บทที่ ๑๐ พระลูกศิษย์เป็นผู้รักการฝึกตน

วันที่ 23 ตค. พ.ศ.2567

2567%2010%2023%20b.jpg

 

บทที่ ๑๐

 

พระลูกศิษย์เป็นผู้รักการฝึกตน

 

2567%2010%2023.b.jpg

 

ความหมายของพระภิกษุผู้รักการฝึกตนในเสนาสนสูตร

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการเป็นพระภิกษุผู้รักการฝึกตนไว้ในเสนาสนสูตรดังนี้

  “ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ในเวลาที่สมควร จึงสอบถามไต่ถามว่าพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไรเนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร”

     การที่พระภิกษุเข้าไปหาพระภิกษุผู้เถระนั้น หมายถึง การเข้าไปขอความรู้จากภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ จึงต้องดูกาลเทสะให้เป็น ต้องรู้จักวางตัวให้เป็น ต้องรู้จักตั้งคำถามให้เป็น คือถามเพื่อนำความรู้มาฝึกฝนอบรมตนเองให้ละเว้นความชั่ว ทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใสยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะบรรลุธรรม สิ้นอาสวะกิเลสตามพระพุทธองค์ไป

      จากพระดำรัสนี้ การที่วัดใดจะได้พระลูกศิษย์ที่เป็นพระดีนั้น มีข้อสังเกตว่า

      สิ่งที่ครูบาอาจารย์ต้องมีให้กับลูกศิษย์ก็คือ

๑. ให้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสติปัญญาของลูกศิษย์

๒. ให้เวลาในการอบรมบ่มนิสัยแก่ลูกศิษย์ด้วยตนเอง

      สิ่งที่ลูกศิษย์ต้องมีให้กับพระอาจารย์ก็คือ

๑. ต้องรู้จักกาลเทสะ ที่เหมาะสมในการเข้าไปหาครูบาอาจารย์

๒. ต้องวางตัวให้เหมาะสมในฐานะลูกศิษย์ คือ มีมารยาท รู้จักให้เกียรติ ให้ความเคารพครูบาอาจารย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ประพฤติตนให้เป็นคนที่ควรได้รับคำแนะนำสั่งสอน

๓. ต้องตั้งคำถามให้เป็น คือถามให้น่าตอบ จึงจะได้ปัญญาในการแก้ไขปรับปรุงนิสัยของตัวเอง ไม่ใช่ถามออกไปแล้ว ใครๆ ฟังดูก็รู้สึกเหมือนกำลังลบหลู่ หรือลองภูมิครูบาอาจารย์

เหตุและปัจจัยในการศึกษาธรรมได้ดี

      ประการที่ ๑ รู้จักตั้งคำถามเป็น

      มีคำอธิบายเรื่องการถามในอรรถกถามหาเวทัลลสูตรดังนี้


อรรถกถามหาเวทัลลสูตร
 

      การถามมี ๕ อย่าง คือ

๑. ถามเพื่อส่องสิ่งที่ยังไม่เห็น

๒. ถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้ว

๓. ถามเพื่อตัดสงสัย

๔. ถามเพื่อซ้อมความเข้าใจ (ให้ยอมรับ, ให้อนุมัติ)

๕. ถามเพื่อต้องการแสดง (เสียเอง, ถามเอง,ตอบเอง)

     การถามเพื่อส่องสิ่งที่ยังไม่เห็นเป็นอย่างไร?

     โดยปกติ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็น ยังไม่ชั่ง ยังไม่ไตร่ตรอง ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่อบรมลักษณะ ก็ถามเพื่อเข้าใจ เพื่อเห็น เพื่อชั่ง (เทียบ) เพื่อไตร่ตรอง เพื่อแจ่มแจ้ง เพื่ออบรม ลักษณะนั้นนี้คือการถามเพื่อส่องถึงสิ่งที่ยังไม่เห็น

     การถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้วเป็นอย่างไร?

     โดยปกติ ผู้ที่เข้าใจได้เห็น ได้ชั่ง ได้ไตร่ตรอง ได้ทราบ ได้แจ่มแจ้ง ได้อบรมลักษณะไว้แล้ว ก็ยังถามปัญหาเพื่อต้องการเทียบเคียงกับหมู่ปราชญ์ พวกอื่น นี้คือการถามเพื่อเทียบเคียง

      การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร?

