ธุดงควัตร

วันที่ 28 ธค. พ.ศ.2550


การอยู่ธุดงค์ คือ การบำเพ็ญตบะที่ยิ่งยวดกว่า การประพฤติธรรมโดยทั่วไป เช่น การรักษาศีล ๘ หรืออุโบสถศีล มีจุดประสงค์เพื่อขจัดกิเลสให้หลุดร่อนออกจากใจ เรียกได้ว่า เป็นการทำสงครามภายใน คือรบกับกิเลส ถ้าจะเปรียบการรักษาโรค ก็ต้องบอก ว่าเป็นการผ่าตัดสดๆ กันเลยทีเดียว การอยู่ธุดงค์เป็นการปฏิวัติอุปนิสัยที่ไม่ดีต่างๆ ที่แก้ไขได้ยาก เมื่อมาอยู่ธุดงค์แล้ว แม้นิสัยที่ไม่ดีจะมีเหลือบ้าง ก็จะไม่ฟูขึ้นฟุ้งซ่านให้รำคาญใจ อานิสงส์การอยู่ธุดงค์นั้นจะทำให้เราเข้าถึงธรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จะเป็นผู้ที่ปฏิบัติสะดวก บรรลุธรรมได้เร็วไปทุกภพ ทุกชาติ ตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม

คำว่า ธุดงค์Ž แปลว่า องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส เป็นธรรมเนียมของพระผู้รักในการปฏิบัติธรรม ซึ่งท่านสาธุชนคงนึกภาพพระเดินถือกลด หรือที่เรามักเรียกว่า พระธุดงค์Ž โดยท่านจะออกเดินทางรอนแรมด้วยเท้า มีเพียงเครื่องอัฐบริขารเท่านั้น เพื่อแสวงหาที่วิเวกสงัด ปักกลดพักอาศัยตามร่มเงา ไม้ หรือตามถ้ำภูเขา เพื่อเข้าไปศึกษาเรียนรู้ใน มหาวิทยาลัยป่าŽ เรียนรู้วิชชาชีวิตด้วยการนั่งสมาธิ บำเพ็ญจิตภาวนา ซึ่งจะเป็นทางมาแห่งการได้บรรลุ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ และจรณะ ๑๕ การอยู่ธุดงค์จึงถือว่าเป็นการดำเนิน ตามรอยบาทพระบรมศาสดา

วัตถุประสงค์ของการอยู่ธุดงค์

๑. อัปปิจฉตา ฝึกความเป็นผู้มักน้อย

๒. สันตุฏฐิตา ฝึกเป็นผู้มีความสันโดษ

๓. สัลเลขตา ฝึกเป็นผู้มีความขัดเกลากิเลสให้เบาบาง

๔. ปวิเวกตา ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้รักความสงบ สงัด

๕. อิทมัฏฐิกตา ฝึกการแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต คือการได้บรรลุธรรมภายใน

ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ เลือกประพฤติได้ตามอัธยาศัย

ธุดงควัตรนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาวะของพระภิกษุ แม้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้ เพียงแต่ให้เลือกปฏิบัติตามความเหมาะสม ธุดงควัตรของพระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีอยู่ ๑๓ ข้อ ได้แก่

๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งไว้ไม่มีเจ้าของและจะรับผ้าจากทายกถวายไม่ได้

๒. เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียงสามผืนเท่านั้น เกินกว่านั้นใช้ไม่ได้

๓. ปิณฑปาติกังคะ ฉันแต่เฉพาะอาหารที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น

๔. สปทานจาริกังคะ เดินบิณฑบาตแต่เฉพาะทางที่กำหนดไว้ทางเดียวเท่านั้น

๕. เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว (ต่อวัน)

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันสำรวมโดยนำอาหารเทรวมกันในบาตร

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่รับเพิ่มทีหลัง

๘. อารัญญิกังคะ อยู่ในป่าเป็นวัตร

๙. รุกขมูลิกังคะ อยู่ใต้โคนไม้เป็นวัตร

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง เช่น ตามท้องทุ่งนาเป็นวัตร

๑๑. โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้าเป็นวัตร

๑๒. ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่พักที่เขาจัดให้โดยไม่เลือก

