ปฏิบัติธรรมเสมอดีต่อสมอง

วันที่ 13 กพ. พ.ศ.2548

 

....เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เดวิดสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ทำการทดลองแสกนคลื่นสมองของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติธรรมมามากกว่า ๑๐ , ๐๐๐ ชั่วโมง ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Magnetic Resonance Imaging เปรียบเทียบกับผู้ฝึกสมาธิในขั้นเริ่มต้นว่า พบว่า พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำจะมีคลื่นสมองที่เป็นระเบียบมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น การทดลองยังพบอีกว่า ในระหว่างที่ทำสมาธิอยู่นั้น ในกลุ่มพระสงฆ์จะมีคลื่นสมองที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอีกด้วย ในขณะที่กลุ่มผู้ที่ฝึกสมาธิในระยะเริ่มต้นมีคลื่นสมองเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

        ผลการวิจัยดังกล่าว ถูกนำเสนอในที่ประชุมหัวข้อ “ จิตใจและชีวิต” ( The 12 th annual conference of the mind and life Institute ) ครั้งล่าสุดที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีองค์ทไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งธิเบต เป็นประธานในการประชุม เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มีนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลของการปฏิบัติธรรม หรือทำสมาธิที่มีผลต่อร่างกายไว้ เช่น เฮอร์เบิร์ท เบนสัน ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการทดลองโดยสังเกตผู้นั่งสมาธิจำนวน ๓๖ คน เพื่อศึกษาอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด อุณหภูมิผิวหนัง พบว่าช่วงที่นั่งสมาธิพวกเขาใช้ออกซิเจนลดลง ๑๗% มีอัตราการเต้นของหัวใจลดลง ๓ ครั้ง ต่อนาที และมีอัตราคลื่นสมองเกิดขึ้นเช่นเดียวกับผู้ที่กำลังนอนหลับ เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำสมาธิเป็นประจำยังส่งผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย

 

       อาจกล่าวได้ว่า การที่นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พบว่าการฝึกสมาธิมีผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด มีการค้นพบเช่นนี้มาหลายยุคหลายสมัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฝึกสมาธิมีประโยชน์มากกว่านั้น โดยเฉพาะต่อชีวิตมนุษย์ทุกคน สมาธิไม่ดีแต่เฉพาะร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่สมาธิยังสามารถพัฒนาศักยภาพทางปัญญาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

 

    มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ต่างแสวงหาความสุขที่แท้จริงด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่ามีชีวิตอยู่ในระดับไหนก็ตาม ต่างก็อยากกินอย่างมีความสุข นอนอย่างมีความสุข แม้แต่ตายไปแล้วก็อยากตายอย่างมีความสุข

 

นี่คือความปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า ความปรารถนาของมนุษย์ยากนักจะสมหวัง

 

     เพราะส่วนใหญ่มักพบแต่ความสุขจอมปลอมทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไร อยู่ที่ไหน และจะเข้าถึงได้อย่างไร

 

    เมื่อไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ จึงแสวงหาความสุขไปตาม “ รสนิยม” เท่าที่ความรู้แจ้งในใจจะเอื้ออำนวย ซึ่งเป็นความรู้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องแสวงหาเรื่อยไป ตกเป็นทาสอารมณ์ที่ถมไม่เต็มอยู่เสมอ แต่ประสบการณ์ภายในที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ทำให้เรารู้จักความสุขที่แท้จริง รู้จักคนที่ควรรู้จักเป็นคนแรก นั่นคือ ตัวเอง ก่อนที่จะรู้จักผู้อื่น เป็นศูนย์รวมแห่งขุมพลังภายในอันน่าอัศจรรย์ที่รอการพิสูจน์ด้วยตัวเอง

 

      การใช้ชีวิตของคนบนโลกนี้ ทุกครั้งที่เราลืมตา เราจะมองเห็นข้อบกพร่องของคนทั้งโลก แต่หากเราลองหลับตาจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราได้ทำความรู้จักกับตัวเอง เห็นข้อบกพร่องและหนทางแก้ไขตัวเอง

ทั้งนี้การนั่งสมาธิเจริญภาวนา ก่อประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมอย่างจะนับประมาณได้ อาทิเช่น

 

๑. เป็นผู้รู้จักบริหารเวลา เหตุใดการนั่งสมาธิจึงดูเป็นการบริหารเวลา เพราะเห็นว่าเป็นการนั่งเฉยๆ จะก่อเกิดเป็นการงานแต่ประการใด ลองพิจารณาให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น อุปมาเหมือนมีดพร้าตัดไม้ ถ้านำไปใช้งานตัดไม้ทุกวัน ๆ ไม่นานคมมีดก็จะหมด เกิดการสึกผุกร่อนไป เพราะเราไม่หยุดใช้งานเพื่อพัฒนาใบมีดเสียบ้าง การลับมีดก็ฉันนั้น เหมือนกับการนั่งสมาธิ เป็นช่วงเวลาให้ใจได้หยุดพัก โดยนำไปตั้งไว้ ณ ฐานที่ตั้งดั้งเดิมในกลางกาย เหมือนการชาร์จแบตเตอรี่ เป็นแหล่งรวมพลังงานเพื่อเพิ่มศักยภาพภายใน ให้พร้อมที่จะต่อสู่กับวันใหม่ต่อไป ทำให้ได้คุณภาพของใจที่ดี ไม่ถูกทำให้เสื่อมถอยไปทุกวันๆ

