ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร

วันที่ 25 กย. พ.ศ.2567

ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร

2567%2009%2025%20b.jpg

 

               ย่างเข้ายามที่สองแห่งราตรี  ลมเย็นพัดผ่านมาเป็นครั้งคราว  รอบ  ๆ  อุทยานสาลวันเปียกชุ่มไปด้วยอัสสุชลธาราแห่งมหาชนผู้เศร้าสลดสุดประมาณเขาหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความรักและรันทดใจ พระจันทร์วันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะโผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ทางทิศตะวันออกแล้ว โตเต็มดวงสาดแสงสีนวลใยลงสู่อุทยานสาลวันพรมไปทั่วบริเวณมณฑล ต้องใบสาละซึ่งไหวน้อย ๆ ดูงามตา แต่...บรรยากาศในยามนี้สลดเกินไปที่ใคร ๆ จะสนใจกับความงามแห่งแสงโสมที่สาดส่องเหมือนจงใจจะบูชาพระสรีระแห่งจอมศาสดานั้น

                 เงียบสงบวังเวง จะได้ยินอยู่บ้างก็คือ เสียงสะอึกสะอื้นและทอดถอนใจของคนบางคนที่เพิ่งมาถึง

              ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าวนี้  นักบวชเพศปริพาชกหนุ่มคนหนึ่ง  ขออนุญาตผ่านฝูงชนเข้ามา  เมื่อเข้ามาใกล้เขาบอกว่าขอเฝ้าพระศาสดา พระอานนท์ได้สดับเสียงนั้นจึงออกมารับและขอร้องวิงวอนว่า อย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

                “ข้าแต่ท่านอานนท์!”  ปริพาชกผู้นั้นกล่าว  “ข้าพเจ้าขออนุญาตเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ ขอท่านได้โปรดอนุญาตเถิด ข้าพเจ้าสุภัททะปริพาชก

                “อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย  พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ประชวรหนัก จะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน”

                “ท่านอานนท์!”  สุภัททะเว้าวอนต่อไป  “โอกาสของข้าพเจ้าเหลือเพียงเล็กน้อย  ขอท่านอาศัยความเอ็นดูโปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเฝ้าพระศาสดาเถิด”

              พระอานนท์คงทัดทานอย่างเดิม  และสุภัททะก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมย่อท้อจนกระทั่งได้ยินถึงพระศาสดา

               เรื่องก็เป็นอย่างที่เคยเป็นมา   พระศาสดามีพระมหากรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด   รับสั่งกับพระอานนท์ว่า “อานนท์! ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด”

                 เพียงเท่านี้    สุภัททะปริพาชกก็ได้เข้าเฝ้าสมประสงค์    เขากราบลงใกล้เตียงบรรทมแล้วทูลว่า  ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์นามว่าสุภัททะ ถือเพศเป็นปริพาชกมาไม่นาน ได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือเกียรติคุณแห่งพระองค์ แต่ก็หาได้เคยเข้าเฝ้าไม่ บัดนี้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ขอประทานโอกาสซึ่งมีอยู่น้อยนี้ ทูลถามข้อข้องใจบางประการ เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง”

“ถามเถิดสุภัททะ” พระศาสดาตรัส

“พระองค์ผู้เจริญ คณาจารย์ทั้ง ๖ คือ ปูรณะกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสหรือประการใด”

“เรื่องนี้หรือ สุภัททะ ที่เธอดิ้นรนขวนขวายพยายามมาหาเราด้วยความพยายามยิ่งยวด” พระศาสดาตรัสยังหลับพระเนตรอยู่

“เรื่องนี้เองพระเจ้าข้า” สุภัททะทูลรับ

              พระอานนท์รู้สึกกระวนกระวายทันที   เพราะเรื่องที่สุภัททะมารบกวนพระศาสดานั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระเหลือเกิน ขณะที่พระอานนท์จะเชิญสุภัททะออกจากที่เฝ้านั้นเอง พระศาสดาก็ตรัสขึ้นว่า

“อย่าสนใจกับเรื่องนั้นเลย สุภัททะ เวลาของเราและของเธอยังเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด”

“ข้าแต่ท่านสมณะ! ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา ๓ ข้อ คือรอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่ สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่?”

“สุภัททะ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์ ๘ สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ?”