      โดยปกติผู้แล่นไปในความสงสัยแล่นไปในความเคลือบแคลง เกิดความคิดสองจิตสองใจ “เป็นอย่างนี้ หรือไม่หนอ เป็นอะไร อย่างไรหนอ”

      ก็ถามเพื่อต้องการตัดความสงสัย นี้คือ การถามเพื่อตัดความสงสัย

      การถามเพื่อซ้อมความเข้าใจ

      ส่วนการถือเอาความยอมรับรู้ แล้วถามในเวลาแสดงธรรมอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าการถามเพื่อซ้อมความเข้าใจ

      การถามเพื่อต้องการจะตอบ

     การถามของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงถามภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เองแท้ ๆ แล้วทรงต้องการตอบเสียด้วยตนเองแบบนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายหลักตั้งมั่นของความระลึกเหล่านี้มีสี่อย่าง สี่อย่างเป็นไฉน ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าการถามเพื่อต้องการจะตอบ

       การถามห้าอย่างนั้น ในที่นี้ประสงค์เอาการถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้ว

       ประการที่ ๒ จับประเด็นถูก

       มีเรื่องราวการจับประเด็นถูก กล่าวไว้ในปริสวรรค ดังนี้


ปริสวรรค

หมวดว่าด้วยบริษัท

 

       ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัท ๒ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑.บริษัทที่ดื้อด้านไม่ไต่ถามและไม่ได้รับการแนะนำ

๒. บริษัทที่ไต่ถาม ได้รับการแนะนำ และไม่ดื้อด้าน

       บริษัทที่ไต่ถาม ได้รับการแนะนำและไม่ดื้อด้านเป็นอย่างไร

     คือ  บริษัทใดในธรรมวินัยนี้  เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ท่านผู้เชี่ยวชาญรจนาไว้เป็นบทกวี  มีอักษรวิจิตร  มีพยัญชนะวิจิตรอยู่ภายนอก เป็นสาวกภาษิต พวกภิกษุไม่ ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และไม่ให้ความสำคัญธรรม ว่าควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ

     แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ตถาคตกล่าวไว้ ล้ำลึกมีเนื้อความลึกซึ้ง เป็นโลกุตตรธรรม ประกอบด้วยความว่าง ภิกษุเหล่านั้นกลับ ตั้งใจฟังด้วยดีเงี่ยหูฟังเข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อรู้ทั่วถึง และให้ความสำคัญธรรมว่าควรเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ ครั้นท่องจำธรรมนั้นแล้วย่อมสอบสวนไต่ถามกันว่า

       “พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไรเนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร”

      ภิกษุเหล่านั้นเปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผยทำให้ง่าย  ซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย   และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่าง บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทที่ไต่ถามได้รับการแนะนำ และไม่ดื้อด้าน

      ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้แล

      บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่ไต่ถาม ได้รับการแนะนำ และไม่ดื้อด้านเป็นเลิศ

 


อานันทสูตร

ว่าด้วยคุณธรรม ๖ ของพระอานนท์

 

     ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้เรียนถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า

       ท่านสารีบุตร ภิกษุได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟังธรรมที่ภิกษุนั้นเคยฟังแล้วไม่ถึงความเลอะเลือน

       ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยสัมผัสด้วยใจมาก่อน ปรากฏแก่เธอ และภิกษุนั้นย่อมรู้ธรรมที่ยังไม่เคยรู้ด้วยเหตุเท่าไรหนอ”

       ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

     “ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต  เฉพาะท่านอานนท์เท่านั้น  ที่จะอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้”

       ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ท่านสารีบุตร ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ผมจักกล่าว”

       ท่านพระสารีบุตรรับคำแล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

       “ท่านสารีบุตรภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

     เรียนธรรม  คือ  สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอแสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมาตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

      บอกสอนธรรมที่ได้สดับมาตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

      สาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับตามที่ตนได้เรียนมาโดยพิสดาร

    ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้สดับมาตามที่ตนได้เรียนมา อยู่จำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุเถระผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่

       เข้าไปหาภิกษุเถระเหล่านั้นในเวลาที่สมควร

     แล้วสอบถาม ไต่ถาม ว่า  พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไรเนื้อความแห่งพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อม เปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อความที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ที่น่าสงสัยมีหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น

