ตอนที่ ๓
กติกาในการโต้วาทะ
พระคุณานันทเถระ ผู้เป็นมหาปราชญ์ แม่ทัพกองทัพธรรมที่รบชนะศึกด้วยปัญญา ชีวิตของท่านเป็นชีวิตของสมณะ ผู้อุทิศตนเพื่อกอบกู้พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ดังนั้น เมื่อท่านเอาชีวิตเข้าปกป้องและรักษาพระพุทธศาสนา ให้ดำรงคงอยู่มาถึงปัจจุบันนี้ จึงเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ ที่จะต้องเอาท่านเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พุทธบุตรต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว ในการที่จะบำเพ็ญสมณธรรม ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองและประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการช่วยกันเเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปให้กว้างไกลทั่วโลก ร่วมมือร่วมใจสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวนานตลอดไปโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ดังเช่น พระคุณานันทเถระ ผู้ดำรงชีวิตตามพุทธดำรัสที่ว่า
“ชีวิตแม้เป็นอยู่ถึงร้อยปี แต่มีความเกียจคร้าน มีความเพียรเลว หาประเสริฐไม่
บุคคลแม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว แต่มีความเพียรมั่น ชีวิตนั้นย่อมประเสริฐกว่า”
กติกาการโต้วาทะ
ในการโต้วาทะครั้งที่ ๕ ซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญที่สุด ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มโต้วาทะกัน มีความจำเป็นจะต้องร่างกติกาขึ้นมาก่อน เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย เนื่องจากมีศาสนิกของทั้งสองศาสนามาร่วมฟังกันอย่างท่วมท้น ล้นหลาม ซึ่งกติกาข้อหลักๆมีดังนี้
๑. การโต้วาทะกัน ให้กระทำด้วยวาจาต่อหน้าสาธารณชน ไม่ให้เขียนแล้วนำมาอ่าน
๒. ทั้งสองฝ่ายต้องส่งร่างเนื้อหาล่วงหน้า พร้อมลงลายมือชื่อรับรอง เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเนื้อหาสาระและไม่มีการเบี่ยงเบนจากหลักธรรมในศาสนาของตนในภายหลัง
๓. ต้องมีหลักฐานอ้างอิงที่มาของเนื้อหา จะยกมาลอยๆไม่ได้
เมื่อรับทราบกติกาแล้ว ทั้งสองฝ่ายต้องลงนามรับรองกติการ่วมกันก่อนวันโต้วาทะประมาณ ๑ เดือน กำหนดการโต้วาทะ คือ วันที่ ๒๖ และ ๒๘ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๖ คือ เมื่อประมาณ ๑๓๐ ปีที่แล้ว ช่วงเช้า ๘.๐๐ น. ถึง ๑๐.๐๐ น. ช่วงบ่าย ๑๕.๐๐ น. ถึง ๑๗.๐๐ น. ให้แต่ละฝ่ายพูดได้ครั้งละ ๑ ชั่วโมงต่อ ๑ รอบ โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งสองฝ่ายนอกจากจะมีความรู้ในศาสนาของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีความรู้ในคัมภีร์ของอีกฝ่ายหนึ่งพอสมควร ทำให้การโต้วาทะครั้งนี้ เผ็ดร้อนถึงพริกถึงขิงยิ่งนัก
ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายนำมาหักล้างกันในครั้งนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่แต่เฉพาะสำหรับชาวพุทธเท่านั้น แต่เป็นความรู้ที่สำคัญต่อมวลมนุษย์ทุกๆคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะนับถือศาสนาใดก็ตาม