อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน

วันที่ 27 กย. พ.ศ.2567

อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน

2567%2009%2027%20b.jpg

 

                 ในขณะที่สุชาวดีกำลังระทมทุกข์เพราะเกรงว่า   จะต้องประสบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักอยู่นั้น   อีกมุมหนึ่งอุปกะกำลังกระวนกระวายด้วยเกรงว่า จะพลัดพรากจะผิดหวังในสิ่งอันเป็นที่รัก ในเรื่องเดียวกันบุคคลบางคนอาจจะเศร้า บางคนอาจจะสุข หรืออาจจะทุกข์ด้วยกัน แต่ทุกข์กันไปคนละอย่างเท่านั้น

                  รุ่งขึ้นขณะรับประทานอาหารเช้า นายพรานพูดขึ้นว่า “สุชาวดี เรื่องที่พูดเมื่อคืนนี้ลูกพอจะตัดสินใจได้แล้วหรือยัง?”

“ลูกคิดว่า....” สุชาวดีพูดเสียงอ่อย ๆ “ลูกเป็นสมบัติของพ่อ พ่อเลี้ยงลูกมา ลูกจึงคิดเสียว่า แล้วแต่พ่อจะเห็นดีเห็นชอบอย่างไร?” พูดเท่านี้แล้วสุชาวดีก้มหน้านิ่ง น้ำตาซึ่งเพิ่งจะเหือดแห้งไปเมื่อใกล้รุ่งนี้เองเริ่มจะหลั่งไหลออกมาอีก

“ลูกรัก” นายพรานพูดเพื่อปลอบโยน “ลูกอย่าคิดว่าพ่อใจไม้ไส้ระกำเลย พ่ออยากให้ลูกมีความสุข พ่อคิดว่า การแต่งงานกับท่านอุปกะคงทำให้ลูกมีความสุขได้ เขาเป็นคนดีนะลูกอายุแตกต่างกันบ้างก็ไม่เป็นไร ผู้หญิงแก่เร็ว ถ้าเขาอายุ ๖๕ ลูกก็แก่แล้วเหมือนกัน”


                อุปกะดีใจเหมือนได้เทพธิดา  เมื่อนายพรานมาบอกว่าสุชาวดีไม่ขัดข้อง  ถ้าต้องการก็ให้รีบสละเพศบรรพชิตหรือนักบวชเสีย อุปกะสละเพศนักพรต นุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ทั่วไป แล้วติดตามนายพรานมาด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบ ชื่นบาน

               เขาได้อยู่กินกับสุชาวดีฉันสามีภรรยา  บางคราวเขาจะพาสุชาวดีน้อยไปชมพันธุ์ไม้นานาชนิดในป่า  แต่ท่านเอย จะมีสตรีที่สาวที่สวยสดคนใดเล่า จะเกิดความนิยมชมชอบรักใคร่เสน่หาในสามีชราด้วยความจริงใจ เขาจะทำดีหรือฉอเลาะอ่อนหวานก็เพียงเพื่อความประสงค์บางอย่างซึ่งสิ่งนั้นอาจจะเป็นทรัพย์ ยศ หรือ ชื่อเสียงเกียรติคุณ ว่าได้เป็นภรรยาของคนใหญ่คนโตเท่านั้นมันมิใช่เพราะความสนิทสนมเสน่หาอย่างแน่นอน ถ้ายิ่งผู้ชายนั้นไร้ทรัพย์อัปยศและยังชราเข้าอีกจะซ้ำร้ายสักเพียงใด แต่มันเป็นกรรมของโลกหรือของมนุษยชาติหรือไฉน จึงมักจะบิดเบือนหันเหจิตใจของชายชราให้มักพอใจในสตรีสาววัยรุ่น ยิ่งเขาแก่มากลงเพียงใด ก็ยิ่งต้องการสาวที่เยาว์วัย และไร้เดียงสาต่อโลกเพียงนั้น

                 อุปกะพยายามเอาอกเอาใจสุชาวดีสมกับที่ตนรัก  แต่สุชาวดีซิ  เห็นการเอาใจของอุปกะเป็นสิ่งที่ไร้ค่าและรำคาญ

“สุชาวดี!” อุปกะพูดในขณะที่ชมพันธุ์ไม้อยู่ในป่า “ดูดอกไม้ดอกนั้นซิมันช่างสวยงามเบ่งบานดีเหลือเกิน”