     ท่านสารีบุตร  ภิกษุได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง  ธรรมที่ภิกษุได้ฟังแล้ว  ย่อมไม่ถึงความเลอะเลือน  ธรรมที่ภิกษุเคยสัมผัสด้วยใจมาก่อน ปรากฏแก่เธอและภิกษุนั้นรู้ธรรมที่ยัง
ไม่เคยรู้ชัดด้วยเหตุเท่านี้แล

     ท่านพระ สารีบุตรกล่าวว่า “ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริงไม่เคยปรากฏ ท่านอานนท์ได้กล่าวไว้ดีแล้ว พวกผมจะทรงจำท่านพระอานนท์ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการเพราะท่านอานนท์

๑. เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ

๒. ย่อมแสดงธรรม ตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

๓.ย่อมบอกสอนธรรม ตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

๔. ย่อมทำการสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร

๕. ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา

๖. ย่อมจำพรรษา อยู่ใกล้ชิดครูอาจารย์อยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เข้าไปหาภิกษุผู้เถระ เหล่านั้นตามกาลอันควร แล้วสอบถามไต่ถามว่า พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความของพระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อเข้าใจยากให้เข้า(ใจ)โดยง่าย และบรรเทาความสงสัย ในธรรมทั้งหลาย ที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น”

      ประการที่สาม รู้จักไต่ถามในเวลาอันควรศึกษาจากปฐมโลกกามคุณสูตร


ปฐมโลกกามคุณสูตร

ว่าด้วยโลกในวินัยของพระอริยะ

 

   ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่าน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทศข้อนี้โดยย่อ ไม่ทรงจำแนก เนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่พระวิหารเสียเมื่อพระองค์เสด็จลุกไปไม่นาน

    พวกเราจึงใคร่ครวญดูว่า ใครหนอจะช่วย จำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดารได้ พวกเราจึงคิดได้ว่า ท่านพระอานนท์นี้ อันพระศาสดา และเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นปราชญ์ยกย่องสรรเสริญ ทั้งท่านพระอานนท์นี้ย่อมสามารถจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความให้พิสดารนี้ โดยพิสดารได้

    ถ้ากระไร เราพากันเข้าไปหา ท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้ว ไต่ถามเนื้อความ ข้อนั้นกะท่าน ขอท่านพระอานนท์ได้โปรดจำแนกเนื้อความเถิด

   ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวหาแก่นไม้อยู่ กลับล่วงเลยรากล่วงเลยลำต้นแห่งต้นไม้มีแก่นต้นใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่เฉพาะหน้าไปเสียมาสำคัญแก่นไม้ที่จะพึงแสวงหาได้ที่กิ่งและใบ ฉันใด คำอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น

   คือ พวกท่านล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับอยู่เฉพาะหน้า ในฐานะเป็น ศาสดาของท่านทั้งหลายไปเสียมาสำคัญเนื้อความที่จะไต่ถามนี้แท้จริงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเมื่อทรงทราบ ย่อมทราบ เมื่อทรงเห็น ย่อมเห็น พระองค์เป็นผู้มีพระจักษุมีพระญาณมีธรรมเป็นผู้ประเสริฐเป็นผู้กล่าว
เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ทำเนื้อความให้ตื้น เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของ แห่งธรรม เป็นผู้ถึงธรรมที่แท้

     เวลานี้ เป็นกาลสมควรที่จะทูลถามเนื้อความข้อนั้นกะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ทรงแก้ปัญหาแก่ท่านทั้งหลายอย่างใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำความข้อนั้นไว้อย่างนั้นเถิด.

เวลาที่สมควรเป็นอย่างไร?

