มุทิตาพระพุทธวรญาณ

วันที่ 13 ธค. พ.ศ.2550

เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี มหาเถรสมาคมมีการประกาศรายนามพระเถรานุเถระที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติและพระพุทธศาสนา ให้ได้รับการเสนอชื่อเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะ โดยในปี ๒๕๕๐นี้ มีตำแหน่งสำคัญที่ได้รับการสถาปนาเป็น พระราชาคณะชั้นหิรัณยบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชา คณะใหม่ จำนวน ๒ รูป ขณะที่การเลื่อนและตั้ง มี ๘๒ รูป รวมทั้งสิ้น ๘๔รูป แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย ๖๓รูป ฝ่ายธรรมยุต ๒๑รูป ทั้งนี้ สมณศักดิ์ในปีนี้ประกอบด้วย พระราชาคณะชั้นหิรัณยบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชา คณะ ๒ รูป พระราชาคณะชั้นธรรม ๔ รูป ชั้นเทพ ๘ รูป ชั้นราช ๑๖รูป และชั้นสามัญ ๕๔ รูป สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ๖๓ รูป ที่ได้เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ มีพระราชาคณะชั้นหิรัณยบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระธรรมรัตนากร วัดกะพังสุรินทร์ จ.ตรัง รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็น พระพรหมจริยาจารย์ และ
พระธรรมกิตติเวที (ทอง สุวณฺณสาโร ป.ธ.๖) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะเขตดุสิต ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพุทธวรญาณ หนึ่งในพระสังฆบดีคู่แผ่นดิน แห่งองค์พระมหาธรรมราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และดำรงฐานะเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศแก่เหล่าพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า

ชาติภูมิ พระธรรมกิตติเวที (ทอง สุวณฺณสาโร) มีนามเดิมว่า ทอง นาคประเสริฐ เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทราโดยกำเนิด เกิด ณ ตำบลบางพระ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๒

โยมบิดาชื่อ ห้อย และโยมมารดาชื่อ เสงี่ยม ในสกุล “ นาคประเสริฐ ”

บรรพชา พ.ศ.๒๔๗๙ บรรพชาเป็นสามเณร ณ เบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยสมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโกศาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์

ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตนารามตลอดมา สามเณรทองมีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาพระธรรมวินัยเป็นอย่างมาก ด้วยอุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน ขวนขวายในกิจที่ชอบของหมู่คณะ จึงได้รับความไว้วางใจของพระเถรานุเถระให้ดูแลรับผิดชอบงานบุญต่างๆ อยู่เสมอ

อุปสมบท วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ปี ๒๔๘๓ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นการอุปสมบทในพระบรมราชูปถัมป์ โดยมี สมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระมงคลวัตรกวี (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสรภาณกวี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระราชเวที เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ต่อมาเจ้าพระเดชพระคุณพระธรรมกิตติเวที ได้รับสมณศักดิ์และหน้าที่ในตำแหน่งงานพระศาสนามากมายหลายหน้าที่ จนได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะที่ พระกิตติสารโศภน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมกิตติเวที ศีลาจารโสภณ วิมลกิจจาทร บวรธรรมานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ศาสนกิจด้านต่าง ๆ งานการปกครอง ดูแลคณะสงฆ์ในเขตปกครองจนพระภิกษุสามเณรให้มีระเบียบวินัย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา

ด้านการศึกษา เคยเป็นกรรมการสนามหลวง ทั้งในแผนกธรรมและแผนกบาลี

ด้านงานเผยแผ่ เทศนาสั่งสอนอบรมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาอยู่เนืองนิจ และได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนืองๆ

ในด้านสาธารณูปการ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนโครงการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ กว่า ๒๐ โครงการ

พระเดชพระคุณท่านยังเห็นประโยชน์ และให้ความสำคัญกับการอบรมเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ ให้เป็นคนดีที่สมบูรณ์ทั้งความรู้ และคุณธรรม สมดังคำขวัญที่ว่า “ บัณฑิต คือผู้มีความรู้คู่คุณธรรมเมตตารับเป็นพระอุปัชฌาย์ในโครงการอบรมธรรมทายาทบรรพชาและอุปสมบทหมู่ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ เป็นต้นมา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ และพระเดชพระคุณพระพรหมจริยาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ ให้การอุปถัมป์ จนมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

ใน “ สมณศักดิ์ ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ นับเป็นเครื่องสักการะสะท้อนผลแห่งคุณธรรม คุณประโยชน์แห่งพระศาสนา ด้วยเป็นผู้ก่อด้วยคุณความดีงามของท่าน ให้ชนทั้งหลายได้ร่วมอนุโมทนาสาธุการ และพร้อมเพรียงกันตั้งกัลยาณจิตน้อมถวายมุทิตาสักการะ สืบไป .

โดย..ดุสิตา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03623708486557 Mins