เสียขา ไม่เสียหัวใจ ชีวิตก้าวต่อไปของเหยื่อละอ่อน"เมาแล้วขับ"

วันที่ 17 ธค. พ.ศ.2548

        

 

   บางคนฝันอยากเป็นหมอ บางคนฝันอยากเป็นตำรวจ บ้างฝันอยากเป็นนายแบบนางแบบ หรือคุณครู ฯลฯ

ในจำนวนความฝันมากมายเหล่านี้ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ไปถึงจุดหมาย และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาบอกว่า

พวกเขาได้แต่ฝัน...
 

       เก่ง ธวัช สาตุเชื้อ หนุ่มลพบุรีหน้าตาสะอาดวัย 21 ปี นักเรียนโรงเรียนอาชีวะมหาไถ่ พัทยา นักเต้นวีลแชร์ แด๊นซ์ กล่าวหลังเสร็จสิ้นการแสดงในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "เหยื่อเมาแล้วขับ ใครรับผิดชอบ?" ของเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ซึ่งร่วมมือกับมูลนิธิเมาไม่ขับจัดขึ้นว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เก่งประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่เขาขับถูกรถกระบะซึ่งคนขับเมาสุราชนเข้าอย่างจัง ขาขวาของเขาแตกละเอียดยาวไปถึงสะบ้า

     "ผมต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 2 เดือน ขาเกิดมีหนอง มันจะเน่า หมอเลยต้องตัดขาทิ้ง แล้วผมต้องมารักษาตัวอยู่ที่บ้าน ทำกายภาพบำบัดอีก 7 เดือน ก่อนจะมาเข้ามหาไถ่ ผมทำใจได้นะ เพราะเมื่อมาถึงโรงเรียนแล้ว เห็นบางคนเป็นยิ่งกว่าเราอีก แต่ก็น่าแปลกนะ ส่วนใหญ่คนที่ประสบอุบัติเหตุมักพิการขาขวา เพื่อนในทีมแด๊นซ์ผม เสียขาขวาทั้งนั้น"

     ต้น ศรัณยู ทิพย์แสง นักเต้นเก้าอี้ไฟแลบอีกคนหนึ่งวัย 20 ปี กล่าวคล้ายเก่งว่า เขาเองก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะขับรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนเพื่อดูผลสอบตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน โดยถูกรถ 18 ล้อพุ่งชนด้านหลังอย่างจัง แรงปะทะครั้งนั้นทำให้ต้นต้องแลกขาขวากับเงินชดเชยตามกฎหมายเพียงเล็กน้อย

     "ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 3 เดือน คิดฟุ้งซ่านไปว่า ถ้ากลับไปที่หมู่บ้านแล้วจะเป็นอย่างไร เราจะกลายเป็นตัวประหลาดไหม ต่อไปนี้จะเรียนจะทำงานอะไร มันเครียดมากจนขอให้หมอฉีดยาตายให้ แล้วพอกลับไปบ้านก็เป็นอย่างที่คิด คนทั้งหมู่บ้านแห่มาดูผมเหมือนผมเป็นตัวประหลาด มันหงุดหงิด แล้วก็น้อยใจ พอมาเป็นสภาพนี้ ตอนแรกผมไม่ออกจากบ้านเลย 2 ปี จนกระทั่งมีคนมาแนะนำว่าที่มหาไถ่มีสอนวิชาชีพก็เลยเดินทางมาเรียน เพราะการกล้าออกมาเรียนที่นี่ ทำให้ผมรับตัวเองได้มากขึ้น และเริ่มทำกิจกรรมเข้าชมรมวีลแชร์ แด๊นซ์ ตามรุ่นพี่"

     หนุ่มขาแด๊นซ์ทั้งคู่เล่าด้วยว่า กว่าจะเต้นวีลแชร์ได้คล่องแคล่วจนสามารถโชว์บนเวทีได้ ไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การฝึกหมุน ยก เลี้ยงตัว ฯลฯ บนวีลแชร์ ซึ่งท่าทางต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้พละกำลังแขนอันแข็งแกร่ง ทีมแด๊นซ์ต้องหัดยกเวต เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ยิ่งเป็นสมัยก่อนด้วยแล้วจะมีการยกตัวเหนือเก้าอี้วีลแชร์ หากกำลังแขนไม่ดีพอ หนุ่มๆ ก็เตรียมร่วงลงพื้นได้เลย

