเฉยต่อธรรม เหยียบย่ำทำลายธรรม แสวงหาเกียรติและความมั่นคง โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น
ความทุกข์ยากลำบากและความดิ้นรนต่าง ๆ ของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งกระเสือกกระสนไปด้วยดวงใจที่ว้าเหว่ไร้ความหวัง รวมทั้งตัวอย่างชีวิตแห่งผู้ทุจริตคดโกงแล้ว ประสบภัยพิบัติในบั้นปลาย น่าจะเป็นบทเรียนที่ดียิ่ง แต่บุคคลผู้มุ่งแต่ความสุขสำราญของตน ย่อมไม่อาจมองเห็นสิ่งเหล่านี้ได้
ก็พระอานนท์นี่เองเป็นผู้อำนวยความสุข ความสะดวกแก่ภิกษุในพุทธธรมานสมัย คือ กาลเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่มาจนกระทั่งบัดนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับจีวรกล่าวคือเครื่องนุ่งห่มของสมณะ
เดิมทีเดียว พระตถาคตเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุสาวกมีผ้าได้เพียงสามผืนเท่านั้น คือ จีวร สบง และสังฆาฏิ ผ้าสองชั้นสำหรับห่มหนาว อย่างละผืน ๆ จะมีมากกว่านี้ไม่ได้ ถ้าจะมีผืนใหม่ต้องสละผืนเก่าไปทำอย่างอื่น เช่น เป็นผ้าปูลาดเตียงหรือทำเพดาน ทั้งนี้เพื่อให้ภิกษุสาวกไม่สะสมจีวรไว้เกินจำเป็น และเป็นสัญลักษณ์แห่งผู้มักน้อย สันโดษ อยู่อย่างเบาสบาย ประพฤติตนดุจสกุณา มีบาตรและจีวรเป็นเสมือนปีกทั้งสอง อาจโผผินบินไปในเวหาตามต้องการ หรือเหมือนเนื้อในป่าเที่ยวไปได้ตามปรารถนา ไม่ถูกผูกมัดด้วยบ่วง คือบริขารเครื่องกังวลใด ๆ
แต่พระผู้มีพระภาคทรงเป็นการณวสิกบุคคล ผู้กระทำทุก ๆ อย่างตามสมควรแก่เหตุผลและความจำเป็น จึงทรงผ่อนผันสิกขาบทบัญญัติอยู่เสมอ
คราวหนึ่ง พระอานนท์ได้จีวรพิเศษมาที่เรียกว่า อดิเรกจีวร หมายถึงจีวรที่นอกเหนือจากผ้าสามผืนดังกล่าวแล้ว เนื่องจากท่านมีความเคารพเลื่อมใสและรักในพระสารีบุตรมาก จึงประสงค์จะถวายจีวรนั้นแก่พระสารีบุตร แต่เวลานั้นพระสารีบุตรไม่ได้อยู่ ณ ที่นั้น จะเก็บจีวรไว้ได้อย่างไร เพราะมีบทบัญญัติห้ามเก็บอติเรกจีวรไว้ พระอานนท์จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
“อานนท์ พระศาสดาตรัส “เวลานี้สารีบุตรอยู่ที่ไหน?”
“อยู่ที่เมืองสาเกต พระเจ้าข้า” พระอานนท์ทูล
“ประมาณกี่วันสารีบุตรจึงจะมาถึงที่นี่?”
