พรหมทัณฑ์ และ ณ ชาตสระบนเส้นทางจาริก

วันที่ 02 ตค. พ.ศ.2567

พรหมทัณฑ์ และ ณ ชาตสระบนเส้นทางจาริก

2567%2010%2002%20b.jpg

 

              เป็นเวลานานถึง ๔๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน ที่พระพุทธอนุชาผู้ประเสริฐจาริกสู่คามนิคมชนบทและราชธานีต่าง ๆ เกือบทั่วชมพูทวีป เพื่อโปรดเวไนยนิกรชนแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ประทีปดวงใหญ่แห่งชมพูทวีปจะดับไปแล้ว แต่ประทีปดวงน้อยคือพระพุทธอนุชายังมีอยู่ และส่องแสงเรืองรองเพื่อภารตวรรษต่อไป

           บัดนี้ภารกิจอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระศาสดาและหน้าที่ในการทำลายกิเลสของท่านได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวคือ การอบรมสั่งสอนมหาชนให้หลีกจากทุจริตเดินเข้าสู่คลองแห่งสุจริตธรรม การปรากฏกายแห่งพระอานนท์ไม่ว่าที่ใด ในสมาคมใด ประดุจการปรากฏขึ้นแห่งดวงจันทร์ในปุรณมีดิถี นำความชื่นบานเอิบอาบซาบซ่านและสดใสมาสู่จิตใจของมหาชนในที่นั้น และสมาคมนั้น

             เมื่อมหาสันนิบาต  ในการสังคายนาเสร็จสิ้นลงแล้ว  พระพุทธอนุชาได้ละทิ้งเบญจคีรีนครไว้เบื้องหลังมุ่งสู่นครโกสัมพี เพื่อลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะพระหัวดื้อ ซึ่งพระศาสดารับสั่งไว้เมื่อจวนจะนิพพาน พระอานนท์ได้ประกาศให้สงฆ์ในโกสัมพีนครทราบว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป พระฉันนะต้องการจะทำอย่างใด จะพูดอย่างใดและประพฤติอย่างใดก็ให้ทำได้ตามอัธยาศัย ภิกษุสามเณรไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพระฉันนะด้วยถ้อยคำใด ๆ เลย นี่เรียกว่าพรหมทัณฑ์ คือการลงโทษที่หนักที่สุดแบบพระอริยะ

               “ท่านทั้งหลาย!”   พระอานนท์กล่าวในมหาสมาคม   ซึ่งมีภิกษุประชุมอยู่จำนวนพัน   “พระบรมศาสดาเคยตักเตือนพระฉันนะมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่า ขอให้เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย อย่าดื้อด้านและดื้อดึง แต่พระฉันนะก็หาฟังไม่ ยังคงประพฤติตนตามใจชอบอยู่อย่างเดิม เมื่อจวนจะปรินิพพานทรงเป็นห่วงเรื่องพระฉันนะ จึงมีพุทธบัญชากับข้าพเจ้าไว้ว่าให้ลงโทษแก่พระฉันนะโดยวิธีพรหมทัณฑ์ ท่านทั้งหลาย! การลงโทษแบบนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่พระอริยเจ้าจะพึงกระทำ ประดุจนายสารถีผู้ฝึกม้าจำใจต้องฆ่าม้าของตนที่เหลือฝึก เพื่อมิให้สืบพันธุ์ไม่ดีต่อไป

              “ท่านทั้งหลาย! สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสนทนา กับคนฝึกม้าผู้เชี่ยวชาญนามว่าเกสิพระองค์ตรัสถามว่า “ดูก่อนเกสิ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการฝึกม้า ตถาคตอยากทราบว่าท่านมีวิธีฝึกม้าอย่างไร?” นายเกสิทูลตอบว่า “ฝึกโดยวิธีละมุนละม่อมบ้าง โดยวิธีรุนแรงบ้าง โดยวิธีทั้งละมุนละไมและทั้งรุนแรงบ้าง

“เกสิ! ถ้าม้าของท่านไม่รับการฝึก คือฝึกไม่ได้ท่านจะทำอย่างไร?”

“พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าม้าตัวใดฝึกไม่ได้ ข้าพระองค์ก็ฆ่าม้าตัวนั้นเสีย ทั้งนี้เพื่อมิให้เสียชื่อผู้ฝึก และมิให้ม้าตัวนั้นมีพืชพันธุ์ไม่ดีต่อไป พระองค์ผู้เจริญ! พระองค์มีชื่อเสียง ปรากฏว่าเป็นยอดแห่งนักฝึกคนที่พอจะฝึกได้ก็พระองค์มีวิธีฝึกคนอย่างไรเล่า?”

“ดูก่อนเกสิ!” พระศาสดาตรัส “เราก็ฝึกบุคคลที่ควรฝึกอย่างนั้นเหมือนกัน คือฝึกโดยวิธีละมุนละไมบ้าง โดยวิธีรุนแรงบ้าง ทั้งโดยวิธีรุนแรงและละมุนละไมบ้าง”

“ถ้าฝึกไม่ได้เล่าพระเจ้าข้า” นายเกสิทูลถาม “พระองค์จะทรงกระทำประการใด”

“ถ้าฝึกไม่ได้เราก็ฆ่าเหมือนกัน” พระศาสดาทรงตอบ

“ก็พระองค์ไม่ทรงทำปาณาติบาตมิใช่หรือ เหตุไฉนจึงตรัสว่าทรงฆ่า”

“ดูก่อนเกสิ! การฆ่าของเราเป็นการฆ่าแบบอริยประหาร คือไม่ยอมว่ากล่าวสั่งสอนเลยทำเป็นประดุจบุคคลผู้นั้นไม่มีอยู่ในโลก การลงโทษอย่างนี้รุนแรงที่สุด ผู้ถูกลงโทษได้รับผลที่น่ากลัวที่สุด”

               นายเกสิคนฝึกม้าทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า “แจ่มแจ้งดียิ่งนัก”

              พระอานนท์กล่าวต่อไป “ท่านทั้งหลาย! แลแล้วเมื่อมีโอกาสประทับอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ได้ทรงนำเรื่องม้ามาเป็นบทประกอบพระธรรมเทศนา โอวาทภิกษุทั้งหลายมีใจความดังนี้”

“ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงเห็นเงาปฏักที่นายสารถียกขึ้นเท่านั้น ก็ทราบได้ว่า นายต้องการจะให้ตนทำอย่างไร แล้วสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้นเพียงได้ยินข่าวว่าบุคคลโน้นอยู่บ้านโน้น แก่บ้าง เจ็บบ้าง ตายบ้าง ก็เกิดสังเวชสลดจิตน้อมเข้ามาหาตัวว่า แม้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุธรรมเบื้องสูง”

“ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงได้เห็นเงาปฏักเท่านั้นยังไม่อาจเข้าใจความหมายที่นาย
ต้องการให้ทำ แต่เมื่อถูกแทงจนขนร่วงนั่นแหละจึงรู้สึก แล้วปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามที่นายต้องการฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงได้ยินข่าวเจ็บและข่าวตายของผู้อื่นเท่านั้นยังไม่เกิดสังเวชสลดจิต แต่เมื่อได้เห็นด้วยตนเองซึ่งคนแก่คนเจ็บและคนตาย จึงเกิดสังเวชสลดจิต แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง

“ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงแต่เห็นเงาปฎักและถูกแทงจนขนร่วงก็ยังไม่รู้สึก เมื่อถูกแทงจนทะลุหนังเข้าไปจึงรู้สึกและพร้อมที่จะปฏิบัติตามนายฉันใดบุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงเห็นคนแก่คนเจ็บหรือคนตาย และได้ยินได้ฟังข่าวเช่นนั้น ไม่ก่อให้เกิดความสังเวชสลดจิตได้ ต่อเมื่อญาติสายโลหิตมิตรสหายอันเป็นที่รักที่พึงใจเจ็บหรือตายลง จึงเกิดสังเวชสลดจิต แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง”

“ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงได้เห็นเงาปฎัก ถูกแทงจนขนร่วง ถูกแทงจนทะลุผิวหนัง
เข้าไป ก็หาเข้าใจถึงสิ่งที่นายต้องการให้ทำไม่ ต่อเมื่อถูกแทงจนจดกระดูกจึงรู้สึกและเข้าใจในสิ่งที่นายต้องการให้ทำ ฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงแต่ได้ยินได้ฟัง หรือเห็นญาติพี่น้องเจ็บและตายก็ไม่เกิดสังเวชสลดจิต ต่อเมื่อตนเจ็บเองและเจ็บเจียนตายใกล้ต่อมรณสมัย จึงรู้สึกสังเวชสลดจิตแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง”