     "บ่อยไปที่ร่วงลงพื้น แต่เจ็บเราไม่กลัวเท่าหน้าแตก เพราะพลาดตอนแสดง การแสดงแต่ละครั้งเราต้องเลือกเพลง คิดท่าใหม่ๆ ในเวลากำจัด ตอนแสดงครั้งแรก สั่นเป็นเจ้าเข้า แต่ก็ผ่านมาด้วยดี ที่ภูมิใจคือได้แสดงแด๊นซ์หน้าพระที่นั่ง ตั้งแต่ได้แสดงวีลแชร์แด๊นซ์ ทำให้ผมกล้าแสดงออกมาขึ้น และอยู่ท่ามกลางสายตาคนได้อย่างไม่เขิน อีกเทอมเดียวผม 2 คนจะจบหลักสูตรคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ต่อไปผมจะไปทำงานด้านการวางระบบคอมพิวเตอร์ตามที่เรียนมา" ต้นกล่าวในตอนท้ายเมื่อเอ่ยถึง "เหยื่อ" น้ำเมาแล้ว ก็อดไม่ได้ที่ต้องขอถามความคิดเห็นของผู้ขับขี่ยานยนต์ขณะมึนเมาว่าเขาคิดอย่างไรกันบ้างเอก นิตินัย รติชน หนุ่มแนววัย 24 ปี อดีตจำเลยข้อหาขับขี่รถขณะมึนเมา ด้วยอัตราแอลกอฮอล์สูงประมาณ 170 มิลลิกรัม ในขณะที่กฎหมายระบุว่าควรมีได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม ขณะนี้เอกกำลังอยู่ระหว่างการรอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี และคุมประพฤติ 1 ปี เขาบอกว่า "ผมไปกินเหล้าร้านเพื่อน พอรู้ตัวว่าเมาก็อยากกลับบ้านเลยขับรถออกมา แต่ถูกตำรวจที่ตั้งด่านอยู่ฝั่งตรงข้ามร้านเรียกตรวจ งานนี้เลยถึงฆาต มันก็แสดงให้เห็นนะว่า บ้านเราก็เอาจริงเรื่องนี้ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดกับทุกคน เป็นการสุ่มตรวจมากกว่า"ก่อนหน้านี้ผมก็เคยเมาแล้วเกิดอุบัติเหตุรถลงข้างทาง บาดเจ็บเอาการอยู่ แต่ผมไม่เคยรู้เลยนะว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้เพื่อนในสังคมต้องสูญเสีย เพราะความมีสติไม่เต็มร้อยแบบนี้ พอได้มาเห็นสภาพเหยื่อชัดๆ ผมก็คิดว่า ต่อไปนี้ถ้าจะกินเหล้านั่งแท็กซี่กลับบ้านน่าจะดีกว่า แล้วเรื่องที่ผมถูกจับนี่ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของเพื่อนผมนะ ถ้าเขาเมาแล้ว เขาก็ไม่กล้าขับรถกัน"

     นี่คือ ภาพสะท้อน 2 แง่มุมที่สะท้อนอย่างน่าคิดว่า การกระทำที่ขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนของคนคนหนึ่ง นำมาซึ่งการตัดถนนแห่งความฝันของอีกหลายร้อยพันชีวิต อย่างไม่มีโอกาสขอแก้ตัว

แอลกอฮอล์ก่ออุบัติเหตุ

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับอุบัติเหตุจราจรดังนี้

* ระดับแอลกอฮอล์ 20-40 มก.เปอร์เซ็นต์ (ประมาณไม่เกิน 1 ชม หลังการดื่มเบียร์ 1 ขวด) จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม 3-5 เท่า

* เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มเป็น 6-17 เท่าที่ระดับ 50-70 มก.เปอร์เซ็นต์

* เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เป็น 29-240 เท่าที่ระดับ 100-140 มก. เปอร์เซ็นต์

* และสูงกว่า 300 เท่าที่ระดับเกิน 150 มก.เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่ม

     ผู้ที่ “เมาแล้วขับ” ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากที่คิดว่าตัวเองยังขับขี่รถได้แม้ว่าได้ดื่มก่อน จากการสำรวจเอแบคโพลล์ พบว่าร้อยละ 33.9 ของคนที่ดื่มเบียร์คิดว่าตนเองยังสามารถขับขี่รถได้อย่างปลอดภัยหลังจากดื่มเบียร์ 2 ขวดใหญ่ขึ้นไป และร้อยละ 51.8 ของคนที่ดื่มเหล้า(สุรากลั่น)คิดว่าตนเองยังสามารถขับขี่รถได้อย่างปลอดภัยหลังจากดื่ม 1 แบนขึ้นไป

     ตัวอย่างที่ชัดเจนอาจเห็นได้จากรายงานการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุขนส่งในช่วงวันหยุดปีใหม่ 2547 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ร้อยละ 72.7 ของผู้บาดเจ็บรุนแรงจากพาหนะทุกประเภท ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุ และที่น่าเศร้าคือ ในปี 2547 มีผู้บาดเจ็บรุนแรงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุถึง ร้อยละ 44.2 สูงกว่า ปี 2546 ซึ่งมีร้อยละ 19.2

     สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้วิเคราะห์ไว้ว่า หากสามารถลดอุบัติเหตุจากคนเมาได้ร้อยละ 50 จะลดการเสียชีวิตปีละ 2,900 ราย ลดการบาดเจ็บปีละ 29,625 ราย และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 13,975 ล้านบาท

     โดยในปี 2545 มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุจราจรของประเทศไทยเท่ากับ 122,400 – 189,040 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.25 – 3.48 ของ GDP (ประเทศอื่นประมาณ ร้อยละ 1-2 ของ GDP)

ที่มาและภาพประกอบจาก

หนังสือพิมพ์มติชน ปีที่ 27 ฉบับที่ 9725 วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 หน้า 25

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025580700238546 Mins