บทที่ ๔ ไม่โอ้อวด-ไม่มีมารยา

วันที่ 03 ตค. พ.ศ.2567

 

 

2567_10_03_b_01.jpg

 

 

บทที่ ๔

ไม่โอ้อวด-ไม่มีมารยา

 

 

2567_10_03_03.jpg



ความหมายของผู้  "ไม่โอ้อวด-ไม่มีมารยา"  ใน "เสนาสูตร"

"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสถึงคุณสมบัติข้อที่ ๓ ของภิกษุ ผู้เหมาะแก่การ "บรรลุธรรม" ไว้ใน "เสนาสนสูตร" ว่า

"ผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา" คือ ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน "ศาสดา" หรือ ในเพื่อน "พรหมจารี" ผู้รู้ทั้งหลาย

ลักษณะคน ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นอย่างไร

 

2567_10_03.jpg

"คนที่จะไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา" ต้องเป็นคนฝึกตัวมาดีพอสมควร คนไม่โอ้อวด คือ เป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อตรงเป็นคนมีสัจจะ เป็นคนที่มีกฎเกณฑ์ เป็นคนที่ช่วยตัวเองได้มีสันดานติดตัวข้ามชาติมาดี ได้ พ่อ แม่ อบรมมาดีพอสมควรมีความรับผิดชอบ หากทำอะไรผิดพลาดก็ยอมรับ เปิดเผยไม่ปกปิดพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตัว

มี "พุทธพจน์" กล่าวใน "อุทุมพริกสูตร" ดังนี้



"อุทุมพริกสูตร"



"พระผู้มีพระภาค" เจ้าตรัสว่า

"นิโครธ" เอาเถิด ความผิดได้ครอบงำท่านผู้โง่ เขลาไม่ฉลาด ซึ่งได้กล่าวกับเราอย่างนี้ แต่เธอเห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพตามความเป็นจริง ดังนั้น เราขอรับทราบความผิดนั้นของท่าน ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพออกมาตามความเป็นจริง รับว่าจะสำรวมต่อไป วิธีนี้เป็นความเจริญใน "อริยวินัย"

"นิโครธ" ก็เรากล่าวอย่างนี้ว่า

"บุรุษ ผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา" เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอนเพียง 
๗ ปี ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่ง "พรหมจรรย์" ที่เหล่า "กุลบุตร" ผู้ออกจาก "เรือนบวช เป็น บรรพชิต" โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้

นิโครธ ๗ ปี จงยกไว้...... เพียง 5 ปี จงยกไว้...... เพียง ๕ ปี...... เพียง 4 ปี...... เพียง ๓ ปี...... เพียง ๒ ปี..... เพียง ๑ ปี....นิโครธ ๗ เดือน จงยกไว้...เพียง 5 เดือน....... เพียง ๕ เดือน....... เพียง 4 เดือน..”เพียง ๓ เดือน.... เพียง ๒ เดือน.... เพียง ๑ เดือน เพียงครึ่งเดือน จงยกไว้

"บุรุษ ผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา" เป็นคนตรง จงมาเถิดเราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอนเพียง ๗ วัน ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้

ลักษณะผู้ไม่โอ้อวด

มีเรื่องราวของผู้ไม่โอ้อวดในปุราเภทสุตตนิเทศ ดังนี้



"ปุราเภทสุตตนิเทส"

 

ว่าด้วยผู้ไม่โอ้อวด

คำว่า "ภิกษุ" ไม่พึงเป็นคนมักอวด อธิบายว่า "ภิกษุ" บางรูปใน "ธรรมวินัย" นี้

เป็นผู้อวด เป็นผู้โอ้อวด เธอย่อมอวด โอ้อวดว่า



เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง"

สมบูรณ์ด้วยวัตรบ้างสมบูรณ์ด้วย "ศีลพรต" บ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วยโคตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้รูปงามบ้างสมบูรณ์ด้วยทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์

ด้วยหน้าที่การงานบ้าง สมบูรณ์ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้างสมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้คงแก่เรียนบ้าง สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้างออกบวชจากตระกูลสูงบ้าง

ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์บ้าง ออกบวชจากตระกูลมีโภคสมบัติมากบ้าง

เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้างเป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง

เป็นธรรมกถูกบ้าง เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรบ้างเป็นผู้ได้ "เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ" บ้าง”

"ภิกษุ" นี้ไม่พึงอวด ไม่โอ้อวดอย่างนี้ คือ พึงละ บรรเทาทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง "ความโอ้อวด" ได้แก่ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับความโอ้อวด มีใจเป็นอิสระ (จากกิเลส) อยู่รวมความว่า "ภิกษุ" ไม่พึงเป็นคนมักอวด

คนโอ้อวดไม่ใช่คนดี

มีเรื่องที่กล่าวถึงภิกษุที่มีใจโอ้อวด พูดจาคล่องแคล่วตอนหนึ่งใน



"สัมพหุลภิกขุวัตถุ"



