ทอดกฐิน อริยประเพณีที่สืบทอดมา กว่า 2,500 ปี นับตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังคงมีพระชนม์ชีพอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความศรัทธาเลื่อมใสว่าเป็นยอดของมหากุศล จะเป็นเหตุนำให้ผู้ได้มีส่วนในการทอดกฐินนั้น ได้มหานิสงส์อันยิ่งใหญ่สุดประมาณ ด้วยเหตุนี้ การทำบุญทอดกฐินจึงเป็นงานบุญที่อยู่ในใจ และอยู่ในเส้นทางสัญจรของชีวิตในหนึ่งปีที่จะพลาดไม่ได้
เพื่อให้การทำบุญทอดกฐินในปีนี้ ดำเนินอยู่บนรากฐานของศรัทธาอย่างพุทธศาสนิกชนตามพุทธประสงค์ คือ ทำบุญอย่างผู้เข้าใจคุณค่าและความหมายของบุญ ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษาความเป็นมา และความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน จากเรื่องราวดังต่อไปนี้
การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่มีความ เกี่ยวข้องกับการเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาพระภิกษุทุกรูปต้องจำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่งงดไปค้างแรมที่อื่นเป็นเวลาถึง 3 เดือน จนถึงวันออกพรรษาคือ สิ้นราตรีวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หลังออกพรรษาไปแล้ว จึงจะมี การทอดกฐินกัน
ความหมายของกฐินและทอดกฐิน ที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้
1.กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง, ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ
2. กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าที่มีผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้
3. กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบไตรมาส เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก
4. กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4
กฐินทาน เป็นบุญที่พิเศษกว่าบุญอื่น ด้วยเหตุหลายประการ อาทิ เช่นเป็นบุญที่เกิดจากพุทธประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการผลัดเปลี่ยนจีวรเก่าของพระภิกษุสงฆ์ จึงทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินเพื่อผลัดเปลี่ยนไตรจีวรเก่าได้
-- เป็นกาลทาน คือ ทานที่จำกัดด้วยกาลเวลา ต้องถวายภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่ออกพรรษา
-- เป็นสังฆทานไม่เฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พระภิกษุที่จำพรรษาใน
วัดนั้นๆ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูปพระภิกษุผู้รับผ้ากฐินต้องจำพรรษาที่วัดนั้น โดยไม่ขาดพรรษาและตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง ให้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งๆ ขึ้นไปเตรียมพร้อมเป็นเนื้อนาบุญแก่ชาวโลก แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ผ้าไตรจีวรต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
ความพิเศษของกฐินทาน ในปีหนึ่งแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจานั้นแล้วกฐินทานก็มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ได้แก่
1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
2. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
6. จำกัดคราว คือ วัดๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่นมหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง
อานิสงส์ ของกฐิน
๑. ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย
๒. ทำให้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์ และผ่องใสอยู่เสมอ
๓. ทำให้มีจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
๔. ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นกุศลติดตัวไปภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
๕. ทำให้เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงามเป็นที่รักของบุคคลทั่วไป
๖. ทำให้มีชื่อเสียงเกียรติคุณน่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา น่าเคารพนับถือ
๗. ทำให้ผู้นั้นแม้ตายแล้ว ก็ได้ไปเกิดในโลกสวรรค์
ฯลฯ
การทอดกฐินจึงเป็นบุญใหญ่ ที่ทั้งพระภิกษุสงฆ์และสาธุชนต่างได้รับอานิสงส์อันไพบูลย์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และเป็นบุญที่เกิดได้ยาก ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ ทุกคนควรมีโอกาสร่วมกันสร้างบุญใหญ่ในการทอดกฐิน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต และเพื่อสะสมบุญไว้เป็นเสบียงติดตัวไปใน ภพชาติเบื้องหน้า อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดประเพณีที่ดีงามนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปตลอดกาลนาน.