การศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยนั้น เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พ่อขุนรามคำแหงใน พ.ศ. ๑๘๒๐ – ๑๘๖๐ ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นอย่างดี ต่อมาพญาลิไท ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง เมื่อ พ.ศ ๑๘๙๖ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาพระอภิธรรมของพระพุทธเจ้าไว้ และเพื่อโปรดพระราชมารดา รวมทั้งประชาราษฎร์ทั่วไปให้เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรมของมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายในหนังสือไตรภูมิพระร่วงนั้น กล่าวถึงปรมัตถ์ธรรมอันเป็นธรรมที่ประเสริฐอย่างยิ่ง คงสภาวะไม่มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีการผันแปรของโลกไปอย่างไร มีกล่าวถึง จิต เจตสิก และรูป ในคนและสัตว์ที่มีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๓๑ ภูมิ ของกาม ภพ รูปภพ และอรูปภพอยู่ โดยจะไปเกิดในภพภูมิใด ขึ้นอยู่กับการกระทำคือการประพฤติปฏิบัติของตนเองอย่างไรก็ดี แม้ไปอยู่ภพภูมิใดก็ยังคงเสวยความทุกข์ทั้งหลายอยู่เสมอ นอกจากนั้นแสดงถึงว่า นิพพานเป็นสภาวะที่พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเหล่านั้น แต่เนื่องจากพระอภิธรรมเป็นธรรมะชั้นสูง ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจและศึกษา โดยเฉพาะเหล่าสาธุชน พุทธศาสนิก ที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ผู้ที่มีภูมิปัญญาทางธรรมะอย่างจำกัด นอกจากนั้นคนส่วนมากในสมัยนั้นและ สมัยต่อๆ มาเข้าใจว่าพระอภิธรรมเป็นเรื่องของการศึกษาของเทวดา มนุษย์จึงมีความสนใจกันไม่มากนักเมื่อถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ ไทยเสียบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า บ้านเมืองระส่ำระสาย ขาดผู้นำที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระอภิธรรมซึ่งธรรมดาเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่ค่อยมีสนใจขาดการศึกษาไป
แม้ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ พระองค์ได้ฟื้นฟูการนับถือพระพุทธศาสนาให้เริ่มจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีก โดยมีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ทบทวนเนื้อความในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธัมมปิฎก พระพุทธศาสนาจึงได้รุ่งเรื่องต่อไป ถึงรัชกาลที่ ๒ รัชการที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และต่อๆ มาจนถึงรัชกาลที่ ๙ ในปัจจุบันนี้ในประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยของกรุงศรีอยุธยา พอมีหลักฐานอยู่บ้างว่า มีการ สวดพระอภิธรรมเป็นพิธีกรรมในการบำเพ็ญกุศลให้แก่ศพ แต่ในหนังสือตำนานพระอภิธรรม โดยอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์กล่าวไว้ว่า มีการสวดศพด้วยพระอภิธรรมอย่างจริงจัง เมื่อประมาณต้นรัชกาลที่ ๕ และมีหลักฐานเป็นหนังสือ ๒ เล่ม คือ อภิธัมมัตถสังคหะ แปลร้อยอย่างพิศดาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ และหนังสืออภิธัมฉบับสมบูรณ์ พิมพ์ไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการศึกษาพระอภิธรรมและกุศโลบายของบรรพบุรุษไทยในการสืบทอดความรู้พระอภิธรรมได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระอาจารย์พม่า ภัททันตวิลาสะ เจ้าอาวาสวัดปรก ตรอกจันทร์ เขตยานนาวา กทม.ได้เริ่มทำการสอนวิปัสสนาภาวนาตามนัยแห่งพระอภิธรรม เกิดได้ลูกศิษย์ที่สำคัญคนหนึ่ง คือ แนบ มหานีรานนท์ ซึ่งเรียนพระอภิธรรมทั้งภาคปริยัติ และปฏิบัติอยู่หลายปี และได้เชิญอาจารย์ฆราวาสพม่า คืออาจารย์สาย สายเกษม จากจังหวัดลำปาง มาช่วยการศึกษาปริยัติและปฏิบัติธรรม โดยนัยอภิธรรม จึงเริ่มมีการสอนเป็นชั้น เรียนที่แน่นอนขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ทีวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี โดยมีท่านเจ้าคุณพระภาวนาภิรามเถระ (สุข ปวโร) เป็นอาจารย์ใหญ่ร่วมกับอาจารย์สาย อาจารย์แนบ และพระทิพย์ปริญญา (ซึ่งทั้งหมดเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ภัททันตวิลาสะทั้งสิ้น) การสอนกระทำโดยใช้ตำราพระอภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท เป็นบันทัดฐาน ในระหว่างนี้ก็มีการเปิดการศึกษาและการสอนปริยัติและปฏิบัติทางพระอภิธรรมขึ้นที่วัดสามพระยา วัดมหาธาตุ ฯ กทม. และต่างจังหวัด เช่น อยุธยา ลพบุรี ฯลฯ อีกหลายจังหวัด จากโอวาทหลวงพ่อวัดปากน้ำเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๖ ก็ได้กล่าวไว้ว่า พระทิพย์ปริญญาสอนอภิธรรมให้กับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่วัดปากน้ำ หลวงพ่อวัดปากน้ำจึงเทศน์ เรื่องจิตปรมัตถ์เพื่อเกื้อกูลแก่ผู้กำลังศึกษาพระอภิธรรม
ในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ สภาแห่งคณะสงฆ์พม่าจึงส่งพระพม่า ๒ องค์ คือ พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และพระอาจารย์เตชินทะ ธัมมาจริยะ มาจำพรรษาเริ่มแรกอยู่ที่วัดปรก เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ แล้วต่อไปก็ย้ายไปสอนพระอภิธรรม ที่วัดระฆังฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีการเปิดการสอนพระอภิธรรมขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่ “โรงเรียนบรรยายอภิธรรมปิฏก” ที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งอีก ๔ ปีต่อมาก็มีการจัดตั้ง “พระอภิธรรมมูลนิธิ” ขึ้นโดยอาจารย์บุญมี เมธางกูร รับผิดชอบเรื่องการสอนพระอภิธรรมร่วมกับอาจารย์แนบและคุณพระชาญบรรณกิจขยายการสอนให้มีมากขึ้น
ต่อมาที่วัดมหาธาตุฯ ได้มีการสอนอภิธรรมขึ้นที่โรงเรียน “อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย” ในปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ขึ้นและในปีต่อๆ มาก็มีการเปิดสำนักเรียนพระอภิธรรมตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัดอีกไม่ต่ำกว่า ๕๐ แห่ง นับว่าเป็นความก้าวหน้าในด้านการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยมิใช่น้อย
จะเห็นได้ว่าการศึกษาพระอภิธรรมในประเทศไทยได้ดำเนินการมาในระยะเวลาไม่นานมานี้คือเป็นระยะเวลาประมาณ ๖๐ ปีเท่านั้น และยังไม่ได้รับความนิยมสนใจจากพระพุทธศาสนิกชน นักศึกษาธรรมะกันมาก