     ศึกษาได้จาก ธัมมัญญุสูตร หัวข้อ กาลัญญู

     คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักกาล มี ๔ อย่าง คือ

     นี้เป็นกาลแห่งอุเทศ (หมายถึงการเรียนพุทธพจน์)

     นี้เป็นการแห่งปริปุจฉา (หมายถึงการสอบถามเหตุผล)

     นี้เป็นการบำเพ็ญเพียร นี้เป็นการหลีกเร้น

     หากภิกษุไม่รู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลแห่งอุเทศ

     นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉา นี้เป็นกาลบำเพ็ญเพียร

     นี้เป็นกาลหลีกเร้น เราไม่เรียกเธอว่าเป็นกาลัญญูในที่นี้

     แต่เพราะภิกษุรู้จักกาลว่านี้เป็นกาลแห่งอุเทศ

     นี้เป็นกาลแห่งปริปุจฉานี้เป็นกาลแห่งกาลบำเพ็ญเพียร

     นี้เป็นกาลหลีกเร้น ฉะนั้นเราจึงเรียกเธอว่าเป็นกาลัญญู

    การที่บุคคลใดจะเป็นพหูสูตได้นั้นบุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้มีศรัทธาเป็นเบื้องต้น เข้าไปศึกษาหาความรู้ รู้จักไต่ถามข้อสงสัยต่างๆตั้งใจฟังจำเนื้อความนั้นแล้วนำไปปฏิบัติโดยจะต้องรู้จักกาลเทศะ ซึ่งในหัวข้อ กาลัญญู

     ซึ่งแบ่งเวลาออกเป็น ๔ ช่วง คือ

๑. ช่วงเวลาศึกษาเล่าเรียน พุทธพจน์

๒. ช่วงเวลาค้นคว้าสอบถามเหตุผล

๓.ช่วงเวลาที่ปฏิบัติบำเพ็ญเพียร

๔. ช่วงเวลาหลีกเร้น (แยกตัวออกจากหมู่คณะเพื่อแสวงหาความวิเวกเป็นครั้งคราว)

เหตุและปัจจัยที่ทำให้แจ่มแจ้งในธรรมของพระตถาคต


ปุณณิยสูตร

ว่าด้วยพระปุณณิยะ

 

     ครั้งนั้น ท่านปุณณิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พระธรรมเทศนาของพระตถาคต แจ่มแจ้งในบางคราว แต่บางคราวไม่แจ่มแจ้ง”

     พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  “ปุณณิยะ  ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่เข้าไปหาธรรมเทศนาของตถาคตจึงไม่แจ่มแจ้งแต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและเข้าไปหาเมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตจึงแจ่มแจ้ง

 

     ปุณณิยะ แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและ เข้าไปหาแต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้ ... เข้าไปนั่งใกล้แต่ไม่สอบถาม สอบถามแต่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม เงี่ยโสตฟังธรรม ...แต่ฟังธรรมแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ได้ ฟังแล้วทรงจำไว้ได้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้... พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม รู้อรรถ รู้ธรรมปฏิบัติสมควรแก่ธรรมแล้วแต่ไม่มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะประกอบด้วยวาจาชาวเมือง ที่สละสลวยไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้

    แต่ไม่ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ไม่ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ ไม่เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ไม่ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ธรรมเทศนาของตถาคตจึงไม่แจ่มแจ้ง

 

ปุณณิยะ แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ๑

เข้าไปหา ๑

เข้าไปนั่งใกล้ ๑

สอบถาม ๑

เงี่ยโสตฟังธรรม ๑

ฟังแล้วทรงจําไว้ ๑

พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้ ๑

เป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

 

มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วย
วาจาชาวเมือง ที่สละสลวยไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ ๑

 

ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัดชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติเร้าใจ ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ๑

 


    เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตจึงแจ่มแจ้ง

    ปุณณิยะธรรมเทศนาของตถาคตประกอบด้วยธรรม ๑๐
ประการนี้แลจึงแจ่มแจ้งโดยแท้

เนื้อความแห่งพุทธพจน์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

    พุทธพจน์ มี องค์ ๙ (นวังคสัตถุสาสน์)

๑. สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้ว ล้วนอรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่ อุภโตวิภังค์ (ปาติโมกข์ทั้งสองฝ่าย) นิเทศ ขันธกะ ปริวาร และพระสูตรในสุตตนิบาตทั้งสูตรอื่นๆ มี มงคลสูตร เป็นต้น

๒. เคยยะ คำสอนประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรองหมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรค สังยุตตนิกาย

๓. เวยยากรณะ คำสอนประเภทที่เป็นอรรถาธิบายโดยละเอียดเป็นร้อยแก้วล้วนๆ เช่นอภิธรรมปิฎกพระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นที่ไม่นับเข้าในองค์ ๘ ข้อที่เหลือ

