การให้ความสำคัญในการสอนศีลธรรมตามสถานศึกษานั้น ผู้ที่จะให้ความรู้ในพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีและมีความสำคัญอย่างมากคือ “ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน” เพราะท่านเป็นพระภิกษุผู้บวชเรียน เข้ามาศึกษาความรู้พระธรรมคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อการอบรมฝึกฝนตนเองมาแล้ว พระภิกษุผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ผู้รักษาพระธรรมวินัย เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน ขยายความรู้และรักษาพระพุทธศาสนา ให้คงยาวนานสืบไป
กองพระกัลยาณมิตร สำนักงานคณะกรรมการบริหาร วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ได้จัดโครงการสัมมนาพระกัลยาณมิตร รุ่นที่ 72 ขึ้นหลักสูตรพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ณ ห้อง SPD 7 สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้มีคณะพระภิกษุให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 210 รูป จาก 11 จังหวัด อาทิ จังหวัดสระบุรี ,ขอนแก่น สุพรรณบุรี อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
โดยพิธีเปิดการสัมมนาได้รับความเมตตาจากพระธรรมกิตติวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม กทม. มาเป็นประธาน ซึ่งท่านได้ให้โอวาทแก่พระกัลยาณมิตรว่า การสอนนั้นมี 3 ลักษณะด้วยกัน คือ สอนแล้วเด็กชอบ สอนแล้วเด็กเชื่อ และสอนให้นำไปใช้ โดยเฉพาะการสอนให้นำไปใช้ คือเป้าหมายสูงสุดของการสอนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวก จนถึงปัจจุบันคือ ครูพระสอนศีลธรรมโรงเรียน
นอกจากนี้ พระอาจารย์ถาวร ฐาวโร หัวหน้ากองพระกัลยาณมิตร ได้กล่าวถึงการจัดอบรมพระกัลยาณมิตรในครั้งนี้ว่า เพื่อส่งเสริมให้พระสอนศีลธรรมมีโอกาสสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาเชิงพุทธ พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งแนวทางการถ่ายทอดศีลธรรม และคุณธรรมสู่สังคมอย่างเป็นระบบ
ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ของการสัมมนา (ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 ธันวาคม 2550 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา) ทุก ๆ รูปได้ร่วมกันศึกษาการเรียนการสอนจาก โรงเรียนฝันในฝันวิทยา- เป็นการสอนธรรมะโดยผ่านสื่อช่อง DMC ส่งสัญญาณผ่านจานดาวเทียม ที่สามารถรับชมได้พร้อมกันทั่วโลก ที่รับช่องสื่อสีขาวดังกล่าว
จากโครงการสัมมนานี้ยังได้ศึกษาเรียนรู้ถึงการจัดการศึกษาเชิงพุทธ รวมถึงการจัดเตรียมเนื้อหา การบรรยายธรรมะ การศึกษาศิลปะการถ่ายทอด และจิตวิทยาการสอนเยาวชน , ชมสื่อ DMC สื่อสีขาวเพื่อการเรียนการสอนธรรมะ ตลอดจนถึงการศึกษาดูงานการบริหารจัดงานบุญของวัดพระธรรมกาย ที่ได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชน ตลอดจนผู้ให้ความสนใจในพระพุทธศาสนา ทั้งภายในและจากต่างประเทศทั่วโลก
ซึ่งหลังการอบรม พระภิกษุผู้เข้าร่วมสัมมนารู้สึกร่วมกันถึงความสำคัญของโครงการ ที่ให้ความรู้ตลอดถึงการนำไปปฏิบัติให้ได้ผลที่ดีต่อ ๆ ไป มีความประทับใจและชื่นชมโดยตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในการสอน ในการทำหน้าที่ “ครูพระ” ต่อไป