“ประมาณ ๑๐ วัน พระเจ้าข้า”
“ถ้าอย่างนั้นเธอจงเก็บไว้เถิด รอคอยสารีบุตร” พระศาสดาตรัส
แลแล้วพระพุทธองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ทรงผ่อนผันพุทธบัญญัติด้วยพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเก็บอดิเรกจีวรไว้ได้อย่างมากเพียง ๑๐ วัน ถ้าเกินกว่านั้น จีวรนั้นภิกษุต้องสละเสีย มิฉะนั้นเธอจะต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะถ้าไม่สละของ ย่อมไม่สามารถปลดเปลื้องอาบัติได้”
พระสารีบุตรมาทันตามกำหนดก่อนจะล่วง ๑๐ วัน เป็นอันว่าพระอานนท์ได้ถวายจีวรแก่พระอัครสาวกเบื้องขวาได้สมประสงค์
กระทั่งปัจจุบันนี้พระสงฆ์สาวกของพระศาสดา ก็ยังปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติเรื่องนี้อยู่ เมื่อท่านได้จีวรพิเศษมา ถ้าล่วง ๑๐ วันแล้วท่านก็สละให้ภิกษุอื่นไป หรือให้สามเณรก็ได้ และต้องแสดงอาบัติด้วย ที่เผลอเก็บจีวรพิเศษไว้เกิน ๑๐ วัน
มีวิธีการดังนี้ ภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรนั้นออกมานั่งคุกเข่าประนมมือ ภิกษุอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับ ก็นั่งในท่าเดียวกัน ภิกษุผู้เป็นเจ้าของจีวรวางจีวรไว้ระหว่างแขนพับ มือคงประนมอยู่แล้วกล่าวว่า
“จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าเก็บไว้เกิน ๑๐ วันจำเป็นต้องสละ ข้าพเจ้าขอสละจีวรผืนนี้แด่ท่าน” เสร็จแล้วตามมรรยาทภิกษุผู้รับก็จะถวายคืน โดยกล่าวว่า “จีวรผืนนี้เป็นของข้าพเจ้าแล้วแต่ข้าพเจ้าขอถวายแก่ท่านท่านจะใช้สอยหรือจะให้ใคร หรือจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควร” เสร็จแล้วมอบจีวรคืนแก่ภิกษุรูปที่เป็นเจ้าของเดิม
คราวนี้มาถึงเวลาที่ภิกษุเจ้าของจีวรจะแสดงอาบัติ ท่านจะไปนั่งประนมมือคุกเข่าอยู่ท่าเดิม กล่าวว่า “ข้าพเจ้าต้องอาบัติเกี่ยวกับของที่ต้องสละ (นิสสัคคียะ) ข้าพเจ้าขอแสดงอาบัติเรื่องนี้คือยอมรับสารภาพผิด”
ภิกษุอีกรูปหนึ่งจะถามว่า ท่านเห็นหรือ ภิกษุผู้แสดงอาบัติตอบว่าเห็น ผู้รับการแสดงจะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงตั้งใจสำรวมระวังต่อไป ภิกษุผู้แสดงจะให้คำมั่นว่า จะตั้งใจสำรวมระวังต่อไป
แต่มีวิธีการที่จะเก็บจีวรได้ตลอดไป โดยไม่จำเป็นอาบัติและไม่ต้องเสียสละอยู่อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า วิกัปป์ ภิกษุเมื่อได้จีวรพิเศษมาจำนวนเท่าใด ก็นำออกมาแสดงให้ภิกษุรูปหนึ่งรับทราบและบอกว่า ท่านยินดีเสียสละจีวรและผ้าเหล่านี้ให้ภิกษุอื่นได้ใช้ ตามทางวิชาการเรียกว่าวิกัปป์หมายความว่าทำให้เป็นของสองเจ้าของ มิใช่เป็นสิทธิของท่านแต่เพียงผู้เดียว ภิกษุรูปอื่นจะรับทราบและมอบให้เจ้าของเดิมเก็บไว้ใช้ได้ตลอดไป เป็นวิธีการที่งดงามมาก ไม่มีอะไรน่าตำหนิเลย
