วัยรุ่นส่วนใหญ่ เห็นด้วย กับมาตรการห้ามจำหน่ายสุรา และบุหรี่ ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันเอดส์โลก โดยยอมรับว่า การดื่มสุรามีส่วนทำให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รายละเอียดติดตาม ได้จากรายงานชิ้นนี้ค่ะ
ส่งท้ายวันเอดส์โลก พร้อมกับการบังคับใช้ มาตรการ เข้มงวด ผู้ประกอบการร้านค้า ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ห้ามจำหน่ายสุราและบุหรี่ ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และกำหนดเวลาจำหน่ายสุรา ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยวัยรุ่นต่างเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยยอมรับว่า สุรามีส่วนทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และเป็นที่น่าตกใจไม่น้อย จากตัวเลขการสำรวจของสำนักโรคระบาด พบว่า เด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 16 - 17 ปี จากจำนวน 6,730 คน เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว 21 เปอร์เซ็นต์ โดยจำนวนนี้ 6.7 เปอร์เซ็นต์มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 15 ปี ซึ่งสุราก็มีส่วนสำคัญกับปัญหานี้ซึ่งปัญหาที่ตามมา จากการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ โรคเอดส์ และจากผลสำรวจในวัยรุ่นหญิงดังกล่าว พบว่า มีเพียง 31 เปอร์เซ็นเท่านั้น ที่ใช้ถุงยางอนามัย และปัจจุบัน มีเยาวชนอายุ 15 -24 ปี กว่า 7 หมื่นรายจากทั่วประเทศ ที่เป็นโรคเอดส์
ส่วนมาตราการ ห้ามร้านค้าทุกประเภท ขายบุหรี่ และสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะถูกเข้มงวดกวดขันอย่างจริงจัง หรือไม่นั้น วัยรุ่นส่วนใหญ่มองว่า เป็นไปได้ยาก เพราะเชื่อว่า ร้านค้าหรือสถานบริการหลายแห่งยังถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ สำหรับมาตราการดังกล่าว หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการกำหนดเวลาให้ร้านค้าขายสุราได้ 2 ช่วง ระหว่างเวลา 11.00-14.00 นาฬิกา และเวลา 17.00 -24.00 นาฬิกา ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ.2515 หากฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นมา
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ จำหน่ายเกินเวลาที่กำหนด ต้องได้รับใบอนุญาตจากตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หากถูกจับกุม เจ้าหน้าที่จะเรียกผู้ปกครองมาตักเตือน และทำทัณฑ์บน ซึ่งหากกระทำผิดซ้ำ จะถูกส่งตัวเข้าค่ายฝึกอบรม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ....
วัยรุ่นหญิงไทยน่าห่วงอายุแค่ 15 แต่ซดเหล้าจัดต่างน้ำ!
รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข รณรงค์แจ้งเตือนผู้ประกอบการร้านค้าที่จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ขายเหล้า-สุราให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยจะเริ่มตรวจจับลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจังตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป เผยสถิติคนไทยดวดสุราติดอันดับ 5 ของโลก ที่น่าวิตกพบว่าวัยรุ่นอายุ 11-19 ปี กว่า 1 ล้านคนดื่มเป็นแล้ว ส่วนกลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มน่าจับตามอง มีแนวโน้มดื่มสุราเพิ่มขึ้น
เช้าวันนี้(29 พ.ย)ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการรณรงค์ “คนอุบลร่วมใจ ห่างไกลเหล้าบุหรี่” ที่สนามศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี มีอาสาสมัครสาธารณสุขจากทุกหมู่บ้าน นักเรียน เจ้าหน้าที่และ ผู้ประกอบการเข้าร่วมรณรงค์กว่า 5,000 คนการรณรงค์ ประกอบด้วย การมอบป้ายรณรงค์ให้ผู้แทนอำเภอต่างๆ จำนวน 25 อำเภอ รวมทั้งชมรมร้านอาหารจังหวัดอุบลราชธานี ห้างเทสโก้โลตัส ห้างบิ๊กซีซูเปอร์เซนเตอร์ ห้างแม็คโคร ห้างโรบินสันยิ่งยง ห้างยงสงวน ห้างหงษ์ทองสรรพสินค้า ร้านเซเวนอิเลพเว่น และมีพิธีเทเหล้า-เผาบุหรี่ การปล่อยขบวนรถรณรงค์ไปยังหมู่บ้านต่างๆเพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มบังคับใช้กฏหมายห้ามจำหน่ายสุราและบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป
ศ.นพ.สุชัย กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายห้ามจำหน่ายสุราและบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการบริโภคบุหรี่และแอลกอฮอล์ในประชาชนไทย โดยเฉพาะเยาวชน สถานการณ์การดื่มสุราของคนไทยขณะนี้น่าวิตกมาก ประเทศไทยมียอดการบริโภคสุรามากเป็นอันดับ 5 ของโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 14 ลิตรต่อปี รองจากโปรตุเกส ไอร์แลนด์ บาฮามา และสาธารณรัฐเชค ในปี 2546 วัยรุ่นชายอายุ 11-19 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1.06 ล้านคน โดยเฉลี่ยคนไทยใช้เงินซื้อเหล้าครั้งละ 100-300 บาท
ในช่วง 7 ปีมานี้กลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด โดยการดื่มในปี 2546 เพิ่มจากปี 2541 ถึง 5 เท่าตัว ในจำนวนนี้ร้อยละ 8 จัดว่าดื่มจัดคือดื่มทุกวันหรือดื่มอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง ผลเสียของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเรื้อรังมากกว่า 60 ชนิด รวมทั้งการบาดเจ็บ และสุรากลายเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของอุบัติเหตุจราจรพบมากถึงร้อยละ 50 จากเมาแล้วขับ ส่วนสถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2544 ทั่วประเทศมีคนสูบเป็นประจำมากถึง 10.6 ล้านคน โดยเพิ่มจากปี 2542 ซึ่งมีคนสูบ 10.2 ล้านคน และแนวโน้มมีสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน การสูบบุหรี่เป็นการเร่งให้เสียชีวิตเร็วขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดโรคเรื้อรังทุกข์ทรมาน เช่นโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้รัฐสูญเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก
ศ.นพ.สุชัย กล่าวอีกว่า มาตรการที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ประกอบด้วย ห้ามร้านค้าทุกประเภท ขายบุหรี่และสุราให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับส่วนเด็กที่ซื้อจะเรียก ผู้ปกครองมาตักเตือนและทัณฑ์บนด้วย และการกำหนดเวลาให้ร้านค้าขายสุราได้ 2 ช่วง ได้แก่เวลา 11.00-14.00 น. และเวลา 17-24.00 น. ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ.2515 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดตู้ปณ.224ปณจ.นนทบุรี 11000 รับแจ้งเบาะแสผู้ที่ละเมิดไว้ 24 ชั่วโมง
ที่มาและภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผู้จัดการออนไลน์ วันจันทร์ ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2547
ที่มาและภาพประกอบจากสถานีข่าว 11 News 1 (ออนไลน์) วันศุกร์ ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2547