"พระผู้มีพระภาค" ตรัสพระคาถานี้ แก่ "ภิกษุทั้งหลาย" ที่พูดจาคล่องแคล่ว ดังนี้

เพราะเหตุเพียงการพูดจาคล่องแคล่ว

หรือเพราะมีผิวพรรณงดงาม

แต่ยังมีความริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด

บุคคลก็หาชื่อว่าคนดีได้ไม่

ส่วนผู้ตัดความริษยาเป็นต้นนี้ได้

ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว

คายโทษได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา

จึงจะชื่อว่า คนดี

เรื่องราวบุคคลผู้โอ้อวด

มีชาดกตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องราวของคนที่โอ้อวด โดยมีที่มาจากอรรถกถาเรื่อง ภีมเสนชาดก ดังนี้



"ภีมเสนชาดก"



พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า

ยนฺเต ปวิกตฺถิตํ ปุเร ดังนี้

ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวคุยโอ่ เย้ยหยัน หลอกหลวงในกลุ่มภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ทั้งที่เป็นนวกะ และที่เป็นมัชฌิมะด้วยอำนาจสมบัติ มีชาติเป็นต้นว่า

“ผู้มีอายุทั้งหลาย ว่าถึงชาติกันละก็ ไม่มีทางที่จะเสมอด้วยชาติของเรา

ว่าถึงโคตรก็ไม่มีที่จะเสมอด้วยโคตรของเรา พวกเราเกิดในตระกูลมหากษัตริย์

ขึ้นชื่อเห็นปานนี้ ผู้ที่จะได้ชื่อว่าทัดเทียมกับเรา โดยโคตรหรือด้วยทรัพย์ หรือด้วยถิ่นฐานของตระกูล ไม่มีเลยทองเงินเป็นต้นของพวกเรามีจนหาที่สุดมิได้

เพียงแต่พวกทาสกรรมกรของพวกเรา ก็พากันกินข้าวสุกที่เป็นเนื้อข้าวสาลี

นุ่งผ้าที่มาจากแคว้นกาสีเป็นต้น ผัดเครื่องลูบไล้ที่มาแต่แคว้นกาสี เพราะเป็นบรรพชิตดอก เดี๋ยวนี้พวกเราถึงบริโภคโภชนะเศร้าหมอง ครองจีวรเลวๆ อย่างนี้

ครั้งนั้น "ภิกษุ" รูปหนึ่ง สอบสวนถิ่นฐานแห่งตระกูลของเธอได้แน่นอนก็กล่าวความที่เธอคุยโอ้อวดนั้นแก่พวกภิกษุ "พวกภิกษุ" ประชุมกันในธรรมสภา พากันพูดถึงโทษ มิใช่คุณของเธอว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุโน้นบวชแล้วในพระศาสนา อันจะนำออกจากทุกข์ได้เห็นปานฉะนี้ยังจะเที่ยวคุยโอ่เย้ยหยันหลอกลวงอยู่ได้ พระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า

ดูก่อน "ภิกษุ" ทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า

ดูก่อน "ภิกษุ" ทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ "ภิกษุ" นั้นเที่ยวคุยโอ่ถึงในครั้งก่อน ก็เคยเที่ยวคุยโอ่ เย้ยหยันหลอกลวงมาแล้ว ดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล ครั้ง "พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ใน กรุงพาราณสี"

"พระโพธิสัตว์" บังเกิดใน "สกุล อุทิจจพราหมณ์" ในนิคมคามตำบลหนึ่ง เจริญวัยแล้วเล่าเรียนไตรเพท อันเป็นที่ตั้งแห่งวิชชา ๑๘ ประการ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลา ถึงความสำเร็จศิลปะทุกประการ ได้นามว่า

"จูฬธนคคหบัณฑิต." เขาออกจากตักกสิลานครเสาะแสวงหาศิลปะในลัทธิสมัยทุกอย่าง ลุถึงมหิสกรัฐ ก็ในชาดกนี้มีแนวว่า "พระโพธิสัตว์" มีร่างกายเตี้ยอยู่หน่อยท่าทางเหมือนค่อมเขาดำริว่า ถ้าเราจักเฝ้าพระราชา องค์ใด องค์หนึ่ง

"ท้าวเธอ" จักกล่าวว่า เจ้ามีร่างกายเตี้ยอย่างนี้ จักทำราชการได้หรือ อย่ากระนั้นเลยเราหาคนที่สมบูรณ์ด้วย ความสูง ความล่ำสันรูปงามสักคนหนึ่ง ทำเป็นโล่ห์ แล้วก็เลี้ยงชีวิต อยู่หลังฉากของคนผู้นั้น คิดแล้วก็เที่ยวเสาะหาชายที่มีรูปร่างอย่างนั้น ไปถึงที่ทอหูกของช่างหูกผู้หนึ่ง ชื่อว่า "ภีมเสน"

ทำปฏิสันถารกับเขา พลางถามว่าสหายเธอชื่อไร ? เขาตอบว่า ฉันชื่อ "ภีมเสน"

จูฬ. ก็เธอเป็นผู้มีรูปงาม สมประกอบทุกอย่างอย่างนี้ จะกระทำงาน เลวๆ ต่ำๆ นี้ทำไม ?

ภีมเสน, ฉันไม่อาจอยู่เฉยๆ ได้ (โดยไม่ทำงาน)

จูฬ, สหายเอ๋ย อย่าทำงานนี้เลย ในชมพูทวีปทั้งสิ้น จะหานายขมังธนูที่พอจะทัดเทียมกับฉันไม่เลย

แต่ถ้าเราเข้าเฝ้าพระราชาองค์ไหน ท้าวเธอน่าจะกริ้วฉันได้ว่าเจ้านี่เตี้ยๆ อย่างนี้จะทำราชการได้อย่างไรกัน

เธอจึงไปเฝ้า พระราชากราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็น นาย "ขมังธนู" ดังนี้ พระราชาจะพระราชทานบำเหน็จให้เธอแล้ว พระราชทานเบี้ยเลี้ยงเนืองๆ ฉันจะคอยทำงาน ที่เกิดขึ้นแก่เธอขออาศัยดำรงชีพอยู่เบื้องหลังเงาของเธอ

ด้วยวิธีอย่างนี้ เราทั้งสองคนก็จักเป็นสุข

ท่านจงทําตามคำของเรา

"ภีมเสน" ตกลงรับคำ

"จูฬธนุคคหบัณฑิต" จึงพาเขาไปพระนครพาราณสี กระทำตนเองเป็นผู้ "ปรนนิบัติ" ยกเขาขึ้นหน้าหยุดยืนที่ประตู "พระราชฐาน" ให้กราบทูลพระราชา ครั้นได้รับ "พระบรมราชานุญาต" ว่า พากันมาเถิดแล้ว ทั้งสองคนก็เข้าไปกราบบังคมพระราชาแล้วยืนอยู่ ครั้นมีพระราชดำรัสว่า

เจ้าทั้งสองพากันมาทำไม "ภีมเสน" จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็น นาย "ขมังธนู" ทั่วพื้นชมพูทวีป จะหา นาย "ขมังธนู" ที่ทัดเทียมกับข้าพระองค์ไม่มีเลย, รับสั่งถามว่า ดูก่อนพนายเจ้าได้อะไรถึงจักบำรุงเรา? กราบทูลว่า เมื่อได้พระราชทรัพย์ "พันกษาปณ์" ทุกๆ ถึงเดือน จึงจะขอเข้ารับราชการพระเจ้าข้า, รับสั่งถามว่า ก็บุรุษนี้เล่าเป็นอะไรของเจ้า? กราบทูลว่า เป็นผู้ปรนนิบัติพระเจ้าข้า, รับสั่งว่า ดีล่ะ จงบำรุงเราเถิด.

จำเดิมแต่นั้น "ภีมเสน" ก็เข้ารับ "ราชการ" แต่ราชกิจ ที่เกิดขึ้นแล้ว "พระโพธิสัตว์" จัดทำแต่ผู้เดียว

ก็โดยสมัยนั้น ที่แคว้นกาสี ณ ป่าแห่งหนึ่ง มีเสือร้ายสะกดทางสัญจรของพวกมนุษย์ จับเอาพวกมนุษย์ไปกินเสียเป็นอันมาก ชาวเมืองพากันกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา "พระราชา" รับสั่งให้ ภีมเสนเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า "พ่อ" คุณพ่ออาจจักจับเสือตัวนี้ได้ไหม ? "ภีมเสน" กราบทูลว่า ขอเดชะข้าพระองค์ไม่อาจจับเสือได้ จะได้ชื่อว่า นาย "ขมังธนู" ได้อย่างไร ? พระราชาทรงพระราชทานรางวัลแก่เขาแล้วทรงส่งไป เขาไปถึงเรือนบอกแก่ พระโพธิสัตว์, "พระโพธิสัตว์" กล่าวว่า ดีแล้วเพื่อนไปเถิด. "ภีมเสน" ถามว่า ก็ท่านเล่าไม่ไปหรือ ? "พระโพธิสัตว์" ตอบว่า ฉันไม่ไปดอก แต่จักบอกอุบายให้ "ภีมเสน" กล่าวว่า จงบอกเถิดเพื่อน.

"พระโพธิสัตว์" กล่าวว่า ท่านอย่ารีบไปที่อยู่ของเสือเพียงลำพังผู้เดียวเป็นอันขาด แต่ต้องประชุม "ชาวชนบท" เกณฑ์ให้ถือธนูไปสักพันหรือสองพัน แล้วไปที่เสืออยู่นั้น พอรู้ว่าเสือมันลุกขึ้น ต้องรีบหนีเข้า "พุ่มไม้" พุ่มหนึ่ง นอนหมอบส่วนพวกชนบทจะพากันรุมตีเสือจนจับได้ ครั้นพวกนั้น จับเสือได้แล้ว ท่านต้องเอาฟันกัดเถาวัลย์เส้นหนึ่ง จับปลายเดินไปที่นั้น ถึงที่ใกล้ๆ เสือตายแล้วจึง กล่าวว่า พ่อคุณเอ๋ย ใครทำให้เสือตัวนี้ตายเสียเล่า เราคิดว่าจักผูกเสือด้วยเถาวัลย์เหมือนเขาผูกวัวจูงไปสู่ราชสำนักให้จงได้ เข้าไปสู่ "พุ่มไม้" เพื่อหา "เถาวัลย์" เมื่อเรายังไม่ทันได้นำ "เถาวัลย์" มา ใครฆ่าเสือตัวนี้ให้ตามเสียเล่า เมื่อเป็น เช่นนี้ "ชาวชนบท" เหล่านั้น ต้องสะดุ้งกลัว กล่าวว่า เจ้านายขอรับ โปรดอย่ากราบทูลพระราชาเลย จักพากันให้ทรัพย์มาก เสือก็จักเป็นอันแกคนเดียวจับได้ ทั้งยัง จักได้ทรัพย์เป็นอันมาก จากสำนักพระราชาอีกด้วย

"ภีมเสน" รับคำว่า ดีจริงๆ แล้วไปจับเสือ ตามแนวที่ "พระโพธิสัตว์" แนะให้นั่นแหละ ทำป่าให้ปลอดภัยแล้ว มีมหาชนห้อมล้อมมาสู่ "พระนครพาราณสี" เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า "ขอเดชะ" ข้าพระองค์จับเสือได้แล้ว ทำป่าให้ปลอดภัยแล้วพระราชาทรงยินดี พระราชทานทรัพย์ให้มากมาย.