๔. คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรี คาถา และคาถาล้วน ในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อกำกับว่า “สูตร”

๕. อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของ พระพุทธเจ้า และพระสาวก มี ๘๒ พระสูตร ส่วนมากจะเป็น บทร้อยกรอง

๖. อิตวุตตกะ คำสอนประเภทคำอ้างอิง ที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ มาอ้างเป็นตอนๆ ได้แก่ พระสูตรสั้นๆ ๑๑๐ สูตรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “วุตฺตํ
 เหตํ ภควตา”

๗. ชาตกะ (ชาดก) คำสอนประเภทนิทานชาดก หรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้าขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ มีทั้งหมด ๕๕๐ เรื่อง

๘. อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย เช่น
พระพุทธองค์สมัยอยู่ในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา นั่งสมาธิผินพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าพระอุทร ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินครรภ์เหมือนทารกธรรมดาทั่วไป นี้เป็นเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์เป็นต้น

๙. เวทัลละ คำสอนประเภทคำถาม-คำตอบ เวทัลละ แปลว่า ได้ความรู้ ความปลื้มใจ หมายถึง ผู้ถามได้ความรู้และความปลื้มใจ แล้วก็ถามต่อไปเรื่อยๆ เช่น จูฬเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตรและสักกะปัญหาสูตร เป็นต้น

ต้องได้ครูดีจึงจะเอาดีได้

     พระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปสอบถามพระภิกษุที่เป็นพระโสดาบันแล้วจำนวน  ๔  รูป  ว่าท่านเหล่านั้นมีวิธีปฏิบัติธรรมอย่างไรแต่ปรากฏว่าคำตอบที่ได้รับจากแต่ละรูปไม่เหมือนกัน จึงเกิดความสงสัยว่า เหตุใดปฏิบัติไม่เหมือนกันแต่กลับบรรลุเป็นพระโสดาบันเหมือนกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอธิบายด้วยการใช้อุปมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า คำตอบที่แตกต่างกันของพระภิกษุโสดาบันทั้งสี่รูปนั้น เกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกันกับการบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างไร ดังปรากฏในกิงสุโปมสูตรดังนี้

 


กิงสุโกปมสูตร

ว่าด้วยอุปมาด้วยต้นทองกวาว

 


     ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งถึงที่อยู่แล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นดังนี้ว่า

     “ผู้มีอายุ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

     ภิกษุรูปนั้นตอบว่า

    “ผู้มีอายุ เพราะภิกษุรู้ชัดถึงความเกิดและความดับแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

     ขณะนั้น ท่านไม่พอใจการตอบปัญหาของภิกษุรูปนั้นจึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามภิกษุรูปนั้น ดังนี้ว่า

      “ผู้มีอายุ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

       ภิกษุรูปนั้นตอบว่า

   “ผู้มีอายุ เพราะภิกษุรู้ชัดถึงความเกิดและความดับแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

      ต่อมา ท่านไม่พอใจการตอบปัญหาของภิกษุรูปนั้นจึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งถึงที่อยู่แล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า

      “ผู้มีอายุ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงมีทัศนะหมดจด ”

      ภิกษุนั้นตอบว่า

    “ผู้มีอายุ  เพราะภิกษุรู้ชัดถึงความเกิดและความดับแห่งมหาภูตรูป  ๔  ตามความเป็นจริง  ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แลภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

      ต่อมา ท่านไม่พอใจการตอบปัญหาของภิกษุรูปนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งถึงที่อยู่แล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า

      “ผู้มีอายุ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

      ภิกษุรูปนั้นตอบว่า

     “ผู้มีอายุเพราะภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

     ต่อมา  ท่านไม่พอใจการตอบปัญหาของภิกษุรูปนั้น  จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่แล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า “ผู้มีอายุด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

    เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปนั้นได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า “ผู้มีอายุเพราะภิกษุรู้ชัดถึงความเกิดและความดับแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการตามความเป็นจริง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

   ขณะนั้นข้าพระองค์ไม่พอใจการตอบปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า .... ฯลฯ ....

 


.....ความเกิดและความดับ อุปาทานขันธ์ ๕ .....

