วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๑๔ ผู้ประพฤติธรรม
ตั้งแต่มิคารเศรษฐีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ประตูบ้านของนางวิสาขาก็เปิดออกสำหรับต้อนรับพระสงฆ์สาวกแห่งพระผู้มีพระภาค มีเสมอที่นางนิมนต์พระสงฆ์จำนวนร้อย มีพระพุทธองค์เป็นประมุข เพื่อรับภัตตาหารและเสวยที่เรือนของนาง ใจของนางที่เปี่ยมปิติสุขยามบำเพ็ญทานนั้น อุปมาว่า ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ มหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ ฉันใด บัณทิตทั้งหลายย่อมไม่อิ่มไม่เบื่อในการสั่งสมบุญ ฉันนั้น
จึงปรากฏว่านางทำบุญทำกุศลโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย ความสุขใจเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐที่สุด ก็ความสุขใจใดเล่าจะเสมอด้วยความสุขความอิ่มใจ เพราะรู้สึกว่าตนได้ทำความดี ตลอดเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี นางจะไปเฝ้าพระองค์วันละ ๒ เวลา คือเวลาเช้าและเวลาเย็น เมื่อไปในยามเช้าก็ถือข้าวยาคูและอาหารอื่นๆ ติดมือไปด้วย เมื่อไปเวลาเย็นก็มีน้ำปานะชนิดต่างๆ ที่ควรแก่สมณบริโภคไป นางไม่เคยไปมือเปล่าเลย ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาต่างก็พร้อมใจกันเรียกนางว่า มหาอุบาสิกา เพื่อเป็นเกียรติแก่นางผู้มีใจอันประเสริฐ
ฝ่ายมิคารเศรษฐีบิดาแห่งสามีคิดว่า “ลูกสะใภ้ของเรามีอุปการะมาก เราควรจะกระทำของขวัญแก่นางสักอย่างหนึ่ง อันว่าเครื่องประดับของนางมีน้ำหนักมาก ไม่อาจประดับไว้ตลอดกาลเป็นนิตย์ได้ เห็นทีเราควรจะหาช่างกระทำเครื่องประดับแบบเบาๆ ให้แก่นาง ซึ่งอาจประดับได้ทุกอิริยาบถ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เห็นจะเป็นการดี ” คิดดังนี้แล้วท่านเศรษฐีได้ให้ช่างกระทำเครื่องประดับที่มีชื่อว่า "ฆนมัฏฐกะ" ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับเกลี้ยงๆ มีราคาหนึ่งแสนกหาปณะ
เมื่อช่างกระทำเครื่องประดับเสร็จแล้ว มิคารเศรษฐีได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมารับภัตตาหารยังเรือนของตนด้วยความเคารพ เพื่อเป็นการฉลองเครื่องประดับ ให้ชนทั้งหลายได้เห็นคุณค่าของเครื่องประดับนี้ ว่าเหมาะสมกับหญิงผู้เลิศเช่นนางวิสาขา เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล ท่านเศรษฐีให้นางวิสาขาอาบน้ำหอม ๑๖ หม้อ ให้นางยืนตรงพระพักตร์พระบรมศาสดา ให้ถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว เมื่อพระบรมศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาแล้ว จึงเสด็จกลับไปพระวิหารตามเดิม
นับตั้งแต่นั้นมา นางวิสาขาเวลากระทำบุญต่างๆ มีทานเป็นต้น นางปรากฏประหนึ่ง “ จันทเลขา ” อยู่ในท้องฟ้า และนางถึงความเจริญด้วยบุตรและธิดา นางวิสาขานั้นมีบุตรชาย ๑๐ คน บุตรสาว ๑๐ คน และบรรดาบุตรธิดาเหล่านั้น คนหนึ่งๆ ได้มีบุตรชายคนละ ๑๐ มีบุตรสาวคนละ ๑๐ คนเช่นกัน ส่วนบรรดาหลานเหล่านั้นของนางวิสาขา คนหนึ่งๆมีบุตรชาย ๑๐ คน มีบุตรสาว ๑๐ คน เช่นกัน โดยนัยเป็นมาเช่นนี้ ปรากฏนางวิสาขามีลูกมีหลานและมีเหลนต่อๆ กันไปรวมถึง ๘ , ๔๒๐ คน
นางวิสาขามีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ไม่มีผมหงอกเลยแม้แต่เส้นเดียว นางดูอ่อนกว่าวัย เหมือนสาวรุ่นอายุ ๑๖ ปี อยู่เป็นนิตย์ เมื่อนางวิสาขาพร้อมด้วยบริวารเดินไปทางไหน บุคคลทั้งหลาย ย่อมไต่ถามกันว่า “หญิงคนไหนคือนางวิสาขา” ย่อมได้รับคำตอบว่า “ผู้ที่เดินได้สง่างามที่สุด คือนางวิสาขา” ไม่เพียงแต่เท่านั้น ไม่ว่านางวิสาขาจะอยู่ในอิริยาบถใด ล้วนชวนมองงดงามอย่างยิ่ง ชนทั้งหลายย่อมคิดว่า “ขอให้ยืนอีกหน่อย นั่งอีกหน่อย นอนอีกหน่อยเถิด แม่เจ้าของเรายืนงามนัก นั่งงามนัก นอนงามนัก”
นางวิสาขาเป็นผู้ที่ใครพูดติเตียนไม่ได้เลยว่า “ในอิริยาบถทั้ง ๔ มี ยืน เดิน นั่ง นอน ของนางไม่งามในอิริยาบถโน้น”
นอกจากนี้ นางวิสาขายังเป็นมีกำลังเท่ากับ ช้าง ๕ เชือก พระราชาทรงสดับว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกามีกำลังเท่ากับช้าง ๕ เชือก ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงทดลองกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างออกไปในเวลาที่นางวิสาขาเดินทางกลับจากฟังธรรม
ขณะที่นางวิสาขาพร้อมด้วยเหล่าบริวารเดินทางกลับ ได้ยินเสียงช้างตกมันร้องดังมาจากทางเบื้องหน้า วิ่งมาด้วยฝีเท้าอันรวดเร็ว ชนทั้งหลายพากันแตกตื่น บ้างหกล้มหกลุกหัวหกก้นขวิด บ้างฉุดกระชากลากถูส่งเสียงร้องอื้ออึงกันสับสนอลหม่าน ฝ่ายบริวารที่ภักดีนางวิสาขาคอยป้องกันนายไม่ห่าง นางถามบริวารว่า “เกิดอะไรขึ้น”
บริวารตอบว่า “ข้าแต่แม่เจ้า ได้ทราบว่า พระราชามีพระราชประสงค์จะทดลองกำลังของแม่เจ้า จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างตกมันออกมาเจ้าค่ะ”
นางวิสาขาคิดว่า “จะมีประโยชน์อะไรที่เราเห็นช้างแล้ววิ่งหนีไป แต่เราจะจับช้างอย่างไรดีหนอ ถ้าเราจับช้างแน่น ช้างก็จะตาย” ดังนี้แล้ว นางวิสาขาจึงตัดสินใจใช้ ดัชนีกรุณา ต่อช้างนั้น ด้วยนิ้วเพียงสองนิ้ว เมื่อช้างวิ่งมาจึงใช้นิ้วจับเข้าที่งวงแล้วผลักไป
ช้างนั้นไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ซวนเซล้มลงอย่างแรงในที่นั้น นั่นเอง มหาชนทั้งปวงได้สาธุการ ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกาพร้อมด้วยบริวารได้พากันกลับมาเรือนของตนโดยสวัสดิภาพ
ในสมัยเมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้มีลูกหลานมาก ลูกหลานของนางเป็นผู้ไม่มีโรค สุขภาพแข็งแรง จึงได้รับสมมติว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง ในพระนครสาวัตถี ปรากฏบรรดาลูกหลานของนางวิสาขาจำนวนพันๆ แม้คนหนึ่งที่จะตายก่อนอายุขัยไม่มีเลย ในงานมหรสพที่เป็นมงคล เจ้าของงานจะถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ถ้านางวิสาขาไปร่วมงานด้วย
ดังนั้น ชนทั้งหลายจึงเชิญนางไปเกือบทุกงาน ชาวเมืองสาวัตถีได้เชิญนางวิสาขาให้บริโภคก่อน เป็นการเอาฤกษ์เพื่อหวังให้เกิดสวัสดิมงคล การไปของนางวิสาขาถือกันว่าเป็นการนำมงคลมาสู่บ้าน ดังพระศาสดาตรัสว่า เกียรติย่อมไม่ละผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้
เมื่อไปในงานมงคล นางวิสาขาต้องสวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์อันงดงามและเลิศค่า คราวหนึ่ง นางกลับจากงานมงคลในกรุงสาวัตถี ระหว่างทางต้องการจะแวะไปเฝ้าพระบรมศาสดา แต่เห็นว่าไม่ควรจะสวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เข้าไป จึงถอดออกแล้วห่อให้หญิงคนรับใช้ถือไว้
เมื่อเฝ้าพระบรมศาสดาพอสมควรแก่เวลาแล้ว นางได้ถวายบังคมลาออกมา เมื่อถึงหน้าวัดเชตวันนางจึงเรียกเครื่องประดับนั้นจากหญิงคนใช้เพื่อจะสวม พลันหญิงคนรับใช้ถึงกับหน้าถอดสี เมื่อนึกขึ้นได้ว่าลืมเครื่องประดับนั้นไว้ บริเวณที่ประทับของพระบรมศาสดานั่นเอง