ตอนที่ ๕
หัวข้ออภิปราย : พระสัพพัญญุตญาณไม่มีจริง
ฝ่ายตรงข้ามกับท่านคุณานันทะ ได้ยกประเด็นว่า พระสัพพัญญุตญาณไม่มีจริง และพระพุทธเจ้าไม่มีทิพยญาณ โดยยกหลักฐานจากพระไตรปิฎก ที่ปรากฎในคัมภีร์มหาวรรคว่า
หลังจากตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม เนื่องจากธรรมะเป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากที่ใครๆจะเข้าใจตามได้ จนกระทั่งพรหมมากราบอาราธนาว่า คนที่สามารถฟังธรรมของพระองค์แล้วตรองตามได้นั้นมีอยู่ จึงทำให้พระองค์มีกำลังใจที่จะแสดงธรรม
ต่อมาเทวดามากราบทูลพระองค์ว่า ท่านอาฬารดาบสและอุทกดาบส ได้สิ้นบุญไปแล้วทั้งคู่ ทั้งหมดนี้หมายความว่า พระองค์ไม่มีทิพยญาณแต่อย่างใด และแม้ว่าพระสัพพัญญุตญาณที่พระองค์ทรงมีนั้น มีสภาพตื้นเขินเพียงเท่านี้ไซร้ ใครๆก็มีสัพพัญญุตญาณกันได้ทุกคน
ท่านคุณานันทะได้กล่าวโต้ประเด็นนี้กลับไปว่า เรื่องนี้ท่านเคยชี้แจงและได้ตีพิมพ์ในเอกสารไปแล้ว ท่านจึงทบทวนขึ้นอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่า “พระสัพพัญญุตญาณ” นั้น ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงมีญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าจะเป็นไปตามพุทธประสงค์ หมายความว่า หากพระองค์ทรงสอดข่ายพุทธญาณ เพื่อหยั่งทราบเรื่องราวแล้ว พระองค์ก็จะทรงทราบสิ่งที่ทรงมุ่งประสงค์ได้ เปรียบเสมือนคนเราที่มีดวงตาอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ลืมตาขึ้นดู ก็ย่อมมองไม่เห็นสิ่งต่างๆเป็นธรรมดา ในกรณีนี้เราไม่อาจจะตำหนิเขาได้ว่า เขาไม่มีตา หรือว่าตามองไม่เห็น ดวงตานั้นมีอยู่ เมื่อเราอยากดูก็ลืมตาดูจึงจะเห็น แล้วก็เห็นได้ทีละอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้เป็นพระสัพพัญญูตลอดเวลา แต่ว่าเมื่อปรารถนาอยากจะดูตอนไหนก็จะเห็นตอนนั้น
เมื่อตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีเพียงพุทธดำริที่จะหาผู้ที่จะไปแสดงธรรมโปรด แต่ว่ายังไม่ได้ทรงเล็งดูด้วยทิพยญาณ ซึ่งเทวดาก็ทราบถึงพุทธดำรินั้น จึงมากราบทูลอาราธนา เมื่อพระองค์ทรงเล็งด้วยทิพยญาณ ก็ทรงหยั่งรู้ภพภูมิที่ดาบสทั้งสองไปเกิด ซึ่งตรงนี้เทวดาไม่รู้ว่าท่านทั้งสองไปเป็นอรูปพรหมอยู่ในอรูปภพแล้ว
ส่วนประเด็นเรื่องทรงท้อพระทัยนั้น ความจริงแล้วความท้อพระทัยไม่มีในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์มีกำลังใจเต็มเปี่ยมในการโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพียงแต่เวลานั้นพระองค์กำลังอยู่ในดำริ เมื่อตรวจตราดูธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ก็พบว่า เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ยากที่จะสอนใครให้เข้าใจได้ เพราะสัตว์โลกมีความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น คุ้นกับความอยาก ไม่มีการหยุด ไปพูดเรื่องการหยุดให้กับคนที่มีความอยาก จึงยากที่จะเข้าใจได้
ทั้งหมดนี้พระองค์กำลังอยู่ในขั้นรำพึงเท่านั้น มิได้ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมจนพรหมต้องมากราบอาราธนา แต่เป็นธรรมเนียมว่า พรหมจะต้องมาอาราธนา พรหมก็ปฏิบัติตามธรรมเนียม และไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ลงมาตรัสรู้ก็ตาม ท่านก็จะดำริอย่างนี้ แล้วพรหมก็มาตามธรรมเนียมอย่างนี้
อุปมาเหมือนกับพิธีถวายสังฆทาน ที่ต้องมีพิธีกรมาทำหน้าที่ดำเนินพิธีกรรม แล้วเจ้าภาพจึงค่อยกล่าวคำถวายสังฆทานแด่คณะสงฆ์ หากไม่มีพิธีกรก็คงถวายสังฆทานได้ แต่นี้เป็นธรรมเนียมที่พิธีกรจะต้องมาทำหน้าที่ พรหมก็เปรียบเหมือนพิธีกรนั่นเอง