หากเรากำลังยืนอยู่บนแผ่นดินที่ไม่เคยรู้จักไม่เคยศึกษาภูมิหลังประวัติศาสตร์ ตลอดจนไม่รู้สถานการณ์สังคมในปัจจุบัน และไม่สามารถสื่อสารผ่านภาใดๆ กับคนในท้องถิ่นได้เลยเราจะซึมซับความประทับใจในเรื่องใดเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าคำตอบ คือ ความหมายดีๆที่สื่อผ่านดวงตาและรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ ซึ่งเป็นภาษาใจที่ไม่เคยแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใด
เหมือนกับที่เราได้สัมผัสกับไมตรีจิตของพี่น้องชาวพุทธในดินแดนไข่มุกแห่งอนุทวีป หรือประเทศศรีลังกา ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ที่นักวิชาการ นักโบราณคดี ตลอดจนนักท่องเที่ยวหลายคนที่มีประสบการณ์ย่ำโลกมากว่าค่อนครึ่ง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในบรรดาประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่และงดงามมากมายประเทศศรีลังกาถูกจัดให้เป็นประเทศที่ได้รับความชื่นชอบมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะหัวใจเปี่ยมศรัทธาของคนที่นี่ คือความประทับใจที่ไม่มีวันลืมเลือน
ดังเช่น บรรยากาศในพิธีถวายองค์พระธรรมกายเป็นปฐมเริ่ม จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๑ องค์ แด่ท่านประธานาธิบดีศรีลังกา ฯพณฯ มหินทะ ราชปักษา ในวันอังคารที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมืองโคลัมโบ โดยผู้แทนมูลนิธิธรรมกาย พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ(หลวงพ่อทัตตชีโว) และเหล่ากัลยาณมิตร ที่ทุกภาพแห่งความประทับใจได้ถูกจดจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งการสร้างความดีที่สำคัญอีกวันหนึ่ง ชาวพุทธในศรีลังกาเรียกตัวเองว่า ชาวสิงหล เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกว่า ๘๐ % หลายท่านอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีการถวายองค์พระประธานจำนวนมาก ในประเทศที่เคยเป็น ดินแดนแห่งพระพุทธสาสนาเช่นนี้ ซึ่งหากใครทราบความเป็นมาแล้ว ย่อมเกิดแรงบันดาลใจในการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และจะไม่ยอมพลาดโอกาสสำคัญในการสร้างบุญใหญ่ครั้งนี้เลยทีเดียว
เพราะในอีกแง่มุมหนึ่ง ประเทศศรีลังกามีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพด้านจิตวิญญาณของชาวพุทธที่ยึดมั่นศรัทธาในพระรัตนตรัยเหนือสิ่งอื่นใดหลังจากที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา รวมเวลานานถึง ๔๔๓ ปี ส่งผลให้ศาสนาพุทธถูกทำลายจนหมดสิ้นจากประเทศศรีลังกา ถึง ๓ ครั้ง แต่ชาวสิงหลก็สามารถต่อสู้ฟันฝ่าจนกอบกู้พระพุทธศาสนาคืนมาได้ทุกครั้ง ผ่านศึกสงครามมาทุกยุคทุกสมัยจนทุกวันนี้ชาวศรีลังกายังคงมุมานะที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอย่างจริงจัง แม้ต้องประสบกับความยากลำบากเพียงใดก็ตาม
ปัจจุบันศรีลังกามีพระภิกษุ ๒๖,๐๐๐ รูป มีวัด ๖,๒๐๐ วัด โบสถ์จำนวนไม่น้อยไม่มีองค์พระประธานประดิษฐานอยู่เลย เพราะพระพุทธรูปโลหะถูกทำลายไปมากในช่วงสงคราม ทำให้วัดประจำอำเภอ ตำบล หรือแม้แต่วัดประจำหมู่บ้านธรรมดา มักจะมีองค์พระประธานที่สร้างจากปูนปลาสเตอร์เป็นส่วนใหญ่ บางวัดมีเพียงภาพวาดองค์พระประธานบนหน้ากระดาษเท่านั้น
แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความศรัทธาต่อพระรัตนตรัยของชาวสิงหลลดน้อยถอยลงไปเลย แม้ใบโพธิ์เพียงใบเดียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์ ก็ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับชาวศรีลังกา ดังจะเห็นได้จากการที่พวกเขานิยมนำใบโพธิ์มาคล้องคอให้ลูกหลานตั้งแต่เกิด
ดังนั้นพิธีถวายองค์พระธรรมกาย จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๑ องค์ เพื่อประดิษฐานยังวัดต่างๆ ในประเทศศรีลังกาในครั้งนี้จึงบังเกิดขึ้น ในวันอังคารที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ โดยดำริของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ประธานมูลนิธิธรรมกาย ที่ปรารถนาจะสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองยาวนาน สานสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวพุทธทั่วโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว
วันนี้ในประเทศศรีลังกาถือเป็นวันพระใหญ่ นอกจากจะเป็นวันหยุดราชการ สถานที่ราชการทุกแห่งปิดทำการ ตลอดจนร้านรวงของชาวพุทธก็หยุดกิจการชั่วคราว ถนนหนทางตั้งแต่กรุงโคลัมโบไปยังจังหวัดต่างๆ สองข้างทางมีรถจอดเป็นระยะ เพื่อเชื้อเชิญคนไปรับประทานอาหารฟรี โดยไม่มีการคิดมูลค่าใดๆ คือบรรยากาศการทำบุญสุนทานของชาวสิงหลที่แสนจะคึกคักเบิกบาน ไม่ว่าจะมองไปทางใด พุทธศาสนิกชนคนทุกระดับทั้งชายหญิง ล้วนแต่งกายด้วยอาภรณ์สีขาวทั้งประเทศ บนสองฟากถนนประดับประดาด้วยธง ๕ สี ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวพุทธอยู่ทั่วไป บนผืนธงประกอบไปด้วยสีแดง ขาว เหลือง น้ำเงิน และ สีแสด ที่แฝงความหมายในความรักและสืบสานพระพุทธศาสนา
แม้แต่ในทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ ท่านประธานาธิบดีศรีลังกา ฯพณฯ มหินทะ ราชปักษา ก็นิมนต์พระสงฆ์มาบรรยายธรรม เพื่อให้คณะรัฐมนตรีและครอบครัวได้ร่วมฟังธรรม หลังจากนั้นจะน้อมถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานแด่คณะสงฆ์ทุกรูป
ในภาคบ่าย เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ ผู้แทนมูลนิธิธรรมกายพร้อมด้วยเหล่ากัลยาณมิตร ได้เข้าพบท่านประธานาธิบดีศรีลังกาเป็นกรณีพิเศษเนื่องในโอกาสพิธีส่งมอบองค์พระธรรมกายองค์แรกเป็นปฐมเริ่มจากจำนวนทั้งสิ้น ๑๐๑ องค์ เพื่อประดิษฐานยังวัดต่างๆ ในประเทศศรีลังกา ลักษณะเป็นองค์พระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูมสีทองอร่าม หน้าตักประมาณ ๑ เมตร ซึ่งจำลองลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ ทั้งนี้ ทีมงานผู้ดูแลการประดิษฐานองค์พระ นำโดยพระรังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก พร้อมด้วยช่างผู้ชำนาญ ๓ ท่าน ได้ทำการประกอบชิ้นส่วนองค์พระประธานด้วยความละเอียดประณีต
องค์พระเป็นที่สนใจของชาวศรีลังกาตั้งแต่บริเวณขนส่งสนามบิน เจ้าหน้าที่ต่างขอเข้ามานมัสการองค์พระ และพูดคุยซักถามด้วยความชื่นชมว่าเป็นองค์พระประธานที่มีความงดงามสง่า
ยกใจผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก จนกระทั่งมาถึงทำเนียบรัฐบาล ได้จัดซุ้มสีขาวสวยงาม เป็นที่ประดิษฐานเพื่อต้อนรับองค์พระประธานเป็นอย่างดี
จากนั้นเป็นพิธีถวายโล่ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ “ผู้นำส่งเสริมการสอบคุณธรรมระดับโลก” แด่ท่านประธานาธิบดีศรีลังกา เนื่องในการสอบตอบปัญหาศีลธรรมเพื่อสันติภาพโลกหรือ World-PEC ซึ่งท่านประธานาธิบดีศรีลังกาได้ให้ความสนใจที่จะดำเนินการจัดสอบแก่ประชาชนทั่วไปภายในปีหน้า
ช่วงเย็น เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. เหล่าคณะกัลยาณมิตรได้เดินทางไปสวดมนต์ร่วมกันที่ต้นศรีมหาโพธิ์ ภายในเมืองโคลัมโบ ชาวศรีลังกาในชุดขาวมักจะเดินทางมาสวดมนต์ที่ต้นโพธิ์เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระจะมีสาธุชนมากเป็นพิเศษ
รอยยิ้มของชาวพุทธที่นี่ทำให้เราแปลกใจ เมื่อนึกถึงหลายเหตุการณ์ที่พวกเขาต้องฝ่าเผชิญทั้งภัยธรรมชาติและภัยสงคราม นอกจากจะไม่ทำให้โยกคลอนความศรัทธาที่ฝังรากหยั่งลึกในจิตใจแล้ว กลับยิ่งทำให้รักและหวงแหนพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
ดังตัวอย่างเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ใจ ซึ่งชาวสิงหลท่านหนึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงประสบภัยสึนามิให้เราฟังว่า หลังจากที่ศรีลังกาต้องเจอกับพายุไซโคลน ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดียอยู่บ่อยครั้ง ผู้คนล้มตายไปนับไม่ถ้วน ยังต้องมาเจอกับคลื่นยักษ์สึนามิที่หอบเอาคนนับหมื่นกลืนหายไปกับทะเล นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครทันตั้งตัว
ไม่น่าว่าริมชายฝั่งที่เคยหนาแน่นด้วยหมู่บ้านชาวประมงหลายแห่งอันตรธานหายไปทั้งหมู่บ้าน ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเรือนกลับเหลือเพียงองค์พระประธานองค์เดียวเท่านั้นที่โดดเด่น แม้แต่เสาวัดก็พังพินาศหมดแล้วและไม่ได้เป็นแค่วัดเดียว แต่เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัดที่องค์พระประธานไม่ถูกทำลายเสียหาย ทั้งที่ปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ธรรมดา แข็งแรงน้อยกว่าเสาเข็มเสียอีก นับเป็นเรื่องจริงที่ชาวศรีลังกาประสบด้วยตนเอง จึงยิ่งเพิ่มความศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยมากยิ่งขึ้น
ทำให้ที่พักพึ่งพิงแห่งใหม่ของคนไร้บ้านหลังจากภัยพิบัติ คือบริเวณด้านหน้าองค์พระประธานในหมู่บ้านนั้น ที่ชาวศรีลังกาไม่ว่าผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยเด็กเล็ก พร้อมใจกันสวดมนต์จนหลับไปทุกคืน การเดินทางไปศรีลังกาหลายครั้งเมื่อพบกับผู้ยากไร้ เราจะช่วยกันบริจาคเงินช่วยเหลือเท่าที่ทำได้และหากพบชาวพุทธ เราจะไม่ลืมมอบเหรียญพระของขวัญให้เป็นเครื่องตรึกระลึกนึกถึงบุญ
ก่อนขึ้นรถยนต์เดินทางกลับคืนนี้ ชาวพุทธอีกหลายรายมาปรากฏกายล้อมรถ บอกว่า “พวกฉันไม่ได้มาขอสตางค์ดอก แต่ฉันปรารถนาพระพุทธรูปขอฉันไปบูชาสักครอบครัวละหนึ่งองค์จะได้ไหม”
..แววตาที่เปี่ยมศรัทธาของชาวพุทธที่นี่คือดวงตาที่งดงามที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น..
บทความโดย.. อัญชลี เรืองจิต