โรคสมองติดยา

วันที่ 04 กค. พ.ศ.2549

รู้ไหม ? อย่างไร? จึงเรียกว่า โรคสมองติดยา…

สมอง...ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญของชีวิต ในทางการแพทย์สมองคือส่วนสำคัญในการควบคุมร่างกาย เช่นเดียวกับในทางกฎหมาย….สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย….ในทางกฎหมายเมื่อแกนสมองตายฐานะของบุคคลในทางกฎหมายจึงจะสิ้นสุดลง ในหนังสือ สมองติดยา ของนายแพทย์สุชาติ เลาหบริพัตร อดีตผู้อำนวยการกองประสานการปฏิบัติการบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติด ซึ่ง มีศูนย์บำบัดศูนย์หนึ่งที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เขียนไว้ว่าสมองประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ

- สมองส่วนนอก เรียกว่า สมองส่วนคิด จะทำหน้าที่จดจำ คิด จินตนาการ และตัดสินใจ

- สมองส่วนกลาง ในหนังสือโรคสมองติดยาเล่มนี้คุณหมอไม่ได้อธิบายไว้

- ก้านสมอง เรียกว่า สมองส่วนอยาก จะทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ สัญชาตญาณต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตเราอยู่รอด ได้แก่ ความอยาก อาหารและน้ำ ตลอดจนความต้องการทางเพศ เป็นต้น

ในคนปกติ สมองส่วนคิดจะทำหน้าที่ควบคุมสมองส่วนอยาก เช่น เมื่อเกิดอาการหิวขึ้น สมองส่วนคิดจะควบคุมว่าเวลานั้น สถานที่นั้นน่าจะเหมาะกับการรับประทานอาหาร เมื่อสมองส่วนอยากเกิดความต้องการทางเพศ สมองส่วนคิดก็จะกำหนดว่าเวลาใดจะสามารถทำกิจกรรมอย่างที่สมองส่วนอยากต้องการ ความต้องการที่ผิดกาละเทศะจึงถูกระงับไว้

     สิ่งที่เรียกว่าสมองติดยา คือ การเสพยาในปริมาณที่มากจนติดยา ทำให้การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป สมองส่วนคิดถูกทำลาย ทำให้สมองส่วนอยากมีอิทธิพลเหนือสมองส่วนคิด เมื่อเกิดอาการอยากยาหรืออาการเสี้ยนยา สมองส่วนคิดจะไม่สามารถยับยั้งสมองส่วนอยาก ทำให้ผู้ติดยาต้องดิ้นหายามาเสพให้ได้ อาการกระโดดตึก อาการเอามีดจี้คอหอยเด็ก การฆ่าแม่ ทำร้ายคนใกล้ชิด ล้วนเกิดจากอาการที่สมองส่วนอยากมีอิทธิพลเหนือสมองส่วนคิดทั้งสิ้น

พฤติกรรมผู้ติดยา : คุณหมอสุชาติอธิบายต่อว่า แม้การติดยาจะเป็นโรคทางสมองโรคหนึ่ง แต่การติดยาไม่ใช่โรคทางสมองเพียงอย่างเดียว ยังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม จะมีความคิดในแง่ดีต่อการเสพยา จะคิดถึงยาเมื่อมีอารมณ์เหงา หรือ โดดเดี่ยว พึ่งพาผู้อื่น ขาดความพยายาม มองโลกในแง่ร้าย ไม่ยอมรับค่านิยมของสังคม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ค่อย ๆ เกิดขึ้น เป็นพฤติกรรมที่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้างและสังคม จึงจำเป็นต้องแยกตัวออกมาและคบหากันในคนเสพยาด้วยกัน

ดื้อยา : เกิดขึ้นกับผู้เสพทุกคน จะต้องเพิ่มปริมาณและความถี่ของการเสพขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ฤทธิ์ของยาตามที่ต้องการ ในกรณีของยาบ้า ผู้เสพครั้งแรกจะเสพเพียง 1 ใน 4 ของเม็ด หรือ 1 ขา ยาก็จะออกฤทธิ์แล้ว เมื่อเสพต่อเนื่องนานขึ้น ผู้เสพต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งบางคนต้องเสพหลายเม็ดหรือหลายครั้งต่อวัน สาเหตุที่ดื้อยาเป็นเพราะเซลล์สมองที่ถูกกระตุ้นด้วยยาบ้า มีการตอบสนองต่อยาบ้าน้อยลง ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณยาบ้าขึ้นเรื่อย ๆ ในการกระตุ้นสมอง เพื่อให้เกิดผลต่อร่างกายเท่าเดิม

เมื่อขาดยา : จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับฤทธิ์ของยาบ้า หงุดหงิด เครียด กระวนกระวาย ซึมเศร้า บางรายก้าวร้าว อาละวาด อาการเหล่านี้จะรุนแรงในระยะแรก ต่อมาอาการต่าง ๆ จะลดน้อยลง ต่อมาผู้หยุดยาบ้าจะมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ง่วงนอน หลับตลอดทั้งวัน รวมทั้งหิวอยู่ตลอดเวลา อาการจะรุนแรงในสัปดาห์แรก และลดลงในสัปดาห์ต่อมา

