เมื่อต้องเผชิญกับอุบัติเหตุ ความไม่สงบ ภัยจากการก่อการร้าย ภัยพิบัติจากธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ เราจะแก้ปัญหาและผ่านพ้นภาวะที่บีบคั้นนี้ได้อย่างไร ?
โลกหวั่นไหว-ภัยความคิด-คลื่นยักษ์ถล่ม
เหตุการณ์ตึก World trade ถล่ม จากการถูกโจมตีด้วยกลุ่มก่อการร้าย แม้ห่างมาหลายปีแล้ว แต่สำหรับบางคนความรู้สึกกลัวต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงมีอยู่ในใจ เพราะสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินมากมาย
ต่อเนื่องกัน คือ เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิรัก ที่นานาชาติโดยมีสหรัฐอเมริกาเข้าไปจัดระเบียบ หลังจากโค่นอำนาจประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แต่มีชาวอิรักส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสหรัฐและนานาชาติ จึงก่อความไม่สงบทั้งก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ หน่วยงานและอาสาสมัครจากนานาชาติซึ่งทำงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ จึงโดนโจมตี ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอยู่เป็นระยะๆ
ในประเทศไทย เหตุการณ์กลุ่มก่อการร้าย ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภัยอันเกิดจาก มีแนวความคิดในการดำเนินชีวิตไม่ตรงกัน กลุ่มผู้ก่อการร้ายจึงปลุกระดมชาวบ้านหาเหตุแบ่งแยกดินแดน สถานการณ์ยังอยู่ในอาการทรงๆ เพราะแม้จับผู้ต้องสงสัยได้ แต่ยังมีการสร้างความไม่สงบทั้งลอบยิงและวางระเบิดอยู่เป็นระยะ
การแก้ไขปัญหาแบบเด็ดขาดยังทำไม่ได้ เพราะมีปัจจัยแวดล้อมมากมายทั้งปัจจัยภายในและจากภายนอก สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ คุมเชิงสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ และให้กำลังใจคนที่ยังอยู่ในพื้นที่ ด้วยโครงการพับนกสื่อสันติภาพ หรือ โครงการจากรัฐบาลที่สร้างบ้าน ๑ หลัง ๑ อำเภอ ให้ประชาชนที่ยากจนและบ้านเรือนทรุดโทรม ก็เพิ่มขวัญกำลังใจให้คนไทยทางภาคใต้ได้อีกทางหนึ่ง
ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม เหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มทางภาคใต้ แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ๖ จังหวัด ( กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ตรัง สตูล) อันเป็นผลพวงมาจากเหตุธรณีพิบัติหรือแผ่นดินไหวตรงปลายแหลมของเกาะสุมตรา รัฐอาเจะ ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสภาพจิตใจและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นอันมาก ยอดคนเสียชีวิตคาดว่าอยู่ที่ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ราย ผู้บาดเจ็บและสูญหายร่วมหมื่นราย โดยทางภาครัฐคาดว่า สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท และคงต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูด้านต่างๆ เป็นตัวเลขในวงเงินนับหมื่นล้านบาท
เหตุการณ์ความไม่สงบในต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศนั้น สร้างความหวั่นไหว ไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของตนเอง มีความหวาดระแวงและหวาดวิตกไปทั่วโลก คนเริ่มเครียดและแสวงหาที่พึ่งทางใจ และดูเหมือนคำสอนในพระพุทธศาสนาจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะมีการสอนเรื่องการฝึกจิตให้มีสติ หรือ “สมาธิ” นั้น สร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจได้ดีทีเดียว
ดังตัวอย่างจาก ข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์ในดัลลัส มลรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า ในทศวรรษ ๒๐๐๐ การให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณค่าของ “สติ” ขยายตัวอย่างกว้างขวาง เหมือนกับความเชื่อเรื่อง “ทูตสวรรค์” ในปีทศวรรษที่ ๑๙๙๐ เห็นได้จาก หนังสือและเทปเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวกับความมีสตินั้น บ่อยครั้งกลายเป็นหนังสือและเทปที่ขายดี