ครั้นต่อมา ในวันรุ่งขึ้น พวกชาวเมืองพากันมากราบทูลว่า "กระบือดุ" สกัดทางแห่งหนึ่ง พระราชาก็ส่ง "ภีมเสน" ไป โดยทำนองเดียวกัน เขาก็จับ "กระบือ" แม้นั้นมาได้ ด้วยคำแนะนำที่ "พระโพธิสัตว์" บอกให้เหมือนกับตอนจับเสือ ฉะนั้น พระราชาก็ได้พระราชทานทรัพย์ให้เป็นอันมากอีก เกิดมี "อิสริยยศ" ใหญ่ยิ่ง เขาเริ่มมัวเมา ด้วยความมัวเมาในความใหญ่โตกระทำการดูหมิ่น "พระโพธิสัตว์" มิได้เชื่อถ้อยคำของ "พระโพธิสัตว์" กล่าวคำหยาบคาย สามหาว เป็นต้นว่า เราไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพดอก ท่านคนเดียวเท่านั้น หรือ ที่เป็นลูกผู้ชาย

ครั้นอยู่ต่อมา ไม่กี่วัน พระราชาประเทศใกล้เคียงพระองค์หนึ่ง ยกทัพมาล้อมประชิด "พระนครพาราณสี" ไว้พลางส่ง "พระราชสาสน์" ถวายพระราชาว่า พระองค์จักยอมถวายราชสมบัติ แก่หม่อมฉัน หรือว่า จักรบ "พระราชา" ทรงส่ง "ภีมเสน" ออกไป ว่าเจ้าจงออกรบ เขาสอดสวมเครื่องรบครบครันครองเพศ เป็นพระราชานั่งเหนือหลังช้าง อันผูกเครื่องเรียบร้อยแม้ "พระโพธิสัตว์" ก็สอดสวมเครื่องรบพร้อมสรรพนั่งกำกับมาท้ายที่นั่งของ "ภีมเสน" นั่นเอง เพราะกลัวเขาจะตาย

"พญาช้าง" ห้อมล้อมด้วย "มหาชน" เคลื่อนขบวนออก โดยประตู "พระนคร" ลุถึงสนามรบ "ภีมเสน" พอได้ฟังเสียงกลองรบ เท่านั้น ก็เริ่มสั่นสะท้าน "พระโพธิสัตว์" คิดว่า น่ากลัว "ภีมเสน" จักตกหลังช้างตายเสียในบัดดล จึงเอาเชือกรัด "ภีมเสน" เข้าไว้แน่น เพื่อไม่ให้ตกช้าง ภีมเสน ครั้นเห็นสนามรบแล้วยิ่งกลัวตายเป็นกำลัง ถึงกับ "อุจจาระปัสสาวะ ราดรดหลังช้าง" "พระโพธิสัตว์" กล่าวว่า "ภีมเสน" เอย การกระทำในตอนหลัง ช่างไม่สมกับคำพูด ครั้งก่อนๆ ของท่านเสียเลย ครั้งก่อน ดูท่านใหญ่โต ราวกับผู้เจนสงคราม เดี๋ยวนี้สิ ประทุษร้ายหลังช้างเสียแล้ว กล่าวคาถานี้ ใจความว่า

"ภีมเสน" เอย ที่ท่านคุยโอ๋ ไว้แต่ก่อน แล้วภายหลัง กลับปล่อย "อุจจาระ" ไหลออกมา คำคุยถึง "การรบ" กับ "ความกระสับกระส่าย" ของท่าน ดูช่างไม่สมกันเลย ดังนี้

"พระโพธิสัตว์" ตำหนิเขาอย่างนี้แล้ว ปลอบว่าอย่ากลัวเลย

"เพื่อนเอ๋ย" เมื่อเรายังอยู่ จะเดือดร้อนไปใย ดังนี้แล้ว ให้ "ภีมเสน" ลงเสียจากหลังช้าง กล่าวว่า จงไปอาบน้ำเถิด ส่งกลับไปดำริว่า วันนี้เราควรแสดงตน แล้วไสช้างเข้าสู่สนามรบ "บันลือสีหนาท" โจมตีกองพลแตก ให้ล้อมจับ "พระราชา" ผู้เป็นศัตรูไว้ได้ แล้วไปเฝ้า "พระเจ้าพาราณสี" พระราชาทรงยินดี พระราชทาน "ยศใหญ่" แก่ "พระโพธิสัตว์"

จำเดิมแต่นั้นมา นามว่า "จูฬธนุคคหบัณฑิต" ก็กระฉ่อนไปใน "ชมพูทวีป" ทั้งสิ้น "พระโพธิสัตว์" ได้ให้บำเหน็จ แก่ "ภีมเสน" แล้วกลับถิ่นฐานเดิม กระทำบุญ "มีให้ทาน" เป็นต้น แล้วก็ไปตาม "ยถากรรม"

