ทำไม Google ไม่สนว่าคุณ จบจากมหาวิทยาลัยดังแห่งไหน?
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
บริษัทนวัตกรรมระดับโลกอย่าง Google เขาเลือกคนประเภทไหนเข้าทำงาน?
เด็กเรียนเก่งสอบได้คะแนนสูงไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนทำงานดีเสมอไป และกูเกิลบอกว่าเกรดสูงของนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย ไม่สามารถเป็นดัชนีชี้ความสามารถในชีวิตการทำงานจริงได้
คะแนนดีไม่ใช่จุดอ่อนแน่นอน แต่บริษัทที่ต้องการคนทำงานคล่องแคล่วและสร้างสรรค์ เขาไม่ได้มองที่เกรดการสอบอีกต่อไปแล้ว
แผนกทรัพยากรบุคคลของกูเกิลเขาไม่เรียก Human Resources หรือ HR แต่ตั้งชื่อให้ใกล้ความจริงแบบพื้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ ว่า People Operations ซึ่งหมายถึงเรื่อง “คน” ดี ๆ นี่เองนั่นแหละ
รองประธานฝ่าย “คน” ของเขาชื่อ Laszlo Bock ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จำนวนคนเข้ามาทำงานที่กูเกิลโดยไม่ได้จบมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดสูงถึง 14% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดแล้ว
คุณสมบัติข้อที่หนึ่งสำหรับคนที่จะได้รับเข้าทำงานกูเกิลคือ “ความสามารถในการเรียนรู้” ซึ่งไม่เกี่ยวกับไอคิวหรือความฉลาดเฉลียว
ความสามารถในการเรียนรู้ในที่นี้หมายถึงการจับเอาข้อมูลหลาย ๆ อย่างมาผสมผสานก่อเป็นความรู้ในการทำงานให้สำเร็จได้
เด็กเรียนเก่งแต่ไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริง หยิบเอารายละเอียดจากแต่ละเรื่องที่อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน มาโยงให้เป็นองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาได้ นั่นแหละคือคนทำงานเป็น
คุณสมบัติข้อที่สองคือ “ความเป็นผู้นำ” ในความหมายของโลกยุคใหม่ ไม่ใช่นิยามเก่า เช่นไม่จำเป็นต้องเป็นประธานชมรม ไม่ต้องเป็นหัวหน้ากลุ่มไหนในมหาวิทยาลัยมาก่อน
รองประธานฝ่าย “คน” ของกูเกิลบอกว่า “คำว่าผู้นำของเราหมายความว่าเมื่อเกิดปัญหา คุณเป็นสมาชิกของทีมนั้น เมื่อได้จังหวะเวลาอันเหมาะสม คุณจะสามารถก้าวออกมานำคณะได้หรือไม่ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือว่าเมื่อถึงเวลานั้น คุณสามารถถอยหลังและหยุดการเป็นหัวหน้าทีมและปล่อยให้คนอื่นนำได้หรือไม่?”
หมายความว่าการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ นั้น จะต้องมีความพร้อมที่จะยอมสละอำนาจในจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย
แปลว่าคุณต้องเก่งพอที่จะยอมรับว่าในเรื่องนั้น ๆ อีกคนหนึ่งเก่งกว่าคุณและคุณพร้อมจะให้เขาหรือเธอนำ
เขาเรียกคุณสมบัตินี้ว่า “ความถ่อมตนทางปัญญา” (intellectual humility) เพราะหากคุณไม่มีความเจียมตน, คุณก็ไม่สามารถจะเรียนรู้อะไรได้
ผลสำรวจหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า คนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ๆ จำนวนไม่น้อยเติบโตในหน้าที่งานการไม่ได้ เพราะทัศนคติผิด ๆ ที่ว่าตนเก่งกว่าคนอื่น
“หนุ่มสาวที่ฉลาดและประสบความสำเร็จมักจะไม่ค่อยเจอกับความล้มเหลว และนั่นทำให้พวกเขาและเธอไม่อาจจะเรียนรู้จากความล้มเหลว” ผู้บริหารกูเกิลคนนี้บอก
เด็กจบมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงมักมีท่าทีต่อชีวิตที่ผิด ๆ เช่นว่า “ถ้ามีอะไรดี ๆ เกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะฉันเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้ามีอะไรแย่ ๆ เกิดขึ้น นั่นเป็นฝีมือของไอ้งั่งใครสักคนที่ไม่ใช่ฉัน หรือเป็นเพราะฉันไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอในการทำงานชิ้นนั้น หรือเพราะสภาพตลาดเปลี่ยนไปจากเดิม...”
คนที่กูเกิลชอบคือ คนทำงานที่มีความรักงาน ทุ่มเท พร้อมจะถกแถลงอย่างเผ็ดร้อนเพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง แต่หากมีข้อมูลใหม่ที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อน เขาหรือเธอก็จะยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่ออาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป และพร้อมจะถอยให้ข้อเท็จจริงใหม่ได้กำหนดทิศทางของเรื่องนั้น ๆ
เรียกว่าไม่ใช่ประเภทหัวชนฝา, ดื้อรั้น, ไม่ยอมฟังความเห็นคนอื่น หรือพิจารณาข้อเท็จจริงจากคนอื่นเลย
คนดีคนเก่งที่ทำงานได้ผลจริงคือ คนที่มี “อัตตาใหญ่” และ “อัตตาย่อย” ในคนคนเดียว
เขาสรุปว่าท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตจริงได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ปริญญาบัตรไม่ได้เป็นใบรับรองความสามารถจะทำงานได้ทุกอย่าง
โลกแห่งความเป็นจริงจะยอมรับก็เฉพาะคนที่รู้จักใช้สิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ให้ได้ผลทางปฏิบัติเท่านั้น
และโลกก็ไม่สนใจว่าคุณเรียนรู้มาจากไหนหรือเรียนมาอย่างไร ขอให้รู้จริงและพร้อมจะเรียนรู้ใหม่ ๆ เป็นพอ
หรือจะพูดให้กระจ่างชัดก็คือ กูเกิลบอกว่าคนที่เขาจ้างมาทำงานจะต้องมี soft skills เยอะเช่น ความเป็นผู้นำ, ความถ่อมตน, ความสามารถในการประสานงานกับผู้อื่น, ความสามารถ และพร้อมจะปรับตัวและรักการเรียนรู้และเรียนใหม่
โลกที่ปรับเปลี่ยนเพราะเทคโนโลยีตลอดเวลา ต้องการให้มหาวิทยาลัยผลิตคนที่มีคุณสมบัติเยี่ยงนี้นี่เอง