         แลแล้วพระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า   “ภิกษุทั้งหลาย!   ม้าซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะ  หรือคุณสมบัติ ๔ ประการควรเป็นม้าทรงของพระราชา ๔ ประการนั้น คือ มีความซื่อตรง มีเชาวน์ดีมีความอดทน และมีลักษณะสงบเรียบร้อย ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการก็เหมือนกัน คือ มีความซื่อตรงไม่หลอกลวงไม่คดในข้องอในกระดูก มีเชาวน์ดีในการรู้อริยสัจ มีความอดทนอย่างยิ่งและมีการสำรวมตนสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ไม่ประพฤติตนเอะอะโวยวายเยี่ยงนักเลงสุราบาน ก็สมควรเป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของโลก ภิกษุทั้งหลาย! เราเคยกล่าวไว้มิใช่หรือว่า ถ้าจะดูความเป็นบ้าในหมู่สงฆ์ ก็จงดูตรงที่เธอร้องรำทำเพลง ถ้าจะดูความเป็นเด็กในหมู่สงฆ์ ก็จงดูตรงที่เธอยิงฟันหัวเราะในลักษณะปล่อยตนเหมือนเด็กชาวบ้าน”

               “ดูก่อนท่านทั้งหลาย!” พระอานนท์กล่าวต่อไป “พระพุทธองค์เคยตรัสกับข้าพเจ้าไว้ว่า”

“อานนท์ เราจะไม่ทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม อย่างที่ช่างหม้อทำกับหม้อที่ยังเปียกยังดิบ อานนท์! เราจักขนาบแล้วขนาบเล่าไม่หยุดหย่อน เราจักชี้ให้เห็นโทษของกิเลสบาปธรรมแล้ว ๆ เล่า ๆ ไม่หยุดหย่อน อานนท์เอ๋ย! ผู้ใดมุ่งหวังมรรคผลเป็นสำคัญในการประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ใดเห็นสาระมีประโยชน์ ผู้นั้นจึงจักทนอยู่ได้”

               “ท่านทั้งหลาย! ด้วยประการฉะนี้แล ข้าพเจ้าจึงขอประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะเพื่อเธอจะได้สำนึกตนและปฏิบัติตนในทางที่ชอบต่อไป” พระอานนท์กล่าวจบ สงฆ์ทั้งสิ้นเงียบ เป็นการยอมรับประกาศนั้นด้วยอาการดุษณี

         พระฉันนะได้ทราบว่า   บัดนี้สงฆ์ได้ประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่ตนแล้ว   เกิดสังเวชสลดจิตกลับประพฤติตนดีมีสัมมาคารวะและเชื่อฟังพระเถระทั้งหลาย ในไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตตผล

           จากโกสัมพี ราชธานีแห่งแคว้นวังสะ พระพุทธอนุชาผู้ประเสริฐ ได้เดินทางเลียบลำน้ำยมุนาขึ้นไปตอนบนสู่แคว้นกุรุ ซึ่งมีนครอินทปัตถ์เป็นเมืองหลวง และจาริกไปในแคว้นต่าง ๆ อีกหลายแคว้น จนกระทั่งหวนกลับมาสู่ลุ่มแม่น้ำคงคา วนเวียนอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบนแห่งแคว้นปัญจาละ ซึ่งมีนครหัสตนาปุระหรือหัสดินบุรีเป็นราชธานี

