แผนผังชีวิต

วันที่ 17 มีค. พ.ศ.2546

 

.....หนทางที่จะนำไปสู่อายตนนิพพานนั้นอยู่ในกลางตัวเรา เป็นเส้นทางสายกลางสายเดียวไม่มีสอง อยู่ในกลางกายเรา เริ่มต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งวิธีการที่จะไปสู่อายตนนิพพานนั้น เราจะต้องฝึกใจให้หยุดนิ่ง ใจเราที่แวบไปแวบมาคิดไปในเรื่องราวต่างๆ ให้นำมาหยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ วางใจให้หยุดนิ่งตรงนี้ให้ได้ตลอดเวลาอย่างสบายๆ

 

.....การฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง อาจคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย แต่แท้จริง เป็นสิ่งที่เราเคยมีเมื่อยังเป็นเด็กๆ อายุยังน้อย ชีวิตในช่วงทารกไร้เดียงสานั้น เรามีความสุขเพราะปลอดจากความคิด แต่พอเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมก็ได้หล่อหลอมชีวิต ทำให้เราค่อยๆ คิดขึ้นมา คิดมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอายุมากขึ้น ภารกิจก็มีมากขึ้น มีพันธนาการชีวิตมากขึ้น ชีวิตที่ตกอยู่ในอิทธิพลของความคิด จึงเป็นชีวิตที่มีแต่ความทุกข์ทรมานไม่มีความสุข มีความเครียดสั่งสมอยู่ตลอดเวลา

 

.....ดังนั้นเมื่อเรามาปฏิบัติธรรม จะฝึกใจเข้าไปแหล่งกำเนิดสันติสุขภายใน อันเป็นแหล่งของสติปัญญา แหล่งของอานุภาพภายใน ตลอดจนเป็นแหล่งแห่งความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์สรรพสัตว์ทั้งปวง และเป็นแหล่งแห่งความสมปรารถนา วิธีการจึงตรงกันข้าม

 

.....โดยเราจะต้องย้อนยุคไปสู่วัยที่เรายังไร้เดียงสาอยู่ ค่อยๆ ผ่อนความนึกคิดที่มีมากให้ลดน้อยลง หรือที่มีน้อยก็ให้หมดไป ด้วยวิธีการกำหนดบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนานั่นเอง แล้วใจเราจะถูกกลั่นไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทีละน้อยจนกระทั่งเราสังเกตไม่ออก แต่ว่าเมื่อเราทำไปบ่อยๆ ต่อเนื่อง ด้วยวิธีการนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไมจิตใจจะแจ่มใสเบิกบาน ไม่ช้าใจก็จะหยุดนิ่ง หลุดจากความคิดทั้งมวล

 

.....เมื่อใจปลอดความคิด กายก็จะเบา จิตใจก็ฟ่องเบา ขยาย กายเนื้อก็หายไป เราจะไม่รู้สึกที่ร่างกายเรากายจะค่อยๆ โล่งโปร่ง เบา สบาย อาการที่ใจขยายนี่แหละเรียกว่าเบิกบานเหมือนการคลี่ขยายของดอกไม้ที่ค่อยๆ เบ่งบานทีละน้อย ขยายกลีบออกไปแต่นี่เป็นอาการขยายที่ใจ โดยใจของเราค่อยๆ ขยายออกไปรอบตัวทุกทิศทาง

 

.....เมื่อใจเรานิ่งต่อไปอีก รักษาความต่อเนื่องของอารมณ์สบายต่อไป แสงแห่งความบริสุทธิ์ก็จะปรากฏเกิดขึ้นเป็นดวงกลมใสบริสุทธิ์ ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดวงที่บริสุทธิ์ดวงนี้ก็คือ ดวงธรรม

 

.....และเมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เราจะเข้าถึงกายภายในเป็นชั้นๆ เข้าไป ซึ่งมีลักษณะสวยงามแตกต่างกันขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งความบริสุทธิ์ ความใส ขนาดใหญ่โตกว่ากัน มีความสุข ความบริสุทธิ์ต่างกัน รวมทั้งความนึกคิด ดวงปัญญาแตกต่างกันขึ้นไปเรื่อยๆ กระทั่งเข้าถึงกายธรรม อันเป็นกายที่ซ้อนอยู่ที่ละเอียดที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เป็นกายภายในที่เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก เป็นกายที่เที่ยงแท้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้รู้ ผู้เบิกบานแล้ว

 

.....ธรรมกาย คือกายที่ประกอบไปด้วยธรรมล้วนๆ ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์รวมกันเป็นก้อนกายของธรรมกาย ลักษณะสวยงามอยู่ในอิริยาบถที่สมบูรณ์ คือนั่งสมาธิ ใจหยุดนิ่งอยู่กลาง บนพระเศียรท่านเป็นเกตุดอกบัวตูม นั่งสงบนิ่ง กิจอย่างอื่นที่จะทำแบบกายมนุษย์อย่างนี้ไม่มี ท่านสงบนิ่งอยู่ในกลางท่านตลอดเวลาเลย กายธรรมอรหัตนี้แหละคือเป้าหมายชีวิตของเรา เพราะเป็นกายที่หลุดล่อนจากอาสวกิเลสทั้งมวล

 

.....เป้าหมายของชีวิตเรา ทั้งหมดมี ๑๘ กาย เป็นแผนผังชีวิตที่มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกๆ คน แต่เราไม่เคยเฉลียวใจเลยแม้แต่นิดเดียวว่ามีสิ่งนี้อยู่ เพราะมัวไปทำมาหากิน มัวเพลิดเพลินอยู่ในโลก ต้องแข่งขัน ต้องแก้ปัญหา ได้ทรัพย์มาแล้วก็เอาไปใช้จ่ายเพลิดเพลิน โดยคิดว่านั่นคือการผ่อนคลาย คือการพักผ่อนเพื่อจะเผชิญปัญหาในวันต่อไป แต่แล้วจริงๆ นั่นคือ การใช้ชีวิตที่สูญเปล่า

 

.....คำว่ายุติธรรม หมายถึง เมื่อมีธรรมแล้วทุกสิ่งก็ยุติ เพราะเมื่อเข้าถึงธรรมกายสมบูรณ์แล้วเราจะมีหัวใจของผู้ให้ เกิดความสุขที่ได้จากการให้มากกว่าการรับ ทุกคนจะแบ่งปันซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งจะยุติสิ้นสุดลง ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจเพราะต่างก็มีหัวใจดวงเดียวกัน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03126468261083 Mins