ตอนที่ ๒
ประกาศตนเพื่อกอบกู้และปกป้องพระพุทธศาสนา โดยใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวสำคัญที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวพุทธในศรีลังกา และเป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้น ศาสนาอื่นที่เข้ามาครอบครองศรีลังกา ได้ข่มเหงพุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่องจนใครๆต่างสรุปว่า อีกไม่นานพระพุทธศาสนาคงจะต้องหมดไปจากเกาะศรีลังกา แม้แต่นักเขียนชื่อดังสมัยนั้น คือ เจมส์ เดอ อัลวิส ได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ว่า “พระพุทธศาสนาจะต้องสูญสิ้นไปจากศรีลังกา ก่อนสิ้นสุดคริสตศตวรรษที่ ๑๙ นี้อย่างแน่นอน” (ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๓)
ครั้นเมื่อท่านทคุณานันทะได้ประกาศตนว่า จะกอบกู้และปกป้องพระพุทธศาสนาจากการรุกรานของศาสนาอื่นโดยใช้ปัญญาเป็นอาวุธ จึงทำให้เกิดการประลองปัญญาโต้วาทะกันขึ้นเป็นจำนวนถึง ๕ ครั้ง ในช่วงเวลา ๙ ปี ดังนี้
ครั้งที่ ๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๐๘ ผลที่เกิดขึ้น คือ ชาวพุทธที่เคยท้อแท้ หมดหวัง ต่างเริ่มมีความหวังในการกอบกู้พระพุทธศาสนาขึ้นมาบ้าง และมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ท่านคุณานันทะได้กระทำตลอดมา
ครั้งที่ ๒ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๐๘ ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้ฟังทั้ง ๒ ศาสนา มีจำนวนเพิ่มขึ้น เกิดความตื่นตัว และสนใจเข้าฟังการโต้วาทธรรมอย่างกว้างขวาง
ครั้งที่ ๓ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๐๙ ผลที่เกิดขึ้น คือ ศาสนาอื่นเข็ดขยาด ไม่กล้ามาตอแยท่านคุณานันทะเป็นเวลานานถึง ๕ ปี การย่ำยีพระพุทธศาสนาในที่สาธารณะก็หมดไป แม้ว่าการโจมตีทั่วไปจะยังไม่หมดก็ตาม
ครั้งที่ ๔ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๑๔ ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้แทนศาสนาอื่น เข็ดหลาบในการโต้วาทธรรมกลับไปปรับปรุงกระบวนทัพใหม่
ครั้งที่ ๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๖ เป็นการโต้วาทธรรมครั้งที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด และมีผลกระทบต่อความเป็นความตายของศาสนาทั้งสองมากที่สุด เกิดจากการที่ศาสนาอื่นได้กล่าวจ้วงจาบ ย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านคุณานันทะจึงกล่าวเชิญมาโต้วาทธรรมกัน ณ เมืองปานะดุระ โดยแบ่งเวลาสนทนาเป็น ๒ วัน รวม ๔ รอบ ผลที่เกิดขึ้น คือ ฝ่ายศาสนาอื่นพ่ายแพ้ราบคาบ ไม่กล้ามาเผชิญหน้ากับท่านอีกต่อไป และยังมีผลต่อเนื่องที่ยิ่งใหญ่คือ
๑. มีการตีพิมพ์ และแปลบทโต้วาทะเป็นภาษาอังกฤษโดยหนังสือพิมพ์รายวัน Time of Ceylon และภาษาอื่นๆอีกหลายภาษา
๒. ชาวอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อ เฮนรี สตีล โอลกอตต์ (Henry Steel Olcott) ได้ไปอ่านพบเข้า และต่อมาได้มีบทบาทในการผลักดันการแก้กฎหมายต่างๆ เช่น ให้อังกฤษยกเลิกกฎหมาย ห้ามชาวพุทธประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนาของตน ดังนั้น ชาวพุทธจึงกลับมาทำพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลังจากว่างเว้นมายาวนาน
๓. ศาสนิกอื่นที่มาร่วมฟังการโต้วาทะในครั้งนั้น บางคนถึงกับเสื่อมศรัทธาจากศาสนาของตน แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนาด้วยความสมัครใจ
๔. การข่มเหง เบียดเบียน ทำลายชาวพุทธก็หมดไป
ตลอดชีวิตของพระคุณานันทเถระ เป็นไปเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของความอยุติธรรมจากศาสนาอื่น จนถึงกับมีผู้เขียนพรรณนาโวหารไว้เป็นภาษาสิงหลว่า
“ ท่านคุณานันทะ ทำให้พวกศาสนาอื่นหวาดผวา
เหมือนนักย่องเบาเห็นพระจันทร์เต็มดวง ลอยเด่นขึ้นมาฉะนั้น”
หมายความว่า นักย่องเบานั้นชอบความมืด ยิ่งมืดมากยิ่งชอบ จะได้ย่องเบาไปเอาทรัพย์ของคนอื่นได้ แต่นักย่องเบาจะกลัวแสงสว่าง เพราะฉะนั้น เมื่อพระจันทร์เต็มดวงขึ้นมา ก็จะกลัวเจ้าของทรัพย์เขาเห็น
เพราะเหตุที่ท่านทำงานพระพุทธศาสนาแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ท่านทำงานหนักโดยไม่หยุดหย่อนเลย จึงอาพาธอยู่เนืองๆ แม้แพทย์ที่เก่งที่สุดขอให้ท่านวางมือจากการงานเสียบ้าง แต่ท่านก็ไม่ได้ทำตามคำแนะนำของแพทย์เพราะเห็นความสำคัญของงานพระพุทธศาสนามากกว่า
จนกระทั่งวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๓ ท่านจึงได้มรณภาพไปด้วยอาการสงบ เหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันพลันดับลง ด้วยสิริอายุได้ ๖๗ ปี นับเป็น ๖๗ ปี ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา และอนุชนตราบจนถึงทุกวันนี้ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของท่านขึ้นที่วัดปทุตตาราม เมืองโคลัมโบ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณความดีของท่าน