เนื่องจากพระอภิธรรมเป็นธรรมชั้นสูง ถ้าเปรียบได้กับการเรียนแพทย์ศาสตร์ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนเตรียมแพทย์ศาสตร์ แล้วเรียนปรีคลีนิค ได้แก่เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยาซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานของวิชาแพทย์เสียก่อน ก่อนที่จะไปศึกษาเรื่องโรคภัย ไข้ เจ็บในตัวคนต่อไป นอกจากนั้นการเรียนพระอภิธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมมีการแสดงเรื่อง จิต เจตสิก รูป และนิพพานเท่านั้น เป็นการศึกษาชีวิตคนที่ลึกซึ้งมาก บุคคลผู้จะศึกษาต้องมีศรัทธาสนใจที่จะรู้ว่าชีวิตคืออะไรปัญหาของชีวิตมีอะไร ตายแล้วไปไหน และการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเป็นความทุกข์ของชีวิต และจักแก้ปัญหาของชีวิตได้อย่างไร ฯลฯ จำนวนนักศึกษาพระอภิธรรมจึงมีจำนวนน้อย ก็เช่นเดียวกัน ในมหาวิทยาลัยย่อมมีนักเรียนแพทย์จำนวนน้อยกว่านักศึกษาวิชาอื่นๆ ทั้งสิ้น
ผลการศึกษาพระอภิธรรมในปีแรกๆ นั้นมีจำนวนน้อยมาก เพราะยังไม่มีการวัดผลของการศึกษาที่ดี ต่อมา “อภิธรรมมหาวิทยาลัย” ได้จัดให้มีการสอบขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ มีผู้จบหลักสูตรการศึกษาพระอภิธรรมเป็น “ อภิธรรมบัณฑิต ” เป็นรุ่นแรกของการศึกษา เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาต่างๆ เท่าที่มีการศึกษาและการสอนพระอภิธรรมเป็นเวลา ๖๐ ปี ที่แล้วมานี้ มีนักศึกษาที่สอบไล่สำเร็จอภิธรรมตรี โท เอก ประมาณกว่าหนึ่งพันคน และที่ได้ “อภิธรรมบัณฑิต” ประมาณ ๒๐ ท่าน แม้ปัจจุบันนี้ ก็มีนักศึกษาพระอภิธรรมในกรุงเทพฯ ไม่กี่ร้อยคน รวมกับต่างจังหวัดด้วยแล้วมีประมาณพันกว่าคน สำหรับครูอาจารย์ที่สอนพระอภิธรรมนั้นก็มีเป็นจำนวนไม่ถึงร้อย เนื่องจากเป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิต จึงมีคนสนใจน้อยในยุคปัจจุบัน....
แม้พระอภิธรรมจะเป็นเรื่องที่ศึกษาได้ยาก หากให้ความสนใจและเห็นถึงประโยชน์ในการเข้าถึงสัจธรรมชีวิต ตามหลักพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ อภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตาราม มีการประกาศผลสอบอภิธรรมทุกระดับชั้น ในภาคเรียนที่2/2548 อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งผู้เข้าสอบมีทั้งพระภิกษุสามเณร รวมไปถึงประชาชนทั่วไป
ชั้นจูฬอภิธรรมตรี เข้าสอบจำนวน 182 ท่าน สอบได้ 92 จูฬอภิธรรมโท สอบ 77 ผ่าน 43 จูฬอภิธรรมเอก สอบ 45 ได้ 26 ชั้นมัชฌิมอภิธรรมตรี สอบ 52 ผ่าน 34 มัชฌิมอภิธรรมโท สอบ 42 ได้ 16 มัชฌิมอภิธรรมเอก สอบ 41 สอบได้ 17 ชั้นมหาอภิธรรมตรี สอบ 29 ได้ 12
มหาอภิธรรมโท สอบ 29 สอบผ่าน 10 ชั้นมหาอภิธรรมเอก สอบ 23 สอบได้ 10
โดยในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 จะจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่อภิธรรมบัณฑิตรุ่นที่ 42/2548 และนักศึกษาที่สอบผ่านอภิธรรมผ่าน รวมถึงจัดพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี เนื่องจากกิจการงานด้านการเรียนการสอน-สอบ งานเผยแผ่พระอภิธรรมนั้น ยังต้องอาศัยจัดการให้บังเกิดประโยชน์ยังพุทธบริษัทที่ยิ่งๆ ขึ้นต่อไป ทั้งเป็นงานรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบไปได้อีกทางหนึ่ง.
.ที่มา 1. มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