จากกรณีการคัดค้านธุรกิจเบียร์บริษัทใหญ่ ! บริษัทดังกล่าว..พยายามนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ทำให้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในสังคมในด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ยังคงมีอยู่ กรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเห็นชัดว่าเข้าข่ายธุรกิจที่ไม่มีประโยชน์เช่นเดียวกับยาสูบ ซึ่งจริงๆแล้วไม่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้และการขยายกลุ่มผู้บริโภคมายังเด็กและเยาวชนนั้นก็ถือว่าเป็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
จากข้อมูลในปี พ.ศ.2548 ประเทศไทยมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และจะขยับอันดับขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
ปัจจุบันในกลุ่มวัยรุ่นมีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากวัยทำงาน วัยรุ่นที่จะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 11-19 ปีมีอัตราการดื่มสูงถึง 20%
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ระบุว่า วัยรุ่นไทยที่มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รุ่นแรงมากเป็นที่น่าจับตามองที่สุดคือวัยรุ่นผู้หญิง ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนขึ้นเกือบ 6 เท่าหรือคิดเป็น 1.0% เป็น 5.6% และโฆษณามีผลอย่างมากต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)ได้ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสุราจากการสำรวจจำนวนผู้ดื่ม 1,295 คน พบว่า สาเหตุสำคัญของการดื่มสุราคือ เพื่อนชักชวน ความจำเป็นในการเข้าสังคม และการอยากลอง
ปัจจุบันการซื้อขายสุราเป็นเรื่องที่สะดวกมากเพราะร้านค้าอยู่ใกล้บ้าน โดยเฉลี่ยผู้ซื้อจะเวลาประมาณ 7.5 นาทีเท่านั้น ส่วนการเดินทางไปดื่มสุราที่ร้านอาหารจะใช้เวลา เพียง 18.5 นาทีเท่านั้นเอง
เห็นได้ว่าหนทางที่จะนำพาไปสู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย แต่ทว่าปัญหาที่จะเกิดตามมาต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ เด็กและผู้หญิงถูกทำร้าย ถูกข่มขืน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ยากที่จะหาผู้ที่รับผิดชอบและแก้ไขได้ การรณรงค์เมาไม่ขับ การออก พรบ.คุ้มครองเด็กที่ห้ามจำหน่ายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือแม้แต่การรณรงค์ลดเลิกพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์กันมากมายและกว้างขวางเพียงใด ก็คงไม่สามารถที่จะลดปริมาณผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้
นอกจากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาเช่นกัน โดยกล่าวจากผลสำรวจของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ากลุ่มแรงงานในสหรัฐราว 15% ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พนักงานส่วนใหญ่ติดแอลกอฮอล์พบมากในเพศชายที่ยังอายุน้อยและเป็นโสด โดยมีอาการมึนเมาหรือแฮงก์ระหว่างงาน การมาทำงานด้วยอาการเมาค้างและเป็นพฤติกรรมที่พบเห็นมากที่สุด
ทางสถาบันวิจัยระบุว่า 10.8% จากผลสำรวจยอมรับว่าดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงานก่อนไปทำงาน และมักมีอาการแฮงก์ระหว่างวัน ทว่าพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย ในขณะที่ 2.9% ระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง และอีก 1.65% เกิดขึ้นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
นพ.ไมเคิล ฟรอน์ จากสถาบันวิจัยบัฟฟาโลเกี่ยวกับยาเสพติดระบุว่า “การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายและพฤติกรรม ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิดก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเองและสังคมด้วย”
เห็นได้ว่าทั้งในประเทศไทยและสหรัฐต่างมีปัญหาที่เกิดจากผลของผู้บริโภค
แอลกอฮอล์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มสูงหรือแม้แต่ปัญหาการติดแอลกอฮอล์ของแรงงานในประเทศสหรัฐที่ส่งผลต่อการทำงานเป็นอย่างมาก เห็นได้ว่าปัญหาเหล่านี้ยากที่จะแก้ไขได้และคงไม่ใช้เรื่องง่ายๆที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวที่ถูกปลูกฝังสั่งสมมานานจนเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิต
ฉะนั้นแนวทางการรณรงค์ต่างๆก็ต้องดำเนินต่อไป และทางภาครัฐก็ต้องเข้มงวดกับกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่างๆอย่างจริงจัง ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย และการบริโภค ต้องไม่มองข้ามแค่ผลประโยชน์ทางหน้าที่เพียงอย่างเดียว จะต้องมองไปถึงประโยชน์และศีลธรรมทางสังคมโดยส่วนรวมด้วย
อ้างอิง : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, สำนักข่าวรอยเตอร์
อนุธิดา