“มีเท่านี้พระเจ้าข้า” สุภัททะทูลแล้วนิ่งอยู่


                 พระพุทธองค์ผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะแล้วจึงตรัสต่อไปว่า “สุภัททะถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูก่อนสุภัททะ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุหรือใคร ๆ ก็ตามพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์”

                 สุภัททะฟังพระพุทธดำรัสนี้แล้วเลื่อมใส   ทูลขอบรรพชาอุปสมบท   พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ติดถิยปริวาส คือ บำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจเป็นเวลา ๔ เดือนก่อน แล้วจึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ นี้เป็นประเพณีที่พระองค์ทรงตั้งไว้เป็นเวลานานมาแล้ว สุภัททะทูลว่าเขาพอใจอยู่บำรุงปฏิบัติภิกษุทั้งหลายสัก ๔ ปี

             พระศาสดาทรงเห็นความตั้งใจจริงของสุภัททะดังนั้น    จึงรับสั่งให้พระอานนท์   นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว นำสุภัททะไป ณ ที่ส่วนหนึ่ง ปลงผมและหนวดแล้วบอกกรรมฐานให้ ให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีล สำเร็จเป็นสามเณรบรรพชาแล้วนำมาเฝ้าพระศาสดา พระผู้ทรงพระมหากรุณาให้อุปสมบทแก่สุภัททะเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว ตรัสบอกกัมมัฏฐานอีกครั้งหนึ่ง

                 สุภัททะภิกษุใหม่   ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะพยายามให้บรรลุพระอรหัตตผลในคืนนี้   ก่อนที่พระศาสดาจะนิพพานจึงออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง ในบริเวณอุทยานสาลวันนั้น


              จงกรมนั้นคือเดินกลับไปกลับมา พร้อมด้วยพิจารณาข้อธรรมนำมาทำลายกิเลสให้หลุดร่วง บัดนี้ ร่างกายของสุภัททะภิกษุห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่อต้องแสงจันทร์ในราตรีนั้น ดูผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่งงามอำไพ มัชฌิมยามแห่งราตรีจวนจะสิ้นอยู่แล้ว ดวงรัชนีกลมโตเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางท้องฟ้าด้านตะวันตกแล้ว สุภัททะภิกษุตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะบำเพ็ญเพียรคืนนี้ตลอดราตรี เพื่อบูชาพระศาสดาผู้จะนิพพานไปปลายปัจฉิมยาม ดังนั้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ

                  แสงจันทร์นวลผ่องสุกสกาวเมื่อครู่นี้ดูจะอับรัศมีลง สุภัททะภิกษุแหงนขึ้นดูท้องฟ้าเมฆก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนเข้าบดบังแสงจันทร์จนมิดดวงไปแล้ว แต่ไม่นานนักเมฆก้อนนั้นก็เคลื่อนคล้อยไป แสงโสมสาดส่องลงมาสว่างนวลดังเดิม

                  ทันใดนั้นดวงปัญญาก็พลุ่งโพลงขึ้นในดวงใจของสุภัททะภิกษุ เพราะนำดวงใจไปเทียบด้วยดวงจันทร์

                 “อา!” ท่านอุทานเบา ๆ “จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนจันทร์เจ้า แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง”

             แลแล้ววิปัสสนาปัญญาก็โพลงขึ้น ชำแรกกิเลสแทงทะลุบาปธรรมทั้งมวลที่ห่อหุ้มดวงจิต แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่ายด้วยศัสตรา คือวิปัสสนาปัญญาชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสสวะทั้งมวล บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วลงจากที่จงกรมมาถวายบังคมพระมงคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วนั่งอยู่

                  สุภัททะภิกษุ ปัจฉิมสาวกอรหันต์ผู้นี้ ชื่อพ้องกับสุภัททะอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรแห่งสหายของพระผู้มีพระภาคผู้มีนามว่าอุปกะ มีประวัติเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธองค์อันน่าสนใจยิ่งผู้หนึ่งดังนี้

                 นับถอยหลังจากนี้ไป  ๔๕  ปี  สมัยเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ ทรงดำริจะโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมิคทายะ เสด็จดำเนินจากบริเวณโพธิมณฑลไปสู่แขวงเมืองพาราณสี ในระหว่างทางได้พบอาชีวกผู้หนึ่งนามว่า อุปกะ อยู่ในวัยค่อนข้างชราแล้ว เขาเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเดินสวนทางไปจึงถามว่า “สมณะ ผิวพรรณของท่านผ่องใสยิ่งนัก อินทรีย์ของท่านสงบน่าเลื่อมใสท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน?”