.....ความเกิดและความดับ มหาภูตรูป ๔ .....

..... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา ...ฯ

 


   ต่อมา ข้าพระองค์ไม่พอใจการตอบปัญหาของภิกษุรูปนั้น จึงเข้ามาเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ ฯลฯ

   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอภิกษุจึงมีทัศนะหมดจดดี”

   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ เปรียบเหมือนบุรุษไม่เคยเห็นต้นทองกวาวเลย เขาเข้าไปหาบุรุษคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามบุรุษนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร”

   บุรุษนั้นจึงตอบอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ต้นทองกวาวดำเหมือนตอที่ถูกไฟไหม้”

  เวลานั้นต้นทองกวาวเป็นดังที่เขาเห็น ขณะนั้นเขาไม่พอใจการตอบปัญหาของบุรุษนั้น จึงเข้าไปหาบุรุษอีกคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามบุรุษนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร”

  บุรุษนั้นพึงตอบอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ต้นทองกวาวแดงเหมือนชิ้นเนื้อ” เวลานั้นต้นทองกวาวเป็นดังที่เขาเห็นต่อมาเขาไม่พอใจการตอบปัญหาของ

  บุรุษนั้น พึงเข้าไปหาบุรุษอีกคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามบุรุษนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญต้นทองกวาวเป็นเช่นไร”

  บุรุษนั้นพึงตอบอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ต้นทองกวาวที่เกิดนานมีฝักเหมือนต้นซึกั

 เวลานั้นต้นทองกวาวเป็นดังที่เขาเห็น  ต่อมา  เขาไม่พอใจการตอบปัญหาของบุรุษนั้น  จึงเข้าไปหาบุรุษอีกคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่แล้วถามบุรุษนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร”

  บุรุษนั้นพึงตอบอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ต้นทองกวาวมีใบแก่และใบอ่อนหนาแน่น มีร่มทึบเหมือนต้นไทร”

 เวลานั้นต้นทองกวาวเป็นดังที่เขาเห็นแม้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน การเห็นของสัตบุรุษเหล่านั้นผู้เชื่อแล้วเป็นอันถูกต้องโดยประการใด ๆ สัตบุรุษเหล่านั้นก็ได้ตอบโดยประการนั้น ๆ

  ภิกษุเมืองชายแดนของพระราชา มีกำแพงและเชิงเทินมั่นคง มี ๖ ประตู

  นายประตูของเมืองนั้นเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตเฉพาะคนที่ตนรู้จักให้เข้าไปในเมืองนั้น

  ราชทูต ๒ นายมีราชการด่วนมาจากทิศตะวันออก ถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า “ผู้เจริญ เจ้าเมืองๆ นี้อยู่ที่ไหน”

  นายประตูนั้นตอบอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ที่ทางสี่แยกกลางเมือง”

  ลำดับนั้น ราชทูต ๒ นายผู้มีราชการด่วนได้มอบถวายพระราชสาส์นตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้วกลับไปตามทางที่ตนมา

  ราชทูตอีก ๒ นายผู้มีราชการด่วน มาจากทิศตะวันตก ฯลฯ มาจากทิศเหนือ ... มาจากทิศใต้ แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า “ผู้เจริญ เจ้าเมืองๆ นี้อยู่ที่ไหน”

   นายประตูนั้นตอบอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ที่ทางสี่แยกกลางเมือง”

  ลำดับนั้น ราชทูต ๒ นายผู้มีราชการด่วนนั้นได้มอบถวายพระราชสาส์นตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว ก็กลับไปตามทางที่ตนมา แม้ฉันใดอุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เรายกมาก็เพื่อให้เข้าใจเนื้อความชัดเจน

  ในอุปไมยนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้

  คำว่า เมือง นี้เป็นชื่อของ กาย นี้ ซึ่งประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากมารดาบิดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา

  คำว่า มี ๖ ประตู นี้เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖ ประการ

  คำว่า นายประตู นี้เป็นชื่อของ สติ

  คำว่า ราชทูต ๒ นาย ผู้มีราชการด่วน นี้เป็นชื่อของสมถะและวิปัสสนา

  คำว่า เจ้าเมือง นี้เป็นชื่อของ วิญญาณ

  คำว่า ทางสี่แยกกลางเมืองนี้เป็นชื่อของมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ


๑. ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน)

๒. อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)

๓. เตโชธาตุ (ธาตุไฟ)

๔. วาโยธาตุ (ธาตุลม)

 

  คำว่า พระราชสาส์นตามความเป็นจริง นี้เป็นชื่อของ นิพพาน

  คำว่า ทางตามที่ตนมา นี้เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ


 

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ฯลฯ

๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)”


 

  จากคำตรัสในพระสูตรนี้มีข้อคิดและข้อสังเกตว่า

๑. การสอบถามผู้รู้เป็นการหาความรู้ที่ถูกต้องในการปฏิบัติ แต่การรู้ได้แจ้งชัด มีแต่ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น

๒. สถานที่แห่งใดมีพระเถระ ผู้เป็นพหูสูต ทรงภูมิรู้ ภูมิธรรมและยินดีต่อการชี้แนะหนทางพระนิพพานสถานที่แห่งนั้นคือประตูสู่มรรคผลนิพพานในแดนมนุษย์

๓. ผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งได้แล้ว แม้ต่างคนต่างตอบไม่เหมือนกัน แต่หมายถึงพระนิพพานเหมือนกัน มีแต่ผู้เห็นพระนิพพานแล้วเท่านั้นจึงจะรู้ว่าแม้ตอบไม่เหมือนกัน แต่ไม่มีอะไรขัดกันแม้แต่ค่าเดียว

๔. การทำพระนิพพานให้แจ้งต้องอาศัยการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นสายกลางแห่งการบรรลุธรรมแต่มรรคมีองค์ ๘ จะครบถ้วนได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำสมาธิภาวนาเท่านั้น หากไม่ทำสมาธิภาวนาต้นทางแห่งการมุ่งตรงสู่พระนิพพานย่อมไม่เกิดขึ้นในบุคคลนั้น

๕. การบำเพ็ญภาวนาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งนั้นสมถและวิปัสสนาต้องติดคู่กันไม่พรากออกจากกันจึงจะเห็นพระนิพพาน

๖. พระอรหันต์เห็นพระนิพพาน ๔ ครั้ง


  - เห็นครั้งแรก คือ เป็นพระโสดาบัน

  - เห็นครั้งที่สอง คือ เป็นพระสกทาคามี

  - เห็นครั้งที่สาม คือ เป็นพระอนาคามี

  - เห็นครั้งที่สี่ คือ เป็นพระอรหันต์

มิได้เป็นพระอรหันต์แต่เห็นพระนิพพาน

  มีหลักฐานในพระไตรปิฎกที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระสงฆ์ผู้ยังไม่หมดกิเลส แต่ก็สามารถเห็นพระนิพพานได้ ดังปรากฏในโกสัมพิสูตรดังนี้


โกสัมพิสูตร

ว่าด้วยการสนทนาธรรม ณ กรุงโกสัมพี

 

  สมัยหนึ่ง ท่านพระมุสิละ ท่านพระปวิฏฐะ ท่านพระนารทะ และท่านพระอานนท์พักอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี

  ...ท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ เว้นจากความชอบใจ เว้นจากการฟังตามกันมาเว้นจากการคิดตรองตามแนวเหตุผล เว้นจากการเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว ท่านนารทะมีความรู้เฉพาะตนว่า “ความดับแห่งภพเป็นนิพพานหรือ”

  “ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ เว้นจากความชอบใจ เว้นจากการฟังตามกันมาเว้นจากการคิดตรองตามแนวเหตุผล เว้นจากการเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว ผมรู้เห็นว่าความดับแห่งภพเป็นนิพพาน”

  “ถ้าเช่นนั้นท่านนารทะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพละสิ”

 “ท่านผู้มีอายุ ข้อว่า “ความดับแห่งภพเป็นนิพพาน” ผมเห็นดีด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ เปรียบเหมือนบ่อน้ำในทางกันดารที่บ่อนั้นไม่มีเชือก ไม่มีคันโพง ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากระหายน้ำมา เขามองดูบ่อน้ำนั้น ก็รู้ว่ามีน้ำ แต่สัมผัสด้วยกายไม่ได้ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น ข้อว่า “ความดับแห่งภพเป็นนิพพาน” ผมก็เห็นดีด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ”

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028777098655701 Mins