สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย (ตอนที่ ๓)

วันที่ 06 พย. พ.ศ.2547


ผลงานวิจัย คุณสุนทร บุญสถิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๔๓

 

.....สมมุติฐานที่ ๔ กลุ่มชาวพุทธที่มีความพร้อมด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตชนบท ไม่นิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณร เนื่องจากเห็นว่า สามเณรที่บวชเรียนอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจากครอบครัวชาวพุทธในเขตชนบท ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีฐานะค่อนข้างยากจนถึงปานกลาง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนที่บิดามารดาเสียชีวิตหรือประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก ดังนั้น กลุ่มชาวพุทธที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีและไม่ประสบปัญหาทางสังคมในสถาบันครอบครัว ก็น่าจะไม่นิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สามเณรไทยในปัจจุบันลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง

ผลการวิจัยพบว่า เป็นจริง เนื่องจากพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ประกอบอาชีพค้าขายและกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบอาชีพข้าราชการ ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างมั่นคงในเขตชนบท มีแนวโน้มจะไม่ส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรมากกว่ากลุ่มอื่น โดยพบผู้ที่ไม่อนุญาตให้เด็กในปกครองบวชเรียนเป็นสามเณรมากกว่ากลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และกลุ่มที่มีสถานะเป็นหม้าย/หย่าร้าง หรือเป็นผู้ปกครองเด็กชายที่บิดา/มารดาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในสมมุติฐานที่ ๔ นี้ คือการพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีสถานะเป็นหม้าย/หย่าร้าง หรือเป็นผู้ปกครองเด็กชายที่บิดา/มารดาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในสถาบันครอบครัว เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน

อนึ่ง ในส่วนท้ายของงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของสามเณรในสังคมไทย โดยการสัมภาษณ์พระภิกษุผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาของสามเณรไทยในระดับมหัพภาคต่อไป ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

ในส่วนของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสามเณร พระภิกษุผู้ทีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ได้เสนอทัศนะว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนความอบอุ่นของสามเณรที่บวชเรียนเป็นหน้าที่หลักของเจ้าอาวาสและพระเถระผู้ใหญ่ภายในวัด การลงโทษสามเณรที่ซุกซนด้วยวิธีการอย่างเฉียบขาด ยังเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องใช้ต่อไป การห้ามใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามเป็นวิธีการที่ดีที่สุด สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความสนใจเพศตรงข้ามของสามเณร

ในส่วนของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านทุนการศึกษา พระภิกษุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ได้เสนอทัศนะว่า ปัญหาการขาดแคลนทุนการศึกษาของสามเณรจะสามารถบรรเทาและแก้ไขได้ด้วยการจัดตั้ง “ ทุนนิธิเพื่อการศึกษา ” โดยการนำของพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาและเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน

ในส่วนของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา พระภิกษุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ได้เสนอทัศนะว่า ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรมของสงฆ์ในปัจจุบัน เกิดจากผู้เรียน ผู้สอน หลักสูตร และระบบการวัดผลการเรียน รวมไปถึงองค์กรปกครองสูงสุดของสงฆ์คือมหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของคณะสงฆ์ การบังคับภิกษุสามเณรให้เรียนฝ่ายปริยัติธรรม เป็นมาตรการที่จำเป็นต้องมีอยู่ต่อไป เนื่องจากยังไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ การส่งเสริมให้ภิกษุและสามเณรได้มีโอกาสในฝ่ายสามัญศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน ความไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรมของสงฆ์กับความต้องการส่วนใหญ่ของสังคม นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในระบบการจัดการศึกษาของสงฆ์ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ปัญหาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของสงฆ์ จะถูกนำไปสู่กระบวนการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ต่อเมื่อผ่านความเห็นชอบขององค์กร ปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคมเท่านั้น

ในส่วนของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรไทย พระภิกษุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสนอทัศนะว่า การส่งเสริมการศึกษาฝ่ายสามัญศึกษาในวัดเพื่อเป็นเหตุจูงใจให้เยาวชนบวชเรียนเพิ่มมากขึ้น เป็นแนวทางที่ดีสำหรับการแก้ไขปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรไทย การส่งเสริมการบวชเรียนที่ได้ผลรัฐกับสงฆ์ต้องประสานความร่วมมือกัน โดยให้กรมการศาสนาซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นฝ่ายกำหนดแผนงานและแนว นโยบายแล้วจึงมอบให้คณะสงฆ์เป็นฝ่ายดำเนินการต่อไป สำหรับกลุ่มเป้าหมายแรกในการส่งเสริมการบวชเรียนคือกลุ่มเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ตัวอย่างเช่น เด็กในครอบครัวฐานะยากจน เด็กกำพร้าหรือประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก แต่ในขณะเดียวกันก็ควรเปิดโอกาสให้แก่เยาวชนทุกกลุ่ม

ทัศนะของผู้วิจัย หากประมวลข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในภาคเอกสารและภาคสนาม อาจกล่าวสรุปได้ว่า ปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรไทยในปัจจุบัน มีอยู่ ๓ ประการ คือ การขยายโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาล การมีบุตรน้อยลงของประชากร และการไม่นิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรของกลุ่มชาวพุทธที่มีความพร้อมด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

อ้างอิง สุนทร บุญสถิต .( ๒๕๔๓) สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

 

สุมินต์ตรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.003781799475352 Mins