                  “สหาย!” พระศาสดาตรัสตอบ “เราเป็นผู้ครอบงำไว้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นใหญ่ในตนเองเต็มที่ เรารู้ทุกสิ่งทุกอย่างในทางธรรม เราหักกรรมแห่งสังสารจักรเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดได้แล้วด้วยตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จะพึงอ้างใครเล่าว่าเป็นศาสดา”

                 อาชีวกได้ฟังดังนี้แล้ว  นึกดูหมิ่นอยู่ในใจว่าสมณะผู้นี้ช่างโอหัง  ลบหลู่คุณของศาสดาตนน่าจะลองถามชื่อดู เผื่อว่าจะมีคณาจารย์เจ้าลัทธิใหม่ ๆ จะจำได้บ้างว่าเคยเป็นศิษย์ของตน คิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า

“สมณะ! ที่ท่านกล่าวมานี้ก็น่าฟังอยู่ดอก แต่จะเป็นไปได้หรือ คนที่รู้อะไร ๆ ได้เองโดยไม่มีครูอาจารย์ แต่ช่างเถิดข้าพเจ้าไม่ติดใจในเรื่องนี้นักดอก ข้าพเจ้าปรารถนาทราบนามของท่านเผื่อว่าพบกันอีกในคราวหน้าจะได้ทักทายกันถูก

                 พระศากยมุนี  ผู้มีอนาคตังสญาณทราบเหตุการณ์ภายหน้าได้โดยตลอด  ทรงคำนึงถึงประโยชน์บางอย่างในอนาคตแล้วตรัสบอกว่า “สหาย! เรามีนามว่าอนันตชิน ท่านจำไว้เถิด”

                  “อนันตชิน!” อุปกะอุทาน “ชื่อแปลกดีนี่”

                   แล้วอุปกาชีวกก็เดินเลยไป พระศาสดาก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่พาราณสี

                   อุปกะเดินทางไปถึงหมู่บ้านพรานเนื้ออาศัยอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านนั้น

                 ตอนเช้าเขาเข้าไปภิกขาจารในหมู่บ้านพรานเนื้อนั้น   หัวหน้าพรานเห็นเข้าเกิดความเลื่อมใสจึงอาราธนาให้มารับภิกษาที่บ้านของตนทุกเช้า ๆ อุปกะรับอาราธนาด้วยความยินดี แต่ซ่อนความรู้สึกนั้นไว้ภายใน ตามวิสัยแห่งนักบวชผู้ยังมีความละอายอยู่

                 ต่อมาไม่นาน นายพรานเนื้อจำเป็นต้องเข้าป่าใหญ่เป็นเวลาหลายวันเพื่อล่าเนื้อ  จึงเรียกลูกสาวมาแล้วกล่าวว่า “สุชาวดีลูกรัก พ่อจะต้องออกป่าเป็นเวลาหลายวัน พ่อเป็นห่วงพระของพ่อ คือท่านอุปกะ ขอให้ลูกรับหน้าที่แทนพ่อ คือตลอดเวลาที่พ่อไม่อยู่ ขอให้ลูกถวายอาหารแก่ท่านแทนพ่อ ปฏิบัติบำรุงท่านเหมือนอย่างที่พ่อเคยทำ”

                เมื่อสุชาวดี  สาวงามบ้านป่ารับคำของพ่อแล้ว  นายพรานก็เข้าป่าด้วยความโล่งใจ  รุ่งขึ้นอุปกะก็มารับภิกษาตามปกติ สุชาวดีเชื้อเชิญให้นั่งบนเรือนแล้วถวายภิกษาอันประณีต สนทนาด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส อุปกะเห็นอาการของนางดังนั้นก็ยินดียิ่งนัก เพราะท่านย่อมว่า

              มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส   มีใจอารี   มีความยินดีที่จะสนทนา  เปล่งวาจาไพเราะ  มีกิริยาสุภาพ เหล่านี้เป็นเครื่องหมายของผู้ตั้งใจคบ

              มีหน้าตาจืดทิ้งไม่ยิ้มแย้ม  ลืมความหลัง  มีกิริยาอันน่าชัง  เอาความเสียไปนินทา เวลาสนทนาชอบนำเอาเรื่องคนอื่นมาพูดให้ยุ่งไป เหล่านี้เป็นเครื่องหมายของผู้มิใช่มิตร

                สุชาวดีงามอย่างสาวบ้านป่า  ผมดกดำ  นัยน์ตากลมโต  ใบหน้าอิ่มเอิบมีเลือดฝาดมองเห็นชัดที่พวงแก้ม อุปกะมองเธอด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย แม้อายุจะเหยียบย่างเข้าสู่วัยชราแต่ก็ยังตัดอาลัยในเรื่องนี้ไม่ได้ สุชาวดีอยู่ในวัยสาวและสวยสด เป็นดอกไม้ที่ไม่เคยมีแมลงตัวใดมากล้ำกราย นางสังเกตเห็นอาการของอุปกะแล้วก็พอจะล่วงรู้ถึงความปั่นป่วนภายในของนักพรตวัยชรา แต่ด้วยมรรยาทแห่งเจ้าของบ้านอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งเป็นนักบวชที่บิดาเคารพนับถือนางจึงคงสนทนาพาทีอย่างละมุนละไมตามเดิม