พระพุทธอนุชา ได้ทิ้งมรดกเรื่องนี้ไว้ให้ภิกษุทั้งหลาย ในกาลต่อมาได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ช่วยให้สะดวกสบายขึ้นมากทีเดียว ควรที่ปัจฉิมาชนตาชนจะพึงระลึกถึงปุพพูปการข้อนี้ของพระอานนท์มหาเถระ แม้คฤหัสถ์ก็ควรน้อมระลึกถึงพระคุณข้อนี้ของพุทธอนุชาที่ท่านได้เปิดประตูไว้สำหรับผู้มีศรัทธา ได้ทำบุญด้วยจีวรตามปรารถนาตราบเท่าทุกวันนี้
การที่พระตถาคตเจ้าทรงพระพุทธานุญาตเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระมหากรุณา และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความดีงามของพระอานนท์ที่กระทำทุกอย่างเพื่อพระองค์ และเพื่อความอยู่ยั่งยืนแห่งพระศาสนา คุณธรรมของผู้น้อยเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการโน้มน้าวจิตใจของผู้ใหญ่ให้โอนอ่อนผ่อนตาม สมแล้วที่มีคำกล่าวว่า
เอาชนะผู้สูงศักดิ์ด้วยความอ่อนน้อม
เอาชนะผู้ต่ำต้อยด้วยการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ
เอาชนะศัตรูด้วยการยุให้แตกความสามัคคี
เอาชนะสตรีด้วยการหว่านล้อมถ้อยคำหวานให้เกิดความสงสารและเห็นใจพร้อมด้วย
คำมั่นสัญญาที่ชวนฟัง
จริงทีเดียว ความรักของสตรีมักจะเข้าหู ส่วนความรักของบุรุษมักจะเข้าทางตา ด้วยเหตุนี้ สตรีที่รูปงามจึงได้เปรียบอยู่มากในด้านการเรียกร้องความสนใจจากบุรุษเพศ คำกล่าวที่ว่า
“นกโกกิลามีเสียงเป็นสำคัญ นารีมีรูปเป็นสำคัญ วิชาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุรุษ และนักพรตมีความอดทนเป็นสำคัญ” นั้น ยังเป็นความจริงที่ค้านได้โดยยากอยู่
ด้วยเหตุนี้กระมัง สตรีทั้งหลายจึงทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังปัญญา เพื่อตกแต่งร่างกายให้สวยงามชวนมองอยู่เสมอ รวมทั้งประดิษฐ์คิดค้นแบบและสีของเสื้อผ้าแพรพรรณสรีราภรณ์ต่างชนิด เธอจะรู้สึกเศร้าและหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยวเหลือหลาย เมื่อประจักษ์ว่านัยน์ตาเธอมิได้หวาน ใบหน้าของเธอมิได้งามผุดผาด ทรวดทรงมิได้อรชร แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ว่า ชายที่ปองหมายเธอจะเลี้ยงเธอเพราะเธอสวยนั้น เขาเลี้ยงเธอและปองหมายเธอเหมือนสัตว์เลี้ยงที่มี
