ซ่อนไว้ในก้อนหิน
.....เคยสงสัยว่าทำไมเขาชอบพูดว่า โยนก้อนหินถามทางก็มีปาก แล้วทำไมไม่ใช้ปากถามโยนก้อนหินไปถามกันทำไม แล้วเวลาที่เราโยนก้อนหินไปใครเป็นคนตอบ และคำตอบที่ได้ก้อนหินจะบอกเราอย่างไรกัน คิดมากไปก็ฟุ้งซ่านเปล่าๆมั้งครับ ผมเคยโยนก้อนหินถามทางกับเขาบ้างเหมือนกันครับว่าที่บ้านของคนที่ผมจะเข้าไปนั้นเขามีหมาดุไหมหากถ้าเราโยนก้อนเล็กๆ เตี้ยๆ เสียงก็เบาหน่อยไม่ค่อยได้รับคำตอบ แต่ถ้าโยนก้อนโตและสูงๆ เสียงดังมากไป เดียวคำตอบที่ได้จะกลายเป็นหินก้อนเดิมโยนตอบมาลงหัวเราให้เกิดการบาดเจ็บได้ แต่คำตอบโดยทั่วไป แล้วถ้าบ้านไหนมีหมากี่ตัวๆ มันจะส่งเสียงและวิ่งกรูกันออกมาต้อนรับทันที่ที่มันได้ยินเสียงอะไรผิดปกติ ก็เป็นอันรู้ว่าบ้านนั้นมีหมา ส่วนทางหนีทีไล่ ต้องมองกันไว้ก่อนลงมือถาม ไม่อย่างนั้นหนีไม่ทัน
.....ผู้หลักผู้ใหญ่มักให้เราโยนก้อนหินหรือของหนักๆ ไปในทางที่เราเดิน โดยเฉพาะที่รกๆ เพราะถ้ามีงูเงี้ยวเขี้ยวขอ มันก็จะฉกกัดก้อนหิน หรือไม่ก็หนีไปจะไม่อยู่ตรงบริเวณเส้นทางที่เราโยนก้อนหินไป แต่ในอีกนัยหนึ่งการจุดประเด็นหลอกล่อให้แหล่งข้อมูลเปิดปาก พูดอย่างที่เราต้องการบางที่ต้องมีคำถาม หรือประโยคเด็ดเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการโยนก้อนหินถามทางว่าตอนนี้สถานการณ์ หรือเวลาและอารมณ์ของผู้ให้ข้อมูลกับเราพร้อมจะเปิดปาก และให้ข้อมูลที่สมบูรณ์และเป็นที่ต้องการกับเราหรือยัง?
......สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในก้อนหินที่จะให้คำตอบจากการโยนของเราไปแต่ละครั้งนั้นก็คือ ถ้าเราโยนมันไปสูงๆ เสียงที่ก้อนหินกระทบพื้นมันก็จะดังไปตามความสูง และความแรงของการโยน เรื่องนี้ผมเคยอ่านหนังสือชื่อความคิดคำนึงของมณีทัศน์ เขาได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจเหมือนกันครับคือ ก้อนหินยิ่งโยนสูงเท่าไร เวลาตกก็จะแรงเท่านั้น คนเรายิ่งก้าวสูงขึ้นเท่าไหร่ เมื่อตกลงมาก็ยิ่งเจ็บเท่านั้น ฝากสำหรับผู้ที่อยู่ในที่สูงหรือตำแหน่งสูงๆแล้วกันครับว่า นอกจากยิ่งสูงยิ่งหนาวแล้ว เวลาที่พลาดพลั้งตกลงมามันจะยิ่งเจ็บปวดมากเท่านั้น ทางที่ดีเมื่ออยู่ตรงนั้นต้องระมัดระวังให้จงดีเด้อครับ!!
นายตั้ม