เสี้ยนยา : คือความต้องการเสพยาที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามความรุนแรงของการติดยา เป็นอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นในผู้ติดยาบ้า เมื่ออาการ “เสี้ยนยา” รุนแรง จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ต้องดิ้นรนหามาเสพให้ได้ อาการเสี้ยนยาจะปรากฏออกมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้ติดยาเห็นอุปกรณ์การเสพ มีเพื่อนชวนเสพ หรือว้าเหว่ อาการเสี้ยนยาเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ติดยาไม่สามารถเลิกได้อย่างถาวร ต้องหันกลับมาเสพอีก

วงจรการติดยา : การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะติดยาต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ขึ้นอยู่กับประเภทของยาและปริมาณการเสพ กรณียาบ้า ผู้เสพต้องลองเสพก่อน เมื่อติดใจในฤทธิ์ของยาบ้า ก็จะเสพเป็นประจำ และบ่อยขึ้น ในระยะนี้ผู้เสพจะเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เสียการเรียนและการงาน ขาดความรับผิดชอบและเสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด หากเสพต่อไปผู้เสพจะหมกมุ่นอยู่กับยาบ้าทั้งวัน ไม่คิดอยากจะทำอะไร ชีวิตล้มเหลว ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จะมีความผิดปกติด้านจิตใจ หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวงคิดว่าจะมีผู้อื่นมาทำร้าย ไม่สามารถควบคุมจิตใจตนเองได้

เมื่ออธิบายอาการผู้ป่วยเช่นนี้ในวงการผู้บำบัดผู้ติดยาเสพติด จึงสรุปได้ว่า ผู้ติดยาเสพติด เป็นผู้ป่วยโรคสมองติดยา ซึ่งเราพบเห็นอยู่ประจำในชีวิต ที่ศูนย์บำบัดหลายๆ แห่ง เช่น ที่ศูนย์พัฒนาคุณธรรม เราพบ “หมั่นกู้” ชายหนุ่มอายุราว 20 เศษ ที่ศูนย์พัฒนาคุณธรรม อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา ผู้ดูแลเล่าว่า “หมั่นกู้” เคยเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เสพยาบ้า บำบัดที่นี่มานานแล้ว แม้ขณะนี้จะไม่กลับไปเสพยา แต่สมองส่วนคิดของ “หมั่นกู้” ก็ไม่สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ “หมั่นกู้” มีอาการเหมือนที่คนทั่วไปให้นิยามว่า คนบ้า เสียสติ เหมือนไม่รับรู้ความเป็นไปของโลกรอบตัว

เราเคยพบ “หล้า” ที่ดงบัง ประจันตคาม ขณะพูดคุย “หล้า” มีอาการสั่นน้อย ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ยังพยายามควบคุมตัวเอง ตั้งใจรักษา สมองส่วนคิดของ “หล้า” ยังไม่ถูกทำลาย เมื่อเทียบกับ “หมั่นกู้”

ในอดีต...มีความพยายามหลากหลายรูปแบบในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด แต่ไม่มีรูปแบบการบำบัดใดที่เป็นสูตรสำเร็จให้ผู้ติดยาหายขาด ความรู้ความเข้าใจเพื่อรักษาผู้ติดยาก็เปลี่ยนไป ผู้เสพที่ในอดีตถูกดำเนินคดีอาญาในฐานะนักโทษ ปัจจุบันกฎหมายต้องบังคับบำบัดโดยกรมคุมประพฤติ ตาม พรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 2545 ความรู้ในการบำบัดหลากหลายรูปแบบถูกนำมาใช้ นำมาทดลอง ชุมชนบำบัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่นำมาใช้ในกระบวนการฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยโรคสมองติดยา

ความรู้ที่ถูกต้อง ความรัก ความเข้าใจในผู้ป่วยเท่านั้นที่จะเป็นทางออกของปัญหาผู้ติดยาเสพติดที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ การรับรู้ทั้งหมดทั้งมวลต้องไม่เปลี่ยนแปลงในมุมมองแคบ ๆ ของชุมชน นักบำบัดหรือคนทำงานด้านยาเสพติดเท่านั้น หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทัศนะของสังคมโดยรวมไปด้วยกัน เช่นเดียวกับการปรับทัศนะต่อคนติดเชื้อ HIV เอดส์ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยมีต้นทุน แต่ยังไม่มีการนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เราต้องเร่งใส่ความรู้ใหม่ เข้าไปในสังคมเพื่อปรับทัศนคติรองรับผู้ติดยาเสพติดเหล่านี้

ข้อมูล : แผนงานสนับสนุนการแก้ปัญหายาเสพติด สสส.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019704715410868 Mins