พระบรมศาสดา จึงตรัสว่า

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มิใช่ ในแต่บัดนี้ เท่านั้น ที่ "ภิกษุ" นี้คุยโอ้อวด แม้ในกาลก่อน ก็ได้คุยโอ้อวดแล้วเหมือนกัน ครั้งทรงนำ "พระธรรมเทศนา" นี้มาแล้ว ทรงสืบ "อนุสนธิประชุมชาดก" ว่า "ภีมเสน" ในครั้งนั้น ได้มาเป็น "ภิกษุ" ผู้มัก "โอ้อวด" ส่วน "จูฬธนคคหบัณฑิต" ได้มาเป็นเรา "ตถาคต" ฉะนี้แล

ลักษณะคนมีมารยาเป็นอย่างไร

"มารยา" คือ กิริยาอาการที่เสแสร้งทำขึ้นเพื่อลวง เพื่อหลอกให้เกิดความเข้าใจผิด คนที่มีอาการมารยามักจะเป็นคนที่ชอบอ้างเหตุอ้างผลเวลาทำงานมักจะทำไม่ค่อยทันผู้อื่น เป็นคนไม่ซื่อตรง มักจะมีการกระทำหลอกลวง เสแสร้งต่างๆ นานา

มีเรื่อง "ความหลอกลวง" ใน "ปุราเภทสุตตนิทเทส" ดังนี้



"ปุราเภทสุตตนิทเทส"



ว่าด้วยความหลอกลวง ๓ อย่าง

คำว่า "ไม่หลอกลวง" ได้แก่ "ความหลอกลวง" ๓ อย่าง คือ

๑. ความหลอกลวง เกี่ยวกับ "การใช้สอยปัจจัย"

๒. ความหลอกลวง เกี่ยวกับ "อิริยาบถ"

๓. ความหลอกลวง เกี่ยวกับ "การพูดเลียบเคียง"

ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัยเป็นอย่างไร

คือ "คหบดี" ในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ "ภิกษุ" "ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" "ภิกษุ" นั้น มีความปรารถนา "เลวทราม"

ถูกความอยากครอบงำ มีความต้องการ "จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร" เพราะต้องการได้ให้มากขึ้น จึงบอกคืน "จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร" เธอพูดอย่างนี้ว่า “จีวรที่มีค่ามาก จะมีประโยชน์อะไร แก่สมณะ "สมณะ" ควรเที่ยงเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อหรือร้านตลาด เอามาทำสังฆาฏิใช้ จึงจะเป็นการเหมาะสม บิณฑบาตที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยการเที่ยวแสวงหาจึงจะเป็นการเหมาะสม เสนาสนะที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรกับสมณะ สมณะควรอยู่ที่โคนไม้อยู่ที่ป่าช้า หรืออยู่กลางแจ้ง จึงจะเป็นการเหมาะสม คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารที่มีค่ามาก จะมีประโยชน์อะไรแก่ สมณะ สมณะควรทำยาด้วยน้ำมูตรเน่าหรือชิ้นลูกสมอ จึงจะเป็นการเหมาะสม

เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้นนั้น เธอจึงครองจีวร เศร้าหมอง ฉันบิณฑบาตเศร้าหมอง ใช้สอยเสนาสนะซอมซ่อ ใช้คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามมีตามได้ คหบดีทั้งหลาย รู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า

“สมณะรูปนี้ มีความปรารถนาน้อย สันโดษ สงบสงัดไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร มีวาทะกำจัดขัดเกลา ก็ยิ่งนิมนต์เธอให้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากยิ่งขึ้น

เธอจึงพูดอย่างนี้ว่า เพราะพรั่งพร้อม ด้วยเหตุ ๓ ประการ กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมประสบบุญมาก คือ เพราะพรั่งพร้อมด้วยศรัทธา....... เพราะพรั่งพร้อมด้วยไทยธรรม......เพราะพรั่งพร้อมด้วย "พระทักขิไณยบุคคล" "กุลบุตร" ผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก ท่านทั้งหลายมีศรัทธานี้อยู่ไทยธรรมนี้ก็มีอยู่พร้อมทั้งอาตมภาพก็เป็น "ปฏิคาหก" ถ้าอาตมาภาพไม่รับ พวกท่านก็จักเสื่อมจากบุญไปเสีย อาตมภาพมิได้ความต้องการด้วยปัจจัยนี้ แต่จักรับเพื่ออนุเคราะห์พวกท่าน”

เพราะอาศัยเหตุนั้น เธอจึงรับจีวรมากมาย รับบิณฑบาตมากมาย รับเสนาสนะมากมาย รับคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารมากมาย การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้ นี้ชื่อว่า "ความหลอกลวง" เกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย

๒. ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถเป็นอย่างไร

คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยากครอบงำ ปรารถนาให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้”

จึงสำรวมการเดิน สำรวมการยืน สำรวมการนั่งสำรวมการนอน ตั้งสติเดิน ตั้งสติยืน ตั้งสตินิ่ง ตั้งสตินอนทำทีเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน เหมือนภิกษุมีสมาธิ ยืนเหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง เหมือนภิกษุมีสมาธินอน เป็นเหมือนภิกษุเจริญฌานอวดต่อหน้า

การตั้งท่า การวางท่า การดำรงอิริยาบถ การทำหน้านิ่ว การทำขมวดคิ้วการหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้ เรียกว่า "ความหลอกลวง" เกี่ยวกับ "อิริยาบถ"

๓. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียงเป็นอย่างไร

คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยากครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้”

จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า “ภิกษุผู้ทรงจีวรมีรูปแบบนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ผู้ใช้บาตร....ใช้ภาชนะโลหะ...ใช้ธมกรก....ใช้ผ้ากรองน้ำ.......

เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่.....มีอาจารย์ระดับนี้......มิตร.....มีพวก..... มีสหายระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่.....

อีกนัยหนึ่ง "ภิกษุ" เป็นผู้วางหน้าเฉยเมย ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด โกหกหลอกลวง ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง เป็นผู้ได้รับการยกย่องด้วยการวางหน้าว่า “สมณะนี้ได้วิหารสมาบัติอันมีอยู่เห็นปานนี้” ภิกษุนั้น ย่อมกล่าวคำเช่นนั้น อันเกี่ยวเนื่องด้วยโลกุตรธรรม และสุญญตนิพพาน อันลึกซึ้ง เร้นลับ
ละเอียดอ่อน ปิดบัง การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า "ความหลอกลวง" เกี่ยวกับ "การพูดเลียบเคียง"

ความหลอกลวง ๓ อย่าง ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่หลอกลวง รวมความว่า เป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง

ผู้มีมารยาย่อมเจ้าเล่ห์หลอกลวง

มีเรื่องราวนกเจ้าเล่ห์ในพกชาดก ดังนี้

 


"พกชาดก"



นกมีปีกตัวนี้ดีจริง ยืนนิ่งดังดอกโกมุท

หุบปีกทั้ง ๒ ไว้ ง่วงเหงาซบเซาอยู่

เจ้าทั้งหลายไม่รู้จัก "กิริยา" ของมัน พวกเจ้าไม่รู้ จึงพากันสรรเสริญนกตัวนี้ ไม่ได้คุ้มครองรักษาพวกเราดอก เพราะเหตุนั้น นกตัวนี้จึงไม่เคลื่อนไหวเลย

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุโกหกรูปหนึ่ง ตรัสธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ภทฺทโก วตายํ ปกฺขี ดังนี้

ความย่อมีอยู่ว่า "พระศาสดา" ทรงเห็น "ภิกษุ" โกหกรูปหนึ่งซึ่งถูกนำตัวมาเฝ้า ตรัสว่า ดูก่อน "ภิกษุ" ทั้งหลาย "ภิกษุ" รูปนี้มิใช่โกหกในบัดนี้เท่านี้ แม้เมื่อก่อนก็โกหก แล้วทรงนำ เรื่อง "อดีต" มาตรัสเล่า


ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี

"พระโพธิสัตว์" เป็น "ปลา" มีบริวารมากอาศัยอยู่ในสระแห่งหนึ่งใน "หิมวันตประเทศ"

ครั้งนั้น มี "นกยาง" ตัวหนึ่ง คิดว่าจัก "กินปลา" จึงยืนก้มหัวกางปีกทำเซื่องๆ


มอง "ดูปลา" ในที่ใกล้สระ คอยดูปลาเหล่านั้นเผลอ ขณะนั้น "พระโพธิสัตว์" แวดล้อมด้วยฝูงปลาเที่ยวหาเหยื่อกินไปถึงที่นั้น "ฝูงปลา" เห็น "นกยาง" นั้น จึงกล่าวคาถาแรกว่า

นกมีปีกตัวนี้ ดีจริง หุบปีกทั้งสองไว้
ง่วงเหงาซบเซาอยู่

ในบทเหล่านั้น บทว่า มนฺทมนฺโท วฌายติ

ได้แก่ "นกยาง" ซบเซาอยู่ตัวเดียว เหมือนจะหมดแรง ทำเป็นไม่รู้ ไม่ชี้อะไรทั้งนั้น

ลำดับนั้น "พระโพธิสัตว์" มองดู "นกยาง" นั้น กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า

เจ้าทั้งหลาย ไม่รู้จัก "กิริยา" ของมัน พวกเจ้าไม่รู้ จึงพากันสรรเสริญ "นก" ตัวนี้ไม่ได้คุ้มครองรักษาพวกเราดอก เพราะเหตุนั้น "นก" ตัวนี้จึงไม่เคลื่อนไหวเลย


เมื่อ "พระโพธิสัตว์" กล่าวอย่างนี้ "ฝูงปลา" ก็พ่นน้ำให้ "นกยาง" หนีไป

"พระศาสดา" ทรงนำ "พระธรรมเทศนา" นี้มาแล้ว ทรงประชุม "ชาดก"

"นกยาง" ในครั้งนั้น ได้เป็น "ภิกษุ" โกหก ในครั้งนี้ ส่วน "พญาปลา" คือ เรา "ตถาคต" นี้แล

ลักษณะของผู้ว่ายาก



"อนุมานสูตร"



