คำศัพท์ในคำอธิษฐานจิต ที่ควรรู้
วิชชา ๓
คือ ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ ๓ ประการ ได้แก่
๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติได้
๒.จุตูปปาตญาณ คือ มีตาทิพย์และรู้การเกิดและการตายของสัตว์โลกว่าเกิดจากเหตุอะไร
๓.อาสวักขยญาณ คือ วิชชาทำอาสวะกิเลสให้สิ้นจากกายใจ
หมายเหตุ พระอรหันต์ที่เรียกว่า เตวิชโช คือ ท่านผู้ทรงวิชชาสาม
วิชชา ๘
คือ ความรู้แจ้ง ความรู้วิเศษ ๘ ประการ ได้แก่
๑.วิปัสสนาญาณ คือ ญาณในวิปัสสนา
๒.มโนมยิทธิ คือ ฤทธิ์ทางใจ
๓.อิทธิวิชา คือ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๔.ทิพยโสต คือ หูทิพย์
๕.เจโตปริยญาณ คือ กำหนดรู้ใจผู้อื่น
๖.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติได้
๗.ทิพยจักขุญาณ คือ ตาทิพย์
๘.อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ
อภิญญา ๖
คือ ความรู้ยิ่ง ในพระพุทธศาสนา ๖ ประการ ได้แก่
๑.อิทธิวิธี คือ แสดงฤทธิ์ได้
๒.ทิพโสต คือ หูทิพย์
๓.เจโตปริยญาณ คือ รู้จักกำหนดใจผู้อื่น(รู้วาระจิต)
๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติได้
๕.ทิพจักขุ คือ ตาทิพย์
๖.อาสวักขยญาณ คือ รู้จักทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป
ปฏิสัมภิทาญาณ ๔
คือ ปัญญาแตกฉาน ๔ ประการ ได้แก่
๑.อัตถปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในอรรถ
๒.ธัมมปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในธรรม
๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ คือ ภาษาต่าง
๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ
วิโมกข์ ๘
คือ ความหลุดพ้น
ดูกรอานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
๑.ผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๑
๒.ผู้ไม่มีความสำคัญในรูปในภายใน ย่อมเห็นรูปในภายนอก นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๒
๓.ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่า กสิณเป็นของงาม นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๓
๔.ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนะด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๔
๕.ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้เพราะล่วงชั้นอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ที่ ๕
๖.ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๖
๗.ผู้ที่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๗
๘.ผู้ที่บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ข้อที่ ๘
ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล วิโมกข์ ๘ ประการ ภิกษุเข้าวิโมกข์ ๘ ประการเหล่านี้ เป็นอนุโลมบ้าง เป็นปฏิโลมบ้าง เข้าทั้งอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าบ้างออกบ้าง ตามคราวที่ต้องการ ตามสิ่งที่ปรารถนา และตามกำหนดที่ต้องประสงค์จึงบรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป เพราะทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน อานนท์ ภิกษุนี้ เราเรียกว่าอุภโตภาควิมุตติ อุภโตภาควิมุตติอื่นจากอุภโตภาควิมุตตินี้ที่จะยิ่งหรือประณีตไปกว่าไม่มี พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จรณะ ๑๕
จรณะ หมายถึง ความประพฤติอันงดงาม มี ๑๕ ประการ ได้แก่
๑.ศีลสังวร คือ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
๒.อินทรีย์สังวร คือ ความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๓.โภชเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค
๔.ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ
๕.ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น
๖.สติ คือ ความระลึกได้
๗.หิริ คือ ความละอายบาป
๘.โอตตัปปะคือ ความกลัวบาป
๙.พาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก ( พหูสูต )
๑๐.อุปักกะโม คือ เว้นจากพยายามเพื่อฆ่า และพยายามเพื่อลัก
๑๑.ปัญญา และ รวมรูปฌาน ๔ รวมเป็น ๑๕