ลักษณะต้องตาเขาเท่านั้น ความดีหรือคุณธรรมภายในต่างหากเล่า ที่เป็นสิ่งเชิดชูคุณค่าของเธอให้สูงเด่น โสเภณีแม้จะมีความสวยสักปานใด ก็หามีใครตั้งใจเลี้ยงจริงไม่ ความสวยเหมือนดอกไม้ซึ่งย่อมมีวันเหี่ยวแห้งโรยรา แต่ความดีเป็นสิ่งไม่จืด รสแห่งความดีงาม เป็นรสที่ไม่รู้จักจืดจาง คอยผูกมัดรัดตรึงดวงใจให้กระชับแน่นจนสุดที่จะถ่ายถอน จงแต่งเรือนกายแต่พอดูงาม แล้วเอาเวลาที่เหลือมาแต่งเรือนใจกันบ้างเถิด บ้านเรือนที่ดูแต่ภายนอกสะอาดสวยงามน่าอาศัย แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไปดูภายในมองเห็นแต่สิ่งโสโครกรกรุงรัง จะน่าพักผ่อนนอนหลับได้ไฉน ตรงกันข้าม แม้จะมองดูภายนอกไม่สะดุดตา แต่ภายในสะอาดเรียบร้อย ย่อมเป็นเรือนที่น่าอยู่น่าอาศัยกว่าฉันใดเรือนกายกับเรือนใจก็ฉันนั้น
บุรุษผู้ยอมปล่อยให้ความรักเข้าทางตาย่อมตาบอด และยังทำให้หูพลอยหนวกไปด้วย มองไม่เห็นเจตนาดีของเพื่อนสนิท ไม่ได้ยินเสียงของมิตรสหาย เมื่อเขาลืมตาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็มักจะมองเห็นเทพธิดาของเขาแปรรูปเป็นยักษิณีไปเสียแล้ว
ส่วนสตรีที่ปล่อยให้ความรักเข้าทางหู หูของเธอก็หนวกไปสิ้นสำหรับญาติและมิตรผู้หวังดี เธอได้ยินแต่เสียงพร่ำรำพันสัญญารักต่าง ๆ แห่งชายที่ตนหลงเท่านั้น ตาของเธอก็พลอยฝ้าฟางไปด้วย เธอหารู้ไม่ว่าผู้ที่มีความสุจริตใจน้อย มักจะมั่งคั่งร่ำรวยและมากไปด้วยคำหวาน แต่ผู้ที่พูดพอประมาณให้คำมั่นสัญญาแต่พอฟังนั่นต่างหาก ที่มีความสุจริตใจอยู่จริง ๆ ธาตุคนเป็นธาตุที่แยกได้ยากวินิจฉัยได้ยากกว่าธาตุใด ๆ ในโลกนี้ มีคนอยู่เป็นจำนวนมากอยากจะเรียนรู้เรื่องชีวิตให้จบ แต่เขาเหล่านั้นมักจะจบชีวิตไปก่อนเสมอ ชีวิตเป็นเรื่องยากและสับสน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ชีวิตเป็นของยาก” ผู้สามารถสางความยุ่งแห่งชีวิตให้เข้าระเบียบได้มีอยู่จำนวนน้อย กล่าวโดยเฉพาะชีวิตของมนุษย์ยิ่งยุ่งยากสับสนขึ้นทุกที มนุษย์ยอมเป็นทาสของสังคมจนแทบจะกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้เสียแล้ว เมื่อยอมเป็นทาสของสังคมและสังคมนั้นมีแต่ความฟุ้งเฟ้อหรูหรา ความหรูหราเหล่านั้นย่อมได้มาด้วยเงิน เขาจึงต้องยอมเป็นทาสของเงินตราอีกด้วย เงินตรานั้นโดยธรรมดามันเป็นเหมือนทาสที่ทั้งซื่อทั้งโง่ แล้วแต่จะใช้ให้ทำอะไรมันทำทั้งนั้น ใช้ให้ทำดีก็ทำ ใช้ให้ทำชั่วก็ทำ จ้างไปฆ่าคนก็ไปโดยไม่มีการคัดค้านโต้แย้งใด ๆ เลย เมื่อเงินตรามันเป็นทาสที่ทั้งซื่อทั้งโง่อยู่อย่างนี้ ใครยอมให้ทาสคนนั้นมาเป็นนาย ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน เขาจะโง่สักเพียงใด
พระตถาคตเจ้าเคยตรัสเรียกเงินตราว่า “อสรพิษ” ดังเรื่องต่อไปนี้
