พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

วันที่ 06 มีค. พ.ศ.2549





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการพัฒนาของความรู้ในสาขาต่างๆ มากมาย วิทยาศาสตร์เป็นพื้นความรู้ที่สำคัญของเทคโนโลยี เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่ได้จากการสังเกตและค้นคว้าทดลองแล้วนำมาจัดให้เป็นระเบียบ ส่วนเทคโนโลยีก็เป็นวิทยาการที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัตินั่นเองสำหรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสังคมไทยนั้นได้มีมานานแล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะเป็นเทคโนโลยีระดับสูงจึงใช้กันอยู่ในวงจำกัด จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งโครงการพระราชดำริต่างๆ ขึ้นมาซึ่งมีมากกว่า 2,400 โครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศในทุกโครงการจะประกอบด้วยประมวลความรู้และศาสตร์แขนงต่างๆ เอาไว้ บางโครงการก็จะใช้ศาสตร์แขนงเดียว บางโครงการก็เป็นการบูรณาการศาสตร์หลายสาขาเข้ามารวมกัน แต่ที่สำคัญก็คือหลักวิชาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นำมาใช้ล้วนแต่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งสิ้น
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.2489 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลานานกว่า 59 ปี พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกภูมิภาค การเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้งมิได้มุ่งหมายเพื่อให้ราษฎรได้ชมพระบารมีเท่านั้น แต่เพื่อทรงรับทราบความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพและปัญหาของประชาชน เมื่อได้ทราบปัญหาต่างๆ แล้ว พระองค์ทรงมีแนวทางในการศึกษาค้นคว้าด้านเทคโนโลยีด้วยพระองค์เอง โดยทรงใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับประชาชนได้เป็นเป้าหมายสำคัญ ผลจากที่พระองค์ได้ดำเนินงานมาเป็นเวลานานทำให้ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยอย่างมากมาย เช่น ฝนหลวงหรือฝนเทียม กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โครงการปลูกหญ้าแฝกป้องกันหน้าดินพังทะลาย โครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุ์พืชเอกลักษณ์ที่หายากจะได้ไม่สูญพันธุ์และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต เช่น การปลูกขนุนไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นขนุนพันธุ์หายากและปลูกยากมาก โครงการพลังงานทดแทนที่จะใช้ก๊าซโซฮอลแทนน้ำมันเบนซิล โครงการผลิตถ่านจากแกลบ โดยนำแกลบที่ได้จากการสีข้าวมาอัดเป็นแท่ง
ทำเป็นเชื้อเพลิงซึ่งสามารถใช้เป็นถ่านแทนไม้ เพราะให้พลังงานความร้อนค่อนข้างสูง นอกจากเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ไว้แล้ว ยังเป็นการนำแกลบที่เป็นของเหลือใช้มาใช้ประโยชน์และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ ได้เห็น
ความทุกข์ยากของพสกนิกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงทรงพยายามหาทางช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้มีโครงการพระราชดำริมากมาย ดังเช่นโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมาของดิน พระองค์ได้มีแนวคิดและดำเนินการจนได้ผลมาแล้วในหลายภูมิภาค เช่น ในภาคใต้ที่บริเวณป่าพรุในจังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่ดินเปรี้ยวจนไม่สามารถเพาะปลูกได้หรือทำได้แต่ให้ผลผลิตต่ำมากจนไม่คุ้มทุน ชาวบ้านบริเวณนี้จะยากจนและขาดแคลน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไขด้วยการขุดสระและกรุด้วยหินปูน และใส่หินฝุ่นเข้าไปเพื่อให้น้ำไม่เปรี้ยว แล้วส่งไปตามคลองตามท่อก็สามารถแก้ไขดินเปรี้ยวนี้ได้ จนในที่สุดชาวบ้านบริเวณนี้เริ่มยิ้มแย้มหน้าใสเพราะทำการเพาะปลูกได้ผลดีขึ้น นอกจากนี้โครงการพระราชดำริบางโครงการได้ใช้พื้นที่ของพระราชวังสวนจิตรลดาเป็นสถานที่ค้นคว้าทดลองแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าหากประสบความสำเร็จแล้วก็จะได้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทำให้พื้นที่ของพระราชวังสวนจิตรลดามีการทดลองในโครงการต่างๆ มากมาย เช่น โครงการผลิตปุ๋ยจากวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรกรรมโดยนำซากพืชและมูลสัตว์มาหมักย่อยสลายให้กลายเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ต่อพืช โครงการเพาะเห็ดโดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพาะเห็ดและศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมเพื่อใช้เพาะเห็ด เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประดิษฐ์ต่างๆ มากมาย สิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ เครื่องกลเติมอากาศที่รู้จักกันในชื่อของ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และต่อมาได้นำกังหันน้ำชัยพัฒนาไปใช้แก้ปัญหาน้ำเสียอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ รวมถึงได้มอบให้ประเทศเบลเยี่ยมไว้ใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาน้ำเสียเช่นกัน ต่อมาเครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 นับเป็นเครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรและเป็นเครื่องแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์ด้วย จึงนับได้ว่าสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกใน
ประวัติศาสตร์ไทยและเป็นครั้งแรกของโลก” ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ประกาศให้กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับรางวัลที่ 1 ในประเภทรางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปี พ.ศ.2536 นอกจากนี้คณะกรรมการนานาชาติได้มีการจัดงานเกี่ยวกับการแสดงด้านนวัตกรรม งานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 14 - 20 พฤศจิกายน 2543 และได้มอบรางวัลสำหรับการคิดค้นให้กับกังหันน้ำชัยพัฒนา ทั้งนี้คณะกรรมการนานาชาติได้กล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความว่า “พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นนักพัฒนา มีพระวิริยะอันสูงส่ง รวมทั้งพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ที่ดี ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ ทรงใช้เทคโนโลยีมาประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาใช้งาน
ได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก” ทำให้กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า สร้างจากเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ผลที่ได้รับนั้นมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาน้ำเสียได้อย่างแท้จริงจากผลงานของโครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพสกนิกร นับได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยอย่างมาก ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของประเทศไทย” อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย
ตลอดมา ทำให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พระองค์จึงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยทุกคนชั่วนิรันดร
เนื่องในวโรกาสในปีนี้พระองค์จะทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ขอเชิญชวนร่วมแสดงความจงรักภักดีในพระองค์ท่านด้วยการ เป็นลูกที่ดีของแผ่นดิน โดยมีพระองค์ท่านทรงเป็นศูนย์รวมใจ ให้แบบอย่างแห่งความดีทั้งปวง

อ้างอิง รองศาสตราจารย์บัญญัติ สุขศรีงาม
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

วรกานต์


 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019288301467896 Mins