๑๓. เนสัชชิกังคะ ถืออิริยาบถนั่งอย่างเดียวโดยไม่นอนเป็นวัตร

ธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อนี้ ในแต่ละข้อ พระท่านก็จะแบ่งย่อยลงไปอีกว่า จะสามารถบำเพ็ญเคร่งครัด ได้มากน้อยเท่าใด โดยจะแบ่งเป็นวัตรขั้นสูงหรือขั้นอุกฤษฏ์, ขั้นกลาง, ขั้นต่ำ ยกตัวอย่าง เช่น ธุดงค์ข้อที่ อยู่ในป่าช้าเป็นวัตรŽ หากใครต้องการบำเพ็ญขั้นอุกฤษฏ์ : จะต้องอยู่แต่ในป่าช้าที่มีลักษณะ ๓ อย่าง ได้แก่ ๑.) มีการเผาศพเป็นประจำ ๒.) มีซากศพนอนทอดร่างมิได้ขาด ๓.) มีเสียงร่ำไห้คร่ำครวญของผู้คนเนืองนิตย์ และบางครั้งถึงกับนอนใกล้ศพหรือนอนบนโลงศพเลยก็มี ขั้นกลาง : จะถือวัตรพักอาศัยอยู่ในป่าช้าที่เข้าลักษณะ ๑ ใน ๓ อย่างนั้นก็ใช้ได้ และผู้ขอถือวัตรขั้นต่ำ : จะไปถือวัตรอยู่ในที่ใกล้เคียงลักษณะของป่าช้า หรือที่ๆ ได้ชื่อว่าป่าช้าก็ใช้ได้

ผู้อยู่ธุดงค์ คือ ผู้อยู่ในสายตาของชาวสวรรค์

การสมาทานข้อปฏิบัติธุดงค์ ๑๓ ข้อนี้ ไม่ˆจำกัดด้วยระยะเวลาเหมือนการรักษาศีล สามารถสมาทาน ได้เต็มที่เท่าที่ต้องการ นานจนกระทั่งถึงตลอดชีวิตก็ได้ ซึ่งพระภิกษุในสมัยพุทธกาลมักนิยมปฏิบัติ ธุดงค์กันและปฏิบัติได้อย่างดีเยี่ยม โดยก่อนที่จะออก จาริกไปในสถานที่อื่น ท่านจะไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อขอเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ จากนั้นจึงค่อยกราบลาออกเดินธุดงค์ ขณะที่พักอาศัยแรมราตรี ก็จะยึดการปฏิบัติธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่ง อย่างเคร่งครัด ทำให้พระภิกษุในสมัยนั้น ต่างก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มากมายนับไม่ถ้วน

ท่านพระมหากัสสปเถระ ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะ คือ เลิศทางด้านอยู่ธุดงค์เป็นวัตร แม้ท่านจะมีบริวาร และมีญาติโยมอุปัฏฐากมากมาย แต่ท่านก็ไม่ยึดติด ในลาภสักการะ มีความมักน้อย สันโดษ ไม่สะสม เวลาจะไปไหนก็เหมือนนกน้อยบินไปในอากาศ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นปกติ ความบริสุทธิ์ของท่านนั้นแม้เทวดาก็อยากลงมาใส่บาตร บางครั้งก็มีเทวดามากวาดลานวัดให้ท่าน ขนาดพระอินทร์ยังเคยแปลงเป็นคนแก่มาใส่บาตรก็มี เพราะรู้ว่าทำบุญ กับท่านแล้วได้บุญมาก แม้แต่พระบรมศาสดายังยกย่องท่านว่าเป็นผู้มีอริยวิหารธรรมเสมอกับพระองค์

อยู่ธุดงค์ เพื่อมุ่งตรงสู่สุดธรรม

การอยู่ธุดงค์สำหรับฆราวาส ไม่ใช่เพียงครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ชีวิตหนึ่งควรได้อยู่ธุดงค์หลายๆ ครั้ง ถ้า อยากจะรบกับกิเลสให้จริงจัง ก็ต้องให้โอกาสตัวเอง มาถือธุดงค์กัน เพราะในสมัยปัจจุบันต่างก็มีสิ่งยั่วยุ มากมาย ทำให้ใจเต็มไปด้วยความทะยานอยาก และธรรมชาติของคนเราหากอยู่ที่บ้าน ก็จะอาศัยความคุ้นเคยเหมือนปลาคุ้นน้ำ จนทำให้บางครั้งอาจจะติดความสบายเกินไป เป็นเหตุให้นำใจรวมเป็นสมาธิได้ยาก นี่คือเหตุผลว่า ทำไมต้องปลีกตัวออกมาปฏิบัติถือธุดงค์กัน