             อันว่าแคว้นปัญจาละนี้  มีแคว้นโกศลอยู่ทางทิศตะวันออก  มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศตะวันตกมีหิมาลัยบรรพตอยู่ทางทิศเหนือ และแม่น้ำคงคาอยู่ทางทิศใต้ เป็นแคว้นที่มั่งคั่งพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากหลาย มีทุ่งสาลีเกษตรเหลืองอร่าม มองดูสุดสายตาประดุจปูด้วยหนังโคสีแดง มีดงมะพร้าวเรียงรายยาวเหยียด บางแห่งพื้นที่ประดับด้วยต้นชงโคดอกสีแดงเข้มบานสะพรั่งเรืองอุไรเย็นตา ทัศนาการไปทางทิศเหนือจะเห็นทิวเขาหิมาลัยสูงตระหง่านเสียดฟ้า บางยอดถูกปกคลุมด้วยหิมะตลอดเวลา หิมาลัยบรรพตแดนเกิดแห่งนิยายและเป็นที่รื่นรมย์อย่างยิ่งของผู้สละโลกีย์ มุ่งแสวงหาสันติวรบท

             มองไปทางด้านใต้ จะเห็นแม่น้ำคงคาไหลเอื่อยเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชมพูทวีป เป็นจุดรวมใจของชาวภารตะ แทบจะทุกคนมอบความไว้วางใจไว้ให้พระแม่คงคาเป็นผู้กำชีวิตของตนทั้งด้านชำระมลทินภายในและด้านเกษตรกรรม

            ณ  ริมฝั่งแม่น้ำคงคาตอนเหนือ มีชงโคขึ้นระดะแม้ไม่สู้จะเป็นระเบียบนัก แต่ดอกอันงามเย็นตาของมันก่อให้เกิดความเย็นใจเมื่อได้เห็น เป็นสถานที่ร่มรื่นสงบไม่ใช่ทางสัญจร จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสมณะผู้แสวงหาวิเวก

             วันนั้น พระพุทธอนุชาจารึกเพียงผู้เดียวด้วยจุดประสงค์  คือ  แสวงหาที่วิเวกเพื่อพักผ่อนเมื่อผ่านมาเห็นชงโคมีดอกงามบานสะพรั่ง และดูบริเวณเป็นที่รื่นรมย์จึงแวะเข้าพักผ่อนใต้ต้นชงโคซึ่งมีใบหนาเงาครึ้มต้นหนึ่ง ตรงเบื้องหน้าของท่านมีสระซึ่งเกิดเองตามธรรมชาติ (ชาตสระ) มีปทุมชูดอกสลอนน้ำใสเย็นและจืดสนิทดี ท่านได้ดื่มและล้างหน้าเพื่อระงับความกระหายแล้วนั่งพักอยู่ ณ ที่นั้น

            จนตะวันรอนแดดอ่อนลง  ส่องลอดใบไม้ลงมาเป็นรูปต่าง ๆ  งามน่าดู  เสียงนกเล็ก ๆ  บนกิ่งชงโคร้องทักทายกันอย่างเพลิดเพลิน แสดงถึงจิตใจที่ชื่นบาน มันมีความสุขตามประสาสัตว์ ความสุขเป็นสิ่งหาได้ในที่ทุกแห่งและทุกฐานะ เว้นแต่บุคคลจะไม่รู้จักมองหาเท่านั้น พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า บุคคลผู้มีปัญญาสามารถจะหาความสุขได้แม้ในสถานะที่น่าทุกข์ ตรงกันข้ามกับคนเขลาแม้จะอยู่ในฐานะที่น่าจะสุขก็มีแต่ความทุกข์ร้อนเศร้าหมองเสียร่ำไป ถ้าเราฝึกใจให้อดได้ ทนได้อยู่เสมอ ๆ เราจะมีความสุขสบายขึ้นอีกมาก โลกนี้มีคนร้ายและเรื่องร้ายมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนและในฐานะใดย่อมจะต้องพบคนร้ายและเรื่องร้ายทุกหนทุกแห่ง ถ้าสามารถกลับเรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้นับเป็นเรื่องประเสริฐ แต่ถ้าไม่สามารถกลับเรื่องร้ายให้เป็นดีได้ในทันทีก็ลองอดทนดู เป็นการศึกษาสถานการณ์และศึกษาบุคคลพร้อม ๆ กันไป นาน ๆ เข้าเรื่องที่เราเข้าใจว่าร้ายในเบื้องต้น อาจจะเป็นผลดีแก่เรามากในบั้นปลาย จงดูเถิด ขยะมูลฝอยที่ใคร ๆ ทิ้งลง ๆ แต่พื้นดินก็สามารถรับขยะมูลฝอยนั้นไว้ได้ กาลเวลาล่วงไป ๆ ขยะมูลฝอยนั้นกลายเป็นปุ๋ย ที่ดินตรงนั้นกลายเป็นดินที่มีคนต้องการมีราคามาก ปลูกพืชผักอะไรลงก็ขึ้นเร็วและสวยงาม คนที่ฝึกตนให้อดได้ ทนได้ มักจะเป็นคนดีมีค่าแก่สังคมอย่างมาก สถานที่จำกัด ทรัพยากรธรรมชาติมีน้อย แต่คนเพิ่มมากขึ้น นานวันไปมนุษย์ยิ่งจะต้องแย่งกันอยู่แย่งกันกินมากขึ้น ความบากบั่นอดทนก็จะต้องใช้มากขึ้น นอกจากนี้ในสังคมมนุษย์มีทั้งคนดีและคนเลว มีอัธยาศัยประณีตและอัธยาศัยทราม ยิ่งผู้น้อยที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่ที่มีอัธยาศัยทราม เห็นแก่ตัว และโหดร้ายด้วยแล้ว เขาจะต้องกระทบกระเทือนใจและอดทนสักเพียงใด ลองให้ผู้ใหญ่เลว ๆ อย่างนั้นไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของคนอื่นดูบ้างซิ เขาจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่เลวหรือไม่แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน หรือบางทีก็มีอยู่เสมอ ๆ ที่ทำให้เราต้องประหลาดใจว่า เหตุไฉนคนเลว ๆ อย่างนี้จึงเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาได้ มันเป็นเรื่องของกรรมที่สลับซับซ้อนสุดที่จะแยกแยะให้ถี่ถ้วน
ด้วยปัญญาสามัญ

