คุณานันทเถระ ผู้กอบกู้พระพุทธศาสนาในศรีลังกา ตอนที่ ๙

วันที่ 09 กค. พ.ศ.2553

ตอนที่ ๙

ความเป็นมาของท่านคุณานันทเถระภาคอรรถกโถจารย์

(ภาคพรรณนาความโดยพิสดาร ในทรรศนะของโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา)

 

"มนุษย์ และสัตว์โลกทั้งหลาย ต่างต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏจักรของโลก

 บางชาติก็ได้เกิดเป็นมนุษย์ บางชาติก็ได้เกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม ฯลฯ

บางชาติพลาดพลั้งทำบาป ทำอกุศลกรรมเข้า ก็ไปเกิดในทุคคติภูมิ

 เป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง อสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง

วนเวียนอยู่อย่างนี้จนนับภพนับชาติไม่ถ้วน"

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุปมาให้ฟังว่า ในระหว่างที่เวียนว่ายตายเกิด ต้องประสบแต่ความทุกข์ ทั้งทุกข์เพราะพลัดพรากจากของรัก ประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ และยังทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกด้วย น้ำตาที่ต้องรินไหล เพราะความทุกข์ของแต่ละคน หากนำมารวมกันแล้ว ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ กระดูกของแต่ละคน เฉพาะในชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ หากนำมากองรวมกันยังสูงกว่าขุนเขาเสียอีก

สัตว์โลกทั้งหลายต้องประสบกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส เพราะการเวียนเกิดเวียนตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ และพร้อมกับภพชาติที่ผ่านไป ก็สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับโลกและชีวิตไว้ชาติแล้วชาติเล่า

ในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลายนั้น ย่อมมีสัตว์โลกผู้สั่งสมปัญญามามาก เมื่อประสบเหตุการณ์สะดุดใจ จึงพลันได้คิดว่า “ที่แท้โลกก็คือคุกใบใหญ่นี่เอง เราและสัตว์โลกต่างก็ถูกจับขัง ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ไม่รู้จักจบสิ้น เราจะต้องหาทางพาตัวเองออกไปจากคุกนี้ให้ได้” และผู้มีปัญญาเหล่านี้ ยังมีความกรุณาต่อสัตว์โลกอีกด้วย จึงได้ตั้งความปรารถนาว่า “หากวันใดเราแหกคุกนี้ไปได้ เราจะไม่ไปคนเดียว แต่จะขนคนไปให้หมดโลกทีเดียว” จากนั้นก็เร่งทำความเพียรสั่งสมความดีเรื่อยไป จึงได้เนมิตกนาม คือ นามตามคุณธรรมว่า พระโพธิสัตว์ แปลว่า สัตว์ผู้มุ่งการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์

 

น้ำใจของพระโพธิสัตว์

“หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ มีถ่านเพลิงร้อนสุมคุระอุเต็มไปหมด

หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ มีเปลวไฟลุกแดงเป็นพืดยาวเต็มไปหมด

หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่สุดประมาณนี้ เต็มไปด้วยภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟ โพลงอยู่ไม่รู้ดับ

และพื้นภูมิภาคตามระหว่างข้างๆซอกแห่งภูเขาเหล่านั้น เต็มไปด้วยน้ำทองแดงอันเดือดพลุ่ง ร้อน ละลายไหลเหลวอยู่เต็ม

ผู้ใดที่มีใจองอาจ เพื่อจะเดินฝ่าบุกไปโดยเท้าเปล่าๆ ไปจนสุดหมื่นจักรวาล

ผู้นั้นแหละจึงควรที่จะปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์"

ผู้ที่ปรารถนาพระพุทธภูมินั้น ย่อมบำเพ็ญธรรมหนักแน่นด้วยน้ำใจเด็ดเดี่ยว มั่นคง ไม่ว่าจะเสวยพระชาติ ถือกำเนิดเป็นอะไรก็ตาม ย่อมประกอบกุศลธรรมไม่ย่อหย่อนหรือเบื่อหน่ายเลย แม้ใครจะคิดทดลองด้วยอุบายใดๆ เพื่อให้พระโพธิสัตว์เปลี่ยนใจจากการกระทำกุศลธรรม ย่อมสำเร็จได้โดยยาก”

 

อัธยาศัยพระโพธิสัตว์

๑. เนกขัมมัชฌาสัย พอใจที่จะบวช รักเพศบรรพชิตเป็นยิ่งนัก

๒. วิเวกัชาสัย พอใจอยู่ในที่เงียบสงัดวิเวกผู้เดียวยิ่งนัก

๓. อโลภัชฌาสัย พอใจบริจาคทาน และพอใจบุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ตระหนี่เป็นยิ่งนัก

๔. อโทสัชฌาสัย พอใจในความไม่โกรธ เจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงยิ่งนัก

๕. อโมหัชฌาสัย พอใจในการพิจารณาสิ่งที่เป็นคุณและโทษ คบค้าสมาคมกับผู้มีสติปัญญายิ่งนัก

๖. นิสสรฌัชฌาสัย พอใจที่จะยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ต้องประสงค์พระนิพพานยิ่งนัก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023890566825867 Mins