“เห็นแล้ว” สุชาวดีตอบสะบัด ๆ

“แต่...” อุปกะพยายามพูดให้ถูกใจเธอ “ดอกไม้ดอกนั้นยังสวยน้อยกว่าสุชาวดี มันอาจจะอ่อนแต่ไม่หวาน สุชาวดีทั้งอ่อนด้วยหวานด้วย จึงสู้สุชาวดีไม่ได้ไม่ว่าจะมองในแง่ใด ๆ

“พูดยืดยาวน่ารำคาญเสียจริง เขาจะชมดอกไม้ให้เพลินเสียหน่อย ก็มาพร่ำอะไรก็ไม่รู้” สุชาวดีพูดอย่างมะนาวไม่มีน้ำ

            อุปกะรู้สึกน้อยใจ   แต่ก็น้อยใจไปเถิด   น้อยใจไปจนตาย   ตอนที่มาร่วมกินร่วมนอนอย่างสามีภรรยานั้นก็นึกเอาแต่ความพอใจของตัว ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งบ้างเลย ว่าจะมีความรู้สึกรักชอบประการใด ผู้ชายแบบนี้มักจะได้รับผลตอบแทนอย่างนี้เสมอ

               แต่จะรักหรือไม่รัก จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที เมื่ออยู่ด้วยกันอย่างสามีภรรยา สิ่งที่ตามมาก็คือลูก สุชาวดีเกลียดพ่อของเด็ก จึงรักลูกได้เพียงครึ่งเดียว ในขณะที่เธอกำลังนิยมชมชื่นอยู่กับสุภัททะเด็กน้อย คราใดที่ระลึกถึงพ่อของเขา เธอจะหน้าเพื่อดใจแห้งลงทันที ความร่าเริงหายไปสุภัททะก็ช่างดีแท้ หน้าตาเหมือนพ่อประดุจพิมพ์

              สองปีที่อยู่ด้วยกันมา อุปกะไม่เคยได้รับความชื่นใจจากภรรยาสาวที่เขาหลงรักเลยสุชาวดีคอยพูดเสียดสีให้กระทบกระเทือนใจอยู่เสมอไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเห่กล่อมลูก เธอก็จะสรรหาคำที่ทิ่มแทงใจอุปกะให้ปวดร้าวระบม แต่เขาก็อดทน ทนเพราะความรักลูกและภรรยา

               “สุภัททะเจ้าเอย  เจ้านั้นเป็นลูกของคนจรที่หลับที่นอนก็ไม่มี  ขาดสง่าและราศีเหมือนกาโกกากีที่ร่ำร้องเพราะหลงรัง ชราพาธขาดพลัง กำลังก็หย่อนยานอีก ธนสารสมบัติก็ไม่มีที่ติดตัวญาติพี่น้องผู้เกี่ยวข้องและพัวพันก็แลไม่เห็นผู้ใด เออ! เจ้าลูกคนหาบเนื้อเจ้าจะทำไฉนเมื่อเติบโต เจ้าลูกคนหาบเนื้อเอย!...นอนเสียเถิด” คำเห่กล่อมลูกตามนี้อุปกะได้ยินทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง

              คืนหนึ่งเขานอนไม่หลับ เขาคิด... คิดถึงชีวิตของเขาเองตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ เคยได้รับการยกย่องเคารพนับถือประดุจเทพเจ้า คำน้อยไม่เคยมีใครล่วงเกิน มาบัดนี้ หมดแล้วซึ่งเกียรติยศถูกเหยียดหยามกล่าวร้ายจากเด็กผู้มีวัยเสมอด้วยบุตรของตน เราเป็นคนไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีทรัพย์สมบัติ แม้จะทำงานสายตัวแทบขาดเพื่อลูกและภรรยา แต่เธอก็หาเห็นใจแม้แต่น้อยไม่

             อุปกะคิดถึงเพื่อน เขาไม่มีเพื่อนเลยทีเดียวหรือในโลกนี้ คิดทบทวนอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดภาพแห่งนักพรตรูปงามมีสง่าราศีก็ปรากฏขึ้นในห้วงนึก เขาบอกว่าเขาชื่อ อนันตชินอุปกะปรารภกับตัวเอง “มีลักษณะดี มีแววแห่งความเมตตากรุณา คนอย่างนี้มักไม่ปฏิเสธคำขอร้องของผู้ตกยากบากหน้ามาพึ่งพิง”

