"สมเด็จย่า" มหาบุพการีแห่งแผ่นดิน

วันที่ 21 ตค. พ.ศ.2547

 

 

    เมื่อนึกถึงขวัญและกำลังใจของแผ่นดิน ทุกดวงใจของคนไทยมุ่งตรงไปที่ “สมเด็จย่า” นึกถึงพระวรกายที่แสนบอบบาง สองพระหัตถ์อ่อนละมุนเปี่ยมด้วยพระกรุณา แต่ดวงพระราชหฤทัยเข้มแข็งเกินสตรีนี้แหละที่ได้สร้างชาติ ประคับประคองประชาชนและแผ่นดินมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ เป็นความผูกพันใกล้ชิด เป็นความคุ้นตาคุ้นใจ เสมือนหนึ่งแผ่นดินนี้ขาดสมเด็จย่าไม่ได้
   
    สมเด็จย่าทรงเป็นสตรีที่มีบุญมาก แต่บุญญาธิการนั้นไม่ได้เกิดจากอำนาจราชศักดิ์ หากเกิดแต่น้ำพระราชหฤทัย จากความเสียสละอันใหญ่หลวงที่ตราตรึงแผ่นดิน ตรึงใจประชาชนไว้อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย จนเกิดเป็นความภักดีอย่างท่วมท้น หากไม่มี “สมเด็จย่า” ประเทศไทยคงไม่มีพระเจ้าอยู่หัวผู้ประเสริฐถึงสองพระองค์ คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริงเลยว่า ประชาชนทั้งแผ่นดินเป็นหนี้พระคุณสมเด็จย่า และเป็นหนี้พระคุณที่คนไทยต้องสำนึกด้วยชีวิต

    ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พสกนิกรชาวไทยต่างพร้อมใจกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่พระองค์ทรงเสียสละเพื่อแผ่นดินตลอดมา

    สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เดิมชื่อสังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๓ ทรงเป็นบุตรคนที่ ๓ ของพระชนกชู และ พระชนนีคำ ต่อมาไม่นานพระชนกและพระชนนีได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่พระชนมายุได้เพียง ๙ พรรษา หลังจากนั้นพระองค์ทรงอยู่ในความอุปการะของพี่สาวพระชนนีตลอดมา

     พระชนนีคำเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษในการอ่านและรู้หนังสือ ได้นำความรู้นั้นมาสอนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเปรียบเสมือนรากฐานสำคัญ ที่ผลักดันให้พระองค์ทรงก้าวเข้าสู่การศึกษา ขั้นสูงขึ้นต่อไป พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเข้าเรียนที่โรงเรียนผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ตามคำชักชวนของพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาวิชาพยาบาลที่สหรัฐอเมริกา

     ขณะนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ ปีที่ ๑ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงพบ และพอพระทัยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์ และมีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ ก.ย ๒๔๖๓

     หลังจากอภิเษกสมรสแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนกไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา หลังจากทรงเสด็จที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อวันที่ ๖ พ.ค ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล” และทรงพระราชทานนามแก่พระราชโอรสองค์ที่สอง เมื่อวันที่ ๒๐ ก.ย ๒๔๖๘ ว่า “หม่อมเจ้าอานันทมหิดล”

     ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพียงพระองค์เดียว เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ และประทับอยู่จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชชนกทรงนำครอบครัวไปประทับที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ประสูติพระราชโอรสองค์ที่สอง ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ เมื่อวันที่ ๕ ธ.ค ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช”

     ขณะที่พระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้าย ทรงประชวรอย่างหนัก แต่ทรงสามารถสอบได้ปริญญาแพทย์ศาสตร์ขั้นเกียรตินิยม หลังจากสอบเสร็จ ทางประชวรด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ต้องรับการผ่าตัด เมื่อหายประชวรได้พาพระโอรสและพระธิดาเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากนั้นทรงพระประชวรอยู่ประมาณ ๔ เดือนก็สิ้นพระชนม์ เมื่อ ๒๔ ก.ย ๒๔๗๒ ณ พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม

     ขณะนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระชนมายุเพียง ๒๙ พรรษา ทรงรับหน้าที่เลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง และด้วยน้ำพระราชหฤทัยเข้มแข็ง ทรงทำหน้าที่เป็นทั้งพระชนกและพระชนนีอย่างดีที่สุด ยากจะหาหญิงใดเสมอเหมือน

     นับเป็นบุญญาบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ และบุญของคนไทยที่มีสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ดีเลิศ เป็น “สมเด็จย่า” มหาบุพการีแห่งแผ่นดิน ความเป็นคนดีของสมเด็จย่านั้น ได้เป็นที่ประจักษ์แก่พระทัยสมเด็จบรมราชชนก แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ดังลายพระหัตถ์กราบบังคมทูล สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อขอพระราชทานหมั้น นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ว่า

     “สังวาลย์เป็นกำพร้า…แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง…”

     แม้ว่าทรงถือกำเนิดเป็นสามัญชน แต่ทรงมีคุณสมบัติของความเป็นแม่ที่ดีเลิศ เป็นที่พึ่งของลูกได้ทุกกรณี ทำให้ทรงสั่งสอนอบรมพระราชโอรสธิดาให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม และพระราชจริยาวัตรของขัตติยราชโดยสมบูรณ์ตามพระราชประเพณี

     แม้จะอยู่ในฐานะแห่งพระราชมารดาขององค์พระมหากษัตริย์ แต่สมเด็จย่าโปรดที่จะทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง วางพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำสตรีในแผ่นดิน พระองค์ทรงถ่ายทอดอุปนิสัยเรียบง่าย รักการประหยัด มาถึงพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ เหมือนกับที่พสกนิกรชาวไทยคุ้นเคยกับภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เรียบง่าย ซึ่งเราสังเกตได้ว่าทรงใช้มาหลายปีแล้วแทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทรงสวมกล้องถ่ายรูป แทนสร้อยพระศอ ในพระหัตถ์ทรงถือแผนที่ประเทศไทย เครื่องประดับที่จำเป็นสำหรับพระองค์คือ ดินสอดำ ซึ่งทรงพกติดกระเป๋าฉลองพระองค์ตลอดเวลา

     นี่เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ไทย ที่บอกให้โลกรู้ว่า ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องอาศัยแสนยานุภาพของพระราชอำนาจ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ แต่ทรงยิ่งใหญ่ด้วยการเสียสละอย่างสูงสุดมากกว่าใครในแผ่นดิน เพราะทรงมีพระบรมราชชนนีที่ดีเลิศคอยวางรากฐานชีวิต การเตรียมพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี ได้ทรงเรียนรู้ชีวิตของประชาชนทุกระดับมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

     บัดนี้ สมเด็จย่าได้ทำหน้าที่แห่งชีวิตสมบูรณ์แล้ว สองพระหัตถ์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ได้สร้างคุณธรรม ความดีให้ปรากฎแก่โลกอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีส่วนไหนของแผ่นดินไทยที่สมเด็จย่าไม่เคยไปเยี่ยมเยียน ไต่ถามทุกข์สุข ปลอบขวัญให้กำลังใจแก่ทวยราษฎร์ มีน้ำพระราชหฤทัยกว้างใหญ่ดังผืนฟ้า สมดังพระนาม “แม่ฟ้าหลวง”

     และแล้วแม่ฟ้าหลวงได้กล่าวลาแผ่นดินที่หวงแหน จากความอบอุ่นท่ามกลางความจงรักภักดีของประชาชน พาพระวรกายอันบอบบาง และพระราชหฤทัยอันแสนเสียสละของพระองค์เสด็จสู่สรวงสวรรค์ แม้แผ่นดินจะกำสรวล แต่แผ่นดินก็รู้ว่าสวรรค์ชื่นใจนักที่ได้เป็นที่สถิตย์แห่งแม่ฟ้าหลวงพระองค์นี้ตราบนานเท่านานและที่สำคัญ… ไม่มีวันจางหายไปจากดวงใจของผองไทยตราบนิรันดร์

 


โดย...อุบลเขียว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027790931860606 Mins