             บัดนี้ พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ทิ้งไว้แต่ร่องรอยแห่งแสงสว่างเพียงราง ๆ เสมือนดรุณีวัยกำดัดยิ้มด้วยความเบิกบานใจ เมื่อหยุดยิ้มแล้วรอยแห่งความร่าเริงก็ยังเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยฉะนั้น

             พระพุทธอนุชาตั้งใจจะถือเอาโคนชงโคเป็นที่พักกายในราตรีนั้น แต่พอท่านเอนกายลงพิงโคนชงโคนั่นเอง ได้เหลือบเห็นชายหญิงคู่หนึ่งเดินมา ถือหม้อมาคนละใบมุ่งตรงมาสู่สระ เมื่อได้มองเห็นสมณะนั่งพิงโคนชงโคอยู่เขาจึงเดินอ้อมสระมา พอเห็นชัดว่าเป็นสมณะศากยบุตรเขาจึงนั่งลงไหว้ แล้วชายผู้นั้นก็กล่าวขึ้นว่า

“ข้าแต่สมณะ! ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่มาเป็นเวลานาน ไม่เคยได้พบเห็นสมณะผู้ใดมาเยือนสถานที่นี้เลย ข้าพเจ้าทั้งสองแม้จะมิใช่เจ้าของถิ่นโดยแท้จริงก็เหมือนเป็นเจ้าของถิ่น ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านสมณะผู้เป็นอาคันตุกะด้วยความรู้สึกเป็นมิตร และถือเป็นโชคดีที่ได้พบท่านผู้สงบ”

“ดูก่อนผู้มีใจอารี” พระพุทธอนุชากล่าวตอบ “ข้าพเจ้าขอขอบใจในไมตรีจิตของท่านทั้งสอง และถือเป็นโชคดีเช่นกันที่ได้พบท่าน ซึ่งข้าพเจ้ามิได้คาดหวังว่าจะได้พบในป่าเปลี่ยวเช่นนี้”

            ชายหญิงทั้งสองแสดงอาการพอใจต่อคำกล่าวที่ไพเราะและแสดงความเป็นมิตรของพระพุทธอนุชา แล้วกล่าวว่า “ท่านผู้ประเสริฐ! เวลานี้ก็จวนค่ำแล้ว ท่านมีที่พำนัก ณ แห่งใดเป็นที่ประจำ หรือท่านเป็นนักพรตผู้จาริก ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง?”