            ประกอบด้วยบูรพูปนิสัยอันแก่กล้า  มีบารมีที่แก่เต็มที่แล้วคอยเตือน  ในราตรีที่ดึกสงัด  ได้ยินแต่เสียงน้ำค้างตกจากใบไม้  อุปกะตัดสินใจแน่วแน่ที่จะจากหมู่บ้านพรานเนื้อไป... ไปหาสหายซึ่งพบกันเพียงครู่เดียว แต่ลักษณะและวาจาเป็นที่ประทับใจของเขายิ่งนักเขาชื่อ อนันตชิน


              ในขณะนั้นแรงเร้าแห่งความรักลูกผุดพลุ่งขึ้นมา  ทำให้เขาต้องถอนใจ  ความอาลัยในลูกมีมากพอ  ที่ช่วยหน่วงเหนี่ยวเขาไว้อีก ทำให้เขาคิด เมื่อคิดถึงลูกน้อยจิตใจของอุปกะรู้สึกอ่อนลงดูเหมือนจะไม่อาจจากไปได้ แต่บารมีที่เคยบำเพ็ญมาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหายได้มาเตือน และเร่งเร้าให้คิดถึงพระอนันตชินอย่างแรง คืนนั้นเองอุปกะได้จัดแจงห่อของเท่าที่จำเป็นของตน และพอพาติดตัวไปได้ เตรียมออกจากวังกหารชนบท

           ก่อนออกเดินทาง  เขาอดที่จะมองดูลูกด้วยความอาลัยมิได้  ปุตตวิปโยคเป็นความเศร้าอย่างใหญ่หลวงสำหรับบิดา แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจออกจากวังกหารคามตอนดึกสงัดคืนนั้น เวลานี้จิตใจของเขาคำนึงถึงแต่ภาพแห่งนักพรตรูปงามผู้มีนามว่า อนันตชิน

             มีหลายครั้งที่เขาหวนกลับมาหาลูกน้อยและบิดา   (นายพราน)   ผู้มีความปรารถนาดีต่อเขาตลอดมา   แต่ความระอาใจต่อสุชาวดี ทำให้เขาหันหลังกลับมุ่งหน้าไปหาสหายอนันตชิน ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่าเวลานี้อยู่แห่งหนตำบลใด

               ผู้ที่เคยบำเพ็ญพรตมานาน เป็นผู้สลดใจได้เร็ว และมีอำนาจจิตพิเศษในการต่อต้านซึ่งสิ่งที่ต่อต้านได้ยาก มีพลังจิตเข้มแข็งในการที่จะสละสิ่งที่บุคคลสละได้โดยยาก บารมีธรรมที่สั่งสมอยู่ในดวงจิตเป็นสิ่งที่ไม่เคยสูญหาย มันคอยกระตุ้นเตือนให้บุคคลเป็นชีวิตไปตามวิถีทางที่เขาเคยเดินมาแล้วเป็นเวลานาน เขาเดินฝ่าความมืดออกไป มีทางเลี้ยวไปทางไหน เขาก็ไปทางนั้น ไปอย่างไม่มีจุดหมาย เขาคิดว่าพอรุ่งอรุณก็พอจะหาทางที่แน่นอนได้ และพยายามสืบถามว่าเวลานี้
พระอนันตชินอยู่ที่ใด

              จนกระทั่งสายตะวันโด่ง  เขารู้สึกหิวเพราะเดินทางมาเป็นเวลานาน  อาหารก็มิได้ติดตัวมาเลย เขาออกจากบ้านอย่างกะทันหัน ไม่มีแผนการล่วงหน้า ดังนั้น เมื่อมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งจึงเข้าไปขออาหารจากชาวบ้านพอประทังหิว แล้วเดินทางต่อไป ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น เที่ยงวันวันหนึ่งอากาศร้อนอบอ้าว หลังจากได้เดินทางเหน็ดเหนื่อยเหงื่อโทรมกายแล้ว เขาแวะเข้าพัก ณ ใต้ร่มพฤกษ์ใหญ่ใบหนา ลมโชยมาเบา ๆ ต้องผิวกายพอชุ่มชื่น เขาเอนตัวลงนอนพัก เอารากไม้แทนหมอน และหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย เขาตื่นขึ้นเมื่อพระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศตะวันตกมากแล้วรู้สึกชุ่มชื่นและมีกำลัง