               จริงทีเดียว สตรีสามารถเข้าใจวิถีแห่งความรักได้อย่างรวดเร็ว แม้เธอจะไม่ชอบชายที่รักเธอ  แต่เธอก็อดภูมิใจมิได้ที่มีชายมารักหรือสนใจ แม้สุชาวดีจะเป็นเด็กสาวชาวป่า แต่เล่ห์แห่งโลกีย์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ที่พอจะเข้าใจได้ มนุษย์และสัตว์เกิดมาจากกามคุณ จึงง่ายที่จะเข้าใจในเรื่องกามคุณ และจิตใจก็คอยดิ้นรนที่จะลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณนั้น เหมือนวานรเกิดในป่า ปลาเกิดในน้ำ ก็พยายามที่จะดิ้นรนเข้าป่าและกระโดดลงน้ำอยู่เสมอ สตรีเปรียบประดุจน้ำมันบุรุษเล่าก็อุปมาเหมือนเพลิง เมื่อเพลิงอยู่ใกล้น้ำมันก็อดที่จะลามเลียมิได้

                ในวันที่  ๒  และวันที่  ๓  อุปกะคงมารับภิกษาที่บ้านของสุชาวดีดังเดิม  และอาการก็คงเป็นไปทำนองนั้น

“สุชาวดี” ตอนหนึ่งอุปกะถามขึ้น “พอจะทราบไหมว่า คุณพ่อของเธอจะกลับวันไหน?”

“ไม่ทราบ พระคุณเจ้า” สุชาวดีตอบก้มหน้าเอานิ้วขีดพื้นด้วยความขวยอาย “ธรรมดาที่เคยไปก็ไม่เกิน ๗ วัน


“เธอคิดถึงคุณพ่อไหม?” อุปกะถามเพ่งมองสุชาวดีอย่างไม่กระพริบตา

“คิดถึง” สุชาวดีตอบ


“คุณพ่อของเธอมีบุญมาก” อุปกะเปรย

“เรื่องอะไร พระคุณเจ้า?” สุชาวดีถาม เงยหน้าขึ้นนิดหน่อย

“มีลูกสาวดี ทำอาหารอร่อย” อุปกะชม “สุภาพเรียบร้อย อยู่ในโอวาทของบิดา”

              สุชาวดีก้มหน้านิ่ง คงเอานิ้วขีดไปขีดมาอยู่กับพื้นที่ชานเรือน “แล้วก็  อุปกะพูดต่อ “สุชาวดีสวยด้วย สวยเหมือนกล้วยไม้ในพงไพร”

                 “!!” สุชาวดีอ้าปากค้าง ไม่นึกว่านักพรตวัย ๔๕ จะพูดกับเธอซึ่งรุ่นราวคราวลูกด้วยถ้อยคำอย่างนี้

              “จริง ๆ นะ สุชาวดี” อุปกะยังคงพล่ามต่อไป “ฉันท่องเที่ยวไปแทบจะทุกหนทุกแห่งในชมพูทวีป ยังไม่เคยพบใครสวยเหมือนเธอเลย”

                พูดเท่านั้นแล้วอุปกะก็ลากลับ เขาจากไปด้วยความอาลัย สุชาวดีมองอุปกะด้วยสายตาที่บรรยายไม่ถูก ขันก็ขัน สังเวชก็สังเวช แต่ความรู้สึกภูมิใจซึ่งซ่อนอยู่อย่างมิดเม้นนั้นก็ดูเหมือนจะมีอยู่ เมื่ออุปกะเลยเขตรั้วบ้านไปแล้ว นางจึงวิ่งเข้าห้องนอนหยิบกระจกส่องหน้าขึ้นมาดู “เออ!เราสวยจริงซีนะ” นางเปรยกับตัวเอง พลางสำรวจไปทั่วสรรพางค์

                อย่างนี้เองผู้หญิง!! คงเป็นผู้หญิงอยู่นั่นเอง ไม่ว่ามหาราชินีหรือคนหักฟื้นขาย เมื่อถูกชมว่าสวยก็อดจะลิงโลดไม่ได้ เธอปักใจเสียเหลือเกินว่ารูปของเธอเป็นทรัพย์ แต่ความจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มีสตรีมากหลายที่ก้าวขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์เพราะรูปงาม

 

