พิเศษ ต้านอบายมุข 2 เรื่อง

วันที่ 14 มีค. พ.ศ.2549

ยาเสพติดเป็นอุทาหรณ์ที่ดีอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ไม่สามารถกล่าวอ้างสิทธิเสรีภาพในการเสพแสวงหาความสุขได้ โดยไม่อาจรับผิดชอบต่อผลร้ายที่ติดตามมาได้

      กรณีคนเสพยาบ้าคลุ้มคลั่ง ใช้อาวุธจี้จับตัวประกันแล้วทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าเหยื่อขณะร่างกายไม่ได้สติ เขาจะรับผิดชอบต่อชีวิต และสิทธิในอนาคตของเหยื่อที่ถูกพรากจากไปได้อย่างไร และแน่นอนว่าย่อมไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนหรือเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้เลย

ความวิตกกลัว หวาดระแวงในภัยจากคนคลุ้มคลั่งอาละวาดเหล่านี้ เป็นต้นทุนของสังคมอีกอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพความมั่นคงทางจิตใจของผู้คน จะชดเชยแก้ไขได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยาเสพติดยังก่อปัญหาสุขภาพอนามัยของผู้เสพ ซึ่งเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับงบประมาณสาธารณสุข การลักทรัพย์ ฆ่าชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ การค้าโสเภณี ตลอดจนแหล่งเพาะอาชญากรรมทุกชนิด สิทธิเสรีภาพในการเสพสารเสพติดจึงไม่มี เพราะมันมีส่วนทำร้ายผู้เสพ รัฐจึงต้องคุ้มครองป้องกันมิให้มีการทำร้ายตนเอง เพราะความโง่เขลา

การเสพสารเสพติดยังก่อภัยคุกคามต่อสังคม หรือละเมิด "สิทธิของสังคม" ซึ่งหมายถึงสิทธิของประชาชนส่วนรวมนั่นเอง สิทธิของปัจเจกในการแสวงหาความสุข ต้องยุติสิ้นสุดลง หากเป็นการคุกคามต่อสิทธิของสังคม

ที่ผ่านมาคณะทำงานรณรงค์ "ผู้ชายเลิกเหล้า หัวใจไร้ความรุนแรง" ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรหญิงได้เรียกร้องรัฐบาลให้สนับสนุนการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยมีสาระสำคัญหนึ่งของข้อเสนอทางออกคือ การรณรงค์ให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ด้วยการลด ละ เลิกเหล้าและอบายมุข

แต่ลำพังการรณรงค์ให้ฝ่ายชายลด ละ เลิกอบายมุขนั้น คงเป็นเรื่องยากใช้เวลานานมากกว่าจะเห็นผล หรืออาจไม่เห็นผลเลยก็เป็นได้ อำนาจในเรื่องนี้อยู่ในหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และศาสนา รวมทั้งผู้หญิง

ฝ่ายรัฐและเอกชนมีกฎระเบียบ ว่าด้วยวินัยเจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานบริษัทห้างร้าน ฝ่ายพุทธศาสนา ก็มีระเบียบว่าด้วยพฤติกรรมก่อนบวช เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนรวม สตรี และเด็ก

สำหรับผู้หญิงนั้นมีอำนาจมากในเรื่องนี้ หากจัดระเบียบองค์กรเข้มแข็ง ด้วยการรณรงค์สร้างค่านิยม ไม่คบหาผู้ชายดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน และเล่นการพนัน เหมือนที่สมัยโบราณ พ่อแม่ไม่ยินยอมยกลูกสาวให้ผู้ชายขี้เหล้าเมายา บ้าการพนัน ก็เป็นการควบคุมกำกับพฤติกรรมของผู้ชาย

ทางเลือกสุดท้ายที่เป็นมาตรการเชิงบังคับคือ อาจมีการกำหนดห้ามดื่มเหล้าในบางสถานที่ และเทศกาลวันสำคัญ เช่น วันสำคัญทางศาสนา และช่วงที่พี่น้องมุสลิมถือศีลอด ช่วงเข้าพรรษา

อีกทางเลือกหนึ่ง คือ ห้ามทุกคนดื่มสุรา เพราะทุกคนไม่มีสิทธิตั้งแต่ต้น เพราะสุราเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของสังคมอย่างร้ายแรง และหากใครอยากดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ก็ต้องมีใบอนุญาตจากสังคมหรือรัฐ แต่ต้องแลกกับการต้องถูกเพิกถอนสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการการรับบริการสาธารณสุขของรัฐ เพื่อให้รัฐใช้งบประมาณรายจ่ายด้านสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ดื่มสุรา ซึ่งเป็นที่มาของโรคและค่ารักษาพยาบาลสูง