             “ข้าพเจ้าเป็นนักพรตผู้จาริกไปตามอัธยาศัย ไม่ติดที่หรือยึดถือที่ใดที่หนึ่งเป็นแหล่งของตน ข้าพเจ้าพอใจการกระทำเช่นนี้” พระอานนท์ตอบ

        “ข้าแต่สมณะ!  ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าใคร่ขอเชิญท่านพำนัก  ณ  กระท่อมของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีกระท่อมอยู่สองหลัง หลังหนึ่งเพื่อข้าพเจ้าและภรรยาอยู่อาศัย อีกหลังหนึ่งเพื่อเก็บของเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าท่านไม่รังเกียจและยินดีรับคำเชื้อเชิญของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะเก็บของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้อีกมุมหนึ่ง ส่วนอีกมุมหนึ่งพอเป็นที่พักของท่านได้อย่างสบาย มีประตูหน้าต่างเปิดปิดได้สะดวกมีลมพัดเย็น ถ้าท่านรับคำเชื้อเชิญข้าพเจ้าจะยินดีมาก ข้าพเจ้าจะได้สนทนากับท่านผู้ประเสริฐให้เป็นที่เอิบอิ่มใจ ข้าแต่อาคันตุกะ! ข้าพเจ้าเคยสดับมาว่าการได้เห็น การได้เข้าใกล้และการได้สนทนากับสมณะนั้นเป็นมงคล ข้าพเจ้าต้องการมงคลเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน” เขากล่าวจบหันมามองดูภรรยาเหมือนเป็นเชิงปรึกษา สตรีผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นว่า

“ข้าแต่สมณะ! ถ้าท่านยังไม่มีกิจกังวลเรื่องอื่นหรือไม่เป็นการรบกวนความวิเวกสงัดของท่าน ก็โปรดรับคำอาราธนาของข้าพเจ้าทั้งสองด้วยเถิด”

            พระพุทธอนุชาดำริว่าสามีภรรยาทั้งสองนี้ดูท่าทีเป็นผู้มีตระกูล และได้รับการศึกษาสูงแต่เหตุไฉนจึงมาซ่อนตัวเองอยู่ในป่าเปลี่ยว ดูวัยก็ยังหนุ่มสาว คงจะมีอะไรอยู่เบื้องหลังที่น่าสนใจบ้างกระมัง การสนทนาเช่นนี้คงไม่ไร้ประโยชน์เป็นแน่แท้ คิดดังนี้แล้วท่านจึงกล่าวว่า “ดูก่อนผู้ใจอารี!ข้าพเจ้ายินดีรับคำเชื้อเชิญของท่าน”

       สามีภรรยาทั้งสองแสดงอาการพอใจอย่างยิ่ง  แล้วชวนกันลงตักน้ำในสระคนละหม้อ  แล้วเดินนำพระพุทธอนุชาไปสู่กระท่อมน้อย จัดของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้มุมหนึ่ง ปัดกวาดเช็ดถูเสนาสนะจนสะอาดเรียบร้อย แล้วเชื้อเชิญพระพุทธอนุชาให้นั่ง นำน้ำมันมานวดเท้า ส่วนภรรยาของเขากลับไปยังกระท่อมอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ห่างกันเพียงเล็กน้อย

“ดูก่อนผู้มีใจอารี!” พระอานนท์กล่าว “กระท่อมของท่านนี้แม้จะอยู่ในป่า แต่ก็ปลูกสร้างอย่างดีน่าอยู่อาศัย สะอาดเรียบร้อย เป็นการแสดงถึงอัธยาศัยประณีตแห่งเจ้าของ”

“ข้าแต่อาคันตุกะ! ข้าพเจ้าขอขอบคุณในคำกล่าวของท่าน อนึ่งป่าชงโคนี้เป็นสวรรค์ของข้าพเจ้า เป็นที่ ๆ ข้าพเจ้าพอใจเป็นที่สุด ข้าพเจ้าอาศัยอยู่อย่างสงบสุข ข้าพเจ้ากล่าวว่า “สงบสุข” เป็นความถูกต้องโดยแท้ คือทั้งสงบและสุขรวมกันอยู่ในกระท่อมน้อย และในป่าชงโคน” เขากล่าวแล้วยิ้มอย่างภาคภูมิใจ

“ดูก่อนผู้มีใจอารี! เหตุไฉนท่านจึงพอใจป่าชงโคนี้เป็นนักหนา ดูท่านยังอยู่ในวัยหนุ่มและภรรยาของท่านก็ยังอยู่ในวัยสาว คนหนุ่มสาวน่าจะพอใจในแสงสีแห่งนครหลวงมากกว่าจะยินดีในที่สงัดเปล่าเปลี่ยวเช่นนี้ ท่านถือกำเนิดหรือภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่นี้หรือ?”


