ตอนที่ ๘
คุณานันทเถระ แบบอย่างของสามเณรผู้ได้โอกาส
สามเณรเป็นผู้ได้โอกาส ไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาส เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ควรจะมีความคิดอย่างท่านคุณานันทะ ผู้เป็นวีรบุรุษแห่งกองทัพธรรม คือ รักชีวิตการเป็นสามเณร มีความรู้สึกหวงแหนพระพุทธศาสนา ต้องปกป้องและรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ ให้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์และเทวดาให้ได้ ต้องฝึกกันตั้งแต่เป็นสามเณรอย่างนี้ เพราะต่อไปเมื่อเป็นพระภิกษุแล้ว ก็จะต้องรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อไป
บทฝึกของสามเณร
สามเณรต้องฝึกฝนตนเองให้ดี เริ่มต้นง่ายๆโดยฝึกเป็นนักคิดอย่างนี้ สมมุติว่า ตั้งโจทย์เกี่ยวกับคำว่า “บุญ” สามเณรก็ลองสมมุติตัวเองเป็นญาติโยม ที่อยากทราบความหมายของคำว่า บุญ จากนั้นก็ตั้งคำถามขึ้นมาสักร้อยข้ออย่าให้ซ้ำกัน เช่น บุญคืออะไร อยู่ตรงไหน มีวัตถุประสงค์อย่างไร เป็นต้น อาจจะแบ่งกลุ่มกันไปศึกษา ระดมปัญญา แล้วก็รวบรวมคำถามเอาไว้
แล้วสมมุติว่า เราเป็นสามเณรคุณานันทะจะตอบคำถามร้อยข้อที่ไม่ซ้ำกัน เราจะตอบอย่างไร ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อย่าไปเรียนแบบ ๑ บวก ๑ เป้น ๒ แต่ควรจะเรียนว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ ๒ ถ้า ๑ บวก ๑ เป้น ๒ จะคิดได้เพียงวิธีเดียว แต่ถ้าคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ ๒ จะมีวิธีคิดเป็นล้านๆวิธี เช่น ๔ ลบ ๒, ๕ ลบ ๓, ๖ ลบ ๔ จนกระทั่งล้านสองลบหนึ่งล้าน พันล้านสองลบพันล้าน อย่างนี้เป็นต้น
แล้วเรานำวิธีคิดอย่างนี้มาใช้กับหัวข้อธรรมะ เรื่องบุญ บาป ทาน ศีล ภาวนา แต่ละหัวข้อเราตั้งคำถามสักร้อยคำถามที่ไม่ซ้ำกัน แล้วรวบรวมคัดแต่คำถามที่น่าสนใจ แล้วมาช่วยกันตอบ ถ้าหากเราไม่รู้ เราก็ถามพระอาจารย์ ถามพระพี่เลี้ยง หรือไปค้นคว้าในตำรับตำรา เรียนอย่างนี้ถึงจะดี แล้วความคิด ความอ่านจะกว้างขวาง ปัญญาเรามีอยู่ทุกคน แต่ว่าเอามาใช้ไม่เท่ากันทุกคน ใช้มากก็มีปัญญามาก ใช้น้อยก็มีปัญญาน้อย
บทสรุป
เพราะฉะนั้น การมาบวชตั้งแต่เป็นสามเณร จึงไม่ใช่เป็นผู้ที่ด้อยโอกาส แต่เป็นผู้ได้โอกาส เพราะเราได้ศึกษาตัวอย่างจากสามเณรคุณานันทะ ซึ่เป็นต้นแบบสำคัญทีเดียว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พุทธบริษัท ๔ ต้องตื่นตัวขึ้นมาเพื่อศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รักษาและหวงแหนพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษของเราเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อรับมาแล้วก็รักษาด้วยชีวิต สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต ตลอดจนชาวโลกทั้งหลาย
เพราะคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งประเสริฐสูงสุด ไม่มีความรู้ใดที่จะเสมอเหมือน เป็นคำสอนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเหตุผล พิสูจน์ได้ทุกกาลเวลา ถ้าเรารักเหตุผล หรือเป็นคนมีเหตุผล เราก็ต้องเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องกฎแห่งกรรม มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น คำสอนใดที่ไม่มีมรรคมีองค์ ๘ คำสอนนั้นจะไม่มีพระอริยบุคคล บุคคลผู้ประเสริฐ เหมือนเราไม่อาจจะหารอยเท้านกในอากาศได้ ฉันนั้น
คำสอนของพระพุทธองค์ ทำให้ชาวโลกได้เข้าใจเรื่องราวของชีวิตได้เป็นอย่างดี และดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด และมีเป้าหมายปลายทาง คือ ทำพระนิพพานให้แจ้งได้
คู่แข่งที่แท้จริงของเรา ก็คือ “เวลา” เราจะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะบังเกิดขึ้นมา ต้องใช้เวลายาวนานนับเป็นหลายๆอสงไขย พระองค์ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ สร้างบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แล้วมาค้นพบในชาติสุดท้ายเมื่อบารมีเต็มเปี่ยม
ดังนั้น ให้เราดำเนินชีวิตอย่างผู้เป็นต้นแบบ รักษาพระพุทธศาสนา เฉกเช่น ท่านคุณานันทะ ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้อยู่คู่โลกเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย และเทวดาทั้งปวง