๔.การตั้งโรงครัว
เมื่อหลวงปู่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านได้ดำเนินการก่อตั้งโรงครัวขึ้นเพี่อถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร เพราะสมัยที่ท่านเคยอยู่วัดพระเชตุพนฯ และประสบความลำบากในเรื่องอาหารบิณฑบาต ท่านจึงตั้งมโนปณิธานไว้ว่า เมื่อมีโอกาสจะตั้งโรงครัวเลี้ยงอาหารพระภิกษุสามเณร เพื่อจะได้มีเวลาและโอกาสในการศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ และเป็นการสะดวกแก่ทายกทายิกาที่ต้องการจะทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรทั้งวัดด้วย เพียงแต่แสดงความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าภาพและนำปัจจัยมามอบให้แก่ไวยาวัจกร ทางวัดจะมีแม่ครัวหุงหาอาหารให้เสร็จเรียบร้อยทั้งมื้อเช้าและมื้อเพล เจ้าภาพเพียงแต่มาประเคนภัตตาหารเท่านั้น
หลวงปู่ได้ชี้แจงถึงอานิสงส์ของการถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรว่า จะได้บุญยิ่งใหญ่ไพศาลเพราะพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ พระสงฆ์เป็นประมุข เป็นประธานของผู้ต้องการบำเพ็ญบุญ ถ้าต้องการบุญก็ให้ถวายในหมู่สงฆ์ ไม่ควรเจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ให้ทำใจให้เป็นกลาง หลวงปู่ท่านเน้นว่าเป็นทายกต้องฉลาด โง่ไม่ได้ เพราะถ้าถวายเจาะจงเสียแล้วผลบุญก็ลดน้อยลงไป คนฉลาดต้องถวายให้เป็นกลาง จะได้ผลบุญยิ่งใหญ่ไพศาลที่เรียกว่า สังฆทาน และได้ชื่อว่าวางหลักพระพุทธศาสนา เพราะศาสนาของพระบรมศาสดา จะดำรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยความเป็นกลาง ภิกษุสามเณรก็ต้องประพฤติในพระธรรมวินัยให้เป็นกลาง ปฏิบัติให้เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตน ไม่เข้าข้างบุคคลอื่น อุบาสก อุบาสิกาบริจาคทานในพระพุทธศาสนาให้เป็นกลาง ไม่ค่อนข้างตน หมู่ตน พวกตน อย่างนี้ได้ชื่อว่าบริจาคถูกทางสงฆ์ ถูกเป้าหมายของบุญ
หลวงปู่ท่านนำกล่าวถวายสังฆทานว่า “ทานที่ท่านถวายให้ ให้เป็นกลาง มิให้เจาะจงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มีใจความตามภาษาบาลีว่า
“กาเล ททนฺติ สปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา ฯลฯ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินฺนติ” ทายกทายิกาทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยปัญญา ปราศจากความตระหนี่ เลื่อมใสแล้วในพระอริยบุคคล ในพระอริยสงฆ์ เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ตรงคงที่ ถวายทาน ทำให้เป็นทานที่ตนถวายแล้วโดยกาลในสมัยทักขิณาทานของทายกนั้นย่อมเป็นคุณชาติ มีผลไพบูลย์ดุจน้ำเต็มเปี่ยมในห้วงมหาสมุทร เพราะบริจาคทานในเขตบุญ
หลวงปู่ท่านได้แนะนำศิษย์ “ให้เป็นบุคคลที่ตนเองก็ชอบทำบุญและชักชวนให้ผู้อื่นทำด้วยทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ให้รู้จักเลือกผู้ที่จะทำบุญด้วย ให้ทุกคนพยายามรักษามนุษย์สมบัติ ท่านอธิบายว่าคนเรานั้นจะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องมีบิดามารดา ญาติพี่น้อง สามีภรรยา บุตร บริวาร อย่างที่เรามักเรียกกันว่า “มีพรรคมีพวก” คนที่มีพรรคพวกดีนั้นต้องประกอบกรรมดีร่วมกันมาแล้ว ท่านจึงสอนว่าถ้าเห็นคนดี ๆ เขาบริจาคทานกันละก็ให้พยายามไปร่วมกับเขา ไม่จำเป็นต้องร่วมด้วยเงินก็ได้ เพราะคนบางคนเขามีทรัพย์สินเงินทองเหลือเฟืออยู่แล้ว เขาต้องการให้มีคนมาช่วยเท่านั้น เราก็ไปช่วยด้วยแรง เพื่อว่าภพชาติหน้าจะได้มีพรรคพวกที่เป็นคนดี การที่จะมีมนุษย์สมบัติดีนั้นก็ด้วยสาเหตุ ๒ ประการ คือ ปุพฺเพกตปุญฺญตา การร่วมบุญกันมาในอดีตชาติ และการร่วมบุญในภพชาติปัจจุบัน
สมัยแรกที่ก่อตั้งโรงครัว หลวงปู่ท่านใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่าย และมีโยมพี่สาวของท่านนำข้าวสารและอาหารแห้งมาถวายเป็นประจำ ถ้าวันใดไม่มีผู้ใดมารับเป็นเจ้าภาพ หลวงปู่ก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเป็นค่าภัตตาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณรแทน ซึ่งเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่พระภิกษุไม่ต้องออกบิณฑบาต ทำให้ผู้ที่ยังขาดความเข้าใจในพระวินัยอย่างแจ่มแจ้ง ประณามว่าพระภิกษุที่วัดปากน้ำย่อหย่อนในพระธรรมวินัยและขาดนิสัยอย่างหนึ่งในนิสัย ๔ อย่าง อันเป็นหลักปฏิบัติของบรรพชิต คือ การฉันอาหารบิณฑบาต ส่วนผู้ที่เข้าใจในคำสอนอย่างแจ่มชัดแล้วจะไม่กล่าวอย่างนั้นเลย เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตไว้ว่า พระภิกษุสามเณรพึงงดเว้นถือนิสัยในการออกบิณฑบาตได้เมื่อพระภิกษุสามเณรมีอดิเรกลาภเกิดขึ้น เช่น มีผู้ศรัทธานิมนต์ฉันจังหันหรือมีทายกทายิกาจัดถวายในวันอุโบสถ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นั้นมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาประมาณ ๑๕๐ รูป และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ๖๐๐ รูปเศษ ถึงกระนั้นหลวงปู่ท่านก็ไม่เคยวิตกกังวลกับภาระนี้ ท่านเคยพูดเสมอว่า “กินคนเดียวไม่พอกิน กินมากคนกินไม่หมด” ท่านมุ่งมั่นจะบำเพ็ญบารมีอย่างจริงจังท่านเคยพูดถึงอานิสงส์ของการบำเพ็ญทานไว้ว่า “ทานนั่นแหละจะเป็นชนกกรรมนำไปเกิดในสกุลที่มั่งมีมาก เมื่อให้ทานแล้ว ผู้ยากขัดสนก็สมบูรณ์ อ้ายความสมบูรณ์ที่ให้แก่เขาน่ะกลับมาเป็นของตัวมากน้อยเท่าใดกลับมาเป็นของตัวหมด ทานนี่แหละเป็นข้อสำคัญนัก เพราะฉะนั้นบัดนี้วัดปากน้ำมีพระภิกษุสามเณรมารวมกันอยู่มากก็เพราะอาศัยเจ้าอาวาส บริจาคทานบริจาคมานาน ๓๗ ปีแล้ว” (ติดตามต่อในตอนหน้า).