ศรีลังกา ดินแดนในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนานถึง ๒,๕๐๐กว่าปีแล้ว ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่ต่างภาคภูมิใจว่า ประวัติศาสตร์ของชนชาติตนนั้นเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับพุทธศักราช เหตุที่กล่าวข้างต้น ก็เพราะว่าจากหลักฐานสำคัญใน คัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารและตำนานพระพุทธศาสนาของศรีลังกา มีเนื้อที่บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงพระชนม์ชีพเคยเสด็จไปลังกาทวีปถึง ๓ ครั้ง และยังได้บันทึกเรื่องราวของเจ้าชายวิชัย โอรสของพระเจ้าสีหภาหุ ที่เดินทางจากแคว้นลาฬะ ไปก่อตั้งอาณาจักรสิงหลในลังกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระพุทธองค์กำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพาน พระพุทธองค์จึงได้ทรงรับสั่งกับท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ว่า ลังกาจะเป็นที่ประดิษฐานศาสนาของตถาคต ขอให้ท้าวสักกะคุ้มครองเจ้าชายวิชัยพร้อมด้วยบริวารและลังกาด้วยเถิด ซึ่งท้าวสักกะทรงรับดำเนินการให้เป็นไปตามพุทธประสงค์
ข้อความในคัมภีร์ดังกล่าวได้ปลูกฝังและหล่อหลอมให้ชาวสิงหลเชื่อมั่นว่า ชาวสิงหลเป็นผู้ถูกกำหนดให้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา และศรีลังกาเป็นดินแดนแห่ง พระพุทธศาสนาจึงอยู่ในวิถีชีวิต และจิตวิญญาณของชาวพุทธศรีลังกาทุกคนมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์กว่า ๒,๕๐๐ปี
ศรีลังกา จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูคำสอนดั้งเดิม ด้วยความปรารถนาที่จะสืบสานมโนปณิธานของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสฺโร ที่มุ่งขยายวิชชาธรรมกาย อันเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทั่วโลก พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) จึงมีดำริที่จะถวายองค์พระประธาน ซึ่งเป็นพุทธปฏิมากรกายมหาบุรุษ ที่จำลองมาจากพระธรรมกายภายในเพื่อนำไปถวายวัดต่างๆทั่วโลกโดยเริ่มต้นที่ประเทศศรีลังกา จำนวน ๒๒๒ องค์ จากได้เล็งเห็นว่าศรีลังกาเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาอันเก่าแก่รองจากประเทศอินเดีย แต่ยังคงรักษาความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้ตราบจนปัจจุบัน อีกทั้งความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยกับศรีลังกาที่มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ครั้งที่คณะสงฆ์ลังกาเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ซึ่งต่อมาได้แผ่ขยายเข้าสู่กรุงสุโขทัย รวมถึงการที่ประเทศสยามส่งคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาด้วยการอุปสมบทให้แก่กุลบุตรชาวศรีลังกาเมื่อประมาณ ๒๕๐ ปีก่อนจนเป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ลังกาที่ได้เรียกขานกันว่า สยามวงศ์ หรือสยาม นิกาย ซึ่งในปัจจุบันศรีลังกามีวัดทั่วประเทศประมาณ ๙,๐๐๐ แห่งและเป็นวัดในสังกัดของสยามนิกายถึงกว่า ๕,๐๐๐ วัด รวมถึงวัดเก่าแก่ และเจดียสถานต่างๆที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของคณะสงฆ์สยามนิกายทั้งสิ้น
และด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์อันแนบแน่นของทั้งสองประเทศเช่นนี้ ประเทศศรีลังกาจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะอันเชิญองค์พระประธานกายมหาบุรุษไปประดิษฐาน เพื่อเริ่มต้นภาระกิจการฟื้นฟูคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ชาวโลก ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ได้ดำเนินการจัดสร้างและประกอบพิธีกรรมต่างๆจนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์พระประธานจำนวน ๒๒๒องค์ ได้ทยอยเดินทางไปถึงประเทศศรีลังกาตามกำหนดการ และพร้อมจัดพิธีเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นข่าวนำความปลื้มปีติยินดีมาให้แก่พุทธบริษัททั้งชาวไทยและชาวศรีลังกาทุกคน
พิธีเฉลิมฉลองพระประธาน เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาอีกวาระหนึ่ง เมื่อรัฐบาลศรีลังกาได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองพระประธานที่ได้รับมอบจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์ อย่างเป็นทางการ ณ เมืองมาตะเล ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในตอนกลางของประเทศศรีลังกา และเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกและจารึกลงบนใบลานเป็นครั้งแรกด้วยภาษาสิงหล
พิธีในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ Bernard aluviharayastadium โดยทางรัฐบาลศรีลังกาได้เชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมพิธี ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากหลายกระทรวง สมาชิกวุฒิสภา และในส่วนคณะสงฆ์ศรีลังกานั้นได้รับความเมตตาจาก สมเด็จพระสังฆราช และพระเถรานุเถระ รวมถึงคณะสงฆ์อีกกว่า ๒,๐๐๐ รูป จากทุกนิกายในศรีลังกา สำหรับตัวแทนของคณะสงฆ์จากวัดพระธรรมกาย นำโดยพระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นผู้แทนของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย พร้อมทั้งตัวแทนคณะท่านเจ้าภาพที่ได้ร่วมสร้างองค์พระประธานถวายวัดในประเทศศรีลังกา นำโดย ดร. ประกอบ จิรกิติ และ ท.พ.สุวัฒน์ พญ.วิไล สุริยาแสงเพช็ร เป็นต้น
พิธีเริ่มต้นขึ้น เมื่อขบวนของวงศ์ดุริยางค์ ทั้งแบบสากลและแบบสิงหล เดินนำคณะท่านผู้มีเกียรติ ชาวศรีลังกาเข้าสู่พื้นที่ จากนั้นเป็นการเชิญธงอันประกอบไปด้วย ธงชาติศรีลังกา ธงชาติไทย ธงฉัพพรรณรังสี ธงองค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก ธงธรรมจักร และธงมูลนิธิธรรมกาย ทั้งหมดได้ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาโดยพร้อมเพียงกันด้วยเพลงชาติของศรีลังกา จากนั้นเป็นการปาฐกถาจากบุคคลสำคัญของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสของศรีลังกาที่กล่าวแสดงความยินดีที่ได้จัดให้มีพิธีอันศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา และซาบซึ้งในไมตรีของ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ และวัดพระธรรมกายเป็นอย่างยิ่ง
จากนั้นเป็นพิธีอาราธนาศีล ๕ เป็นภาษาสิงหลโดยพระมหาเถระชาวศรีลังกา ต่อด้วยพระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญโญ นำนั่งสมาธิโดยแนะนำให้ชาวศรีลังกาวางใจเบาๆ และตรึกนึกถึงองค์พระประธาน ซึ่งเป็นตังแทนของพระธรรมกาย ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดซึ่งมีการแปลเป็นภาษาสิงหลโดยท่านพระธรรมรักขิตะ เมื่อเริ่มนั่งสมาธิ แสงแดดที่ร้อนก็พลันหรี่ลง และมีลมพัดโชยมาทำให้บรรยากาศในพิธีเย็นสบาย ทำให้ทุกคนต่างนั่งสมาธิด้วยความสงบนิ่งเป็นเวลา ๓๐ นาที ซึ่งจากการสอบถามคณะสงฆ์และสาธุชนที่มาร่วมงาน หลายท่านกล่าวว่ารู้สึกแปลกใจมากที่สามารถนึกถึงองค์พระประธาน ซึ่งเป็นตัวแทนของพระธรรมกาย ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ไปปรากฏอยู่ในกลางท้องได้อย่างง่ายดายรู้สึกสงบและมีความสุขมาก
หลังจากนั้น เป็นพิธีรับมอบองค์พระโดยตัวแทนของคณะกัลยาณมิตรจากประเทศไทยมอบถวายพานดอกไม้ แด่สมเด็จพระสังฆราชศรีลังกาและพระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญโญ ซึ่งรับถวายพานดอกไม้พร้อมกัน และนำพานดอกไม้ไปบูชาที่ฐานขององค์พระประธาน ปิดท้ายด้วยการที่คณะสาธุชนร่วมถวายภัตตาหารเพล และปัจจัยไทยธรรมแด่คณะสงฆ์ศรีลังกาจำนวน ๒,๐๐๐ รูป
หลังจากเสร็จพิธี ชาวศรีลังกาต่างพากันกรูเข้าไปกราบองค์พระประธาน พร้อมทั้งนำมือทั้งสองข้างแตะองค์พระ และก้มศีรษะลงกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด จากนั้นวัดต่างๆที่ได้รับองค์พระต่างก็ตกแต่งขบวนรถด้วยดอกไม้อย่างประณีตและสวยงาม เพื่ออัญเชิญกลับไปประดิษฐานที่วัด จากนั้นจึงค่อยๆเคลื่อนขบวนรถออกจากบริเวณพิธี พร้อมด้วยเสียงฆ้อง กลองและเสียงสวดมนต์ของสาธุชน เพื่อนำองค์พระกลับไปจัดพิธีสมโภชในวันรุ่งขึ้นต่อไป
พิธีรับมอบและเฉลิมฉลององค์พระประธานในครั้งนี้นับเป็นภาพอันงดงามที่ก่อให้เกิดความปลื้มปีติใจอย่างไม่มีประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทนคณะสงฆ์และคณะกัลยาณมิตรจากประเทศไทยที่ได้เดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งหลายท่านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกปลื้มปีติจนน้ำตาไหล เมื่อได้เห็นแสงพลังศรัทธาของชาวศรีลังกา ที่มีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้เกิดความมั่นใจว่าพระประธานทุกองค์ที่ได้ถวายไปนั้น จะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ชาวศรีลังกา ที่จะได้มีโอกาสรู้จักกับคำว่าธรรมกาย และจะได้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน และเกิดกุศลศรัทธาที่จะมาช่วยกันเผยแผ่คำสอนอันทรงคุณค่านี้ไปสู่ดวงใจของชาวโลกต่อไป