บทที่ ๙ พระเถระ เป็นที่พึ่งแห่งการบรรลุธรรม

วันที่ 21 ตค. พ.ศ.2567

2567_10_21_b.jpg

 

บทที่ ๙

พระเถระ
เป็นที่พึ่งแห่งการบรรลุธรรม

 

2567_10_21.jpg



ความหมายของ "พระเถระ" ใน "เสนาสนสูตร"

     วัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมนั้น จะต้องมี "พระเถระ" อยู่ประจำเป็นจำนวนมาก เป็นเสมือนแหล่งชุมนุมบัณฑิตในทางธรรม โดย "พระเถระ" ที่ดีนั้น ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสไว้ใน "เสนาสนสูตร" ว่า

       “ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย เป็นพหูสูตเรียนจบคัมภีร์ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้น”

        จากพระดำรัสดังกล่าว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่หลายประการ คือ

     ๑. คำว่า ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย แสดงว่าวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมนั้น ต้องมีพระเถระเป็นต้นแบบศีลธรรมอยู่วัดใดมีพระเถระเป็นต้นแบบศีลธรรมอยู่มากประจำหลายรูปวัดนั้นยิ่งเหมาะแก่การบรรลุธรรม

        ๒. คำว่า เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรมทรงวินัย ทรงมาติกา

        ๒.๑ เป็นพหูสูต หมายถึง ได้สดับพระพุทธพจน์หรือได้เล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๔)

       ๒.๒ เรียนจบคัมภีร์ หมายถึง เรียนจบพระพุทธพจน์คือ พระไตรปิฎก ๔ นิกาย ได้แก่ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย

        ๒.๓ ทรงธรรม หมายถึงทรงจำพระสุตตันตปิฎก

      ๒.๔ ทรงวินัย หมายถึง ทรงจำพระวินัยปิฎกนั่นย่อมแสดงว่าพระเถระที่จะเป็นครูบาอาจารย์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมามาก มีความแตกฉานในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งภาคปริยัติปฏิบัติ ปฏิเวธ และเทศนา สมควรแก่การกราบไหว้ของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

 

      ทรงมาติกา หมายถึง ทรงจำพระปาติโมกข์ทั้งสอง คือ ภิกขุปาติโมกข์ และภิกขุณีปาติโมกข์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๔๗-๙๘)

      ย่อหย่อน ในที่นี้ หมายถึง ยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนโดยไม่เคร่งครัด (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)

     โอกกมนธรรม หมายถึง นิวรณ์ ๕ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)

    ปวิเวก หมายถึง อุปธิวิเวก คือ ความสงัดจากอุปธิ (สภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ได้แก่กามกิเลสเบญจขันธ์และอภิสังขาร) อีกนัยหนึ่ง หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)



คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาหมายถึงอะไร?

     จากหนังสือ คำวัด

     คำว่า คัมภีร์ มีความหมาย ๒ อย่าง คือ

    ๑. หมายถึง หนังสือตำราที่สำคัญทางศาสนาที่พิมพ์เป็นรูปเล่ม หรือเขียนลงในสมุดข่อย เช่น เรียกพระไตรปิฎกว่า คัมภีร์ พระไตรปิฎก เรียกหนังสืออรรถกถาว่า คัมภีร์อรรถกถา เป็นต้น

    ๒. หมายถึง ใบลานที่จารหรือเขียนหรือพิมพ์ข้อความธรรมะ ไว้สำหรับนำไปอ่านในเวลาเทศน์ เรียกเต็มว่า คัมภีร์ใบลาน ใบลานเช่นนี้แยกเป็นแผ่นๆ เมื่อนำมาร้อยรวมกันหลายๆ แผ่นด้วยเชือก เรียกว่า เป็นผูกหนึ่ง แต่ละผูกเรียกว่าหนึ่งคัมภีร์ถ้ามี ๗ ผูก ก็เรียกว่า ๗ คัมภีร์ เช่นพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์



ลักษณะบุคคลที่เป็น “พหูสูต”

      พหูสูต ได้แก่ ผู้ที่ได้ฟังได้เรียนมามาก หรือ คงแก่เรียน มีองค์ประกอบ ๕ ประการ คือ

      ๑. พหุสสุตา แปลว่า ฟังมาก คือ ได้สดับเล่าเรียนมามาก

      ๒. ธตา แปลว่า จําได้ คือ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจําความ ไว้แม่นยำ

      ๓. วจสา ปริจิตา แปลว่า คล่องปาก คือ ท่องบ่นหรือใช้คำพูดจนคล่องแคล่ว

      ๔. มนสานุเปกขิตา แปลว่า เพ่งขึ้นใจ คือ ใส่ใจนึกคิดพิจารณาจนเจนใจ นึกถึงครั้งใดก็ปรากฏเนื้อความ สว่างชัด