              เขานั่งตรองถึงชีวิตในอดีต  โดยเฉพาะเวลา  ๒  ปีที่อยู่ร่วมกับสุชาวดี เป็นระยะเวลาที่เขาลำบากชอกช้ำสุดประมาณได้ ลำดับนั้นสุภาษิตเก่า ๆ ที่โบราณบัณฑิตได้กล่าวไว้แจ่มแจ้งแก่เขาประดุจคบเพลิงสว่างโร่ขึ้นในมุมมืด สุภาษิตนั้นมีดังนี้

- มีบิดาซึ่งสะสมหนี้สินไว้มากคือศัตรู มีมารดาผู้ซึ่งมิได้ประพฤติในความบริสุทธิ์คือศัตรู มีภรรยารูปงามคือศัตรู มิตรที่ปราศจากความรู้คือศัตรู

- ความรู้เป็นประดุจยาพิษเพราะมิได้ใช้ความรู้นั้นให้เหมาะสม อาหารก็เปรียบเหมือนยาพิษเพราะไม่ย่อย พระราชวังเป็นประดุจยาพิษสำหรับคนเข็ญใจ ภรรยาสาวก็เปรียบเหมือนยาพิษสำหรับสามีชรา

- แสงจันทร์และละอองฝน ไม่เป็นที่ยินดีของคนหนาว แสงอาทิตย์ไม่เป็นที่พอใจของคนร้อน สามีชราย่อมไม่เป็นที่ยินดีพอใจของภรรยาสาว

- สามีเกศาหงอก ความรักของหญิงสาวผู้ภรรยา จะรุนแรงได้อย่างไร ประดุจยาขมหรือไม่ขมก็ตาม ใครจะชอบรับประทานบ้างเมื่อไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้สตรีจึงเอาใจออกห่างจากตัวแก่ไปฝักใฝ่ในชายอื่น

- ความรักในสมบัติ ความรักชีวิต ย่อมมีอยู่ในบุคคลทั่วไปทุกรูปทุกนาม แต่เมียสาวเป็นที่รักเลิศของผัวเฒ่ายิ่งกว่าหัวใจ

- ชายแก่มีสังขารทรุดโทรม  แม้หมดกำลัง  เพื่อความสนุกรื่นรมย์  ก็ยังมิวายกระเสือกกระสน เหมือนสุนัขถึงฟันหักเหี้ยน หากพบเนื้อติดกระดูกที่ตนไม่สามารถแทะทิ้งได้ ถึงกระนั้นก็ยังขอแต่ให้ได้เลียก็ยังดี

- ไม่มีสถานที่  ไม่มีโอกาส  ไม่มีบุรุษจะชักชวนให้ไขว้เขว  นารีบริสุทธิ์อยู่ได้เพราะเหตุนี้ต่างหาก


- เหตุที่สตรีจะทนเป็นพรหมจารีอยู่ได้ มิใช่จะเป็นเพราะรู้สึกละอาย มีจริยสมบัติ เกลียดการหยาบคาย หรือมีใจเกรงขาม ที่แท้เป็นเพราะยังไม่มีผู้ปรารถนาอย่างเดียวเท่านั้น

- สตรีบางคนทำเป็นหวงตัวอย่างน่าหมั่นไส้ เหมือนใครจะกระทบกระแทกมิได้เลยแม้แต่น้อย แต่พออยู่ในที่ลับตาคน เธอกลับโถมเข้าหาผู้ชายเหมือนปลากระโดดลงน้ำ

            บัดนี้เขาตัดใจจากสุชาวดีได้แล้ว   เรื่องเดียวที่วนเวียนอยู่ในจิตใจของเขา   คือสหายผู้มีนามว่าอนันตชิน เขารอนแรมมาตามลำพัง จนกระทั่งถึงเขตสาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล

              ปัจจุสกาลวันนั้น  พระอนันตชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแผ่ข่ายพระญาณออกครอบจักรวาล  มองดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ที่พระองค์พอจะโปรดได้ อุปกะเข้าไปในข่ายพระญาณแห่งพระองค์ ทรงทราบโดยตลอดว่า เช้าวันนี้อุปกะจะมาถึงเชตวัน จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเชตวนารามทั้งหมด แล้วตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย วันนี้ถ้ามีอาคันตุกะมาถามหาบุคคลมีนามว่าอนันตชินก็ขอให้พาไปหาเราที่คันธกุฎี ตรัสเท่านี้แล้วทรงให้โอวาทภิกษุสงฆ์เป็นกรณีพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องความเคารพในปฏิสันถาร มีอาทิว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! ผู้เคารพหนักแน่นในพระศาสดา ในพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์มีความเคารพในไตรสิกขา และเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อมดำรงอยู่ใกล้พระนิพพาน”