สิ่งเหล่านี้แสดงถึงว่า พระพุทธองค์ทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง ๑๕ ประการมามากมายหลายภพหลายชาติ จึงทำให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจรณะทั้ง ๑๕ ประการ เป็นพื้นฐานที่ทำให้พระองค์มีความหนักแน่นมั่นคงอย่างต่อเนื่องในการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความปรารถนาที่ตั้งใจไว้
ความอาภัพ ๑๘ ประการ
พระบรมโพธิสัตว์ผู้เที่ยงที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณทั้งหลาย ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งพระพุทธบารมีที่ตนบำเพ็ญเป็นหลักเกณฑ์แน่นอน ๑๘ ประการ
๑.ไม่เป็นคนมีจักษุบอดมาแต่กำเนิด
๒.ไม่เป็นคนหูหนวกมาแต่กำเนิด
๓.ไม่เป็นคนบ้า
๔.ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย
๕.ไม่เป็นคนใบ้
๖.ไม่เกิดในประเทศป่าเถื่อน
๗.ไม่เกิดในท้องแห่งนางทาสี
๘.ไม่เป็นคนมีความเห็นผิดเป็นนิยตมิจฉาทิฐิ
๙.ไม่เป็นสตรีเพศ
๑๐.ไม่ประกอบกรรมอันเป็นอนันตริยกรรม
๑๑.ไม่เป็นคนมีโรคเรื้อน
๑๒.เมื่อไปเกิดในกำเนิดแห่งสัตว์เดียรฉาน ย่อมเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในประเภทมีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และมีกายไม่ใหญ่กว่าช้าง
๑๓.ไม่ไปเกิดในกำเนิดแห่งขุปปิปาสิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต แลกาลกัญชิกาสุรกาย
๑๔.ไม่ไปเกิดในอเวจีมหานรก และโลกันตนรก
๑๕.เมื่อไปเกิดเป็นเทวดาในกามาวจรสวรรค์ คือสวรรคเทวโลก ๖ ชั้น ก็ไม่เกิดเป็นเทวดาซึ่งนับเนื่องเข้าในเทวดาจำพวกหมู่มาร
๑๖.เมื่อเกิดเป็นองค์พระพรหม ณ เบื้องบรมรูปาพจรพรหมโลก ก็ไม่ไปเกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมโลก ทั้งนี้ก็เพราะว่าพรหมโลกชั้นปัญจสุทธาวาสนี้ เป็นภูมิที่อยู่แห่งพรหมอนาคามีอริยบุคคลโดยเฉพาะ
๑๗.ไม่ไปเกิดใน อรูปพรหมโลก เลยเป็นอันขาด
๑๘.ไม่ไปเกิดในจักรวาลอื่นเลยเป็นอันขาด "
********************************
คำอธิษฐานจิตร่วมบุญบวชสามเณรล้านรูป
ด้วยบุญกุศล ที่ข้าพเจ้าตั้งใจ ร่วมบุญบวชสามเณรล้านรูป เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา และวิชชาธรรมกาย เพราะบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้า เป็นผู้มีความสะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เอาชนะอุปสรรคทั้งปวง ให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุขัยยืนยาว ได้สร้างบารมีไปนานๆ
ให้เข้าถึงฐานะอันประเสริฐ ที่เลิศทั้งมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ มีดวงปัญญาสว่างไสว เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ฉลาดในศาสตร์ทั้งปวง ให้รู้แจ้งเห็นแจ้ง แทงตลอดทั้งทางโลกและทางธรรม บาปกรรมอย่าได้มากล้ำกราย ให้สามารถขจัดมารร้าย ทั้งวิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์ วิบากกรรมวิบากมาร ให้มลายหายสูญ บุญศักดิ์สิทธิ์เกื้อกูล ให้ชีวิตบริบรูณ์ตลอดไป
ให้บรรลุวิชชาธรรมกาย สามารถระลึกชาติได้ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ให้ได้บรรพชาอุปสมบท แตกฉานทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เทศนา และวิชชาธรรมกาย ได้บวชสร้างบารมี ตราบชีวีหมดสิ้นอายุขัย ครั้นละโลกไป ให้ได้ไปดุสิตบุรี วงบุญพิเศษ เขตพระบรมโพธิสัตว์ ผู้มุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม
เมื่อยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ ให้ได้เพศบริสุทธิ์ บังเกิดในตระกูลสัมมาทิฐิ ในครอบครัวธรรมกาย ให้ถึงพร้อมด้วย ที่สุดแห่งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ที่สุดแห่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และมรรคผลนิพพาน มีสมบัติมหาศาล สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง บังเกิดขึ้นไปทุกภพทุกชาติ
ธรรมอันใด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร พระผู้ปราบมาร และคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ท่านได้บรรลุ ขอจงบรรลุธรรมนั้น ได้สำเร็จวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ และจรณะ ๑๕ อย่างสะดวกสบาย มีธรรมะสว่างไสว ได้สร้างบารมี ร่วมกับมหาปูชนียาจารย์ ไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
ขอความปรารถนา ของข้าพเจ้าทั้งปวงนี้ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมกาย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆพระองค์ จงทุกประการเทอญ นิพพานะ ปัจจะโย โหตุฯ