ผู้มีใบอนุญาตดื่มสุรา จึงควรมีไว้สำหรับคนที่มีความรับผิดชอบตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ดีเท่านั้น คือสงวนสิทธิไว้สำหรับผู้ดื่มเหล้าเป็นเท่านั้น (พวกขี้เหล้าคงหมดสิทธิ) ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นต้องทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน (คงแพงลิบลิ่วน่าดู ) หรือจ่ายสด/ผ่อนเองทุกกรณี

ส่วนคนที่ไม่มีใบอนุญาต แต่แอบดื่ม ดูเหมือนโทษโบย เฆี่ยน ดูเหมือนจะเหมาะสมกว่าการจับปรับ หรือจำคุก เพราะมักไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ และโทษติดคุกก็เป็นการสร้างภาระให้แก่สังคม เพราะก่อให้เกิดรายจ่ายโดยไม่จำเป็น ตลอดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวแตกแยกได้ง่าย เพราะขาดกำลังในการหาทรัพย์ทำมาหากิน

ชอบวิธีไหน ก็เลือกเอาสักวิธีที่ชอบ แต่หากไม่แน่ใจก็ทดลองดูก่อนสักหนึ่งวิธี หรือหลายวิธีสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยปรับปรุงแก้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ถูกจริต ค่านิยม ความเชื่อ ตลอดจนจริตความกลัวของคนไทยที่ต่างกับคนชาติอื่น

สิทธิเสรีภาพของปัจเจกต้องยุติลง เมื่อมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือละเมิดสิทธิของสังคม สิทธิเสรีภาพในการทำร้ายสังคม ซึ่งไม่มีในโลกปัจจุบัน


ที่มา วัลลภ ธรรมรักษา

แอลกอฮอล์ทำลายสุขภาพ

ครอบครัวที่มีสมาชิกดื่มเครื่องดื่มฯ แม้เพียงหนึ่งคน ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมากหรือน้อยตามความรุนแรงของปัญหา แต่หน่วยที่ต้องแบกรับภาระความเสียหาย คือ ครอบครัว

 

จากการวิจัยเรื่อง ผลกระทบของสุราในฐานะเป็นปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ของมูลนิธิเพื่อนหญิง เมื่อปี 2546 พบว่า การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดสติในการควบคุมอารมณ์ รวมทั้งก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทในครอบครัว

 

โดยการวิจัยพบว่า ปัญหาที่เกิดในครอบครัวจากสามีที่ดื่มเครื่องดื่มฯ “ประจำ” แล้วทำร้ายร่างกายภรรยาเกิดขึ้นร้อยละ 5.7 และภรรยาที่ดื่ม “ประจำ” แล้วทำร้ายร่างกายสามีเกิดขึ้นร้อยละ 6.2 ของผู้ที่ดื่มประจำ

 

ครอบครัวที่สมาชิกหรือผู้นำในครอบครัวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีแนวโน้มการเกิดความรุนแรงในครอบครัวและบุคคลอื่น เด็กในครอบครัวที่มีการดื่มมีแนวโน้มการเกิดโรคซึมเศร้าสูงกว่าในครอบครัวทั่วไปและเด็กไทยประมาณ 1 ใน 4 ที่เห็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเมาของสมาชิกในครอบครัว

 

ผลการวิจัย ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัวที่มีผู้ดื่มสุราสูงถึง 100 – 300 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ดื่มขั้นต่ำประมาณ 13 ล้านคน และในอัตราความถี่ของการดื่มประมาณสัปดาห์ละครั้ง คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 4.68 หมื่นล้านบาท โดยที่เงินจำนวนนี้สามารถนำไปสร้างโรงเรียนได้ประมาณ 7,000 – 20,000 โรง

 

นอกจากนี้ ปัญหาการหย่าร้างและเปลี่ยนงานในผู้ติดสุรามีแนวโน้มสูงเกินครึ่งหนึ่งของผู้ติดสุรา

 

การดื่มสุรานอกจากจะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ดื่มแล้ว ยังทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย ซึ่งเห็นได้จากร้อยละของคดีอาญาศาลจังหวัด ซึ่งมีสาเหตุมีการดื่มเกี่ยวข้องเมื่อเทียบเป็นความชุกจำเพาะตามประเภทฐานความผิด ได้แก่

 

(1) ความผิดทำให้เสียทรัพย์ ร้อยละ 59.1

(2) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ร้อยละ 34.8

(3) ความผิดต่อร่างกาย ร้อยละ 20.8

(4) ความผิดฐานบุกรุก ร้อยละ 16.1

(5) ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ร้อยละ 10.5

 

 

ที่มา

มูลนิธิเพื่อนหญิง
สุธีร์ อันต๊ะประเสริฐ, 2531. ลักษณะผู้ติดสุราในหอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, พยาบาลสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2531, 40-51.

 

วิชัย โปษยะจินดา และคณะ 2544, โครงการศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อหามาตรการทางเลือกป้องกันแก้ไข

 

โดย จุลภาค

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.07666335105896 Mins