            ตอนสายวันนั้นเอง อุปกะก็มาถึงบริเวณเชตวนารามอันร่มรื่น เห็นภิกษุทั้งหลายกำลังสาธยายธรรมบ้าง ทำกิจอย่างอื่นเป็นต้นว่านั่งเป็นกลุ่ม ๆ สนทนาธรรมบ้าง เขาเข้าไปหาภิกษุกลุ่มหนึ่ง นมัสการแล้วกล่าวขึ้นว่า

“พระคุณเจ้าผู้เจริญ! ข้าพเจ้ามีสหายผู้หนึ่งนามว่า อนันตชิน เขาเป็นนักพรตที่สง่างาม ผิวพรรณผ่องใส ใบหน้าเอิบอิ่ม มีแววแห่งความกรุณาออกจากดวงตาทั้งสอง ใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างท่านนี้ ท่านพอจะรู้จักผู้ซึ่งข้าพเจ้าเอ่ยนามถึงนี้อยู่บ้างหรือ?”

          ภิกษุกลุ่มนั้นมองตากันแล้วยิ้ม ๆ  ด้วยความอัศจรรย์ใจในการ  ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าของพระศาสดา ก็พระองค์ตรัสสั่งไว้เมื่อเช้านี้เองว่า ถ้ามีคนมาถามหาพระอนันตชินให้พาไปเฝ้าพระองค์

             ดังนั้นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจึงกล่าวขึ้นว่า “อุบาสก! พระอนันตชินเป็นศาสดาแห่งเราทั้งหลาย พวกเราเป็นสาวกของพระองค์ ไฉนเล่าพวกเราจะไม่รู้จักพระผู้มีนามเช่นนั้น มาเถิดตามข้าพเจ้ามา จะนำไปเฝ้าพระอนันตชินพระองค์นั้น” ว่าแล้วได้ลุกเดินนำอุปกะไป

            ถึงพระคันธกุฎี   พระพุทธองค์ทรงรอคอยอยู่แล้ว   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระรัศมีซ่านออกจากพระกายทั้ง ๖ สี ดุจเดียวกับวันที่พระองค์ได้พบอุปกะครั้งแรกเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ อุปกะก้มลงกราบพระมงคลบาทแห่งพระศาสดา มีน้ำตานองหน้ากราบทูลว่า

“ข้าแต่พระอนันตชิน! ท่านยังจำข้าพเจ้าได้อยู่หรือ ข้าพเจ้าเคยพบท่านครั้งหนึ่งแขวงเมืองพาราณสีเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว”

“ดูก่อนอุปกะ” พระศาสดาตรัสตอบ “เรารอคอยการมาของท่านอยู่ การมาของท่านครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ท่าน”

            พอได้ยินคำว่า  “อุปกะ”  เท่านั้น  ปีติปราโมชก็แผ่ไปทั่วสรรพางค์ของอุปกะ ชื่อใดเล่าในโลกนี้จะไพเราะอ่อนหวานยิ่งกว่าชื่อของตนเองที่ผู้อื่นจดจำได้อย่างแม่นยำหลังจากพรากกันไปเป็นเวลานาน

“อุปกะ” พระองค์ตรัสต่อไป “หลังจากจากกันคราวนั้นแล้วท่านไปอยู่ที่ไหน ทำอะไรพอทนได้อยู่หรือ เมื่อก่อนนี้ดูท่านทรงเพศเป็นนักบวช บัดนี้ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงไป?”