******************
คำอฐิษฐานจิตประจำวัน
บุญใด ที่ข้าพเจ้าใด้ทำในบัดนี้ เพราะบุญนั้น และการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้า ทำให้แจ้ง โลกุตตระธรรม ๙ ในทันที ข้าพเจ้า เป็นผู้อาภัพอยู่ ยังต้องท่องเที่ยวไป ในวัฏฏสงสาร
ขอให้ข้าพเจ้า เป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ ผู้เที่ยงแท้ ได้รับพยากรณ์ แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ถึงฐานะ แห่งความอาภัพ ๑๘ ประการ
ขอให้ข้าพเจ้า พึงเว้นจากเวรทั้ง ๕ พึงยินดีในการรักษาศีล ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้ง ๕ พึงเว้นจากเปลือกตมดังกล่าว คือ กามคุณ
ขอให้ข้าพเจ้า ไม่พึงประกอบด้วย ทิฏฐิชั่ว พึงประกอบด้วย ทิฏฐิที่ดีงาม ไม่พึงคบมิตรชั่ว พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ
ขอให้ข้าพเจ้า เป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ คือ ศรัทธา สติ หริ โอตัปปะ ความเพียร และขันติ พึงเป็นผู้ที่ ศัตรูครอบงำไม่ได้ ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย
ขอให้ข้าพเจ้า เป็นผู้ฉลาดในอุบาย แห่งความเสื่อม และความเจริญ เป็นผู้เฉียบแหลม ในอรรถและธรรม ขอให้ญาณของข้าพเจ้า เป็นไปไม่ข้องขัด ในธรรมะที่ควรรู้ ประดุจลมพัดไปในอากาศฉะนั้น
ความปรารถนาใดๆ ของข้าพเจ้า ที่เป็นกุศล ขอให้สำเร็จ โดยง่ายทุกเมื่อ คุณที่ข้าพเจ้า กล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้ จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ทุกภพทุกชาติ
เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสดงธรรมเครื่องพ้นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เมื่อนั้น ขอให้ข้าพเจ้า พ้นจากกรรมอันชั่วช้าทั้งหลาย เป็นผู้ได้โอกาส แห่งการบรรลุธรรม
ขอให้ข้าพเจ้า พึงได้ความเป็นมนุษย์ ได้เพศบริสุทธิ์ ได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว เป็นคนรักศีล มีศีล ทรงไว้ซึ่งพระศาสนา ของพระบรมศาสดา
ขอใด้เป็นผู้มีการปฏิบัติธรรมได้ โดยสะดวก ตรัสรู้ได้พลัน กระทำให้แจ้ง ซึ่งอรหัตผลอันเลิศ อันประกอบด้วยธรรมะ มีวิชชา เป็นต้น
ถ้าหากพระพุทธเจ้า ไม่บังเกิดขึ้น แต่กุศลธรรม ของข้าพเจ้า เต็มเปี่ยมแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้ข้าพเจ้า พึงได้ญาณ เป็นเครื่องรู้เฉพาะตน อันสูงสุดเทอญฯ
วิธีนับอสงไขย
1 อสงไขย = 10^140 (สิบยกกำลังหนึ่งร้อยสี่สิบ)
การนับอสงไขยให้เทียบเอาดังนี้
1. สิบ สิบหน เป็น หนึ่งร้อย
2. สิบร้อย เป็น หนึ่งพัน
3. สิบพัน เป็นหนึ่งหมื่น
4. สิบหมื่น เป็น หนึ่งแสน
5. ร้อยแสน เป็นหนึ่งโกฏิ = 10^7
6. ร้อยแสนโกฏิ เป็น หนี่งปโกฏิ = (10^7)x(10^7)=10^14
7. ร้อยแสนปโกฏิ เป็น หนึ่งโกฏิปโกฏิ = (10^7)x(10^14)=10^21
8. ร้อยแสนโกฏิปโกฏิ เป็น หนึ่งนหุต = (10^7)x(10^21)=10^28
9. ร้อยแสนนหุต เป็น หนึ่งนินนหุต = (10^7)x(10^28)=10^35
10. ร้อยแสนนินนหุต เป็น หนึ่งอักโขเภนี = (10^7)x(10^35)=10^42
11. ร้อยแสนอักโขเภนี เป็น หนึ่งพินทุ = (10^7)x(10^42)=10^49
12. ร้อยแสนพินทุ เป็น หนึ่งอพุทะ = (10^7)x(10^49)=10^56
13. ร้อยแสนอพุทะ เป็น หนึ่งนิระพุทะ = (10^7)x(10^56)=10^63
14. ร้อยแสนนิระพุทะ เป็น หนึ่งอหหะ = (10^7)x(10^63)=10^70
15. ร้อยแสนอหหะ เป็น หนึ่งอพพะ = (10^7)x(10^70)=10^77
16. ร้อยแสนอพพะ เป็น หนึ่งอฏฏะ = (10^7)x(10^77)=10^84
17. ร้อยแสนอฏฏะ เป็น หนึ่งโสคันธิกะ = (10^7)x(10^84)=10^91
18. ร้อยแสนโสคันธิกะ เป็น หนึ่งอุปละ = (10^7)x(10^91)=10^98
19. ร้อยแสนอุปละ เป็น หนึ่งกมุทะ = (10^7)x(10^98)=10^105
20. ร้อยแสนกมุทะ เป็น ปทุมะ = (10^7)x(10^105)=10^112
21. ร้อยแสนปทุมะ เป็น หนึ่งปุณฑริกะ = (10^7)x(10^112)=10^119
22. ร้อยแสนปุณฑริกะ เป็นหนึ่งอกถาน = (10^7)x(10^119)=10^126
23. ร้อยแสนอกถาน เป็น หนึ่งมหากถาน = (10^7)x(10^126)=10^133
24. ร้อยแสนมหากถาน เป็น หนึ่งอสงไขย = (10^7)x(10^133)=10^140
พระคัมภรีอนาคตวงศ์ , ประภาส สุระเสน, มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์,พ.ศ. 2540, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย