นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นมา พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานด้านการศึกษาที่เด่นชัด ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทซึ่งได้พระราชทานไว้ในวโรกาสต่าง ๆ และพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะขอนำเสนอเพียงพระราชปณิธานที่สำคัญๆ ดังต่อไปน
- พระราชปณิธานที่จะพระราชทานการศึกษา เพื่อพัฒนาชีวิตราษฎร ทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพด้วยการให้การศึกษา เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้และมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและประเทศชาติ จากพระบรมราโชวาทบางตอนที่ได้พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัยเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ว่า
"…การศึกษาเป็นปัจจัยในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติและคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนพอเหมาะกันทุก ๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ตลอด"
- พระราชปณิธานที่จะจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน ทรงอุปถัมภ์ โรงเรียนวังไกลกังวล ให้จัดสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนประถมศึกษาในท้องที่ห่างไกลและทุรกันดาร พระราชทานเครื่องเขียนแบบเรียน เสื้อผ้าแก่เด็กนักเรียน เครื่องอุปโภคบริโภคแก่ครูและพระราชทานพระราชทรัพย์ประเดิมตั้งมูลนิธิต่าง ๆ
- ให้เด็กได้เล่าเรียนต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่ก่อนระดับประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ทุกแห่งก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนในลักษณะเดียวกัน พร้อมด้วยห้องสมุดที่ทันสมัย เพื่อบุตรหลานของประชาชนในศูนย์พัฒนาที่ดินฯ นั้น ๆ จะได้เข้าศึกษาเล่าเรียนทุกแห่ง และเพื่อให้การศึกษาของเด็กในชั้นประถมศึกษาเป็นไปด้วยดี ผู้ปกครองเด็กได้มีเวลาในการประกอบอาชีพเต็มที่
- การส่งเสริมการพัฒนาการฝึกหัดครู ครู และผู้บริหารการศึกษา ทรงห่วงใยการฝึกหัดครูเป็นอันมาก พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะข้าราชการที่รับผิดชอบต่อการฝึกหัดครูและคณะข้าราชการกรมการฝึกหัดครูที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ ตอนหนึ่งว่า
"…โดยที่ครูต่างทำตัวให้เป็นครูที่น่าเคารพ แม้จะฝืดเคืองก็ยังกัดฟันสอนและแจกจ่ายความรู้ออกไป ดังนี้ก็จะได้ความเคารพจากศิษย์และการสอนก็จะง่ายขึ้น แต่ว่าต้องวางตัวให้เป็นครูที่แท้ การฝึกหัดครูจะต้องย้ำในข้อนี้ว่า ถ้าครูทำตัวเป็นครูจะทำให้ลูกศิษย์นับถือเป็นทุน แต่ว่าถ้าทิ้งความเป็นครูโดยที่ท้อใจ โดยที่ยอมแพ้สถานการณ์ก็ทำให้ลูกศิษย์มีความเคารพไม่ได้และสอนไม่ได้… ขอให้ทุกคนพยายามรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นครูแล้วถ่ายทอดให้แก่ครูที่ฝึกหัดอยู่เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้บ้านเมืองเป็นบ้านเมือง ให้ประชาชนพลเมืองเป็นคน คือมีความรู้และมีจิตใจที่สูง ไม่เบียดเบียนกัน จะทำให้ส่วนรวมอยู่ได้เป็นปึกแผ่น ทั้งครูทั้งหลายก็จะนับว่าได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญ อย่างฉลาดและจะเป็นความดีเป็นส่วนรวมของคณะครู… หน้าที่ที่ไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับเงินเดือนตอบแทน แต่หน้าที่ในฐานะมนุษยชน เมื่อทำแล้วจะมีความพอใจได้ใช้ชีวิตในทางที่ถูก ก็การใช้ชีวิตที่ถูกนั้นอาจไม่รวยแต่จิตใจรวย…"
นอกจากนี้ทรงห่วงในในความเป็นอยู่ทรงห่วงในในความเป็นอยู่ และการปฏิบัติหน้าที่ของครูอาจารย์เป็นอย่างมาก
- ส่งเสริมการอาชีวศึกษาให้แพร่หลาย ทรงสนพระราชหฤทัย ทรงกล่าวถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการอาชีวศึกษา ให้ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีวศึกษาและส่งเสริมให้การอาชีวศึกษาแพร่หลายให้ได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าเทียมกับสามัญศึกษา
- พระราชปณิธานในการขยายการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วทั้งประเทศ
- พระราชปณิธานที่จะให้วัดและพระสงฆ์ได้มีส่วนช่วยเหลือการศึกษาของชาติ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้าอนาถาขึ้นในวัด โดยอาราธนาพระสงฆ์มาเป็นครูอบรมศีลธรรมและช่วยสอนวิชาสามัญที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยเพื่อให้วัดและพระสงฆ์ได้มีส่วนช่วยเหลือการศึกษาของประเทศชาติ โรงเรียนวัดที่ตั้งขึ้นในช่วงแรก ๔ โรง ได้แก่ โรงเรียนวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ โรงเรียนวัดสันติการาม เป็นต้น
- การให้การศึกษาแก่เด็กที่ประสบภัยธรรมชาติ และประชาชนที่ยากไร้ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อว่า "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" นอกจากผู้ประสบภัยแล้วในท้องที่บางจังหวัดในภาคใต้ที่มีประชาชนยากจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รายได้จากดอกผลของมูลนิธิฯ ไปก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น และพระราชทานชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์"
- พระราชปณิธานที่จะให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สามารถพูดภาษาไทยได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสในคราวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดยะลา ณ คุรุสัมมนาคาร เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ ตอนหนึ่งว่า
"…การศึกษาที่นี่สำคัญมาก ให้พยายามจัดให้ดี ให้พลเมืองสามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะพูดได้ไม่มากนักเพียงแต่พอรู้เรื่องกันก็ยังดี เท่าที่ผ่านมาคราวนี้มีผู้ไม่รู้ภาษาไทย ต้องใช้ล่ามแปลควรให้พูดเข้าใจกันได้ เพื่อสะดวกในการติดต่อซึ่งกันและกัน…"
- พระราชปณิธานในการจัดการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับการศึกษาโดยทั่วถึง โดยเฉพาะเด็กพิการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนปกติ มีชีวิตที่เป็นสุข ช่วยตัวเองได้ และสามารถทำประโยชน์แก่สังคมได้ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับคนหูหนวก คนตาบอด ขึ้น ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกินนอนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนขึ้นที่โรงเรียนราชประชาสมาสัย
- ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่เยาวชนให้กว้างขวาง นอกเหนือจากการเรียนรู้ในชั้นเรียน จึงทำให้เกิดโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชนขึ้น โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า
"…สารานุกรมนี้จุดประสงค์อันแรก อันสำคัญที่สุดคือ ให้ผู้ใช้สารานุกรมนี้ได้เกิดความรู้สึกว่าโลกนี้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โลกหมายถึงโลกความรู้ โลกกลม โลกของวิทยาศาสตร์และโลกของวิชาการต่าง ๆ อันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็ในเวลาเดียวกัน ทำให้เห็นว่าในชาติบ้านเมืองหรือในเมืองอื่น ๆ ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าได้ความคิดอันนี้อย่างหนึ่ง ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ชีวิตของคนจะต้องอยู่ในส่วนรวมและจะต้องพยายามปฏิบัติเพื่อส่วนรวมศิลปดนตรีก็ต้องรวมกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่เข้าใจ แต่ว่าถ้าสารานุกรมแล้วก็จะเข้าใจ ก็เกิดความเชื่อถือ…"
เหล่านี้เป็นเพียงพระราชกรณียกิจด้านหนึ่ง ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงถือปฏิบัติเสมอมา นับเป็นเวลายาวนานแล้ว จนเป็นที่ประจักษ์แก่ใจปวงอาณาประชาราษฏร์ ทั้งนี้จึงควรถือเป็นโอกาสได้ร่วมระลึกในพระมหากรุณาและร่วมกันปฏิบัติความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ในปีพุทธศักราชนี้ ด้วยความจงรักภักดีในองค์พระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมใจยิ่งแห่งชนทั้งแผ๋นดิน
ที่มา..สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
วรกานต์