การเจริญสติ ยังกลายเป็นหัวข้อที่สำคัญในงานสัมมนาต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันแม้แต่โรงพยาบาลและนักจิตวิทยาทั้งหลาย สอนให้คนป่วยใช้การเจริญสมาธิเป็นหนทางในการบรรเทาและรับมือกับการเจ็บป่วยเรื้อรัง อาการเครียด และความเศร้า มีรายงานว่า โรงพยาบาลและคลินิกมากกว่า ๒๐๐ แห่งในสหรัฐอเมริกา ใช้การฝึกจิต หรือสมาธิ ส่งเสริมผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจและร่างกาย
ดังเช่น Pauk Keinarth แพทย์แห่ง Austin ได้เริ่มนั่งสมาธิเมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ในช่วงที่จิตใจมีภาวะย่ำแย่ เกิดความกังวลในการทำงาน และเครียด ทำให้นอนไม่หลับ และมีปัญหากับครอบครัว Keinarth ซึ่งขณะนี้เปิดคอร์สอนสมาธิกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเหลือเชื่อ ปัจจุบันใช้ชีวิตอย่างสบายและปลอดโปร่ง แทนที่จะจมอยู่กับเรื่องเก่าๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น และมีความอดทนมากขึ้นด้วย
เมื่อ ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา นิตยสาร Body & Soul ลงบทความเรื่อง “The Natural Guide to Mindful Living ” หรือ วิถีธรรมชาติสู่การดำเนินชีวิตอย่างมีสติ โดยบทบรรณาธิการกล่าวว่า การเจริญสติ คือ การใช้ชีวิตอย่างรู้ตัวในสถานการณ์ปัจจุบัน กลายเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมอเมริกันไปแล้ว
โดยเฉพาะความสนใจของดารา ยิ่งทำให้พุทธศาสนาเป็นที่น่าสนใจ เช่น “สแตน คอลลีมอร์” อดีตนักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์ทีมอังกฤษ หันมาฝึกสมาธิอย่างจริงจัง โดยตื่นตั้งแต่ตี ๕ เพื่อมานั่งสมาธิ แล้วทำให้ความเครียดจากแรงกดดันรอบด้านก็เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ หรือ “ริชาร์ด เกียร์” ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับ “เจนนิเฟอร์ โลเปซ” หันมาสนใจคำสอนและการปฏิบัติในศาสนาพุทธเช่นกัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบและสร้างความหวั่นไหว กังวลใจ ที่มาจากทั้งภัยธรรมชาติและภัยก่อการณ์ร้ายต่างๆ ไม่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น แต่บุคคลทั้งหลายที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตถ้ามีสติ ก็จะสามารถฝ่าฟันผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ หรือ สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันนั้นได้
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คนทั้งหลายมักจะมีการวางแผนชีวิต วางแผนเรื่องการใช้เงิน จึงเป็นสิ่งที่ดีว่า น่าจะลองนำหลักคำสอนของพุทธศาสนา ว่าด้วยการเจริญสติหรือทำสมาธิ มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแผนการณ์ชีวิตในปีใหม่นี้ด้วย
เพราะการที่เราจะสามารถมีสติ หรือ ดึงสติมาใช้ได้ในยามปกติ ยามเกิดความเครียดสะสม หรือยามฉุกเฉิน แสดงว่า เราต้องมีความชำนาญในการใช้สติพอสมควร นั้นหมายถึงว่า เราต้องมี “ชั่วโมงบิน” ของการฝึกเจริญสติ สั่งสมอารมณ์หยุดอารมณ์นิ่งมามากพอ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจึงจะมีสติ ใช้งานสติได้ทันเวลาและทันท่วงที
หลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่องกันจนคล่องปากขึ้นใจว่า “ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส” นั้นแหละใช้ได้ทุกกาล เพียงแต่ไม่ค่อยหยิบมาใช้กัน เพราะเมื่อใจคุ้นกับความดี จิตใจจะผ่องใส อารมณ์แจ่มใส เรียกใช้สติเมื่อไรก็มา แม้ไม่เรียกถ้าคล่องแล้วก็มีสติรู้ตัวโดยอัตโนมัติและตลอดเวลา
ง่ายกว่านั้น คือ วางใจเบาๆ ลงไปที่ศูนย์กลางกาย แหล่งรวมความรู้สึกนึกคิด (เห็น จำ คิด รู้) รวมเป็นจุดเดียวนิ่งสนิทเมื่อไร จากสติธรรมดาก็กลายเป็น “มหาสติ” ยิ่งดำเนินจิตพิจารณาตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ได้ชื่อว่าเจริญ “มหาสติปัฏฐาน ๔“ นอกจากมีสุขในปัจจุบันจากจิตที่สงบดีแล้ว ยังส่งผลให้ได้รับสุขในสัมปรายภพ และพบสุขอย่างยิ่ง เรียกว่า บรมสุข คือ นิพพาน
ชาวโลกทั่วไป มนุษย์เดินดินแค่ได้สุขที่แท้จริง ในปัจจุบันนี้ก็ปลาบปลื้มใจแล้ว ดังนั้น การเจริญสติควรทำให้ได้ ง่ายๆ เอาใจจรดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางให้ได้อย่างตลอดต่อเนื่อง ทำไปพร้อมๆ กันได้ ทั้งดำเนินชีวิต ทำงาน และทำสมาธิ เท่านี้จะเผชิญวิกฤต หรือดำเนินชีวิตปกติ ก็สามารถพบกับความสุข สงบ และปลอดภัยได้เช่นกัน
วุฑฺฒิวํโส