ว่าด้วยการเปรียบตนกับผู้อื่น

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง ท่าน "พระมหาโมคคัลลานะ" พำนักอยู่ "เภสกฬาวัน" สถานที่ให้อภัยแก่หมู่เนื้อ "เขตกรุงสุงสุมารคิระ" ใน "แคว้นภัคคะ" ณ ที่นั้น ท่าน "พระมหาโมคคัลลานะ" ได้เรียก "ภิกษุ" ทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” "ภิกษุ" เหล่านั้น รับคำแล้ว ท่าน "พระมหาโมคคัลลานะ" จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้า "ภิกษุปวารณาว่า" “ขอท่านจงว่ากล่าว ข้าพเจ้า ข้าพเจ้า เป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวได้' แต่ "ภิกษุ" นั้นเป็นผู้ว่ายาก มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับ คำพร่ำสอน โดยเคารพ เมื่อเป็น เช่นนั้น เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ย่อมเข้าใจ "ภิกษุ" นั้นว่า เป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าว ไม่ควรพร่ำสอน และ ไม่ควรไว้วางใจ

ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. เป็นผู้มี  "ความปรารถนา ที่เป็น บาป" ตกอยู่ในอำนาจแห่ง "ความปรารถนา ที่เป็น บาป" แม้ข้อที่ "ภิกษุ" เป็นผู้มี "ความปรารถนา ที่เป็น บาป" ตกอยู่ในอำนาจแห่ง "ความปรารถนา ที่เป็น บาป" นี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

๒. เป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น.....

๓. เป็นผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว......

๔. เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ.....

๕. เป็นผู้มักโกรธ ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ.....

๖. เป็นผู้มักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ความโกรธ......

๗. ถูกโจทแล้วกลับโต้เถียงโจทก์......

๘. ถูกโจทแล้วกลับรุกรานโจทก์....

๙. ถูกโจทแล้วกลับปรักปรำโจทก์......

๑๐. ถูกโจทแล้วกลับพูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ......

๑๑. ถูกโจทแล้วไม่ยอมอธิบายพฤติกรรม (ของตน).....

๑๒. เป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ.....

๑๓. เป็นผู้ริษยา ตระหนี่.......

๑๔. เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา......

๑๕. เป็นผู้กระด้างมักดูหมิ่นผู้อื่น.....

๑๖. เป็นผู้ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ถือรั้น สลัดได้ง่าย แม้ข้อที่ "ภิกษุ" เป็นผู้ไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ถือรั้น สลัดได้ง่ายนี้ ก็เป็น "ธรรม" ที่ทำให้เป็นผู้ "ว่าง่าย"

"ธรรม" เหล่านี้ เรียกว่า "ธรรม" ที่ทำให้เป็นคน "ว่าง่าย"

 



"การอนุมานตนเอง"



ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรม ๑๖ ประการนี้

"ภิกษุ" ควร "อนุมานตนเอง" อย่างนี้ว่า

บุคคลผู้มี "ความปรารถนาที่เป็นบาป" ตกอยู่ในอำนาจแห่ง "ความปรารถนาบาป" ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเราถ้าเราจะพึงมี "ความปรารถนาที่เป็นบาป" ตกอยู่ในอำนาจแห่ง "ความปรารถนาที่เป็นบาป" เราก็คง "ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ" ของคนแหล่งอื่น'......

"ภิกษุ" เมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า 'เราจักไม่เป็นผู้มี "ความปรารถนาที่เป็นบาป" ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่ง "ความปรารถนาที่เป็นบาป"....

....ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า

“บุคคลผู้โอ้อวด มีมารยา ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ของคนเหล่าอื่น”

"ภิกษุ" เมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า “เราจักเป็นผู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา.......

การพิจารณาตนเอง

"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย" ในธรรม ๑๖ ประการนั้น "ภิกษุ" ควร พิจารณาตนเอง อย่างนี้ว่า 'เราเป็นผู้ปรารถนาที่เป็นบาปตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาปจริงหรือ' ถ้า
พิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า 'เราเป็นผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาปตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาปจริง' "ภิกษุ" นั้นควรพยายามเพื่อจะละบาปอกุศลนั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า 'เรามิใช่ผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป มิใช่ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาป' "ภิกษุ" นั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืนจึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้......อีกประการหนึ่ง

"ภิกษุ" ควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า 'เราเป็นผู้โอ้อวด มีมารยาจริงหรือ' ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า 'เราเป็นผู้โอ้อวดมีมารยาจริง' "ภิกษุ" นั้น ควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมนั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า 'เราเป็นผู้ไม่โอ้อวดไม่มีมารยา' "ภิกษุ"นั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวัน และ กลางคืน จึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้......

"การโอ้อวด" และ "มีมารยา" จัดอยู่ในอุปกิเลศ ๑๖ ประการ การมีนิสัย โอ้อวด มีมารยา เป็นนิสัยที่ไม่ดี ควรแก้ไขปรับปรุง คนที่ชอบ "โอ้อวด" ชอบพูดแสดงให้คนอื่นยอมรับว่า ตัวเองมีสิ่งที่เหนือกว่าบุคคลอื่น ชอบ "อวดอ้าง" ยกตนข่มท่าน