โกกิลานํ สทฺทํ รูปํ
นกโกกิลาสำคัญที่เสียง


นารี รูปํ สุรูปตา
นารีสําคัญที่รูป


วิชฺชา รูปํ ปุริสานํ
บุรุษสําคัญ วิทยาคุณ


ขมา รูปํ ตปสฺสินํ
นักพรตสําคัญที่อดทน

 

                 ถ้าสามอย่างถูกต้อง  เรื่องนารีสำคัญที่รูปจะผิดไปได้อย่างไร  แต่นารีที่ทรงโฉมสะคราญตานั้น  ถ้าไร้เสียแล้วซึ่งนารีธรรม เธอจะเป็นสตรีที่สมบูรณ์ได้ละหรือ เหมือนดอกไม้งามแต่ไร้กลิ่นใครเล่าจะยินดีเก็บไว้ชมเชย ของจะมีค่าต่อเมื่อมีผู้ต้องการ

                 วันนั้นสุชาวดีมีความสุขสดชื่นรื่นเริงไปทั้งวัน  แต่เธอหารู้ไม่ว่าขณะเดียวกัน  อุปกะกำลังเศร้าซึมอยู่ที่อาศรม

                  อุปกะก็เหมือนผู้ชายโง่ ๆ ทั่วไป ที่พอเห็นสตรีทำดีด้วยก็ทึกทักเอาว่าเขารักตน บัดนี้ศรกามเทพได้เสียบแทงอุปกะเสียแล้ว ความรักไม่เคยปรานีใคร เที่ยวเหยียบย่ำทำลายมนุษย์และสัตว์ทั่วหน้า เข้าตั้งแต่กระท่อมน้อยของขอทาน ไปจนถึงพระราชวังอันโอ่อ่าของกษัตริยาธิราชผู้ทรงศักดิ์ กัดกินหัวใจของคน ไม่เลือกว่าวัยเด็ก หนุ่มสาวหรือวัยชรา ใช้ดอกไม้ของมาร ๕ ดอก เป็นเครื่องมือ เที่ยวไปในคามนิคมราชธานีต่าง ๆ ดอกไม้ ๕ ดอกนั้นคือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะสัมผัสทางกาย เมื่อใครหลงใหลมึนเมาแล้วก็ห้ำหั่นย่ำยีจนพินาศลง

                 บัดนี้ อุปกะได้หลงใหลมึนเมาในพวงดอกไม้ของมาร คือรูปและเสียงของสุชาวดี แม้จะไม่เคยได้กลิ่นแก้มและสัมผัสกาย อย่างนี้เสียอีกที่ทำให้มีจินตนาการอันเตลิดเจิดจ้า และก็ซึมเซาเศร้าหมอง

                 คนไม่เคยรบก็มักจะทะนงว่าตนกล้า  คนที่ไม่เคยงานมักจะทะนงว่าตนเก่ง  คนที่ไม่เคยรักก็มักจะทะนงว่าตนรักได้ โดยไม่มีทุกข์ ทั้งนี้เพราะคนประเภทแรกไม่เคยรู้กำลังของศัตรู ประเภทที่สองไม่เคยรู้ความยากและความละเอียดของงาน ประเภทที่สามเพราะไม่เคยรู้ซึ้งถึงกำลังของนารี จริงทีเดียว ท่านกล่าวไว้ว่า พระอาทิตย์มีกำลังในเวลากลางวัน พระจันทร์มีกำลังในยามราตรีแต่นารีมีกำลังทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งบนบกและในน้ำ ทั้งในเวหาและป่ากว้าง มิฉะนั้นแล้วทำไมเล่า ขุนพลผู้เกรียงไกรเอาชนะดัสกรได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งบนเวหาและป่าใหญ่ แต่มายอมแพ้แก่หัตถ์น้อยที่ไกวเปล มีแต่ความงามและน้ำตาเป็นอาวุธประจำตน

              บางทีนักพรตผู้ทรงศีล  มีตบะมีอำนาจและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์  แต่เมื่อถูกพิษแห่งความรักแทรกซึมเข้าสู่หัวใจโดยสตรีเป็นผู้หยิบยื่นให้ ศีลก็พลันเศร้าหมอง ตบะและอำนาจก็พลันเสื่อม วาจาศักดิ์สิทธิ์ก็กลายเป็นกลับกลอก สิ่งใดเล่าในโลกนี้จะสามารถทำลายความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของชายได้เท่ากับกำลังแห่งสตรี ชายใดไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรี ไม่ยินดีในลาภและยศ ชายนั้นชื่อว่าผู้เข้มแข็งอย่างแท้จริง เป็นผู้ชนะโลก


 

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018627615769704 Mins