      ๕. ทิฏฐิยาสุปฏิวิทธา แปลว่า ขบได้ด้วยทฤษฎี คือ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ มีความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา

     สรุปได้ว่า ลักษณะผู้ที่เป็นพหูสูต คือ ผู้ได้ฟังธรรมมากแล้วทรงจำไว้ได้ ท่องได้คล่องปาก นึกได้ขึ้นใจ แตกฉานในการศึกษานำไปปฏิบัติได้โดยไม่ผิดเพี้ยน



อะไรเป็นเหตุให้ใคร่ครวญได้เร็ว

   มีเรื่องน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพหูสูตรที่ปรากฏอยู่ในการสนทนาธรรมระหว่าง "พระอานนท์ ผู้เลิศด้าน พุทธอุปัฏฐาก" กับ "พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา" ดังนี้

 


"ขิปปนิสันติสูตร"

ว่าด้วยเหตุให้ใคร่ครวญได้เร็ว



  ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตร ดังนี้ว่า

  “ท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็ว เรียนได้เร็ว เรียนได้มากในกุศลธรรมทั้งหลาย และสิ่งที่เธอเรียนแล้วจะไม่เลือนหายไป”

     ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า “ท่านอานนท์เป็นพหูสูตเฉพาะท่านอานนท์เท่านั้นที่จะสามารถอธิบายเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้งได้”

     พระอานนท์ กล่าวว่า “ท่านสารีบุตรถ้าเช่นนั้นท่านจงฟังจงใส่ใจให้ดี ผมจักกล่าว”

     ท่านพระสารีบุตรรับคำแล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

     “ท่านสารีบุตรภิกษุในธรรมวินัยนี้"

      ๑. เป็นผู้ฉลาดในอรรถ
      ๒. เป็นผู้ฉลาดในธรรม
      ๓. เป็นผู้ฉลาดในพยัญชนะ
      ๔. เป็นผู้ฉลาดในนิรุตติ
      ๕. เป็นผู้ฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลาย


     ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็วเรียนได้ดี เรียนได้มากในกุศลธรรมทั้งหลาย และสิ่งที่เธอเรียนแล้วย่อมไม่เลือนหายไป”

 


ลักษณะผู้ทรงธรรมและไม่ทรงธรรม

     พระศาสดาตรัสว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมากว่า “เป็นผู้ทรงธรรม” ส่วนผู้ใดเรียนคาถาแม้คาถาเดียวแล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย, ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

 


“ตาวตา ธมฺมธโร ยาวตา พหุ ภาสติ
โย จ อปฺปญฺปิ สุตฺวาน ธมฺมํ กาเยน ปสฺสติ
ส เว ธมฺมธโร โหติ โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ
บุคคล ไม่ชื่อว่าทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก
ส่วนบุคคลใด ฟังแม้นิดหน่อย ย่อมเห็นธรรมด้วย
นามกาย, บุคคลใด ไม่ประมาทธรรม, บุคคลนั้นแล
เป็นผู้ทรงธรรม."

 


อานิสงส์ผู้ทรงพระวินัย

     พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ เหล่านี้ (มีอยู่) ในบุคคลผู้ทรงพระวินัย คือ

     ๑. กองศีลของตน ย่อมเป็นของอันบุคคลนั้นคุ้มครองรักษาไว้ดีแล้ว

     ๒. ย่อมเป็นที่พึ่งพิงของเหล่ากุลบุตรผู้ถูกความสงสัยครอบงำ

     ๓. ย่อมเป็นผู้กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์

     ๔. ย่อมข่มขู่พวกข้าศึกได้ด้วยดีโดยสหธรรม

     ๕. ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม.

 

     (วินัยเป็นข้อปฏิบัติให้บรรลุความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นที่สุด)

     ก็อีกประการหนึ่งกุศลธรรมเหล่าใดซึ่งมีสังวรเป็นมูลอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว,

    บุคคลผู้ทรงวินัยนั่นแลชื่อว่าเป็นทายาทแห่งกุศลธรรม เหล่านั้น เพราะธรรมเหล่านั้น มีวินัยเป็นมูล. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

    วินัย ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ สังวร (ความสำรวม),

    สังวร ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ อวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน),

    อวิปปฏิสาร ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ (ความปราโมทย์),

    ความปราโมทย์ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ ปีติ (ความอิ่มใจ),

    ปีติ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ ปัสสัทธิ (ความสงบ),

    ปัสสัทธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ (ความสุข),

    ความสุข ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ สมาธิ (ความตั้งใจมั่น),

    สมาธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ ยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นตามเป็นจริง),

    ยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย),

    นิพพิทา ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ วิราคะ (ความสำรอกกิเลส),

    วิราคะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ วิมุตติ (ความหลุดพ้น),

    วิมุตติ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นความหลุดพ้น),

    วิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ อนุปาทาปรินิพพาน

    การกล่าว การปรึกษา กิริยานั่งใกล้ ความเงี่ยโสตลงสดับ แต่ละอย่างๆ

    มี อนุปาทาปรินิพพาน คือ ความพ้นพิเศษแห่งจิต ไม่ถือมั่น นั่นเป็นผล เพราะฉะนั้น ควรทำความพยายามโดยเอื้อเฟื้อในการเล่าเรียนพระวินัยดังนี้แล.

 


ความแตกต่างระหว่างผู้ทรงจำกับผู้ทรงธรรม

     มีเรื่องราวสะท้านสะเทือนหมู่สงฆ์ในสมัยพุทธกาลระหว่างผู้ทรงจำกับผู้ทรงธรรมที่เป็นอุทาหรณ์สอนใจพระภิกษุทุกยุคทุกสมัยมาถึงวันนี้ปรากฏอยู่ใน เรื่อง "พระเอกทานเถระ" ดังนี้

 


เรื่อง "พระเอกุทานเถระ"


      ข้อความเบื้องต้น

 

   พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภ พระขีณาสพ ชื่อว่า เอกทานเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “น ตาวตา ธมฺมธโร” เป็นต้น

     พวกเทวดาให้สาธุการแก่เทศนาของพระเถระ

     ได้ยินว่าพระเถระนั้นอยู่ในราวไพรแห่งหนึ่งแต่องค์เดียวอุทานที่ท่านช่ำชองมีอุทานเดียวเท่านั้นว่า

    “ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท เป็นมุนี ศึกษาในทางแห่งโมนปฏิบัติ ผู้คงที่ระงับแล้ว มีสติทุกเมื่อ”

      ได้ยินว่า ในวันอุโบสถ ท่านป่าวร้องการฟังธรรมเอง ย่อมกล่าวคาถานี้เสียงเทวดาสาธุการดุจว่าเสียงแผ่นดินทรุด

      ครั้น วันอุโบสถวันหนึ่ง ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก ๒ รูป มีบริวารรูปละ ๕๐๐ ได้ไปสู่ที่อยู่ของท่าน ท่านพอเห็นภิกษุเหล่านั้น ก็ชื่นใจ กล่าวว่า

      “ท่านทั้งหลายมาในที่นี้ เป็นอันทำความดีแล้ว, วันนี้พวกกระผมจักฟังธรรมในสำนักของท่านทั้งหลาย”

       พวกภิกษุ ท่านผู้มีอายุก็คนฟังธรรมในที่นี้ มีอยู่หรือ?

       พระเอกทาน, มี ขอรับ, ราวไพรนี้ มีความบันลือลั่นเป็นอันเดียวกัน เพราะเสียงเทวดาสาธุการในวันฟังธรรม.

       บรรดาภิกษุ ๒ องค์นั้น พระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกองค์หนึ่งสวดธรรม, องค์หนึ่งกล่าวธรรม, เทวดาแม้องค์หนึ่งก็มิได้ให้สาธุการ.

 

       ภิกษุ เหล่านั้น จึงพูดกันว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวว่า “ในวันฟังธรรมพวกเทวดาในราวไพรนี้ ย่อมให้สาธุการด้วยเสียงดัง, “นี่ชื่ออะไรกัน ?”


       พระเอกทาน. ในวันอื่นๆ เป็นอย่างนั้น ขอรับ, แต่วันนี้กระผมไม่ทราบว่า 'นี่เป็นเรื่องอะไร.'

       พวกภิกษุผู้มีอายุถ้าอย่างนั้นท่านจงกล่าวธรรมดูก่อน.

       ท่านจับพัดวีชนีนั่งบนอาสนะแล้วกล่าวคาถานั้นนั่นแล.

       เทวดาทั้งหลายได้ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง.

       พวกภิกษุติเตียนเทวดา

       ครั้งนั้น ภิกษุที่เป็นบริวารของพระเถระทั้งสองยกโทษว่า “เทวดาในราวไพรนี้ ให้สาธุการด้วยเห็นแก่หน้ากัน, เมื่อภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกแม้กล่าวอยู่ประมาณเท่านี้, ก็ไม่กล่าวแม้สักว่าความสรรเสริญอะไรๆ, เมื่อพระเถระแก่องค์เดียวกล่าวคาถาหนึ่งแล้ว, พากันให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง “ภิกษุเหล่านั้นแม้ไปถึงวิหารแล้ว กราบทูลความนั้นแด่พระศาสดา.

       พระศาสดาตรัสกับพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกทั้งสองว่าบุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรมเพียงเพราะพูดมากส่วนผู้ใดได้สดับตรับฟังธรรมน้อย

       แต่ (๑) พิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย

       ทั้ง (๒) ไม่ประมาทธรรมนั้น

       ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ทรงธรรม

       มีเรื่องราวกล่าวไว้ใน "อุมมคคสูตร" ดังนี้



"อุมมคฺคสูตร"



      ภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุ รู้อรรถ รู้ธรรม แห่งคาถา ๔ บาท แล้ว ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม”

    จากข้อความเบื้องต้นนี้กล่าวได้ว่า คำว่า ทรงธรรม หมายถึง บุคคลที่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมเข้าใจความหมายแล้วได้นำธรรมมาประพฤติปฏิบัติ สมควรแก่ธรรม เพระฉะนั้น เมื่อมองอีกนัยหนึ่งก็คือคำว่า ทรงธรรม หมายความว่า ทำได้จริงจนกระทั่งเป็นปกตินิสัย

 


คุณสมบัติของพระเถระ
 

  "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงอธิบายคุณสมบัติของพระเถระที่สามารถทำให้วัดนั้นเป็นสถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมไว้ใน "เถรสูตร" ดังนี้

 

"เถรสูตร"



   “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

     ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

     ๑. เป็นรัตตัญญู บวชมานาน

     ๒. เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศมีบริวารมาก ปรากฏแก่พวกคฤหัสถ์ และบรรพชิต

     ๓. เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

    ๔. เป็น พหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแล้วทรงจำไว้ได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ

   ๕. เป็น สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต บุคคลนั้นทำให้คนหมู่มากออกจากอสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรมคนหมู่มากพากันตามอย่างเธอด้วยคิดว่า

 

    “เป็นภิกษุเถระเป็นรัตตัญญู บวชมานาน” บ้าง

    “เป็นภิกษุเถระ มีชื่อเสียง มียศ มีบริวารมาก ปรากฏแก่พวก คฤหัสถ์และบรรพชิต” บ้าง

    “เป็นภิกษุเถระ ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร" บ้าง

    “เป็นภิกษุเถระ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ” บ้าง


    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มากเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

 


คุณสมบัติของภิกษุผู้สามารถเที่ยวไปในทิศทั้งสี่ (พระธุดงค์)

     จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีพระสูตรเกี่ยวกับคุณสมบัติของพระธุดงค์ที่กล่าวไว้สอดคล้องกับคุณสมบัติของพระเถระอย่างน่าสนใจ ปรากฏใน "จาตุททิสสูตร" ดังนี้

 


"จาตุททิสสูตร"

ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้เที่ยวไปในทิศทั้งสี่

 

      ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้เที่ยวไปในทิศทั้งสี่

      ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

      ภิกษุในธรรมวินัยนี้

  ๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

   ๒. เป็นพหูสูตทรงสุตะสั่งสมสุตะเป็นผู้ได้ฟังมาก ซึ่งธรรมทั้งหลายที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วน แล้วทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ

    ๓. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้

    ๔. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก

    ๕. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

 

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้เที่ยวไปในทิศทั้งสี่

   จากพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่า หากพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติ ๕ ประการดังกล่าวนี้ เดินทางไปพำนักยังสถานที่ใดสถานที่นั้นย่อมเหมาะแก่การบรรลุธรรม ควรแก่การที่ผู้ใคร่ต่อการบรรลุธรรม จึงน้อมตนเข้าไปหา เพื่อกราบขอความรู้ในการปฏิบัติธรรมจากท่าน

 


คุณสมบัติของภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด

   การเดินธุดงค์เข้าป่าลึกซึ่งมีภัยอันตรายมาก เพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุเป็นการทั่วไป แต่ทรงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า พระภิกษุที่จะอยู่ประจำในป่าลึกได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้ใน "อรัญญสูตร" ดังนี้

 


"อรัญญสูตร"

ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด



      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ควรเพื่อเสพอาศัยเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าและป่าชัฏ

      ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน คือ

      ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรมีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

      ๒. เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่ง สุตะ สะสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอด ด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

      ๓. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

      ๔. เป็นผู้ได้ ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน

      ๕. ย่อม กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ควรเพื่อเสพอาศัยเสนาสนะที่สงัด คือ ป่าและป่าชัฏ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.079718867937724 Mins