        อุปกะได้เล่าความหลังทั้งมวล  ให้พระศาสดาทราบโดยตลอด  แล้วทูลเพิ่มเติมว่า  “พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์เดินหลงทางอยู่เป็นเวลานาน บัดนี้มาพบพระองค์เป็นครั้งที่สอง คงจะดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง พระองค์ผู้อนุเคราะห์โลก โปรดอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด” พูดเท่านั้นแล้วเขาก็ซบศีรษะแทบพระบาทมูลแห่งพระศาสดา

              พระจอมมุนีศรีศากยบุตร ประทับนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสว่า

“ดูก่อนอุปกะ การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่มีดีย่อมก่อทุกข์ให้มากหลาย การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง อุปกะเอย! เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก เหล็กหรือโซ่ตรวนใด ๆ เราไม่กล่าวว่าเป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำคือ บุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัตินี้แล รึงรัดมัดผูกสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในภพไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อน ๆ แต่แก้ได้ยาก คือบ่วงบุตร ภรรยาและทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะนั้นเป็นเหยื่อของโลก เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ไม่มีรูปใดที่จะรัดรึงใจของบุรุษได้มากเท่ารูปแห่งสตรี ดูก่อนอุปกะ ผู้ยังตัดอาลัยในสตรีมิได้ ย่อมจะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ร่ำไป แม้สตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังตัดอาลัยในบุรุษไม่ได้ย่อมประสบทุกข์บ่อย ๆ กิเลสนั้นมีอำนาจครอบคลุมอยู่โดยทั่วไม่เลือกว่าในวัยและเพศใด


“ดูก่อนอุปกะ เราจะขอสาธกให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง”

             นานมาแล้ว มีมานพหนุ่มน้อย ลามารดาบิดาไปเรียนศิลปวิทยา  ณ  สำนักทิศาปาโมกข์เมืองตักศิลา เมื่อเรียนจบแล้วจึงลาอาจารย์กลับบ้าน มารดาต้อนรับเขาด้วยความยินดียิ่ง เมื่อสนทนากันไปมารดาถามว่า ลูกได้เรียนอสาตมนต์แล้วหรือ ลูกชายตอบว่า ยังไม่ได้เรียน มารดาจึงขอร้องให้ไปเรียนอสาตมนต์เสียก่อน เขาจึงลามารดาไปหาอาจารย์กราบเรียนให้อาจารย์ทราบว่ายังมีมนต์สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งเขามิได้เรียนจากอาจารย์ มารดาของเขาขอร้องให้มาเรียนอสาตมนต์อาจารย์ได้ทราบดังนั้นยินดียิ่งนัก จึงกล่าวว่า “มานพ เวลานี้เรามาพักอยู่ในป่าไม่มีใครเลยนอกจากเราและมารดาผู้ชราของเรา เธอจงปฏิบัติบำรุงมารดาของเราสักชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วเราจะบอกอสาตมนต์ให้ แต่ในขณะที่ปฏิบัติมารดาของเรา เช่นการอาบน้ำ ป้อนข้าวให้ และนวดฟั้นให้เจ้าจงชมเชยอวัยวะต่าง ๆ แห่งมารดาของเราทุกครั้งไป เช่น “ว่ามือสวยเท้าสวยเป็นต้น” มานพหนุ่มรับคำของอาจารย์ด้วยความปีติยินดี

              ตั้งแต่วันนั้นมาเขาตั้งใจปฏิบัติมารดาของอาจารย์ เช่นการอาบน้ำให้ ป้อนข้าวและนวดฟั้นเป็นต้น

              “มือและแขนของคุณแม่สวยน่าดูเหลือเกิน” วันหนึ่งเด็กหนุ่มเริ่มทำตามที่อาจารย์สอน

              นางยิ้มอย่างร่าเริง ทั้ง ๆ ที่ฟันของนางหักหมดแล้วและกล่าวว่า

“มือและแขนของฉันสวยจริง ๆ หรือ พ่อหนุ่มฉันแก่แล้วนะ”

“คุณแม่แก่แล้วมือและแขนยังสวยขนาดนี้ เมื่อคุณแม่สาว ๆ คงจะสวยมิใช่น้อย ขาและเท้าของคุณแม่ก็สวย ใบหน้าก็งามซึ่งน่าดูเหลือเกิน กระผมดูไม่เบื่อเลย เมื่อคุณแม่ยังสาวคงจะสวยหาคนเสมอเหมือนมิได้”