“หามิได้ ท่านสมณะ ข้าพเจ้าเกิดแล้วในท่ามกลางพระนครหลวงทีเดียว” เขาตอบ

“คำกล่าวของท่านยิ่งทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมากขึ้น” พระอานนท์กล่าว

“เป็นของน่าประหลาดเกินไปหรือท่าน” ชายหนุ่มกล่าว “ที่คนหนุ่มอย่างข้าพเจ้ามาพอใจในวิเวกดำเนินชีวิตอย่างสงบ”

“ประหลาดมากทีเดียว” พระอานนท์รับ

“เพราะเหตุใดหรือ?” ชายหนุ่มถาม


“เพราะคนส่วนใหญ่หรือโดยมากในวัยท่านนี้ ย่อมพอใจในความสนุกเพลิดเพลินอีกแบบหนึ่งคือแบบที่คนส่วนมากเขานิยมกัน คลุกคลีอยู่ด้วยหมู่คณะและอารมณ์เย้ายวนต่าง ๆ แต่ท่านไม่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ท่านเป็นชายหนุ่มที่ประหลาด มีเหตุการณ์อะไรกระทบกระเทือนใจท่านอย่างรุนแรงหรือ หรือท่านมีอัธยาศัยน้อมไปในวิเวกตั้งแต่ยังเยาว์?”

“ข้าแต่อาคันตุกะ!” ชายหนุ่มกล่าว “ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ทุกคนน่าจะมีหัวเลี้ยวแห่งชีวิตที่สำคัญที่สุดสักครั้งหนึ่งในชีวิตของแต่ละคน และหัวเลี้ยวนั้นเองจะเป็นสาเหตุที่เขาดำเนินชีวิตที่ยืดยาวไปจนกว่าชีวิตจะจบลง ข้าพเจ้ามีหัวเลี้ยวชีวิตอยู่ตอนหนึ่งซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเลี้ยวมาทางนี้และเข้าใจว่าข้าพเจ้าจะดำเนินชีวิตแบบนี้ต่อไปจนสิ้นลมปราณ”

“ดูก่อนผู้พอใจในวิเวก” พระอานนท์กล่าวว่า “ถ้าไม่เป็นการรบกวนเวลาของท่านข้าพเจ้าปรารถนาจะรับฟังความเป็นมาแห่งท่านพอเป็นเครื่องประดับความรู้ เวลานี้ปฐมยามแห่งราตรีก็ยังไม่สิ้น ถ้าท่านไม่ขัดข้อง หรือไม่ถือเป็นความลับก็ขอได้โปรดเล่าเถิด”


         ลมปลายปฐมยามพัดแผ่วเข้ามาทางหน้าต่าง  รำเพยเอากลิ่นดอกไม้ป่าบางชนิดติดมาด้วยหอมเย็นระรื่น ไล่ความอบอ้าวของอากาศเมื่อทิวากาลได้ปลาสนาการไปแล้ว บรรยากาศในยามนี้เย็นสบาย แสงโสมสาดส่องเข้ามาทางหน้าต่างต้องผิวหน้าของชายหนุ่มดูสดใส แต่แฝงไว้ซึ่งแววเศร้าอย่างลึกซึ้งเขาขยับกายเล็กน้อยก่อนจะกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านผู้ทรงพรต! ถ้าท่านยินดีรับฟังเรื่องราวความเป็นมาแห่งข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ยินดีเล่าสู่ท่านฟัง เรื่องของข้าพเจ้ามีทั้งความสุขและความเศร้า มีทั้งความหวานชื่นและขื่นขมมีสาระบ้างไม่มีสาระบ้าง”

               เมื่อพระอานนท์แสดงอาการว่าพร้อมแล้ว ชายหนุ่มจึงเริ่มเล่าดังนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027475082874298 Mins