ท้องฟ้าเริ่มสาง แสงสีขาวสาดทาบเป็นแนวยาวทางบูรพทิศ อากาศแรกรุ่งอรุณเย็นย่ำ พระพายรำเพยแผ่วหอบเอากลิ่นบุปผชาติในเชตวนารามไปตามกระแสรวยริน เสียงไก่ป่าขันอยู่เจื้อยแจ้วเคล้ามาตามสายลมวิเวกวังเวง น้ำค้างถูกสลัดลงจากใบไม้เมื่อพระพายพัดผ่านกระทบกับใบไม้เหลือง ซึ่งหล่นร่วงลงแล้วดังเปาะแปะ ๆ เชตวนารามเวลานี้ตื่นตัวแล้วอย่างสงบ ประหนึ่งบุรุษผู้มีกำลังตื่นแล้วจากนิทรารมณ์ แต่ยังนอนเฉยอยู่ไม่ไหวกาย
พระมหาสมณะ เอกอัครบุรุษรัตน์อุดมด้วยบุญญาธิการ และมหากรุณาต่อส่ำสัตว์ประทับหลับพระเนตรนิ่งส่งข่ายคือพระญาณ ให้แผ่ไปทั่วจักรวาลโลกธาตุตรวจดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์อันพระองค์พอจะโปรดได้ เช้าวันนั้นชาวนาผู้น่าสงสารได้เข้ามาสู่พระญาณของพระองค์
พออรุณเบิกฟ้า พระศาสดามีพระพุทธอนุชาอานนท์เป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จ ออกจากเชตวนารามด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ บ่ายพระพักตร์สู่บริเวณนาของบุรุษผู้น่าสงสารนั้น
อีกมุมหนึ่ง กสิกรผู้ยากไร้ตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหารซึ่งมีเพียงผักดองและข้าวแดงพอประทังหิว แล้วนำโคคู่ออกจากคอก แบกไถถือหม้อน้ำออกจากหมู่บ้านสู่บริเวณนาเช่นเดียวกัน
พระตถาคตเจ้าหยุดยืน ณ บริเวณใกล้ ๆ ที่เขากำลังไถนาอยู่นั้น เขาเห็นพระศาสดาแล้วพักการไถไว้มาถวายบังคม พระศาสดามิได้ตรัสอะไรกับเขาเลย กลับเหลียวพระพักตร์ไปอีกด้านหนึ่ง ทอดทัศนาการตรงดิ่งไปยังจุด ๆ หนึ่ง แล้วตรัสกับพระอานนท์ว่า
“อานนท์! เธอจงดูเถิด นั่นอสรพิษ เธอเห็นไหม?”
“เห็นพระเจ้าข้า” พระอานนท์ทูล
เพียงเท่านั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จต่อไป
ชาวนาได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสกับพระอานนท์แล้วคิดว่า เราเดินไปมาอยู่บริเวณนี้เสมอ ถ้าอสรพิษมีอยู่มันอาจจะทำอันตรายแก่เรา อย่าปล่อยไว้เลย ฆ่ามันเสียเถิด คิดแล้วเขาก็นำปฏักไปเพื่อตีงู แต่กลับมองเห็นถุงเงินเป็นจำนวนมากวางกองรวมกันอยู่ เขาดีใจเหลือเกิน ยกมือขึ้นเหนือเศียรน้อมนมัสการพระพุทธองค์ที่โปรดประทานขุมทรัพย์ให้
“นี่หรืออสรพิษ” เขาคิดอยู่ในใจ พระพุทธองค์ตรัสเป็นปริศนาแบบสมณะเท่านั้นเอง “ที่แท้พระองค์คงตั้งพระทัยเสด็จมาโปรดเรา” แล้วเขาก็นำถุงเงินนั้นไปเอาดินกลบไว้แล้วไถนาต่อไปด้วยดวงใจเบิกบาน
พระศากยมุนี เมื่อคล้อยไปหน่อยหนึ่งแล้วจึงผินพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า
“อานนท์ เราเรียกถุงเงินนั้นว่าอสรพิษ วันนี้เองมันจะกัดบุรุษผู้นั้นให้มีอาการสาหัสปางตาย ถ้าไม่ได้เราเป็นที่พึ่งเป็นพยาน เขาจะต้องตายเป็นแน่แท้” ตรัสอย่างนี้แล้วไม่ยอมตรัสอะไรต่อไปอีก