           นางรู้สึกปีติยินดีอย่างล้นเหลือ เป็นเวลานานมาแล้วที่นางไม่เคยได้ยินคำอ่อนหวานระรื่นหูชูกำลังใจอย่างนี้เลย อะไรเล่าจะเป็นที่พอใจของสตรีมากเท่าได้ยินคำชมว่าเธอสวย ไม่ว่าสตรีนั้นจะอยู่ในวัยใด มานพหนุ่มเวียนพูดชมเชยนางผู้เป็นมารดาของอาจารย์อยู่อย่างนี้ทุกวันบางคราวเขายังพูดเพิ่มเติมว่า ถ้าเขาได้ภรรยาที่มีความงามพร้อมเพียงครึ่งหนึ่งของนาง เขาก็จะมีความสุขหาน้อยไม่ และทำทีเป็นมีความรู้สึกเสน่หาในตัวนางเสียสุดประมาณ จนกระทั่งนางรู้สึกว่าหนุ่มน้อยนี้คงมีจิตพิศวาสปฏิพัทธ์ในตัวนางเป็นที่ยิ่ง วันหนึ่งจึงถามว่า

“พ่อหนุ่ม! เธอมีความพอใจในตัวเรามากหรือ?”

“มากเหลือเกิน คุณแม่ กระผมไม่ทราบจะสรรหาคำพูดใด ๆ มาพูด ให้สมกับความรู้สึกที่กระผมมีต่อคุณแม่ได้”

“เธอจะเลี้ยงดูเราอย่างนี้ตลอดไปหรือ?”

“ตลอดไป คุณแม่ การได้อยู่ใกล้ชิดคุณแม่เป็นความสุขอย่างยิ่งของกระผม ถ้าคุณแม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปสักร้อยปีและกระผมปฏิบัติคุณแม่อยู่อย่างนี้ถึงร้อยปีกระผมก็จะไม่เบื่อหน่ายเลย”

            หญิงชราเข้าใจว่ามานพหนุ่มมีจิตปฏิพัทธ์ในตน ให้รู้สึกกระสันยิ่งนัก จึงกล่าวว่า “ก็จะเป็นไรไปเจ้าหนุ่ม เมื่อเธอปรารถนาอย่างนั้นก็คงจะเป็นได้ เมื่อเธอต้องการจะร่วมอภิรมย์กับเราเราก็ยินดี”

             “จะทำได้อย่างไรคุณแม่ คุณแม่เป็นแม่ของอาจารย์ กระผมต้องเคารพยำเกรงคุณแม่ยิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก ตราบใดที่ท่านอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ กระผมจะทำอย่างนั้นไม่ได้เลย” ว่าแล้วมานพหนุ่มก็แกล้งเคล้าเคลียและเอาใจหญิงชรายิ่งขึ้น

“พ่อหนุ่ม” หญิงชราพูดด้วยเสียงสั่นเครือ “เธอจะปฏิบัติเราไม่ทอดทิ้งเราจริงๆ หรือ?”

“ข้อนี้กระผมรับรองได้ คุณแม่” มานพตอบ

“ถ้าอย่างนั้นจะขัดข้องอะไรกับเรื่องชีวิตลูกชาย เธอฆ่าเขาเสียก็หมดเรื่อง”

“กระผมจะฆ่าเขาได้อย่างไรครับคุณแม่ ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนศิลปศาสตร์ให้กระผมและดีต่อกระผมเหลือเกิน กระผมฆ่าท่านไม่ได้ดอก” มานพยืนยัน

“เธอรับรองแน่นะว่าเธอจะไม่ทอดทิ้งฉัน” หญิงชราพูด

“ข้อนี้กระผมรับรองครับ คุณแม่” ชายหนุ่มตอบ

“ถ้าอย่างนั้น เมื่อเธอฆ่าไม่ได้ฉันจะฆ่าเขาเอง” หญิงชราพูดอย่างมั่นคง

“เอาไว้รอคิดการดี ๆ ให้รอบคอบก่อนเถิดครับคุณแม่” พูดแล้วชายหนุ่มก็ออกจากห้องของหญิงชราไปหาอาจารย์เล่าเรื่องทั้งหมดให้อาจารย์ทราบ ความจริงเขาเล่าเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นมาให้อาจารย์ทราบโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นการเรียน และเรื่องทั้งหมดเป็นแผนการของอาจารย์ที่จะสอนศิษย์เรื่องอสาตมนต์ ชายหนุ่มพูดอย่างไร หญิงชราแสดงอาการอย่างไร และโต้ตอบอย่างไรอาจารย์ได้รับทราบจากชายหนุ่มเป็นระยะ ๆ ตลอดมา

