.....พระโพธิสัตว์ สามารถรักษาศีลได้อย่างหมดจดงดงามทั้งที่ท่านเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ เป็นมานพผู้อ่อนเยาว์อยู่ในวัยเล่าเรียน ทั้งยังต้องตกอยู่ในภาวะบีบคั้น อันเนื่องมาจากคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์ แต่ท่านกลับเลือกที่จะทำในสิ่งที่สวนทางกับสังคมคนรอบข้าง อย่างไม่หวั่นไหว ทั้งนี้เพราะท่านมี หิริ โอตตัปปะ อยู่ในใจ จึงไม่ยอมให้สิ่งใดมาเป็นข้ออ้าง หรือ เงื่อนไข ให้กระทำผิดศีลได้เลย
ผู้รักษาศีลด้วย หิริ โอตตัปปะ จึงรักษาได้อย่างมั่นคง และรักษาด้วยความจริงใจโดยไม่ต้องให้ใครมาดูแลกำกับ
ตรงข้ามกับผู้ที่ปราศจากหิริ โอตตัปปะ นอกจากจะเป็นผู้ไม่ขวนขวายในการสมาทานศีลแล้ว ยังเป็นผู้ที่ล่วงละเมิดศีลได้ง่าย ไม่ว่าเวลาใด หรือในที่แห่งใด ไม่ล่วงในที่แจ้ง ก็ล่วงในที่ลับ เพราะไม่มี หิริ โอตตัปปะ คอยดูแลกำกับนั่นเอง
ดังคำกล่าวที่ว่า
....."เมื่อมีหิริและโอตตัปปะอยู่ ศีลก็เกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้
.....เมื่อไม่มีหิริและโอตตัปปะ ศีลก็ไม่เกิดขึ้นและตั้งอยู่ไม่ได้"
.....หิริ โอตตัปปะ จึงเป็นธรรมะที่สร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข ให้ทุกชีวิตปลอดภัย ได้พบแต่สิ่งที่ดีงาม มีความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
....ทั้งในชาติปัจจุบันและสัมปรายภพ
แม้ว่า หิริ โอตตัปปะ จะเป็นธรรมะที่สูงส่งถึงเพียงนี้ แต่กลับเป็นธรรมะที่สร้างสมขึ้นได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ กล่าวคือ
หิริ ความละอายต่อบาป เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาถึงฐานะของตนเอง ๔ ประการ คือ
.....๑. พิจารณาถึงชาติกำเนิดของตนเองว่า ตัวเราเกิดในตระกูลที่ประกอบอาชีพสุจริต เราจึงไม่ควรผิดศีล เลี้ยงชีพในทางที่ผิด ให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล
.....๒. พิจารณาถึงอายุของตนเองว่า คนมีอายุเช่นเรา ได้รับการสั่งสอนอบรมมาแล้ว ทั้งยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตว่า อะไรดีอะไรชั่ว ถ้าเรายังผิดศีล ก็เสียทีที่มีอายุมากเสียเปล่า แต่ไม่มีสติปัญญาตักเตือนตนเองเสียเลย
.....๓. พิจารณาถึงความกล้าหาญของตนเองว่า ตัวเราต้องมีความกล้าหาญ ตั้งใจมั่นอยู่ในคุณความดี บำเพ็ญประโยชน์เพื่อตนเองและผู้อื่น ต่างจากผู้ที่ทำผิดศีล เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะมีจิตใจอ่อนแอ ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส
.....๔. พิจารณาถึงความเป็นพหูสูตของตนเองว่า ตัวเรานั้นเป็นผู้ศึกษาธรรมะมามาก มีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เราจึงควรเป็นผู้มีศีล มีการกระทำอันงาม ต่างจากคนพาลซึ่งทำบาปอกุศล เพราะไม่มีหลักธรรมใด ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป เกิดขึ้นได้เพราะกลัวว่าตนเองจะเดือดร้อนในภายหลัง จากภัย ๔ ประการคือ
.....๑. ภัยเพราะติเตียนตนเอง
เมื่อทำผิดศีล เราย่อมรู้สึกเดือดร้อน กระวนกระวายใจในภายหลัง เพราะนึกติเตียนตนเองที่ทำในสิ่งไม่สมควร
.....๒. ภัยจากการที่ผู้อื่นติเตียน
เมื่อบัณฑิต ได้รู้ถึงการกระทำที่ผิดศีลของเรา เขาย่อมติเตียนว่า เราเป็นคนพาล เป็นผู้กระทำบาปกรรม เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน
.....๓. ภัยจากอาชญา
เมื่อเราผิดศีล จนเป็นผลให้ผู้อื่นเดือดร้อน ย่อมต้องถูกลงโทษจากกฎหมายบ้านเมือง ได้รับความเดือดร้อนตอบแทนกลับมา
.....๔. ภัยในทุคติ
การผิดศีล ย่อมจะนำเราไปสู่อบายภูมิ มีนรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ทำให้ต้องประสบทุกข์ภัยเป็นอันมากในภพชาติเบื้องหน้า เมื่อละจากโลกไปแล้ว
ด้วยวิธีการหมั่นฝึกคิดพิจารณาเช่นนี้ ในที่สุด หิริ โอตตัปปะ จะเกิดขึ้นในใจของเราอย่างแน่นอน และเมื่อนั้นการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ย่อมไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
.....ศีล จัดเป็นบารมี
.....แม้เราจะเป็นเพียงชีวิตเล็ก ๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องนานับประการ แต่เราก็โชคดีที่สุด ที่ได้เป็นศิษย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นยอดคน เพราะไม่อาจหาใครที่จะมีคุณสมบัติล้ำเลิศยิ่งไปกว่าพระองค์ได้เลย
การเข้าถึงฐานะอันเลิศของพระองค์ ย่อมมิใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน หากแต่เป็นสิ่งที่มีเหตุและผลอย่างครบถ้วนทุกประการ ฐานะอันเลิศของพระองค์ได้มาจากการสั่งสมบุญบารมีอย่างยิ่งยวดและยาวนาน จนบารมีของพระองค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ และการสร้างบารมีด้วยการรักษาศีล ก็เป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่ง สู่ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
.....การรักษาศีล เกิดเป็นบารมีได้ เนื่องจากทุกครั้งที่รักษาศีล จะเกิดกระแสแห่งความดีขึ้นในใจ ที่เราเรียกว่า กระแสบุญ รู้สึกได้จากใจที่สบาย และปลอดโปร่ง เมื่อรักษาศีลได้ดีขึ้นบุญที่เกิดขึ้นนี้ จะฟอกใจให้ใสสะอาดจนกระทั่งปรากฏเป็นดวงกลมใส ที่เรียกว่า ดวงศีล เมื่อสั่งสมความบริสุทธิ์แห่งศีลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในที่สุด ดวงศีลจะกลั่นเป็นบารมี ซึ่งบารมีนี้ก็คือวิถีทางเข้าถึงความเป็นเลิศนั่นเอง