การปฏิบัติธุดงค์ของฆราวาสนั้นไม่ยากอย่างที่ เข้าใจกัน เพราะเราได้มารู้หลักวิชาแล้วว่า การเข้า ถึงธรรมนั้น ต้องเข้าถึงด้วยวิธีที่ง่ายๆ สบายๆ เพียงแค่ กิน นอน ให้พอดี มีของใช้เท่าที่จำเป็นŽ เลือกข้อที่อยู่ในวิสัยของเราที่พอจะทำได้ โดยปรับ ให้เหมาะสมพอดีกับตัวเองหรือสภาพแวดล้อม จากนั้นแล้วจึงค่อยตั้งเจตนาสมาทาน ซึ่งโดยทั่วไป สาธุชนที่มาอยู่ธุดงค์จะสมาทานวัตรข้อ ๑๒ คือ ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่อาศัยที่เจ้าหน้าที่จัดให้Ž บางท่านสุขภาพแข็งแรง ก็อาจจะถือธุดงค์ข้อเนสัชชิกังคะ นั่งสมาธิทั้งคืน หรือที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า นั่งเนสัชฯŽ ก็ได้

อานิสงส์ของการอยู่ธุดงค์

การอยู่ธุดงค์ถือได้ว่าเป็นการอยู่ของผู้ประเสริฐ อยู่อย่างพรหมในพรหมโลก คุณธรรมต่างๆ ในตัวจะงอกงามพัฒนาขึ้นมาได้ง่าย ทำให้มีสติตื่นอยู่กับตัวตลอดเวลา จิตใจเป็นอิสระปลอดจากเครื่องพันธนาการ ไม่ติดในสุขภายนอก ได้แก่ คน สัตว์ สิ่งของ อันเป็นเครื่องยึดถือหน่วงเหนี่ยว เป็นการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี และที่สำคัญจิตจะรวมเป็นสมาธิได้เร็วขึ้น และเป็นฐานรองรับการเข้าถึงธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งจากภายในอีกด้วย

ผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ธุดงค์ ควรเตรียมของ ใช้เท่าที่จำเป็น งดเว้นสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคในการบำเพ็ญธุดงค์ เช่น เครื่องประดับตกแต่งมีค่า ควร สะสางธุรกิจการงานทางโลกให้เรียบร้อย เวลามาอยู่ธุดงค์จะได้มุ่งฝึกฝนทำใจหยุดนิ่งอย่างเดียว สำหรับผู้ที่ไม่เคยอยู่ธุดงค์ที่ใดมาก่อนเลย ก่อนที่จะถึงวันอยู่ธุดงค์นั้น ก็จะต้องมีการเตรียมตัวที่ดี หรือที่เรียกว่า อุ่นเครื่องŽ ขั้นแรกควรหาโอกาสเหมาะๆ เช่น วันพระ ฝึกสมาทานรักษา ศีลแปดก่อน เพื่อที่เมื่อมาอยู่ธุดงค์แล้ว จะสามารถ ปรับตัวในเรื่องความเป็นอยู่ได้สะดวกขึ้น เพราะในการอยู่ธุดงค์นั้นจะถือศีลแปดเป็นหลัก ข้อปฏิบัติในระหว่างธุดงค์ซึ่งจัดเป็นเวลา ๓ วัน กิจกรรมส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการนั่งสมาธิ ฟังธรรม รับบุญทำความสะอาดเสนาสนะ เพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมชาวพุทธที่ดีงาม ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งเป็นอริยประเพณีที่ดีงามของชาวพุทธให้ยืนยง คงอยู่เคียงคู่โลกตลอดไป

ปีใหม่นี้ หลายท่านอาจพลาดโอกาสที่จะได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศกับเพื่อนๆ เพราะตัดสินใจมาร่วมอยู่ธุดงค์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผู้เขียนเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ทุกท่านจะไม่ผิดหวัง เพราะว่าจะได้ฉลองชัยที่เกิดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัย ได้พลังใจ ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ได้บุญกุศลที่จะหนุนนำ ให้ประสบความสำเร็จในชีวิต และได้เข้าถึงความสว่างภายในคือได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ดังที่ ผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า บัณฑิตที่แท้ แม้ไม่ได้ท่องเที่ยวไปทั่วทุกมุมโลก.... อยู่ในกลดหลังน้อยๆ ใจเขาย่อมสว่างพอ พอที่จะเห็นโลกได้ทั้งโลกŽ

โดย.. พระมหาเสถียร สวณฺณฐิโต ปธ.๙

พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ปธ.๙

สำหรับในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ วัดพระธรรมกายได้จัดให้มีการอยู่ธุดงค์ขึ้น ระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ถึง วันอังคารที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ สำหรับผู้ที่ปรารถนาสั่งสมบุญบารมี เพื่อประโยชน์และความสุขสงบแก่ตนเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นโอกาสทั้งตนเองและครอบครัว

(รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dmc.tv)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0072858691215515 Mins