          ทุกอย่างเรียบร้อย ชายหนุ่มเข้าไปสู่ห้องของมารดาอาจารย์ นวดฟั้นปฏิบัติอย่างที่เคยกล่าวชมเชยความงาม  ของหญิงชราด้วยประการต่าง ๆ

“ว่าอย่างไร พ่อหนุ่ม” หญิงชราพูดขึ้น “เมื่อเธอไม่ฆ่า เราจะฆ่าเอง”

“คุณแม่จะฆ่าจริง ๆ หรือ?” ชายหนุ่มถามแล้วแสร้งคลอเคลียแสดงความรักในหญิงชราให้มากขึ้น ด้วยความเคลิบเคลิ้มและหลงใหล หญิงชรายืนยันอย่างแข็งขันว่าจะฆ่า ชายหนุ่มจึงกล่าวว่าเขาได้เตรียมแผนการไว้พร้อมแล้ว “นี่ขวาน” เขากล่าว “คุณแม่เดินไปตามเส้นเชือกที่ขึงไว้นี้ ปลายเชือกไปสุดลงที่ใด ที่นั่นเป็นเตียงนอนของอาจารย์ เวลานี้อาจารย์นอนหลับแล้ว พอสุดปลายเชือกเอี้ยวตัวมาทางขวานิดหนึ่งจะตรงคออาจารย์พอดี คุณแม่ฟันทีเดียวให้คอขาด แล้วเราจะอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกต่อไป”

             หญิงชรานัยน์ตาฝ้าฟาง  มองอะไรไม่ค่อยจะเห็นแล้ว  เดินไม่ค่อยถนัดเพราะแก่เฒ่า  รับขวานจากชายหนุ่ม แล้วงกงันเดินคลำเส้นเชือกไป ใจของเธอเวลานี้ถูกห่อหุ้มด้วยโมหะถูกความเสน่หาเร่งเร้า ปลงใจฆ่าแม้แต่ลูกของตนเองซึ่งมีความดีงามพร้อมทุกประการ

            เมื่อเดินคลำเส้นเชือกมาถึงปลายสุด  หญิงชราก็เอี้ยวตัวมาคลำดูบนเตียง  มองเห็นราง ๆ เหมือนภาพคนจึงทิ้งขวานลงสุดแรง คมขวานกระทบไม้ดังโผละ นางรู้ตัวว่าถูกหลอกเสียแล้วก็ตกใจอย่างยิ่ง ประจวบกับชรามากถึงแล้วซึ่งอายุขัย นางจึงสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง

              อาจารย์และศิษย์หนุ่มเฝ้าสังเกตการณ์อยู่โดยตลอด  บังเกิดความสังเวชสลดใจเป็นที่ยิ่งทั้งสองยืนเศร้าซึมอยู่ใกล้ ๆ ร่างของหญิงชราอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดอาจารย์ก็กล่าวขึ้น

             “มานพ! เธอได้เรียนอสาตมนต์จบเรียบร้อยแล้ว”  ชายหนุ่มทรุดตัวลงกราบอาจารย์  และกอดเท้าทั้งสองไว้  พร่ำรำพันถึงเมตตากรุณาของอาจารย์ที่มีต่อตน น้ำตาของเขาหยดลงสู่หลังเท้าของอาจารย์ ในขณะนั้นความรู้สึกของเขาสับสนวุ่นวาย จนไม่อาจพรรณนาได้ว่าเป็นฉันใด

             นี่เอง  อสาตมนต์ที่มารดาของเขาเร่งเร้าให้มาเรียน  ช่างเป็นวิชาที่แปลกและมีคุณค่าแก่ชีวิตอย่างล้นเหลือ

              พระผู้มีพระภาค ตรัสเล่าเรื่องอสาตมนต์จบลงแล้ว ทรงเพิ่มเติมว่า

“ดูก่อน อุปกะ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหาอุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่าง ๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เพียงแต่สักว่า ๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่าง ๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่ ดูก่อน อุปกะ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิคือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม”

              อุปกะส่งกระแสจิต  ไปตามพระธรรมเทศนาของพระตถาคตเจ้า  คลายสังโยชน์คือกิเลสที่ร้อยรัดใจออกเป็นเปราะ ๆ ได้บรรลุอนาคามีผลเป็นอริยบุคคลชั้นที่สามด้วยประการฉะนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030171100298564 Mins