 

๒. ทำให้รู้จักเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงว่าเกิดมาทำไม เพราะการฝึกสมาธิจนใจละเอียดมีพลังถึงระดับหนึ่งทำให้กิเลสในใจหมดไปได้ เกิดเป็นความสุขภายในขึ้นตามลำดับ จะได้แก้ไขปรับปรุงตนเองได้อย่างถูกต้อง เกิดดวงปัญญามองเห็นหนทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่สำคัญทำได้พิจารณาและเห็นเป้าหมายของชีวิต ว่าควรดำเนินชีวิตไปในทางใดจึงจะประสบความรุ่งเรือง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

 

๓. ทำให้มีความอดทนไม่หวั่นไหวไปกับอุปสรรคต่างๆ สมาธิทำให้สำรวมกาย เมื่อสำรวมกายได้แล้วใจจะตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่มากระทบได้ง่าย เหมือนตอกเสาเข็มลงไปในดิน ตอกแน่นหนาเท่าใด ย่อมต้านทานลมแรงที่พัดมาจากพายุทั้ง ๔ เป็นผู้ตั้งสติได้ทุกเมื่อ

 

๔. ย่อมเกิดกำลังใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีกำไรชีวิตแล้ว เพราะได้ชำระใจให้บริสุทธิ์ ใจมีกำลังที่จะต่อสู้กับกิเลสสิ่งยั่วยุ มีกำลังใจที่จะเกิดกระทำสิ่งไม่ดีต่างๆ และตั้งใจมั่นที่จะสร้างความดีต่อไป จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีกำไรชีวิตแล้ว

 

     และยังมีประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิอีกมาก แค่เพียงระดับเบื้องต้นยังทำให้เกิดความสุขได้ในระดับหนึ่ง ถ้าฝึกต่อเนื่องสม่ำเสมอ ย่อมทำให้เป็นผู้ไม่มีวันตกต่ำ เพราะเป็นผู้หมั่นฝึกใจให้สูงขึ้น สะอาดขึ้นอยู่เสมอนั่นเอง เมื่อใจดีแล้ว การกระทำและคำพูดจะพลอยดีตามไปด้วย เพราะใจเป็นสิ่งสำคัญ

 

     คุณเชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้มนุษย์เราไม่มีเวลาแม้แต่จะรู้จัก ตัวเอง ลองคำนวณง่ายๆ ว่า วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง หมดไปกับการทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง หรือบางคนมากกว่านั้น นอนวันละ ๘ ชั่วโมง หรือบางคนมากกว่านั้น เวลาที่เหลืออีก ๘ ชั่วโมง เป็นการบริหารกิจวัตรประจำวัน คุยกับเพื่อน ออกกำลังกาย เสริมความงาม บางคนแค่ขัดผิว หมักผม หมดเวลาไปเป็นวันๆ แล้ว ถ้ามนุษย์ยุคนี้อายุเฉลี่ย ๗๕ ปี เท่ากับเรานอนไป ๑ ใน ๓ ของชีวิตแล้ว คือหลับไปตั้ง ๒๕ ปี หรือการเดินทางในรถที่ติดกันทุกวันไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี

 

     เราลองมาคิดดูเถิดว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้เวลาเวียนอยู่กับกิจกรรมข้างต้น จนกระทั่งลืมนึกถึงตัวเองไป นั่นคือ เวลาที่ให้กับจิตใจของเราเอง จึงจะเป็นเวลาที่ให้กับตัวเองอย่างแท้จริง ทุกวันนี้กิจวัตรประจำวันของมนุษย์เราใช้ศักยภาพที่มีภายในตัวเพียง ๗% เท่านั้น แต่จริงๆ ศักยภาพที่มีอยู่อีก ๙๓% ยังไม่ถูกนำมาใช้เลย แต่ถ้าเมื่อใดที่มนุษย์สามารถนำพลังศักยภาพตรงนี้มาใช้ทั้ง ๑๐๐% เมื่อนั้น คำว่า “ ไม่สำเร็จ” จะไม่มีในพจนานุกรมใจมนุษย์อีกต่อไป

 

… และสิ่งที่สามารถดึงศักยภาพมนุษย์ออกมาได้ดีที่สุด นั่นคือ สมาธิ…

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02676150004069 Mins