ส่วนคนมี "มารยา" มักจะมีข้ออ้างหรือเหตุต่างๆ สารพัด เพื่อปกป้องความผิดพลาดของตัวเอง มักจะไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ไม่ยอมเปิดเผยความเป็นจริงต่อเพื่อนสหธรรมิก การแก้ไข คือ ต้องคบ "กัลยาณมิตร" เช่น "ครูบาอาจารย์" คอยศึกษาจากท่าน อาศัยท่าน เป็นต้นแบบ ให้ท่านว่ากล่าวตักเตือน เป็นคน ไม่ว่ายาก สอนยาก แล้วเราก็จะได้นิสัยดีๆ ของท่าน นำมาเป็นนิสัยของเรา

ความโอ้อวดก่อให้เกิดความแตกแยก

"ภิกษุ" ผู้มี "มารยา โอ้อวด" นั้น ยังเป็น "ต้นเหตุแห่งความวิบัติ" ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณะก่อให้เกิดความไม่สามัคคี และ สามารถเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ เรามาศึกษาดูว่าคนที่มีนิสัยเช่นไร เป็นผลให้เกิดการแตกกัน

มีเรื่อง ของผู้มีนิสัย "โอ้อวด มีมารยา เป็นมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท 5 ประการ" ปรากฏในสามคามสูตร ดังนี้



"สามคามสูตร"



ว่าด้วยเหตุการณ์ใน "หมู่บ้านสามคาม"

"พระผู้มีพระภาคเจ้า" ตรัส แก่ "พระอานนท์" ถึงมูลเหตุแห่งวิวาท 5 ประการ คือ

๑. ภิกษุ เป็น "ผู้มักโกรธ" ผูกโกรธ...

๒. ภิกษุ เป็น "ผู้ลบหลู่" เป็นผู้ตีเสมอ...

๓. ภิกษุ เป็น "ผู้ริษยา" มีความตระหนี่...

๔. ภิกษุ เป็น "ผู้โอ้อวด" มีมารยา...

๕. ภิกษุ เป็น "ผู้มีความปรารถนาชั่ว" เป็นมิจฉาทิฏฐิ...

๖. ภิกษุ เป็น "ผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน" มีความถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก.....

"ภิกษุ" ทั้งหลาย เหล่านี้ ย่อมไม่มีความเคารพ ยำเกรงใน "พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์" ทั้ง ไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใน "สิกขา" ย่อมก่อ "ความวิวาท" ให้เกิดใน "สงฆ์"

แนวทางแก้นิสัย "โอ้อวด มีมารยา"

การแก้นิสัย "โอ้อวด มีมารยา" ต้องแก้ด้วยการปลูกฝังความมี "สัจจะ" จริงตรงแท้โดยมีบุคคลต้นแบบที่ดี ในที่นี้ หมายถึง "พระเถระ" ที่อยู่ในอารามนั้น ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้ง "กาย วาจา ใจ" เป็นผู้ใคร่รู้ ใฝ่ศึกษา ตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติธรรม ประพฤติอ่อนน้อม ถ่อมตน สามารถแสดงธรรมได้ไพเราะ ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย เป็นที่ตั้ง แห่งศรัทธา เลื่อมใส

วัดใด มี "พระเถระ" เป็นบุคคลต้นแบบแล้ว "ลูกวัด" ย่อมได้ต้นแบบ ในการประพฤติตาม จะมีกิริยามารยาทเรียบร้อย สำรวมระวังใน "ข้อวัตรปฏิบัติ" และตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติตาม หากวัดใดมี "ภิกษุ" ที่ว่ายากสอนยาก มีกิริยามารยาท ไม่สำรวมระวัง ใน "พระปาฏิโมกข์" ไม่ช่วยเหลือการงานส่วนรวมแถมยังชอบวิพากษ์วิจารณ์การบ้านการเมือง ย่อมก่อให้เกิดความระส่ำระสาย ต่อกฎระเบียบภายในวัด พลอยจะทำให้ คนที่ตั้งใจ ฝึกตัว ฝึกฝนอบรมตนเองตลอดเวลาเกิดความแหนงหน่าย หรือ อาจเป็นสาเหตุ ให้เป็นชนวน ให้หมู่คณะ กระทบกระทั่ง เสื่อมเสียชื่อเสียง และ เสียหายได้ในภายหลัง เหมือนดั่งคำที่ว่า “ปลาเน่าตัวเดียว พลอยทำให้ "ปลาเน่า" ไปทั้งข้อง”

คนที่ "โอ้อวด" มักจะเป็นคนที่เวลาทำงานเป็นกลุ่ม หรือ กับหมู่คณะ พอทำงานสักอย่างประสบผลดีกว่าคนอื่นก็มักจะคุยถึงความเก่งของตัวเอง

ส่วนคนที่ "มีมารยา" มักจะเป็นคนที่ทำงานกับกลุ่ม เขาไม่ค่อยจะทัน เลยจำเป็นต้องคิดหา เหตุผล คำแก้ตัว "ชอบอ้าง อย่างโน้น อย่างนี้" ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ที่เป็น "ครูอาจารย์ หรือ พระเถระ" ที่อยู่ใน "อาวาส" นั้น ต้องพยายามหมั่นสั่งสอน ตักเตือน ให้บุคคลเหล่านั้น หรือ "สัทธิวิหาริก" เป็นคนที่ชอบ "แก้ไขข้อบกพร่อง" ต่างๆ มากกว่าแก้ตัว แล้วตั้งใจ "ฝึกสมาธิ" ให้ใจผ่องใสยิ่งๆ ขึ้นไป

 

2567_10_03_01.jpg

 




 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025791815916697 Mins